"...มีรายงานว่าแผนฟื้นฟูฯ 10 ข้อที่อยู่ระหว่างการจัดทำนั้น มีการเสนอให้กระทรวงการคลังเข้ามาค้ำประกันเงินกู้ระยะสั้น 50,000 ล้านบาท เพื่อรักษาสภาพคล่อง การปรับลดพนักงาน 40% และการเพิ่มทุน 80,000 ล้านบาท รวมถึงการปรับโครงสร้างบริษัทครั้งยิ่งใหญ่..."
ในการแถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 5 พ.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ระบุว่า ครม.ยังไม่มีการพิจารณาแผนฟื้นฟูฯบริษัท การบินไทย โดยอยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียดของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
และเป็นอีกครั้งที่การบินไทย สายการบินแห่งชาติ ที่เพิ่งมีอายุครบ 60 ปี ไปเมื่อวันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา ถูกยื่นคำขาดจากพล.อ.ประยุทธ์ ว่า การฟื้นฟูฯครั้งนี้จะเป็น ‘โอกาสสุดท้าย’
“ผมให้เวลาแก้ไขมา 5 ปีแล้ว ยังทำไม่สำเร็จ ครั้งนี้ถือเป็นครั้งสุดท้าย รัฐบาลจะดำเนินการให้ได้ตามเป้าหมาย และขอความร่วมมือสหภาพต่างๆ ด้วย เพราะนี่เป็นเรื่องความเป็นความตายของท่าน ขอฝากทำความเข้าใจเรื่องนี้ด้วย” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
แม้ว่ายังไม่มีข้อมูลยืนยันอย่างเป็นทางการ แต่มีรายงานว่าแผนฟื้นฟูฯ 10 ข้อที่อยู่ระหว่างการจัดทำนั้น มีการเสนอให้กระทรวงการคลังเข้ามาค้ำประกันเงินกู้ระยะสั้น 50,000 ล้านบาท เพื่อรักษาสภาพคล่อง การปรับลดพนักงาน 40% และการเพิ่มทุน 80,000 ล้านบาท รวมถึงการปรับโครงสร้างบริษัทครั้งใหญ่
อุตตม สาวนายน รมว.คลัง ระบุว่า ในส่วนของการให้กระทรวงการคลังเข้าไปค้ำประกันเงินกู้ 50,000 ล้านบาทนั้น เป็นตัวเลขความต้องการของการบินไทยเอง ไม่ใช่ตัวเลขที่กระทรวงการคลังกำลังพิจารณาอยู่
ขณะที่ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ให้ความเห็นว่า แผนฟื้นฟูฯที่อยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียดนั้น จะทำให้การบินไทยมีความชัดเจนในทำงานมากขึ้น
ทั้งนี้ มีการคาดการณ์กันว่า แผนฟื้นฟูฯการบินไทยน่าจะถูกนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมครม.ได้อย่างเร็วที่สุดในสัปดาห์หน้า หรืออย่างช้าที่สุดภายในเดือนพ.ค.นี้
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ก่อนที่การบินไทยจะถูก 'ผ่าตัดใหญ่' และได้ 'โอกาสสุดท้าย' ตามคำขาดจาก พล.อ.ประยุทธ์ มีข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับสถานะของการบินไทย ดังนี้
จากการรายงานข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1) ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ประจำปี 2562 พบว่า การบินไทยมีเครื่องบิน 11 รุ่น รวม 103 ลำ ซึ่งรวมถึงเครื่องบินแอร์บัส A320 จำนวน 20 ลำของสายการบินไทยสมายล์ และมีพนักงาน 21,367 คน (ณ วันที่ 31 ธ.ค.62)
ปี 2562 การบินไทยมีรายได้รวม 188,954 ล้านบาท มีค่าใช้จ่าย 199,898 ล้านบาท และขาดทุนสุทธิ 12,017 ล้านบาท โดยขาดทุนสูงกว่าปีก่อน 448 ล้านบาท เป็นการขาดทุนสุทธิส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ 12,043 ล้านบาท
ส่วนตัวเลขของงบดุลของบริษัทฯ พบว่าบริษัทฯมีสินทรัพย์รวม 256,665 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 12,056 ล้านบาท มีหนี้สินสะสม 244,899 ล้านบาท และมีส่วนของผู้ถือหุ้น 11,766 ล้านบาท
แต่หากพิจารณาในส่วนของหนี้สินหมุนเวียน (ไม่รวมหนี้สินระยะยาวที่ครบกำหนดชำระภายใน 1 ปี) ซึ่งมีสูงถึง 62,636 ล้านบาท หรือคิดเป็น 1 ใน 4 ของหนี้สินทั้งหมดนั้น จะพบว่าหนี้สินดังกล่าวสูงกว่าทรัพย์สินหมุนเวียนของบริษัทที่มีอยู่เพียง 49,534 ล้านบาท หรือมีส่วนต่าง 13,102 ล้านบาท
สะท้อนว่าการบินไทยอาจกำลังเผชิญปัญหา 'หมุนเงินไปจ่ายหนี้ไม่ทัน'
ที่มา : แบบ 56-1 บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ประจำปี 2562
ขณะเดียวกัน การบินไทยรายงานว่า ในปี 2562 บริษัทยังคงดำเนินการตามแผนฟื้นฟูธุรกิจต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ผลการดำเนินงานมีกำไรอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ขณะที่แผนฟื้นฟูระยะเร่งด่วนจนถึงสิ้นปี 2562 ประกอบด้วย 3 แนวทาง ดังนี้
-เพิ่มรายได้ โดยเจาะกลุ่มลูกค้าแบบส่วนบุคคล มุ่งเน้นการสร้างรายได้เสริม รวมทั้งเร่งดำเนินงานด้านการตลาดดิจิทัล
-ควบคุมและลดค่าใช้จ่าย โดยตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ลดค่าตอบแทนของผู้บริหารและคณะกรรมการอย่างสมัครใจ
-ปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงาน เช่น บริหารจัดการฝูงบินให้มีประสิทธิภาพ โดยเร่งสรุปแผนการจัดหาเครื่องบินให้มีความเหมาะสม และควบคุมติดตามแผนการจำหน่ายเครื่องบินที่ปลดระวางให้ได้ตามแผนงานที่วางไว้
บริษัทฯยังได้ทบทวนแผนจัดหาเครื่องบินใหม่ 38 ลำ มูลค่า 1.5 แสนล้านบาท ในโครงการจัดหาเครื่องบินปี 2562-2569 เพื่อให้บริษัทเติบโตได้อย่างยั่งยืน และไม่เป็นภาระทางการเงินในระยะยาว
พร้อมทั้งปรับปรุงแผนบริหารจัดการด้านรายได้ การขาย และการตลาด เจาะกลุ่มลูกค้า โดยมุ่งเน้นสร้างรายได้เสริม เช่น รายได้จากการขาย Perferred Seat และเพิ่มรายได้ในธุรกิจที่ไม่เกี่ยวเนื่องกับการบิน เช่น เพิ่มรายได้ฝ่ายครัวการบิน รวมถึงขายสินค้าออนไลน์ร่วมกับพันธมิตรทางการค้า เป็นต้น
แต่แล้วแผนฟื้นฟูฯที่การบินไทยทำมานั้น ต้องถูก 'รื้อ' เกือบทั้งหมด
หลังจากไวรัสโควิด-19 ที่แพร่ระบาดจากจีนไปยังหลายเมืองทั่วโลกในช่วงปลายเดือนม.ค.เป็นต้นมา ทำให้การบินไทยประสบปัญหา 'ขาดสภาพคล่อง' อย่างหนัก พร้อมๆกับการตัดสินใจยื่นใบลาออกจากตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทยของ สุเมธ ดำรงชัยธรรม ในช่วงกลางเดือนมี.ค.
ก่อนที่ในเวลาต่อมา จักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล ในฐานะรองประธานบอร์ดการบินไทยคนที่ 2 ซึ่งเข้ามานั่งเก้าอี้รักษาการใกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จะสั่งยกเลิกเที่ยวบินทั้งในประทศและต่างประเทศเป็นการชั่วคราว เป็นระยะเวลา 2 เดือน หรือตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.-31 พ.ค.2563
ส่งผลให้เครื่องบิน 69 ลำ จากทั้งหมด 82 ลำ (ไม่รวมเครื่องบินของบริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์) ต้องจอดนิ่งอยู่ในลานจอดเครื่องบินของสนามบินต่างๆ โดยเฉพาะสนามบินสุวรรณภูมิ
จักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล
“การบินไทยต้องระงับการบินทุกเส้นทางทั่วโลกชั่วคราว เพราะหลายประเทศเริ่มปิดประเทศ เพื่อป้องกันการระบาดของไวรัส อีกทั้งจำนวนผู้โดยสารที่ลดลงหากยังทำการบินต่อ บริษัทฯจะทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในภาวะที่มีปัญหาเรื่องฐานะมากอยู่แล้ว” จักรกฤศฏิ์ ให้สัมภาษณ์สื่อเมื่อวันที่ 24 มี.ค.
ตามมาด้วยการประกาศให้พนักงานการบินไทยหยุดงาน 2 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย.2563 ถึง 31 พ.ค.2563 พร้อมๆกับลดเงินเดือนพนักงานทุกระดับตั้งแต่ 10-50% ท่ามกลางกระแสข่าวภายในการบินไทยว่า "การบินไทยไม่มีสภาพคล่องเหลืออยู่อีกแล้ว"
เหตุปัจจัยเหล่านี้นำไปสู่การจัดทำแผน 'ผ่าตัดใหญ่' การบินไทย และเป็นโอกาสสุดท้ายที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะมอบให้
แต่ทว่ายังต้องลุ้นกันต่อว่า แผนผ่าตัดการบินไทยจะลุล่วงและราบรื่นหรือไม่ โดยเฉพาะหลังมีเสียงเรียกร้องให้กระทรวงการคลังลดการถือหุ้นในบริษัทการบินไทยลงต่ำกว่า 50% เพื่อให้พ้นสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจ ซึ่งจะทำให้การบินไทยมีความคล่องตัวในการแข่งขันมากขึ้น
อ่านประกอบ :
จุฬา สุขมานพ : สายการบินหลังโควิด 'อาจมีร่วงไปบ้าง แต่จะมีหน้าใหม่เข้ามาแทน'
เช็กกระเป๋าเงินแอร์ไลน์ไทย ก่อนเจอไวรัส ‘กพท.’ แจงล่าสุด ‘มีขอหยุดบิน แต่ไม่ล้ม’
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage