ความก้าวหน้าการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ คาดไม่สะดุดหรือติดขัด 12-18 เดือนข้างหน้า โลกจะมีวัคซีนใช้ - ส่วนไทย ปลายปี 2563 หรือต้นปี 2564 ทดสอบวัคซีนในคน ประมาณ สิ้นปี 2564 น่าจะมีวัคซีนใช้
วันที่ 24 พฤษภาคม นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวถึงความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในประเทศไทยว่า ได้ร่วมมือกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประสานจัดการให้พัฒนาวัคซีนโควิดในประเทศไทย โดยมีหลายหน่วยงานกำลังพัฒนา อยู่ในทิศทางเดียวกับการพัฒนาวัคซีนโควิดทั่วโลก
"วัคซีนที่เริ่มการทดสอบในสัตว์ทดลอง 114 ชนิด ของไทยไบโอเนท เอเชีย เริ่มทดสอบในหนู เช่นเดียวกับคณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาฯ วัคซีนที่เริ่มทดสอบ ผ่านการทดสอบในหนูแล้ว และเริ่มทดสอบในลิง"
นพ.นคร กล่าวว่า วัคซีนที่ผ่านทดสอบต้องผ่านการทดสองในสัตว์ทดลองให้ได้ผลเป็นที่น่าพอใจก่อน ถึงจะสามารถเริ่มทดสอบในคนได้ โดยแบ่งออกเป็น 3 ระยะ หาความปลอดภัย กระตุ้นภูมิคุ้มกันหรือไม่ และให้ผลในการป้องกันโรคหรือไม่ โดยหลายประเทศเริ่มทดสอบวัคซีนป้องกันโควิดในคน มีทั้งหมด 10 ชนิด ได้แก่ จีน 5 ชนิด สหรัฐ 2 ชนิด อังกฤษ 1 ชนิด เยอรมัน 1 ชนิด และออสเตรเลีย 1 ชนิด ขณะที่วัคซีนอีก 114 ชนิด กำลังอยู่ในขั้นตอนการทดลองในสัตว์ทดลอง
"ไทยมีความพร้อม มีนักวิจัย และมีบริษัทผู้ผลิตวัคซีนในระดับอุตสาหกรรม อีกทั้งรัฐบาลให้การสนับสนุน เป็นการทำงานแบบทีมประเทศไทย ใช้องคาพยพเพื่อพัฒนาวัคซีนร่วมกัน" ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าว และว่า การพัฒนาวัคซีนมีโอกาสผลงานวิจัยออกมาไม่เป็นที่น่าพอใจ แม้แต่ประเทศจีนทดสอบวัคซีนป้องกันโควิดในคนแล้ว แต่ก็ต้องใช้เวลาเช่นกัน ซึ่งหากเป็นไปตามขั้นตอน ประมาณ 12-18 เดือนข้างหน้า โลกจะมีวัคซีนใช้ แต่หากการพัฒนาวัคซีนสะดุดติดขัด ก็ต้องปรับรูปแบบวัคซีนกันใหม่ และต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้น
ในประเทศไทย ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวอีกว่า หากเป็นไปตามแผนน่าจะได้ทดสอบวัคซีนป้องกันโควิดในคนปลายปี 2563 หรือต้นปี 2564 และประมาณ สิ้นปี 2564 ต้องเน้นย้ำ หากการพัฒนาวัคซีนได้ผล ไทยจะมีวัคซีนใช้ ซึ่งทั้งหมดเป็นเรื่องของงานวิจัย และเป็นสิ่งที่ท้าทายนักวิทยาศาสตร์ไทย และทั่วโลก ที่กำลังใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ พัฒนาวัคซีนด้วยความเร็วอย่างไม่เคยปรากฎมาก่อน
ด้านศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม รองอธิการบดีกำกับดูแลด้านการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงความจำเป็นที่ไทยต้องพัฒนาวัคซีนว่า ประชากรโลกมีกว่า 7 พันล้านคน หากทั้งโลกต้องได้วัคซีน 30-50 % ก็หลายพันล้านคน นี่คือเหตุที่ไทยต้องพัฒนาวัคซีนเป็นของตัวเอง และแข่งกับโลก เพราะหากเราไม่เริ่ม ก็ไม่รู้ว่าเราจะถึงเส้นชัยหรือไม่
ศ.นพ.เกียรติ กล่าวถึงการทดสอบวัคซีนโควิด-19 งานวิจัยวัคซีนชนิด mRNA หลังประสบความสำเร็จในระดับดีจากทดสอบในหนูทดลองและกำลังเตรียมจะทดสอบในลิงนั้น คาดว่าปลายเดือนมิถุนายน จะได้ผล และจะมีการตรวจเลือดลิงรอบแรกกลางเดือนมิถุนายน
"สิ่งที่เราเรียนรู้มากในวิกฤติแบบนี้ เทคโนโลยียังไม่มีในประเทศไทย ทำให้เราต้องจองโรงงานขนาดเล็กในต่างประเทศไว้ เพื่อผลิตวัคซีนสำหรับทดสอบกับอาสาสมัคร ซึ่งการเตรียมการ ไทยต้องเตรียมโรงงานในไทยเพื่อรองรับเทคโนโลยีเอาไว้ด้วย โดยคาดว่า 1 ปีครึ่ง หรือประมาณปลายปี 2564 ไทยจะผลิตวัคซีนเองได้"
ส่วนนายวิฑูรย์ วงศ์หาญกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด กล่าวถึงการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของไทยทีมที่พัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด -19 ว่า การผลิตวัคซีน ปกติใช้เวลาประมาณ 5-10 ปี แต่กรณีเกิดโรคระบาดโควิด-19 วัคซีนต้องผลิตให้ได้เร็วและปลอดภัย จุดนี้เองบริษัทได้สนใจ DNA วัคซีน โดยมีการตั้งทีมงานขึ้นมา 1 มีนาคม ปรากฎว่า 12 มีนาคม พัฒนาเชื้อตัวนี้ได้สำเร็จ 20 เมษายน พัฒนา GMP cell bank ฉีดในหนูทดลอง ซึ่งใช้เวลาทั้งหมด 50 วัน
"วันนี้เราจึงมีความพร้อมพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด ใช้ในสัตว์ทดลอง แต่กระบวนการการพัฒนาวัคซีนต้องผ่านการทดลองในสัตว์ที่ใหญ่ขึ้น สิ่งหนึ่งที่เราไม่อยากให้ความหวังกับประเทศไทยมากตอนนี้ว่า เราผลิตวัคซีนได้ แต่อยากบอกว่า เราพบความหวัง วิธีการผลิตวัคซีนป้องกันโควิดได้ ส่วนความพร้อมในการผลิตวัคซีน มั่นใจว่า บริษัทฯ สามารถผลิตเพื่อใช้ในประเทศได้ มีศักยภาพพอ"
ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด กล่าวด้วยว่า การพัฒนาวัคซีน เน้นความปลอดภัยสูงสุด จึงต้องผ่านกระบวนการหลายขั้นตอนเพื่อให้วัคซีนนี้ใช้กับคนไทยได้ "ผมไม่ห่วงเรื่องการผลิต แต่ห่วงจะใช้วัคซีนตัวไหนมาใช้กับคนของเรามากกว่า"
ที่มาภาพ: สถาบันวัคซีนแห่งชาติ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ไทยเริ่มทดลองวัคซีนสู้โควิดกับลิงเป็นวันแรก คาด ส.ค.นี้ทดลองกับมนุษย์