กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เตือนผู้ประกอบกิจการที่พักประเภท State Quarantine และ Alternative State Quarantine ระวังภัยบุคคลแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ หลอกลวงเก็บค่านายหน้าในการจัดหาผู้เข้าพัก ย้ำรัฐไม่มีนโยบายการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น หากพบเห็น หรือทราบเบาะแสให้รีบแจ้งสายด่วนกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เพื่อดำเนินการตามกฎหมายโดยทันที
จากกรณีที่มีการแจ้งเบาะแสว่ามีบุคคลแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข เรียกเก็บค่านายหน้าจากผู้ประกอบกิจการที่พักซึ่งรัฐจัดให้เป็นพื้นที่ควบคุมโรค (State Quarantine) หรือพื้นที่ควบคุมโรคแห่งรัฐทางเลือก (Alternative State Quarantine) ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี โดยอ้างว่า ได้รับมอบอำนาจ ในการจัดให้ผู้ที่เดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 เข้าพัก นั้น
นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า กรม สบส.ได้ทำการตรวจสอบรายชื่อบุคลากรของกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงกลาโหมแล้ว พบว่าบุคคลดังกล่าวไม่ใช่บุคลากรของกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงกลาโหม ทางกระทรวงสาธารณสุข จึงได้มอบหมายให้นิติกร ของกระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการแจ้งความเอาผิดผู้ที่แอบอ้าง โดยขอเน้นย้ำว่ากระทรวงสาธารณสุขไม่มีนโยบายในการเรียกเก็บเงินจากโรงแรมที่ให้บริการ State Quarantine และ Alternative State Quarantine
นายแพทย์ธเรศ กล่าวถึงนโยบายของรัฐบาลกระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับกระทรวงกลาโหม ดำเนินการ ในการจัดหาที่พัก State Quarantine และ Alternative State Quarantine โดยให้ผู้ประกอบกิจการโรงแรมที่สนใจสมัครเข้ารับการตรวจประเมิน โดยสมัครผ่านทางเว็บไซต์ของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ โดยได้ดำเนินการตามแนวทางที่ชัดเจน และให้โรงแรมที่สนใจส่งรายละเอียดพร้อมประเมินตนเอง หลังจากนั้นคณะทำงานของกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงกลาโหม จะดำเนินการตรวจประเมินความเหมาะสม ซึ่งขณะนี้สามารถรองรับผู้ที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศได้อย่างเพียงพอ
ปัจจุบัน มี State Quarantine ทั้งหมด 25 แห่ง 8,369 ห้อง และ Alternative State Quarantine 4 แห่ง 303 ห้อง รวมทั้งสิ้น 29 แห่ง 8,672 ห้อง (ข้อมูล ณ วันที่ 22 พฤษภาคม 2563) โดยขอผู้ประกอบการโรงแรมอย่าได้หลงเชื่อผู้ที่แอบอ้างว่าจะมีการอำนวยความสะดวกในการผ่านเกณฑ์ประเมิน State Quarantine และ Alternative State Quarantine ทั้งนี้ หากมีบุคคลแอบอ้างในลักษณะดังกล่าว ให้แจ้งที่สายด่วน กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ หมายเลข 1426 หรือศูนย์รับเรื่องร้องเรียน กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ หมายเลข 0 2193 7057 ในวันและเวลาราชการ