นักวิชาการ-เอ็นจีโอ ชี้ บ่อนพนันแหล่งผลิตโควิด-19 นักเล่นไม่สนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แห่ตั้งวงเพิ่มมากขึ้น พบธุรกิจพนันออนไลน์ ฉวยโอกาสกอบโกย
วันที่ 12 พ.ค. รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 แม้จะมีแถลงของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาด ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.ห้ามเล่นการพนันทุกชนิด แต่จากการเฝ้าระวังกลับพบตัวเลขการตรวจจับลักลอบเล่นพนันแทบจะรายวัน มีนักพนันฝ่าฝืน พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ทั้งๆ รู้อยู่ว่าเสี่ยงติดโรค เสี่ยงโดนจับปรับในอัตราโทษที่สูง
ขณะเดียวกันในโลกโซเชียล มีการโพสต์และแชร์ เชิญชวนให้เล่นพนันทางออนไลน์มากขึ้นซึ่งการพนันมันมีลักษณะบางอย่าง ที่พ่วงด้วยกิจกรรมทางสังคม มีการเล่น มีการพูดคุย มีการแลกเปลี่ยนทางสังคม
“ช่วงสถานการณ์โควิด-19 ทุกฝ่ายเชิญชวนขอให้ทุกคนพยายามอยู่บ้าน ทำให้คนที่ติดการพนันมากๆ หันไปเล่นพนันออนไลน์ เพราะต้องหาอะไรแก้เซ็งแก้เบื่อ ส่วนคนที่ทำธุรกิจการพนันออนไลน์ ก็ฉวยโอกาสใช้ช่องทางนี้กอบโกย แต่จะมีเพียงคนบางกลุ่มที่ไม่คุ้นชินกับการเล่นพนันทางออนไลน์ จึงไม่สามารถไปทดแทนสำหรับคนกลุ่มนี้ได้ ทำให้ยังมีการแอบไปเล่นพนันนอกบ้าน การติดพนันจึงเหมือนติดเหล้า บางคนติดเหล้าแล้วดื่มเหล้าเงียบๆ คนเดียวอยู่ที่บ้านได้ หรือเล่นพนันออนไลน์คนเดียวได้ แต่ส่วนใหญ่ทำแบบนี้ไม่ได้ ต้องออกไปรวมกลุ่ม เพราะการตั้งวงคือความสุขอีกแบบหนึ่ง"
รศ.ดร.นวลน้อย กล่าวว่า ที่ผ่านมาเวลาที่พูดถึงการแก้ปัญหาและผลกระทบของการพนัน ก็ได้รับคำตอบว่าอย่างน้อยที่สุดจัดให้อยู่นอกบ้าน พนันไม่ควรอยู่ในบ้าน แต่พนันออนไลน์ทลายกรอบทุกอย่าง เพราะเข้าไปถึงในบ้าน กลายเป็นพนันเข้าไปอยู่ในบ้าน เล่นได้ทุกที่ทุกเวลา ซึ่งก่อให้เกิดผลเสีย และเป็นปัญหาโลกแตกของทุกประเทศ
ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน กล่าวว่า ตอนนี้ถ้าจะบอกให้รัฐบาลทำอะไรที่จะแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ก็คงจะค่อนข้างยาก เพราะว่ารัฐบาลมีการควบคุม มีฝ่ายปราบปรามอยู่แล้วเพื่อมุ่งเป้าป้องกันโรคโควิด เรื่องพนันเป็นเรื่องของกฎหมาย แต่รัฐบาลจะต้องเอาเรื่องนี้ไปเป็นบทเรียนเมื่อพ้นระยะเวลาแพร่ระบาดไปแล้ว
"ควรต้องคิดกลไกและวิธีการทำงานให้มากขึ้น ที่จะทำอย่างไรให้การควบคุมปัญหาการพนันดีขึ้น ในปัจจุบันหน่วยงานต่างๆ ของรัฐบาลที่ทำงานเรื่องรณรงค์ เรื่องพัฒนาคุณภาพชีวิตลดความเสี่ยง แต่ไม่ค่อยได้สนใจในเรื่องประเด็นพนัน ไม่สนใจงานด้านรณรงค์ส่งเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาและผลกระทบเกี่ยวกับการพนัน ไม่ทำให้ชุมชนต่างๆ เข้ามาควบคุมการพนันในชุมชนตัวเอง เพราะฉะนั้น การพนันที่มากับโควิดน่าจะเป็นบทเรียนให้รัฐบาลได้เห็น และนำไปปรับปรุงแก้ไขในอนาคต"
ด้าน นายธนากร คมกฤส เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน กล่าวว่า จากการรวบรวมข้อมูลเว็บไซต์ข่าวออนไลน์ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม -15 เมษายน 2563 พบการบุกจับบ่อนพนันกว่า 22 ครั้ง จับนักพนันได้ 814 ราย ยังไม่รวมที่หนีไปได้อีกหลายราย โดยพบว่าบ่อนพนันยอดนิยมอันดับ 1 ได้แก่ บ่อนไพ่ ไฮโล จำนวน 19 ข่าว อันดับ 2 ได้แก่ บ่อนไก่ชน 2 ข่าว เป็นบ่อนทางภาคใต้ 42.85% ภาคกลาง 38.09% ภาคเหนือ 9.25% ภาคอีสาน 9.25%
“นักพนันมีโอกาสสูงที่จะเป็นผู้แพร่เชื้อและรับเชื้อโควิด19 เพราะเป็นกลุ่มที่มีมักจะมีพฤติกรรมเสี่ยงครบสูตร ทั้งสูบบุหรี่ ดื่มสุรา และพาตัวเองไปยังอโคจรสถานต่าง ๆ เช่น เวทีมวย สถานบันเทิง การสูบบุหรี่นอกจากจะบั่นทอนสมรรถภาพของปอด ซึ่งเป็นอวัยวะที่อ่อนไหวหากเชื้อโควิดเข้าไป แล้วยังทำให้ต้องเปิดผ้าปิดหน้า สูดควันเข้าไปและพ่นออกมา ขณะที่การดื่มเหล้าทำให้ภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอ และทำให้เกิดความประมาทขาดสติ ไม่ระมัดระวังตัว หากดื่มไป เล่นพนันไป สูบบุหรี่ไป เกิดการพ่นละอองน้ำลายโดยนั่งห่างไม่เกิน 2 เมตร มีความเสี่ยงสูงที่จะรับและแพร่เชื้อ นี่คือสาเหตุที่ทำให้บ่อนพนันเป็นโรงงานผลิตโควิด-19 ขนาดใหญ่ ซึ่งนักพนันมีโอกาสเสีย 3 เด้งหากฝ่าฝืนไปเล่นพนันในช่วงนี้ เด้งที่หนึ่งคือ เสียเงินเพราะการพนันแน่ ๆ เด้งที่สอง เสียโอกาสที่จะนำเงินนั้นไปใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็นอื่น ๆ ในภาวะที่เศรษฐกิจฝืดเคือง และที่หนักสุดคือ เด้งที่สาม เสียเงินค่าปรับจากการกระทำผิดกฎหมายถึงสามฉบับในทีเดียว คือ พ.ร.บ.การพนัน, พ.ร.ก.ฉุกเฉิน, และ พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อ ซึ่งมีอัตราค่าปรับสูงหลายหมื่นบาท และจะถูกจำคุกทันทีโดยไม่รอลงอาญา ซึ่งอาจนานถึงสองปีก็ได้ เรียกว่ามีโอกาสจะเสียทั้งเงินและอิสรภาพ” นายธนากร กล่าว