NIA โชว์ 4 แพลตฟอร์มเพื่อช่วยระบายสินค้าการเกษตรไทยในช่วงการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 ระบุ เป็นโอกาสสำคัญของสตาร์ทอัพด้านการเกษตร เนื่องจากสามารถนำปัญหาต่าง ๆ มาพัฒนาเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องได้
วันที่ 4 พ.ค. ดร. พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า จากนโยบายล็อคดาวน์และชัตดาวน์ของหลายประเทศทั่วโลกเพื่อเฝ้าระวังการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด - 19 ส่งผลต่อการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยโดยตรง โดยเฉพาะกลุ่มผลไม้ในช่วงฤดูร้อนที่เริ่มทยอยออกผลเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น มะม่วง เงาะ ทุเรียน มังคุด ฯลฯ ซึ่งเมื่อไม่สามารถส่งออกได้ การสั่งซื้อของร้านอาหารและห้างสรรพสินค้าก็ลดลงเกือบร้อยละ 50 ทำให้เกิดปัญหาสินค้าล้นตลาด ราคาถูกลง
นอกจากนี้ สินค้าเกษตรยังมีระยะเวลาจำกัดเพราะเกิดการเน่าเสียและเสียหายได้ง่าย ปัญหาเหล่านี้จึงเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ที่หลายภาคส่วนจะต้องเร่งผลักดันภาคการเกษตรให้เดินหน้าต่อได้ภายใต้วิกฤติครั้งนี้ โดยเฉพาะในด้านการตลาด การช่วยระบายสินค้า รวมทั้งสร้างทางออกที่เป็นรูปธรรมเพื่อป้องกันปัญหาในระยะยาว
ดร.พันธุ์อาจ กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อให้ปัญหาของเกษตรกรได้รับการบรรเทา NIA โดยศูนย์สร้างสรรค์ธุรกิจนวัตกรรมการเกษตร หรือ ABC center ซึ่งเป็นศูนย์ประสานงานกลางด้านนวัตกรรมการเกษตร และสร้างสตาร์ทอัพด้านการเกษตรให้เติบโตในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ จึงได้สนับสนุนให้เกิดกลไกตลาดผ่านแพลตฟอร์มของสตาร์ทอัพ เพื่อให้เกษตรกรและผู้ผลิตสามารถขายสินค้ากับผู้บริโภคโดยตรง สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันมาซื้อสินค้าผ่านออนไลน์มากขึ้น โดยแบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่
· ระบบเจ้าของร่วมผลิต เช่น ฟาร์มโตะ (FARMTO) ช่องทางการขายผลผลิตเกษตรรูปแบบใหม่ที่เชื่อมเกษตรกรและผู้บริโภคเข้าหากันผ่านวิธีการร่วมเป็นเจ้าของผลผลิตการเกษตร เพื่อให้ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคได้ช่วยเหลือและดูแลคุณภาพผลผลิตไปด้วยกัน โดยหากผู้บริโภคต้องการตรวจสอบผลผลิตก็สามารถเดินทางมาเยี่ยมชมและติดตามขั้นตอนต่าง ๆ ได้ เช่น ข้าวหอมมะลิ ข้าวไรซ์เบอรี่ และเมื่อถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยว เกษตรกรจะจัดส่งผลผลิตให้ผู้บริโภคตามที่อยู่ที่ลงทะเบียน รวมทั้งยังเปิดโอกาสให้เกษตรกรได้ตั้งราคาขายผลผลิตด้วยตัวเองเพื่อแก้ปัญหาภาระหนี้สินและราคาผลผลิตตกต่ำ ทำให้เกษตรกรได้พัฒนาตัวเองและเรียนรู้ที่จะสร้างแบรนด์สินค้าของตัวเองในอนาคต นอกจากนี้ เกษตรกรยังสามารถนำแนวคิดดังกล่าวมาต่อยอดใช้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางการเกษตรได้อีกด้วย
· ระบบการประมูลสินค้าเกษตร หรือ E-biding เช่น ครอปเปอร์แซด เป็นแพลตฟอร์มที่จะทำให้เกษตรกรไทยสามารถเข้าถึงข้อมูลความต้องการของตลาด และช่วยยกระดับภาคธุรกิจให้สามารถพัฒนาผลผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพ ควบคุมราคา และปริมาณได้ตรงตามความต้องการของตลาด และทำให้สามารถทราบว่าจะมีพืชเกษตรชนิดใดออกช่วงไหน โดยข้อมูลนี้จะช่วยสนับสนุนการสร้างตลาดกับกลุ่มลูกค้าโดยเฉพาะโรงงานแปรรูปที่ต้องการวัตถุดิบเข้าสู่สายการผลิต ซึ่งจะทำให้ทั้งเกษตรกรและผู้ประกอบการมีผลผลิตที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง
· ระบบตลาดออนไลน์ หรือ Marketplace ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมสินค้าสินค้าของเกษตรกรที่มีคุณภาพ ส่งต่อให้ถึงมือผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตัวอย่างเช่น มีแซ่ด (MeZ) ศูนย์กลางเชื่อมโยงและแบ่งปันผลไม้คุณภาพจากเกษตรกร ที่พร้อมส่งผลไม้จากสวน ผ่านการคัดสรรและใส่ใจในทุกขั้นตอนการเพาะปลูก เอิร์ทออร์แกนนิค (Earth Organic) ที่มุ่งเน้นกลุ่มสินค้าเกษตรปลอดภัย เกษตรอินทรีย์ มีการควบคุมคุณภาพแบรด์สินค้าร่วมกับเกษตรกร เน้นอัตลักษณ์จากท้องถิ่น ส่งตรงถึงผู้บริโภคด้วยการขนส่งที่มีคุณภาพ
· ระบบการขายออนไลน์ส่งมอบให้ผู้บริโภคและธุรกิจเกษตร (B2B /B2C) ซึ่งเป็นตัวช่วยสนับสนุนการขายสินค้าเกษตรผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น ฟาร์มบุ๊ค (Farmbook) ระบบนิเวศสังคมเกษตรที่ให้เกษตรกร ผู้ผลิต ผู้ให้บริการ ผู้จัดจำหน่าย ผู้ซื้อ และผู้ปริโภคมารวมตัวกันเพื่อสร้างการเชื่อมโยงหลากหลายด้าน (Multisided Markets) สามารถเชื่อมกลุ่มคนจากทั่วทุกมุมโลกที่เข้าถึงอินเตอร์เน็ตไว้ด้วยกัน รวมทั้งยังมีมีข้อมูลตลาดที่ชัดเจน ทำให้ทุกขั้นตอนในการซื้อขายมีประสิทธิภาพ
เฟรชเก็ต (Freshket) ตลาดสดออนไลน์สำหรับร้านอาหารและผู้บริโภค มีแพลตฟอร์มสำหรับรวบรวมและจำหน่ายอาหารสด สามารถเชื่อมต่อกับร้านอาหาร และผู้บริโภคได้อย่างอิสระตลอด 24 ชั่วโมง และ เนเจอร์ ฟู้ด (Naturefood) แอปพลิเคชั่นสำหรับการซื้อขายข้าวอินทรีย์และสินค้าเกษตรปลอดภัย มีบริการส่งถึงบ้าน และให้บริการส่งออกทั่วโลกแบบ One Stop Service ตลอดจนการใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA เพื่อช่วยสนับสนุนการแก้ไขปัญหาราคาสินค้าตกต่ำ ยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของเกษตร รวมทั้งทำให้คนในสังคมมีสุขภาพดี
“แม้ว่าในช่วงการระบาดของโรคโควิด – 19 จะส่งผลกระทบหลากหลายด้าน แต่ในภาวะวิกฤตินี้ก็ยังเป็นโอกาสสำหรับสตาร์ทอัพหรือผู้ที่มีแนวคิดในการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมได้หลากหลายประเภทเช่นกัน โดยเฉพาะสตาร์ทอัพในกลุ่มเกษตรกรรมซึ่งยังถือว่ามีจำนวนไม่มากนักในประเทศไทย นอกจากนี้ผลกระทบที่เกิดขึ้นในภาคการเกษตร NIA ยังมองว่าจะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญทั้งระบบตลาด การซื้อขาย การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ช่วยแก้ปัญหาที่มีอยู่เดิมและกำลังจะเกิดใหม่ อีกสิ่งที่สำคัญที่ทุกคนต้องตระหนักคือประเทศไทยเป็นประเทศที่เป็นเกษตรกรรม การต่อยอดหรือประยุกต์อุตสาหกรรมนี้ยังมีแนวทางและรูปแบบอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งหากร่วมกันสนับสนุนกันอย่างจริงจังก็จะทำให้ระบบการเกษตรในประเทศมีความแข็งแกร่ง และสามารถยืนอยู่ได้ในทุกภาวะวิกฤติ” ดร.พันธุ์อาจ กล่าวสรุป