อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โชว์ผลตรวจภูมิคุ้มกัน หรือคนไทยเรียก Rapid Test ถึง 3 ระยะ พบรอมากกว่า 14 วัน ถึงรู้ว่าป่วย 'โควิด-19' ได้ผลบวก ตรงกับองค์การอนามัยโลก ชี้ตรวจภูมิคุ้มกัน ไม่มีประโยชน์ในการวินิจฉัยรักษา การสอบสวนควบคุมโรค
วันที่ 26 เมษายน นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่า ปัจจุบันมีห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองทั่วประเทศ 124 แห่ง ฉะนั้นการเข้าถึงการตรวจหาเชื้อจึงไม่ใช้เรื่องยากลำบากแล้ว อีกทั้งมีการส่งตัวอย่าง และรายงานผลออนไลน์ได้ภายใน 1 วัน
ปัจจุบันการตรวจหาเชื้อโควิด-19 แบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มหนึ่ง ผู้มีอาการสงสัย (PUI) ตรวจโดยสถานพยาบาล นำสารคัดหลั่งมาตรวจด้วยวิธี RT-PCR กลุ่มสอง การค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก ลงตรวจในชุมชน และกลุ่มสาม เฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยง อยู่กันอย่างแออัด คนขับรถสาธารณะ ซึ่งจะมีการกำหนด สถานที่ และอาชีพที่เสี่ยงต่อไป
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงการตรวจภูมิคุ้มกันผู้ป่วย หรือแอนตี้บอดี้ของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 พอรับเชื้อ กว่าผู้ป่วยจะมีอาการ ใช้เวลา 7 วัน ภูมิคุ้มกันถึงจะขึ้น
สำหรับการตรวจแอนตี้บอดี้ต่อเชื้อโควิด-19 พบว่า มีตัวอย่างการตรวจเลือดคนไข้ 34 ราย หลังจากมีอาการแล้วไม่เกิน 7 วัน พบว่า ภูมิคุ้มกันขึ้นแค่ 17.65% จากนั้นเรานำเลือดคนไข้อีก 33 ราย หลังมีอาการแล้ว 8-14 วัน ปรากฎว่า ภูมิคุ้มกันเพิ่มแค่ 42.42% แปลว่า ตรวจภูมิคุ้มกันอย่างไรผลก็ยังเป็นลบอยู่
จากนั้นนำเลือดคนไข้ 20 ราย หลังแสดงอาการมากกว่า 14 วัน ปรากฎว่า ภูมิคุ้มกันขึ้น 85% แปลว่า การตรวจวินิจฉัยภูมิคุ้มกันนั้น ส่วนใหญ่ต้องรอคนไข้มีอาการหลัง 2 สัปดาห์แล้วถึงจะได้ผลบวก
"การตรวจหาเชื้อแม้ยังไม่มีอาการ สามารถตรวจได้ก่อน คือ วิธีการตรวจหาเชื้อทางพันธุกรรม RT -PCR ฉะนั้น ก่อน 1-14 วัน การตรวจภูมิคุ้มกันจะวินิจฉัยโรคไม่ได้ดี ซึ่งตรงกับ องค์การอนามัยโลก บอกว่า การตรวจภูมิคุ้มกัน หรือคนไทยเรียกว่า Rapid Test ไม่มีประโยชน์ในการวินิจฉัยรักษา และการสอบสวนควบคุมโรค มีประโยชน์ในบางกรณีเท่านั้น
นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า ภูมิคุ้มกันที่ขึ้น บางครั้งไม่ได้ป้องกันโรคได้ และไม่ใช่การตรวจวินิจฉัยหลัก
สำหรับเชื้อไวรัสโควิด-19 กับการถอดรหัสกลายพันธุ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวด้วยว่า ประเทศไทยเราดำเนินการศึกษาวิจัยตลอดเวลา โดยธรรมชาติของเชื้อมีการกลายพันธุ์ตลอดเวลา ส่วนจะรุนแรงหรือติดง่ายขึ้นหรือไม่ วันนี้ยังไม่มีนัยสำคัญว่า การกลายพันธุ์ทำให้เชื้อรุนแรงหรือติดต่อง่ายขึ้น