สถานการณ์ผู้ป่วยติดเชื้อโควิดรายใหม่พบเพิ่มอีก 33 ราย รักษาหายกลับบ้าน 1,787 ราย รักษาตัวในโรงพยาบาล 899 ราย รวมมีผู้ป่วยสะสม 2,733 ราย ใน 68 จังหวัด ไม่มีผู้เสียชีวิต รวมเสียชีวิตสะสม 47 คน
วันที่ 18 เมษายน 2563 เวลา 11.30 น.นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แถลงสถานการณ์การติดเชื้อโรคไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ณ โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ว่า สถานการณ์ผู้ป่วยติดเชื้อโควิดรายใหม่พบเพิ่มอีก 33 ราย รักษาหายกลับบ้าน 1,787 ราย รักษาตัวในโรงพยาบาล 899 ราย รวมมีผู้ป่วยสะสม 2,733ราย ใน 68 จังหวัด ไม่มีผู้เสียชีวิต รวมเสียชีวิตสะสม 47 คน
นายแพทย์ทวีศิลป์ กล่าวถึงกลุ่มผู้ติดเชื้อสูงสุดอยู่ในช่วงวัย 20-29 ปี โดย 33 รายใหม่ เป็นกลุ่มสัมผัสในผู้ป่วยก่อนหน้านี้ สัมผัสชาวต่างชาติ ไปตลาดนัด พร้อมกับชื่นชม 9 จังหวัดที่ยังไม่พบรายงานการรักษาผู้ติดเชื้อ และมี 29 จังหวัด ไม่มีผู้ป่วยติดเชื้อในช่วง 14 วัน
"จำนวนผู้ป่วยรายใหม่ เปรียบเทียบพื้นที่กรุงเทพ นนทบุรี มีตัวเลขเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะมีโรงพยาบาลรับรักษาผู้ป่วยโควิด หลักๆ ด้วย ขณะที่จังหวัดอื่นๆ มีตัวเลขลดลง โดยเฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนใต้ "
เสียชีวิต 47 เป็นชายมากกว่าหญิง- เบาหวาน อันดับ 1
สถานการณ์ผู้ป่วยเสียชีวิตโรคโควิด ข้อมูลเบื้องต้นตั้งแต่ 4 มกราคม - 17 เมษายน พบผู้เสียชีวิต 47 ราย อัตราป่วยตาย 1.7% แบ่งเป็นสัญชาติไทย 87% ต่างชาติ 13%
ขณะที่อายุเฉลี่ยอยู่ที่ 57 ปี และจะพบว่า เด็กอายุ 0-9 ปี ไม่พบเสียชีวิตเลย ทั้งนี้ ผู้ป่วยเสียชีวิต ส่วนใหญ่เป็นชาย (38) มากกว่าหญิง (9) โรคประจำตัวที่พบร่วม อันดับหนึ่ง คือเบาหวาน รองลงมา ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ฯลฯ และไม่มีโรคประจำตัว ก็เสียชีวิตถึง 17 คน
เมื่อดูปัจจัยเสี่ยงพบว่า สัมผัสกับผู้ป่วยยืนยัน และเดินทางไปในสถานที่แออัด สถานบันเทิง บ่อน สถานที่รวมกลุ่มคนจำนวนมาก ฉะนั้น ที่เห็นภาพคนไทยต่อแถวรอขอรับบริจาค ยืนแออัดจำนวนมาก ถือเป็นความเสี่ยงทั้งสิ้น
ส่วนสถานการณ์การแพร่ระบาดทั่วโลก โฆษก ศบค. กล่าวว่า พบเสียชีวิต 1.5 แสนคน ติดเชื้อโควิดกว่า 2.2 ล้านราย สถิติการพบผู้ป่วยโควิดสูงสุด อันดับ 1 ยังคงเป็นสหรัฐฯ รองลงมาสเปน และอังกฤษ ขณะที่จีน ก็มีตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นด้วย
นายแพทย์ทวีศิลป์ ยังกล่าวถึงจำนวนผู้เดินทางโดยระบบขนส่งสาธารณะ หลังเดือนมีนาคมเป็นต้นมา การเดินทางต่างๆ ลดลงทุกช่องทาง ซึ่งต้องขอขอบคุณประชาชนที่ให้ความร่วมมือ โดยเฉพาะช่วงที่เรารณรงค์ทุกสงกรานต์ 7 วันอันตราย แต่ปี 2563 เมื่อมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ทำให้คนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน ลดลงถึง 71% เหลือ150 รายเท่านั้นเอง อีกทั้งการบาดเจ็บเข้ารับการรักษาตัวผู้ป่วยนอก และแอดมิทลดลงทั้งคู่
ช่วงท้าย โฆษกศบค. กล่าวถึงปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน มีการยืนต่อแถวรับบริจาคข้าวสารอาหารแห้งว่า เห็นภาพข่าวก็ตกใจ หรือเรามีปัญหาการสื่อสาร จึงต้องขอหากท่านที่มีใจเป็นกุศลอยากบริจาค ท่านต้องมีระบบที่ดีด้วย
"ท่านไม่ได้ทำตามข้อกำหนดกฎหมาย ชุมชนเกินกี่คน และใช้เวลานาน ต้องนับจากนี้ไปอีก 14 วัน ผมอยากให้ทุกคนที่ไปรับบริจาค หากมีไข้ให้พบแพทย์โดยด่วน เป็นหน้าที่ของพี่น้องสาธารณสุข ท่านชุมนุมไปแล้ว และเฝ้าดูแลสุขภาพให้ดี ใส่หน้ากาก 100% ตลอดเวลา ภาพปรากฎเมื่อวาน ตรงกันข้ามกับภาพที่เราอยากให้เป็น"