ช่วยหมอลดความเสี่ยงจากผู้ป่วยปกปิดข้อมูล กลุ่มนักพัฒนาแอปพลิเคชัน อาสาสมัคร ภาคธุรกิจเอกชน และหน่วยงานภาครัฐ พัฒนาแอปพลิเคชันหมอชนะ- MorChana ชวนคนไทยดาวโหลด เพื่อให้ได้รับรู้ถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ในช่วงที่ทุกคนต้องรักษาระยะห่างทางสังคม - ลดความเสี่ยงโควิด-19
วันที่ 10 เมษายน กลุ่มนักพัฒนาแอปพลิเคชัน อาสาสมัคร ภาคธุรกิจเอกชน และหน่วยงานภาครัฐ เปิดตัวแอปพลิเคชันหมอชนะ (MorChana) ขึ้น พร้อมเปิดให้ประชาชนทั่วประเทศได้ Download และรับรู้ถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในช่วงที่ทุกคนต้องรักษาระยะห่างทางสังคม ณ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA)
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวถึงสถานการณ์วันนี้ทุกคนต้องการร่วมมือร่วมใจฝ่าวิกฤติโรคระบาด การเปิดตัวแอปพลิเคชัน หมอชนะ มาจากกลุ่มอาสาสมัครที่มารวมตัวกัน แม้จะไม่ได้เป็นแอปฯ ที่ดีที่สุด หรือตอบโจทย์ทุกอย่างได้ แต่สิ่งที่เราเจอทุกวันนี้รวดเร็ว เราจำเป็นต้องใช้ในระยะเวลาอันสั้น แอปฯ จะสมบูรณ์คือพี่น้องประชาชนร่วมกันใช้ด้วย
"เชื่อว่า เป็นแอปพลิเคชั่นหมอชนะ ผลิตและคิดโดยคนไทย ซึ่งจะตอบโจทย์ ช่วยประเทศเข้าสู่ภาวะปกติได้เร็วที่สุด ความเสี่ยงความระแวงกันจะน้อยลง แอปฯ นี้จะบอกสถานภาพท่านเป็นกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ หรือเป็นคนปกติ สามารถใช้ชีวิตได้ปกติหรือไม่ สังคมได้ทำมาค้าขายได้ปกติ "
นายพุทธิพงษ์ กล่าวอีกว่า แอปฯ นี้ไม่ได้เป็นแอปฯ สาธารณสุขอย่างเดียว แต่ตอบโจทย์ในอนาคตด้วย วันนี้จะไม่มีทางแอปฯ จะเดินไปสู่ความสำเร็จ หากไม่ช่วยกัน
"ข้อมูลที่ประชาชนใช้ มีความปลอดภัยหรือไม่ เชื่อว่า ทีมงานให้ความสำคัญเรื่องนี้ ไม่มีการล้วงข้อมูลได้เด็ดขาด แอปฯ นี้ไม่มีเจ้าของ มาจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน"
ขณะที่ดร. อนุชิต อนุชิตานุกูล ตัวแทนทีมพัฒนาฯ กล่าวถึงเปิดตัวแอปพลิเคชัน “หมอชนะ” ร่วมโหลด ร่วมใจ ชนะกับโควิด -19 ทั้งเรื่องของการรักษาความเป็นส่วนตัว ขอให้มั่นใจได้ เพราะระบบจะให้มีการลงทะเบียนแบบนิรนาม แสดงผลแบบไม่ระบุตัวตน จำนวนผู้ใช้ที่มากขึ้นจะทำให้ระบบมีฐานข้อมูลที่แม่นยำ และให้ข้อมูลได้ทันท่วงทีแบบเรียลไทม์ ซึ่งแอปฯ นี้จะเก็บข้อมูลไว้ระยะเวลา 30 วัน หรือเมื่อหมดวิกฤติโรคระบาด ข้อมูลจะโดนลบทิ้ง ไม่มีการนำไปใช้อย่างอื่น
"เราช่วยหมออย่างอื่นไม่ได้ เรามีทักษะการเขียนโปรแกรม จากที่ติดตามข่าวพบว่า หมอติดเชื้อจากคนไข้ปกปิดประวัติ เมื่อได้ยินว่า ใครเก่งตรงไหน จึงเกิดเป็นกลุ่มอาสาที่มารวมตัวกันทำแอปฯ เรารู้จักกันแค่ 1-2 สัปดาห์ แต่มีเป้าประสงค์ คือ การใช้เทคโนโลยีปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนไทย แอปฯ นี้จะดีกับหมอ พอคนเดินมาต้องซักประวัติ ไปสนามมวยมาหรือไม่ แต่เมื่อมีแอปฯ นี้หมอสามารถประเมินความเสี่ยง ไม่เสียเวลาในการซักประวัติ จึงเป็นข้อดีสำหรับหมอและผู้ป่วย"ดร. อนุชิต กล่าว และว่า แอปฯ หมอชนะ ยังดีสำหรับคนไทยทุกคน ประเมินความเสี่ยง ลดความวิตกกังวล
ดร. อนุชิต กล่าวว่า ตอนเริ่มใช้แอปฯ ครั้งแรก การตอบคำถามอาจจะไม่แม่นยำเท่าที่ควร แต่พอเวลาผ่านไป ข้อมูลพฤติกรรมจะเข้ามาในระบบแล้ว ตรงนี้เป็นข้อมูลที่โกหกไม่ได้
ส่วนเรื่องความโปร่งใสของแอปฯ หมอชนะ จะมีคณะกรรมการ 9 คน คอยตรวจสอบข้อมูล และมีระบบให้คนเข้าไปตรวจสอบได้ด้วย อีกทั้ง แอปฯ นี้จะใช้เทคโนโลยี GPS ติดตามการเคลื่อนที่ระยะไกล และ Bluetooth ในโทรศัพท์ สามารถระบุคนและมีระยะเข้าใกล้ได้แม่นยำกว่า 2 เทคโนโลยีนี้ จะช่วยทำให้บอกความเสี่ยงได้มากขึ้นหรือน้อยลง รวมถึงมีการใช้ คิวอาร์โค้ด ไว้สำหรับเช็คอิน
ทั้งนี้ แอปพลิเคชั่นหมอชนะ จะแบ่งผู้ใช้เป็น 4 กลุ่ม ซึ่งบอกระดับความเสี่ยง 4 สี เขียว (เสี่ยงต่ำ) เหลือง (เสี่ยงน้อย) ส้ม (เสี่ยง) และแดง (เสี่ยงสูงมาก) ปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงที่ทำให้ค่าสีเปลี่ยนแปลง อยู่ใกล้ผู้ติดเชื้อในช่วงที่ผ่านมา
ดร. อนุชิต กล่าวด้วยว่า เราอยากให้ประชาชนโหลดใส่มือถือให้เร็วที่สุด ระบบจะเก็บข้อมูลตั้งแต่วันนี้ เริ่มเร็วเมื่อไหร่ ประวัติก็จะถูกเก็บไว้ "แอปฯ หมอชนะ นี้ร้านค้าก็สามารถตรวจเช็คผู้มาใช้บริการได้ด้วย เพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศขับเคลื่อนต่อไปได้ เดินหน้าเร็วที่สุด การปิดเมืองได้มีระยะเวลาสั้นที่สุด"