สธ.แจงประกาศราชกิจจาฯ 4 ประเทศเสี่ยงติดโรคสูง พบผู้ป่วยแต่ละวันเกิน 500 ราย แนะให้อยู่บ้าน รายงานอาการของตนเองผ่านช่องทางที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ทุกวัน หากขัดคำสั่งใช้กฎหมายเข้มสั่งกักกัน
วันที่ 6 มีนาคม นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แถลงความคืบหน้า สถานการณ์ โรคไวรัสโควิด-19 ณ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขประจำวันที่ 6 มีนาคม 2563 พบผู้ป่วยใหม่ 1 ราย บินตรงมาจากประเทศอังกฤษ และพักที่ฮ่องกง 7 ชั่วโมง ก่อนเข้ามาประเทศไทย กระทั่งเข้ารักษาโรงพยาบาลเอกชน และตรวจพบผลยืนยันเป็นโควิด-19
ขณะที่แรงงานไทยที่กลับจากเกาหลีใต้ ได้ทำการตรวจหาเชื้อ และรอผลยืนยันอยู่ ซึ่งจะแจ้งให้ทราบต่อไป
ปัจจุบันมีผู้ป่วยรักษาหายแล้ว 31 ราย เหลือพักรักษาตัวในโรงพยาบาล 16 ราย ทำให้มียอดผู้ป่วยสะสมรวม 48 ราย ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 24 ของโลกที่มีผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19
นายแพทย์สุขุม กล่าวถึงการประกาศที่ลงราชกิจจานุเบกษา มี 4 ประเทศ ได้แก่ เกาหลีใต้ จีน (รวมมาเก๋า ฮ่องกง) อิตาลี และอิหร่าน เป็นประเทศกลุ่มที่ 1 (เสี่ยงสูงมาก) เนื่องจากมีผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เกิน 1 พันคน และอัตราการเพิ่มของผู้ป่วยแต่ละวันเกิน300 -400 รายจึงถือว่าเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงติดโรคสูง สิ่งที่เราดำเนินการ สำหรับผู้เดินทางมาจากประเทศเหล่านี้ แนะนำให้ทำกักตัวที่บ้าน หรือ Homes Guarantee ต้องรายงานอาการของตนเองผ่านช่องทางที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ทุกวัน และต้องรายกงานตัวตามความเป็นจริงเป็นเวลา 14 วัน
"หากท่านที่มาจาก 4 ประเทศนี้ หากขัดคำสั่ง หรือรายงานอาการไม่ตรงกับความเป็นจริง เราจะใช้กฎหมายเชิญมากักกันทันที "
ส่วนประเทศกลุ่มที่ 2 กระทรวงสาธารณสุขแนะนำให้ควรหลีกเลี่ยงการเดินทาง เพราะมีผู้ป่วยพอประมาณ ประกอบด้วย 9 ประเทศ เหมือนเดิม ได้แก่ จีน (ฮ่องกง มาเก๋า) ไต้หวัน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ อิหร่าน อิตาลี ฝรั่งเศส เยอรมัน
ประเทศกลุ่มที่ 3 ประเทศที่จับตามองเป็นพิเศษ มีจำนวน 4 ประเทศ ได้แก่ สเปน สวิตเซอร์แลน์ เนเธอร์แลนด์ และสหรัฐ กระทรวงสาธารณสุขแนะนทำหากท่านไปประเทศเหล่านี้ต้องหลีกเลี่ยงไปที่ชุมชน รับประทานอาหารให้ระวัง กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการที่ซีพีเอฟ สนับสนุนอาหารให้กับผู้ที่กลับจากต่างประเทศ และกักตัวอยู่บริเวณบ้านเป็นเวลา 14 วันว่า ล่าสุดพบมีผู้มาลงทะเบียนแล้ว 500 รายแล้วกับกรมควบคุมโรค ซึ่งแสดงว่า คนไทยแสดงความรับผิดชอบ กลับจากต่างประเทศและระมัดระวังตัว (อ่านประกอบ:CPF ส่งอาหารร่วมต้านภัย Covid -19 หนุนบุคลากร รพ. และกลุ่มเสี่ยงรัฐ)
นายแพทย์สุขุม กล่าวถึงกรณีผู้ที่กลับมาจากอู่ฮั่น และกักกันโรค ก็พบว่า ไม่ได้ติดเชื้อทุกราย แต่ทำเพื่อให้สังคมไทยมั่นใจ ไม่เพิ่มจำนวนการระบาดในประเทศ ยืนยันว่า 6 กรณีหลัง จะพบว่า ผู้ป่วยติดเชื้อมาจากต่างประเทศทั้งนั้น และหากระยะ 1-2 เดือนนี้ประเทศไทยไม่มีการติดในประเทศเลย แสดงว่า สถานการณ์ในบ้านเราเริ่มดีขึ้น
"วันนี้เราช่วยกัน มีวินัย รับผิดชอบต่อสังคม ทำให้ยอดผู้ป่วยในประเทศไทยมีน้อยกว่าประเทศอื่น"นายแพทย์สุขุม กล่าว และว่า กรณีปู่ ย่า หลาน ติดไวรัสโควิด เขาเสียใจมีอาการต้องพบจิตแพทย์ เพราะคิดว่าตัวเองผิด ฉะนั้น ของสังคมอย่าโทษกัน ให้เขาเข้ามารักษาในระบบ เราช่วยกันดูแลกันได้ ไทย ะอาจจะกลับสู่ระยะที่ 1 สถานการณ์การระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ที่คิดว่าระบาดหนักๆ อาจไม่เกิดขึ้นในไทยก็ได้
ศิริราช ใช้หน้ากากอนามัย 1 แสนชิ้นต่อสัปดาห์
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า วันเดียวกัน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เดินทางไปตรวจเยี่ยมการจัดสรรหน้ากากอนามัย ที่โรงพยาบาลศิริราช พบว่า มีการส่งตรงจากโรงงานผู้ผลิตมายังโรงพยาบาลผู้ใช้โดยตรง
ขณะที่รศ.นพ.วิศิษฐ์ วามวาณิชย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช กล่าวถึงปริมาณการใช้หน้ากากอนามัยของโรงพยาบาลศิริราช ตัวเลขอยู่ที่ 1 แสนชิ้นต่อสัปดาห์ ขณะที่ศิริราชมีคนไข้นอกจำนวน 1 หมื่นราย คนไข้ใน 1 พันคน บุคลากรทางการแพทย์รวมกว่า 2 หมื่นคน โดยในจำนวนนี้ มีความเสี่ยง 1.5 หมื่นคน และเสี่ยงทุกวัน เพราะรวมนักศึกษาแพทย์ด้วย
"สายงานไม่ได้ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับผู้ป่วยโดยตรง ศิริราชได้สั่งให้ใช้หน้ากากผ้า เพื่อควบคุมการใช้"
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช กล่าวยืนยันการหาซื้อหน้ากากอนามัย ที่ล่าสุด กลุ่มรพ.โรงเรียนแพทย์ หาซื้อกับบริษัททั้งหลาย ก็ยังหาซื้อไม่ได้ เราต้องพึ่งกรมการค้าภายใน สต๊อกจากที่คาดใช้ถึงสิ้นปี วันนี้ปริมาณการใช้ก้าวกระโดดมาก ดังนั้น ยอดที่แจ้งจึงไม่ได้โอเว่อร์แต่อย่างใด ไม่ได้พยายามโอเวอร์สต๊อก แม้แต่พนักงานเวรเปล เราต้องให้ความสำคัญ ให้ใส่หน้ากากอนามัยก่อน เพราะทำงานใกล้ชิดผู้ป่วยโดยตรง
จากนั้น นายจุรินทร์ เดินทางต่อไปยังโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ (บางแค) ดูการกระจายหน้ากากอนามัยให้โรงพยาบาลเอกชน และคลินิก 1.4 แสนชิ้น (อ่านประกอบ:จุรินทร์ เด็ดขาด! จัดหน้ากากอนามัยบริหารรวมศูนย์ ส่งสธ.กระจาย รพ.วันละ 7 แสนชิ้น ที่เหลือสู่ร้านธงฟ้า) "เราให้ความสำคัญกับ บุคลากรทางการแพทย์ ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงลำดับต้น ส่วนประชาชนจะส่งเสริมให้คนไม่ป่วย ได้หันไปใช้หน้ากากทางเลือก ซึ่งรัฐบาลกำลังเร่งผลิตหน้ากากผ้า ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขรับรองแล้วว่าใช้ได้"
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงกำลังการผลิตหน้ากากอนามัยในประเทศไทย 1.2 แสนชิ้นต่อวัน (36 ล้านชิ้นต่อเดือน) เราไม่มีกำลังการผลิตมากกว่านี้อีกแล้ว ศูนย์กระจายหน้ากากรับมาบริหารเอง ครึ่งหนึ่ง คือ 6 แสนชิ้น ที่เหลือ 6 แสนชิ้น ให้โรงงานบริหารจัดการเอง และอนาคตศูนย์กระจายหน้ากากอนามัย จะนำทั้งหมดมาจัดการเอง
"หากคนไทยต้องการ 60 ล้านคน คนละชิ้น เราก็มีไม่เพียงพอ นี่จึงเป็นที่มาที่รัฐบาลอยากให้ประชาชนใช้หน้ากากทางเลือก"
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/