หากเปรียบเทียบกับโรคซาร์ส ใช้เวลา 9 เดือนถึงควบคุมโรคได้ แต่โรคไวรัสโคโรน่าฯ เชื่อว่า ใช้เวลานานกว่าซาร์สแน่นอน น่าจะไม่ต่ำกว่า 1 ปี แต่หากสามารถผลิตวัคซีนได้เร็ว ก็จะควบคุมการระบาดได้อีกระดับหนึ่ง
เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเวที จุฬาฯ เสวนา ครั้งที่ 23 “ตระหนัก ดีกว่า ตระหนก เรียนรู้ และป้องกัน โคโรน่าไวรัส 2019” ณ ห้องประชุม ศ.กิตติคุณดวงเดือน พิศาลบุตร อาคารประชุมสุข อาชวอำรุง คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงสถานการณ์โรคระบาดทุกครั้งที่มีโรคระบาดเราจะตื่นตระหนกเสมอ ทั้งโรคซาร์ส ไข้หวัดใหญ่ 2009 ซึ่งที่ผ่านมาเราเตรียมตั้งรับหมด กระทั่งครั้งนี้เรารู้ตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม 2562 จากนั้นจีนประกาศโรคระบาดคล้ายกับซาร์ส มาเปิดเผยรหัสพันธุกรรมวันที่ 10 มกราคม 2563
"โคโรน่าไวรัส 2019 ติดระหว่างคนสู่คนได้แม้จะไม่มีอาการ ติดค่อนข้างง่าย วันนี้มีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งไม่เกี่ยวข้องกับตลาดที่เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย์" ศ.นพ.ยง กล่าว และว่า อัตราความรุนแรงของโรคนี้ ยังไม่มีใครรู้จริง ตัวเลขที่ประมาณไว้ 2 % ก็ยังสูงกว่าความเป็นจริง พร้อมกับเชื่อว่า ความรุนแรงโรคนี้ ต่ำกว่าโรคซาร์ และความรุนแรงลงมาใกล้ไข้หวัดใหญ่
ปัจจุบันอัตราการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยมีแนวโน้มลดลง หรือแค่ 6% ศ.นพ.ยง วิเคราะห์ว่า แสดงความจีนเริ่มควบคุมได้ จำนวนการเพิ่มต่อวันคงที่ประมาณ 3 พันกว่าคน "ตัวเลขผู้ติดเชื้อของประเทศญี่ปุ่นแซงไทยไปแล้ว เพราะมีคนติดเชื้อบนเรือสำราญ "
สำหรับสถานการณ์การควบคุมโรคนั้น หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิกฯ กล่าวว่า หากเปรียบเทียบกับโรคซาร์ส ใช้เวลา 9 เดือนถึงควบคุมโรคได้ แต่โรคไวรัสโคโรน่าฯ เชื่อว่าใช้เวลานานกว่าซาร์สแน่นอน น่าจะไม่ต่ำกว่า 1 ปี แต่หากสามารถผลิตวัคซีนได้เร็ว ก็จะควบคุมการระบาดได้อีกระดับหนึ่ง
"หากยังไม่เห็นการระบาดเกิดในบ้านเรา ทุกคนต้องช่วยกันลดการแพร่กระจายของโรคให้ได้"
ขณะที่ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ด้านคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวถึงการระบาดโคโรน่าไวรัส 2019 เกิดขึ้นเร็วมากระยะเวลาแค่ 2-3 เดือนเท่านั้น ประเทศไทยมีคนติดเชื้อรายแรกวันที่ 13 มกราคม 2563 จากนั้น วันที่ 20 มกราคม 2563 มีหลักฐานไวรัสนี้ติดเชื้อจากคนสู่คน และสุดท้ายองค์การอนามัยโลกประกาศเป็นภาวะฉุกเฉิน (Public Health Emergency of International Concern : PHEIC)
ผศ.นพ.โอภาส กล่าวว่า ปัจจุบันในประเทศไทยมีการระบาดของไวรัสตัวอื่นด้วย ไม่ใช่ โคโรน่าไวรัส ทำให้ยากมากต่อการแยกโรค โดยเฉพาะโคโรน่าไวรัสติดต่อในโรงพยาบาลได้ด้วย ทั้งบุคลากรทางการแพทย์ และคนไข้ที่นอนโรงพยาบาลอยู่แล้ว ทำให้การติดเชื้อในโรงพยาบาลต้องทำอะไรต่ออีกมาก ซึ่งต้องเฝ้าระวัง
"การประเมินประสิทธิภาพการรักษาอยู่ในขั้นทดลอง การรักษาในคนวันนี้การรักษาแบบประคับประคอง ถือเป็นการรักษาที่ดีที่สุด รักษาตามอาการ ซึ่งคนไข้ส่วนใหญ่ที่มีอาการไม่รุนแรงจะหายได้เอง ทั้งนี้ ไม่แนะนำให้ใช้ corticosteroid ในการรักษาเนื่องจากไม่มีหลักฐานยืนยันว่าได้ประโยชน์"
นพ.เอนก มุ่งอ้อมกลาง ผู้อำนวยการสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยพยายามชะลอการระบาดของโรคให้นานที่สุด จนปัจจุบันการคัดกรองโรค ห้องแล็ป โรงพยาบาลเอกชน รัฐพร้อมแล้ว ที่เหลือประชาชนพร้อมรับมือกับโรคนี้หรือไม่
"ท่ามกลางวิกฤติการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรน่า ก็มีข่าวดีทำให้โรคไข้หวัดใหญ่เคยระบาดในประเทศไทย เริ่มลดลง เพราะคนล้างมือ ใส่หน้ากากอนามัย"
ส่วนพญ.วรรษมน จันทรเบญจกุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงการป้องกันตัวจากการติดโรคว่า ช่องทางการแพร่กระจายเชื้อไวรัสโคโรน่าฯ ผ่านละอองฝอยขนาดใหญ่ของเชื้อผ่านการไอ จาม สัมผัส เหมือนเชื้อกลุ่มไข้หวัดใหญ่ ฉะนั้นต้องล้างมือบ่อยๆ
"ผู้ที่ควรใส่หน้ากากอนามัย คือผู้ที่มีอาการทางเดินหายใจ ผู้ที่ดูแลผู้ที่มีอาการทางเดินหายใจ และผู้ที่มีโอกาสใกล้ชิดผู้ที่เป็นโรค เช่น ทำงานในโรงพยาบาล ขับรถ หรืออยู่ในสถานที่แออัด"
โรคกับอคติทางเชื้อชาติ
สุดท้าย ดร.หยกฟ้า อิศรานนท์ ผู้ช่วยคณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาฯ และอาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาสังคม กล่าวว่า การแพร่ระบาดไวรัส นอกจากส่งผลต่อสุขภาพแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจด้วย เนื่องจากการรับข้อมูลข่าวสาร และการเลือกปฏิบัติกับชาวต่างชาติที่ต้องสงสัยว่าจะป่วย เราจะลดการเลือกปฏิบัติได้อย่างไรบ้าง
"จากการค้นหา SearcH Engine พบว่า มีการค้นหาคำว่า โคโรน่าไวรัสมากกว่า 14 ล้านหน้าเว็บเพจ ในมุมมองเชิงจิตวิทยา เมื่อคนตกอยู่ในสถานการณ์ที่กำกวม หรืออันตราย คนเรามีแนวโน้มที่จะค้นหาข้อมูลให้มากที่สุด เพื่อให้สามารถจัดการหรือรับมือสถานการณ์ดังกล่าวได้ ด้วยความที่สื่อออนไลน์เข้าถึงง่าย ข้อมูลที่เป็นล้านๆ ข้อมูลให้ค้นหา แต่ด้วยอคติในการค้นหา เราจะค้นหาข้อมูลที่สอดคล้องกับความเชื่อเดิมของเรา (confirmation bias) เช่น เรารู้สึกว่าไวรัส อันตราย ร้ายแรง ติดต่อง่าย มองตากันก็ติดแล้ว เราก็จะค้นคำเหล่านั้น
"เมื่อเจอข้อมูลทางการแพทย์ดีๆ เช่น ไม่อันตราย ไม่จริงไม่เชื่อ กดข้ามไป เราเป็นอย่างนั้นหรือไม่ รวมถึงการบอกต่อๆ กันมาจนเป็นความเชื่อ"
ดร.หยกฟ้า กล่าวถึงข่าวปลอมด้วยว่า ลักษณะ Fake News กระตุ้นอารมณ์ความรู้สึกทางลบ หลายครั้งยืนยันอคติความเชื่อเดิมของผู้รับสาร ต้องระมัดระวัง การตกเป็นเหยื่อของข่าวปลอม ซึ่งวิธีดีที่สุดอย่าแชร์ต่อ หรือแก้ไขข้อมูล ตรวจสอบแหล่งที่มาของข้อมูลต่อ พยายามหาข้อมูลจากหลายๆ แหล่ง ชั่งน้ำหนักคิดวิเคราะห์ เป็นต้น
การเลือกปฏิบัติ อคติ รังเกียจกลุ่ม การเหยียด ดร.หยกฟ้า กล่าวว่า ทางทฤษฎีระบุ คนเรามีแนวโน้มจะแสดงเจตคติรังเกียจคนนอกกลุ่ม อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากความกลัวเชื้อโรคแปลกปลอมจากคนนอกกลุ่ม เช่น เราเกิดความกลัวคนจีน แล้วเลยเถิดเป็นการรังเกียจเชื้อชาติ เป็นลักษณะการเลือกปฏิบัติต่อชาวจีน ซึ่งไม่ได้เกิดเฉพาะคนไทย คนทั่วโลกก็เป็นเช่นนี้
"ในอดีตช่วงเกิดโรคระบาดอีโบล่า ชาวแอฟริกันตะวันตก ก็ถูกเลือกปฏิบัติมาเช่นกัน ตัวอย่างในสหรัฐฯ มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ปฏิเสธการรับเด็กไนจีเรีย เพราะเป็นประเทศการแพร่ระบาด วิธีลดอคติรังเกียจกลุ่ม ทำได้โดยการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง มองทุกคนเป็นเพื่อนร่วมโลกที่มีคุณค่าเท่ากัน พูดคุย สร้างเพื่อนข้ามกลุ่ม"
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
รู้จัก รู้ทัน โคโรน่าไวรัส ไปกับ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ
สธ.ไม่อนุญาตให้เรือเวสเตอร์เทียบท่าแหลมฉบัง -ยอดดับไวรัสโคโรน่าในจีนพุ่งเกิน 1 พันราย