พฤติกรรม “บูลลี่” เด็กไทยติดอันดับ 2 ของโลก องค์กรด้านเด็ก เปิดผลสำรวจพบ เด็กกว่าร้อยละ 91 เคยถูกบูลลี่ ตบหัว ล้อบุพการี พูดจาเหยียดหยาม น่าห่วง ร้อยละ 43 คิดจะตอบโต้เอาคืน พร้อมระดมภาคีถอดบทเรียนหาทางออก หวังลดความรุนแรงในเด็กและเยาวชน
เมื่อเร็วๆ นี้ ที่เดอะฮอลล์ บางกอก เครือข่ายปกป้องเด็กและเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยงทางสังคม ร่วมกับ ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว และเครือข่ายนักกฎหมายเพื่อเด็กและเยาวชน สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จัดเสวนาหัวข้อ “BULLYING” กลั่นแกล้ง ความรุนแรงที่รอวันปะทุ”เพื่อหาทางออกและวิธีแก้ไขปัญหาเด็กโดนกลั่นแกล้ง หรือ บูลลี่
นายอธิวัฒน์ เนียมมีศรี เครือข่ายนักกฎหมายเพื่อเด็กและเยาวชน กล่าวว่า จากการลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็นเรื่อง “บลูลี่ กลั่นแกล้ง ความรุนแรง ในสถานศึกษา”ในกลุ่มเด็ก อายุ10-15 ปี จาก 15 โรงเรียน พบว่า ร้อยละ 91.79 เคยถูกบูลลี่ ส่วนวิธีที่ใช้บูลลี่ คือ การตบหัว ร้อยละ 62.07 รองลงมา ล้อบุพการี ร้อยละ43.57 พูดจาเหยียดหยาม ร้อยละ41.78 และอื่นๆ เช่น นินทา ด่าทอ ชกต่อย ล้อปมด้อย พูดเชิงให้ร้าย เสียดสี กลั่นแกล้งในสื่อออนไลน์
นอกจากนี้ 1 ใน 3 หรือ ร้อยละ 35.33 ระบุว่า เคยถูกกลั่นแกล้งประมาณเทอมละ 2 ครั้ง ที่น่าห่วงคือ 1 ใน 4 หรือ ร้อยละ 24.86 ถูกกลั่นแกล้งมากถึงสัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง ส่วนคนที่แกล้งคือ เพื่อน รุ่นพี่ รุ่นน้อง
“เด็กๆ ร้อยละ 68.93 มองว่า การบูลลี่ ถือเป็นความรุนแรงอย่างหนึ่ง และผลกระทบที่เห็นได้ชัด คือ ร้อยละ 42.86 คิดจะโต้ตอบเอาคืน ร้อยละ 26.33 มีความเครียด ร้อยละ 18.2 ไม่มีสมาธิกับการเรียน ร้อยละ 15.73 ไม่อยากไปโรงเรียน ร้อยละ 15.6 เก็บตัว และร้อยละ 13.4 ซึมเศร้า นอกจากนี้ เด็กๆยังต้องการให้ทางโรงเรียนมีบทลงโทษที่ชัดเจน มีครูให้คำปรึกษา จัดกิจกรรมสร้างความเข้าใจ”นายอธิวัฒน์ กล่าว
นายอธิวัฒน์ กล่าวต่อว่า สังคมไทยต้องเลิกมองเรื่องบูลลี่ กลั่นแกล้งกัน เป็นเรื่องเด็กๆ ปกติธรรมดาแล้วปล่อยผ่าน ต้องให้ความสำคัญ และสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่ถูกต้อง เร่งปลูกฝังเรื่องการเคารพสิทธิเนื้อตัวร่างกาย การให้เกียรติกัน ทั้งในระดับครอบครัวและในสถานศึกษา กระทรวงศึกษาธิการก็ต้องให้ความสำคัญกับปัญหาบูลลี่ กลั่นแกล้ง ควรกำหนดให้สถานศึกษามีช่องทางให้เด็กๆสามารถบอกเล่าปัญหา เพื่อขอความช่วยเหลืออย่างเป็นมิตร และปิดลับ และหากสถานศึกษาไม่สามารถรับมือกับปัญหาและสุ่มเสี่ยงที่ปัญหาจะใหญ่ขึ้น ต้องใช้กลไกตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 เพื่อเข้าสู่กระบวนการช่วยเหลือแก้ไข ซึ่งตรงนี้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่มีกลไกพนักงานเจ้าหน้าที่อยู่ทั่วประเทศ ต้องเร่งออกแบบกระบวนการช่วยเหลือให้เป็นระบบ โดยอาจดึงองค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรด้านเด็กเข้ามามีส่วนร่วม
นางสาวฐาณิชชา ลิ้มพานิช ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว กล่าวว่า ปัจจุบันด้วยเทคโนลียีที่เปลี่ยนไปทำให้รูปแบบของการบูลลี่ เกิดความรุนแรงเพิ่มขึ้น แชร์การล้อเลียนอย่างรวดเร็ว ทำให้การถูกกลั่นแกล้งไม่ได้อยู่แค่ภายในโรงเรียน จนส่งผลให้เด็กที่ถูกบูลลี่เลือกใช้ความรุนแรง เพื่อป้องกันตนเอง ทั้งนี้จากงานวิจัยของกรมสุขภาพจิตพบว่า การใช้ความรุนแรง การข่มเหงรังแกกันหรือการบูลลี่ในประเทศไทยติดอันดับ 2 ของโลกรองจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งหมายความว่า การบูลลี่ในไทยมีระดับความถี่ที่รุนแรง นอกจากนี้ยังพบว่า อายุเด็กที่ถูกบูลลี่จะน้อยลงไปเรื่อยๆ จากงานวิจัยยังพบอีกว่า เด็กที่รังแกคนอื่น มีพื้นฐานด้านการขาดอำนาจบางอย่างในวัยเด็ก ถูกการเลี้ยงดูเชิงลบ รวมถึงพันธุกรรมทางสมอง จนนำไปสู่การรังแกกลั่นแกล้งคนอื่นในวัยที่โตขึ้น ซึ่งพฤติกรรมนี้จะเพิ่มขึ้นจนกลายเป็นความเคยชิน ทำได้แนบเนียนและรุนแรงขึ้น ส่วนเด็กที่ถูกบูลลี่ จะมีอาการซึมเศร้า ไม่อยากไปโรงเรียน ในบางรายอาจถึงขึ้น คิดสั้น
“ผู้ปกครองอย่าปล่อยให้เด็กเผชิญปัญหาเพียงลำพัง ต้องคอยสังเกตอาการและสอบถาม เมื่อเด็กส่งสัญญานที่ผิดปกติ เช่น ดูหงุดหงิด วิตกกังวล มีความกลัว ไม่อยากไปโรงเรียน ไม่อยากคุยกับใคร หรือมีร่องรอยตามร่างกาย ผู้ปกครองควรสร้างบรรยากาศแห่งความไว้ใจ ชวนคุยให้เขาเล่าปัญหาเพื่อช่วยหาทางออก หารือกับครูที่ปรึกษา ข้อสำคัญคือการเป็นแบบอย่างที่ดี ทำให้เด็กนำสิ่งเหล่านี้ไปแก้ปัญหา เลี้ยงดูเชิงบวก อาทิ ไม่เปรียบเทียบ ใช้คำพูดที่สุภาพ ไม่ละเมิดสิทธิผู้อื่น สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้เด็กลดพฤติกรรมเสี่ยงต่อการบูลลี่ได้ ทั้งนี้อยากเสนอให้โรงเรียนมีมาตรการครูแนะแนวปรึกษาปัญหา เปิดพื้นที่สำหรับเด็ก กลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อนในโรงเรียน เมื่อเกิดเหตุให้แจ้งทันที”นางสาวฐาณิชชา กล่าว
ขอบคุณภาพจาก:https://mastersinpsychologyguide.com/articles/psychological-effects-bullying-kids-teens/
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/