ประธานคณะกรรมการจริยธรรม สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ฝากทุกสื่อระมัดระวังนำเสนอข่าวใบ้หวย ภาพความรุนแรง และการนำเสนอข่าวที่ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ตกเป็นข่าว กลุ่มเปราะปราง ความหลากหลายทางเพศ เด็ก สตรี ชี้ 2 ปีเรื่องร้องเรียนเยอะสุด
วันที่ 19 ธันวาคม นายวีระศักดิ์ โชติวานิช รองประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และประธานคณะกรรมการจริยธรรม นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ ประธานคณะทำงานคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ แถลงข่าวสรุปการพิจารณาเรื่องร้องเรียน ณ ห้องประชุมอิศรา อมันตกุล ชั้น 3 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
นายวีระศักดิ์ กล่าวถึงการพิจารณาเรื่องร้องเรียนที่มีผู้แจ้งเรื่องร้องเรียนเข้ามา รวมถึงเรื่องที่คณะทำงานคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ หยิบยกขึ้นร้องเรียนว่า ในช่วงปี 2561 ถึง 2562 ถือเป็นวาระของกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์ชุดที่ 9 ได้มีผู้ร้องเรียนถึงการเสนอข่าวทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ และสื่อออนไลน์ที่ละเมิดข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ พ.ศ.2559 และแนวปฏิบัติต่างๆ ของสภาการหนังสือพิมพ์ฯ เป็นจำนวนมาก ซึ่งบางเรื่องทางกรรมการจริยธรรม ก็ไม่สามารถรับไว้พิจารณาได้ เนื่องจากสื่อที่ถูกร้อง ไม่ได้เป็นสมาชิกสภาการหนังสือพิมพ์ฯ
สำหรับเรื่องร้องเรียนที่ได้พิจารณาเรียบร้อยแล้ว และคณะกรรมการสภาการฯ ได้มีคำวินิจฉัยตักเตือนสื่อที่ละเมิดข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ แบ่งเป็นปี 2561 จำนวน 6 เรื่อง และปี 2562 จำนวน 3 เรื่อง รวมจำนวน 9 เรื่อง ประกอบด้วย
ปี 2561
1.เว็บไซต์ไทยรัฐ นำเสนอข่าวเกี่ยวกับการใบ้หวยหลายครั้ง ได้แก่ นาคน้อยรำถวายพ่อปู่ เดินบอกเลขเด็ด ย้ำเผื่อโชคดีรับสงกรานต์, ดวงเฮงบ่อยมาก จ๊ะอาร์สยาม เชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในรถให้หวยแม่น และ เลขเด็ดหญิงใบ้ รวมหวยดังจากทั่วไทย ไม่รวยไม่ได้แล้ว
2.เว็บไซต์เดลินิวส์ นำเสนอข่าวที่เป็นการใบ้หวย เลขเด็ดเช่นกัน ได้แก่ สุนารี ปะทะ มนต์สิทธิ์ ใครดวงเฮง
3.เรื่องที่คณะทำงานคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ หยิบเรื่องร้องเรียนหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันจันทร์ที่ 23 เมษายน 2561 เสนอข่าว พาดหัว หนุ่มไลฟ์สด ซ้อมแฟนสาว ใบหน้ายับเยิน เครียดปันใจ โดยมีภาพประกอบเป็นภาพแฟนสาวในสภาพที่ถูกทำร้าย โดยภาพประกอบดังกล่าวขัดต่อข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ สภาการฯ
4.หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 24 เมษายน 2561 พาดหัวข่าว แฉไอ้เอ็มซาดิสต์ โหดควักลูกตา ปาดคอแฟน โดยมีภาพประกอบแฟนสาวถูกทำร้ายอยู่บนเตียงที่โรงพยาบาล แม้จะอ้างว่า ญาติผู้ป่วยยินยอมให้เสนอข่าว แต่การนำเสนอข่าวนั้นละเมิดแนวปฏิบัติจริยธรรม และละเมิดกฎหมายในสถานพยาบาล
5.เรื่องที่คณะทำงานคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ หยิบยกเรื่องร้องเรียนหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 9 เมษายน 2561 กรณีพาดหัวข่าว น้องอิน ฝ่าฝน จากพัทยาไปหาสาวทอม โทร.งอนกันระหว่างทาง คาดไม่ชินถนนชนสยอง โดยคำพาดหัวข่าว เป็นการละเมิดสิทธิของผู้เสียชีวิต และละเมิดข้อบังคับจริยธรรมฯ ข้อ 13
5.หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 12 กันยายน 2561 นำเสนอข่าวพระเอกดัง โอ-วรุฒ พาดหัว เผยชีวิตบั่นปลาย โอ-วรุฒ ตกอับขอทำงาน จากเคยรุ่งโรจน์กลับหมดตัว พร้อมภาพประกอบภาพศพ โอ-วรุฒ ซึ่งภาพดังกล่าวภาพไม่เหมาะสมไม่ควรเผยแพร่ต่อสาธารณชน
6.หนังสือพิมพ์คมชัดลึก นำเสนอพาดหัว แชร์ว่อน ทำเสน่ห์หญิงสาว กรีดร้องครางทั้งพิธี เป็นทั้งคลิป และเนื้อข่าว ซึ่งเห็นว่า นำเสนอข่าวทำให้งมงาย ภาพไม่เหมาะสม มีการพิจารณาลงโทษ
"รอบปี 2561 การพิจารณาเรื่องร้องเรียน พบว่า เป็นสื่อหัวหลักทั้งไทยรัฐ เดลินิวส์ คมชัดลึก เราเองไม่ว่า สื่อไหนก็ตาม หากละเมิดจริยธรรมก็พร้อมตรวจสอบและลงโทษ" นายวีระศักดิ์ กล่าว
สำหรับปี 2562 เรื่องร้องเรียนที่ได้พิจารณาแล้ว ได้แก่
7.เว็บไซต์ไทยรัฐ พาดหัว ทิ้งระเบิด 3 นร.เก็บมาเล่นขายของ ตูมสนั่น มือขาด เนื้อข่าวเปิดเผยชื่อ นามสกุล และรายละเอียดเกี่ยวกับเด็กทั้ง 3 คน รวมถึงภาพเด็กชัดเจน ซึ่งอาจละเมิดสิทธิเด็ก ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 และละเมิดแนวปฏิบัติสภาการหนังสือพิมพ์ เรื่อง การเสนอข่าว ความคิดเห็น และภาพเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน พ.ศ.2561
8.เว็บไซต์เดลินิวส์ เสนอข่าว หัวเรื่อง แชร์ไฟลุก นักการเมืองดัง กุ๊กกิ๊กสาวผมบ็อบมีสี มีการนำเสนอข่าวเนื้อหา และภาพข่าว ที่ละเมิดข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ พ.ศ.2559 ข้อ 13 14 15
9.หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ นำเสนอข่าวโฆษณาเน็ตฟลิกซ์ หุ้มปกหนังสือพิมพ์ โดยมิได้ระบุข้อความว่า พื้นที่โฆษณา จนทำให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจผิดว่า เป็นหน้าข่าว ซึ่งเป็นการละเมิดข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ พ.ศ.2559 ข้อ 28
นอกจากนี้ ยังมีอีก 3 เรื่องที่คณะกรรมการจริยธรรมได้ส่งเรื่องถึงคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนภายในองค์กรสมาชิก เพื่อให้พิจารณาเรื่องที่ถูกร้องเรียน
สำหรับแนวปฏิบัติการละเมิดจริยธรรม นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า เริ่มมีผลบังคับใช้ช่วงของ คณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์ชุดที่ 9 ฉะนั้นสิ่งต่างๆ ที่ผ่านมายกผลประโยชน์ให้กับจำเลย วันนี้เรานับหนึ่งใหม่ เมื่อละเมิด ก็มีการลงโทษ ออกหนังสือตักเตือน เป็นโทษต่ำสุดแล้ว แต่โดยผลจากนี้ไปจะเพิ่มดีกรีการลงโทษขึ้นเว็บไซต์ ประชาชนทั่วไปได้รับรู้ถึงการลงโทษนั้นๆ
ด้านนางสาวสุภิญญา กล่าวถึงบทลงโทษที่ดูเหมือนว่า เบา แต่ถือเป็นความพยายามในการกำกับดูแลกันเองของสื่อมวลชน เริ่มจากจดหมายเตือน การทำซ้ำก็นำไปสู่มาตรการที่เข้มข้นขึ้น การพิจารณาลงโทษ ไทยรัฐ เดลินิวส์ คมชัดลึก ดูเหมือนมีเรื่องร้องเรียนมากนั้น พบว่า ก็มีสื่อหัวอื่นด้วยที่มีปัญหาลักษณะเดียวกัน แต่ด้วยไม่ได้เป็นสมาชิกจึงไม่สามารถตักเตือนได้
"บทเรียน 2 ปี ปัญหาซ้ำ ๆ ทั้งเรื่องการใบ้หวยหนักหนาสาหัสขึ้น จึงฝากให้ทุกสื่อระมัดระวังขึ้น รวมถึงการนำเสนอข่าวที่ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ตกเป็นข่าว กลุ่มเปราะปราง ความหลากหลายทางเพศ เด็ก สตรี ซึ่งส่วนใหญ่พบมากที่การพาดหัว และการนำเสนอภาพ ไฮไลท์ปีที่ผ่านมา ที่คณะกรรมการฯพิจารณากันยาวนาน ทั้งเรื่องคลิปหลุด ภาพหลุดของนักการเมือง และการโฆษณาแฝง เป็นโจทย์ใหม่ที่เพิ่งเจอ มีแนวโน้มจะมีการร้องเรียนมากขึ้นเรื่อยๆ"
ประธานคณะทำงานคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ สภาการหนังสือพิมพ์ฯ ฝากถึงสื่อมวลชนด้วยว่า ประเด็นแม้แหล่งข่าวอาจจะยินยอม ให้นำเสนอภาพ อย่างกรณีอาชญากรที่เพิ่งถูกจับกุมนั้น สื่อก็ต้องระมัดระวังอาจกระทบจริยธรรมได้ เพราะสื่อมีหน้าที่ปกป้องแหล่งข่าว ซึ่งอาจนำมากระทบกับชีวิตเขาได้ เป็นต้น
ล่าสุด มีรายงานด้วยว่า สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ได้ออกประกาศ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติที่ 1/2562 เรื่อง ประกาศใช้แนวทางปฏิบัติ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ เรื่องการใช้สื่อสังคมออนไลน์ของสื่อมวลชน พ.ศ.2562 โดยมีองค์การสมาชิกจำนวน 60 องค์กร
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/