vaccine for all องค์การอนามัยโลก หนุนไทยจัดงบฯ ฉีดวัคซีนให้เด็กต่างด้าว ระบุชัด เด็กทุกคนควรมีสิทธิ์ไม่ว่าจะอาศัยอยู่ในประเทศไหน สวรส.เผยของบฯ ฉีดวัคซีน 92 ล้าน หวังครอบคลุมถึงเด็กต่างด้าว
วันที่ 11 ธันวาคม สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย (WHO)และกระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าว “สถานการณ์ระบาดของโรคติดต่อในประชากรต่างด้าว” กระทบไทย หรือไม่ ?? ไทย-เทศ จับมือจัดวัคซีนเสริมภูมิคุ้มกันโรคคนต่างด้าว ป้องกันสุขภาพคนไทย พร้อมผลักดันวิจัยอุดช่องว่าง-พัฒนานโยบายการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคคนต่างด้าว สร้างความมั่นคงทางสุขภาพของประเทศและภูมิภาค ณ ห้องประชุมสุปัญญา สวรส.ชั้น 4 อาคารสุขภาพแห่งชาติ
ดร.แดเนียล เคอร์เทสซ์ (Dr.Daniel Kertesz) ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า การเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคด้วยวัคซีนให้กับทุกคนในประเทศไทย นับเป็นพันธสัญญาหนึ่งในด้านสุขภาพของประเทศไทยที่สอดคล้องกับนานาประเทศทั่วโลก เนื่องจากวัคซีน คือ เครื่องมือทางสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพและคุ้มทุนในการป้องกันโรค หากมีการจัดระบบการให้บริการที่ครอบคลุมให้มากที่สุดหรืออย่างน้อยร้อยละ 90 - 95 สำหรับประเทศไทยได้จัดบริการให้เด็กไทยทุกคนได้รับวัคซีนอย่างน้อย 10 ชนิดภายใต้แผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคด้วยวัคซีน ซึ่งจากการสำรวจความครอบคลุมของวัคซีนพื้นฐานในกลุ่มเด็กไทย ล่าสุดในปี พ.ศ. 2561 พบว่า วัคซีนพื้นฐานส่วนใหญ่มีความครอบคลุมมากกว่าร้อยละ 95 ยกเว้นความครอบคลุมวัคซีนหัด หัดเยอรมัน และคางทูมในเข็มที่ 2 ที่ควรได้รับเมื่ออายุ 2 ขวบครึ่ง มีความครอบคลุมเพียงร้อยละ 86 ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้คือร้อยละ 95
"ภายใต้บริบทของประเทศไทย กลุ่มเป้าหมายที่เป็นกลุ่มเข้าถึงวัคซีนพื้นฐานยาก นอกเหนือจากกลุ่มเด็กในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว ยังมีกลุ่มเด็กและผู้ใหญ่ที่ไม่มีสัญชาติไทย ได้แก่ ผู้ที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ และประชากรต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ลาว และกัมพูชา เนื่องจากประชากรกลุ่มเหล่านี้ส่วนใหญ่ยังขาดหลักประกันสุขภาพที่ครอบคลุม ดังนั้นองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย จึงร่วมกับ สวรส. และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้แผนงานสุขภาพประชากรต่างด้าว ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนงานภายใต้ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับองค์การอนามัยโลก สนับสนุนทุนวิจัยในการศึกษาทบทวนระบบบริการการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคสำหรับคนต่างด้าวในประเทศไทย เพื่อนำข้อมูลจากงานวิจัยเร่งผลักดันให้เกิดการพัฒนานโยบายการจัดการในการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคในประชากรต่างด้าว"
ดร.แดเนียล กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกอยากจะส่งสาร วัคซีนที่มีความจำเป็นสำหรับทุกคนในประเทศไทย หรือ vaccine for all เพื่อการมีสุขภาพดีถ้วนหน้า หรือ health for all ขณะที่งบประมาณที่ใช้ในการป้องกันโรค หรือการฉีดวัคซีน ต้องทำให้ผู้กำหนดนโยบายเข้าใจก่อนว่า การฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันเด็กทุกคนมีความสำคัญอย่างไร โดยเฉพาะการฉีดวัคซีนให้กับเด็กต่างด้าว ซึ่งอีกนัยหนึ่งก็เป็นการคุ้มครองเด็กไทยไปด้วยในตัว เชื้อบางชนิดที่มีความรุนแรง การแพร่หรือติดต่อนั้น เชื้อโรคจะหาว่า ใครที่อ่อนแอไม่มีภูมิคุ้มกัน หากสามารถทำให้เด็กทุกคนที่อาศัยในแผ่นดินไทยมีภูมิคุ้มกัน ก็จะป้องกันได้ ดังนั้น เด็กทุกคนควรมีสิทธิ์ได้รับการฉีดวัคซีนไม่ว่าเขาจะอาศัยอยู่ในประเทศไหน
ด้าน นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กล่าวถึงในเชิงมนุษยธรรม ทุกคนควรมีสิทธิเท่ากัน การบริการสุขภาพขั้นพื้นฐานโดยเฉพาะการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค จึงควรครอบคลุมกลุ่มคนต่างด้าวด้วยเช่นกัน เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดโรคระบาดที่จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางด้านสุขภาพและด้านเศรษฐกิจของประเทศไทย
"นโยบายการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของคนต่างด้าว ถือเป็นการป้องกันโรคให้กับคนไทยอีกชั้นหนึ่ง ข้อเสนอจากงานวิจัยจะเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ และส่งต่อนโยบายเหล่านี้ไปยังผู้กำหนดนโยบายของประเทศ"
นพ.นพพร กล่าวว่า เรากำลังชี้ประเด็นใหญ่ๆ เช่น การปล่อยให้แรงงานต่างด้าวเป็นวัณโรค ต้องใช้เวลา 1 ปีในการรักษา พร้อมกับงบประมาณ 1 ล้านบาท แต่หากฉีดวัคซีน และรักษาตั้งแต่ต้นๆ ไม่ว่าชนชาติไหน จะประหยัดงบประมาณได้มหาศาล
"เราต้องช่วยกันส่งเสียง เพราะไม่มีหน่วยงานใดทำได้เพียงลำพัง ภาคส่วนที่สำคัญ คือ ภาคเอกชน เราต้องการเงินมากมายขนาดนั้น แต่เราต้องการความร่วมมือ"
ผอ.สวรส.กล่าวถึงงบประมาณการฉีดวัคซีน เพื่อให้ครอบคลุมไปถึงเด็กต่างด้าวนั้น ปัจจุบันได้ของบประมาณไป 92 ล้านบาท ก็เพื่อป้องกันคนไทยไม่ให้ติดเชื้อจากคนต่างด้าว ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการฉีดวัคซีนให้กับเด็กต่างด้าวอยู่แล้ว โดยนำงบฯ บางส่วนมาฉีดวัคซีนให้ การของบฯ ครั้งนี้ก็เพื่อเติมเต็ม ให้ครอบคลุมมากขึ้น และโปร่งใสมากขึ้น เชื่อว่า งบประมาณผ่านแล้วจะไม่เป็นการเพิ่มภาระให้กับผู้ปฏิบัติงาน
ด้านนางสาวทัศนัย ขันตยาภรณ์ นักวิชาการอิสระ ผู้ทำวิจัยศึกษาทบทวนระบบบริการการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคสำหรับคนต่างด้าวในประเทศไทย กล่าวถึงประเทศรอบบ้านเรา ส่วนใหญ่อัตราการครอบคลุมวัคซีนต่ำมาก ดังนั้นเมื่อเข้ามาทำงานในประเทศไทยโอกาส ไม่มีภูมิคุ้มกัน เนื่องจากไม่ได้ฉีดวัคซีนจะมีมาก หนึ่งในข้อเสนอเชิงนโยบาย เช่น เมื่อแรงงานต่างด้าวมาตรวจสุขภาพ ก็ฉีดวัคซีนได้หรือไม่ หรือเข้าสู่ระบบประกันสังคม ขอให้เป็น 1 ใน 10 บริการสุขภาพ ดีหรือไม่ ค่าวัคซีนหัดในผู้ใหญ่ตกเข็มละ 60 บาท รวมจิปาถะอย่างมากไม่น่าเกิน 300 บาท วัคซีนหัดผู้ใหญ่ 1 เข็ม ครอบคลุมได้ตลอดชีวิต นี่ถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ากว่า การไปตามรักษา
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/