เลขาธิการ สปสช.ชี้ สถานการณ์โรคเอดส์ในไทยดีกว่าอดีต เป็นโรคเดียวที่มีอัตราผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลง ชู PrEP เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือหลักในการควบคุมการแพร่เชื้อเอชไอวี เตรียมศึกษาวิจัย 1 ปีก่อนตัดสินใจว่าจะประกาศเป็นชุดสิทธิประโยชน์ทั่วประเทศ
นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการ"การบริการยาป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีก่อนการสัมผัส” (PRE-EXPOSURE PROPHYLAXIS : PrEP)หรือเพร็พภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อเทิดพระเกียรติ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ เนื่องในโอกาสที่ได้ทรงรับการถวายตําแหน่ง ทูตสันถวไมตรีโครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชนในการป้องกันเอชไอวีในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (UNAIDS Goodwill Ambassador for HIV Prevention for Asia-Pacific) ว่า ในอดีตโรคเอดส์เป็นโรคที่น่ากลัวมาก คนไข้หมดทางรักษาและเสียชีวิตมากมาย ถึงขนาดมีความกังวลว่าโรคนี้จะทำลายมนุษยชาติ แต่ไม่น่าเชื่อว่าในระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา ภายใต้การการดำเนินการหลายๆ อย่าง ทำให้สถานการณ์โรคเอดส์ในประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก
ประเด็นสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในภาพใหญ่ นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า คือ 1.การตัดสินใจทางการเมืองที่รัฐบาลมีความมุ่งมั่นและให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาโรคเอดส์ 2.ระบบบริการที่มีความเข้มแข็งตั้งแต่ส่วนกลาง ภูมิภาคไปจนถึงระดับพื้นที่ ถ้าไม่มีระบบบริการที่เข้มแข็งก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ 3.องคาพยพทางด้านวิชาการ มีการพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับโรคเอดส์มากขึ้น จนสามารถถอดบทเรียนและนำไปขยายผลเพื่อลดอัตราการติดเชื้อรายใหม่ 4.การมีส่วนร่วม โดยงานเกี่ยวกับโรคเอดส์จะไม่สำเร็จเลยถ้าขาดการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ
"ประเด็นอื่น ๆ ยังมีเรื่องปัญหาพฤติกรรมและปัญหาเชิงสังคมซึ่งเป็นเรื่องที่วงการแพทย์ไม่ถนัด เราจึงต้องอาศัยภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการคิดวิธีการแก้ไขปัญหา ขณะเดียวกันเรายังพบว่า การใช้หลักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ๆ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องของพฤติกรรม เป็นเรื่องที่มีความเกี่ยวข้องกับเศรษฐศาสตร์ จึงต้องนำหลักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมมาเกี่ยวข้องในเชิงนโยบาย และสุดท้ายคือการสร้างทางเลือกให้กับประชาชน เพราะคนแต่ละกลุ่มมีความแตกต่างทั้งพฤติกรรม รสนิยม ฯลฯ ที่ผ่านมาแนวทางการดำเนินการจากหลาย ๆ ที่ ก็เกิดจาก Need หรือความจำเป็นของกลุ่มเหล่านี้ นี่คือที่มาที่ไปที่ทำให้สถานการณ์โรคเอดส์ในภาพรวมดีขึ้น"
เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ปัจจุบันโรคเอดส์เป็นโรคเดียวในบรรดาโรคที่เป็นภาระกับระบบสุขภาพที่มีอัตราการติดเชื้อรายใหม่ลดลง สะท้อนถึงความสำเร็จในการควบคุมการติดเชื้อและป้องกันการแพร่กระจาย ขณะที่โรคอื่น เช่น เบาหวาน ความดัน มีแต่จะมีผู้ป่วยสูงขึ้น
"เครื่องมือหลักที่ใช้ในการควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่คือถุงยางอนามัย แต่ใช้เครื่องมือนี้อย่างเดียวก็อาจไม่เหมาะในบางกลุ่มที่มีพฤติกรรมหรืออาชีพที่แตกต่างจากคนทั่วไป อาทิ กลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย สตรีข้ามเพศ พนักงานบริการ (ชาย/หญิง) ผู้ใช้สารเสพติดชนิดฉีด เป็นต้น จึงได้เชิญผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในกลุ่มคนเหล่านี้มาพูดคุย เพื่อดูแนวทางการควบคุมการติดเชื้อรายใหม่ โดยหารือร่วมกับผู้กำหนดนโยบายไม่ว่าจะเป็น คณะกรรมการ สปสช. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ตลอดจนนักวิชาการ ส่งผลให้เกิดสิทธิประโยชน์การบริการยาป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีก่อนการสัมผัส” (PRE-EXPOSURE PROPHYLAXIS : PrEP) ที่นำร่องภายใต้ Global Fund หรือ โครงการ PrEP ของพระองค์เจ้าโสมสวลีฯ โดยได้ถูกนำร่องในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติปีงบประมาณ 2563 นี้ ซึ่งสาเหตุที่ยังไม่ประกาศเป็นสิทธิประโยชน์ทั่วไปเนื่องจากยังมีประเด็นเกี่ยวกับผลกระทบที่ต้องศึกษาทบทวนก่อน"
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวด้วยว่า บอร์ด สปสช.มีมติในเดือน มิ.ย. 2562 ให้เริ่มดำเนินการในกลุ่มเป้าหมาย 2,000 ราย กระจายไปตามพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยร่วมกับกรมควบคุมโรคหาหน่วยบริการเข้ามาในระบบและสร้างกลไกการเข้ามามีส่วนร่วมและศึกษาวิจัยไปในตัว โดยศึกษาใน 2 ประเด็น คือ 1.ศึกษาความเป็นไปได้ในเชิงระบบบริการ เพื่อดูความพร้อมต่าง ๆ ดูกลไกของผู้ที่จะเข้ามาดำเนินการว่ามีความพร้อมมากน้อยเพียงใด และ 2.การดำเนินการที่เหมาะสมจริง ๆ กับผู้ปฏิบัติในพื้นที่เป็นอย่างไร เพราะพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งภาคเหนือ ใต้ กลาง อีสาน มีความแตกต่างในเชิงบริบทและวัฒนธรรม จึงต้องระมัดระวังในการดำเนินการ ระยะเวลา 1 ปีจากนี้ เมื่อมีคำตอบที่ชัดเจนแล้วก็คงจะได้มีการกำหนดในเชิงนโยบายว่าจะประกาศให้เป็นชุดสิทธิประโยชน์ทั่วประเทศในลักษณะใด ซึ่งสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่มีทีมนำโดยเฉพาะกรมควบคุมโรคและสภากาชาดไทยที่พยายามผลักดันการบริการยาป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีก่อนการสัมผัสภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
เปิดงานวิจัย พบ HIV โรคที่คนต่างด้าวมารับบริการ-เบิกจ่ายสูงสุด
ถอดบทเรียน "AT ที่นี่มีเพื่อน" ยุติ HIV กับ “คนต้นเรื่อง” ถูกสังคมตีตรา
ปี 62 คนกรุงติดเชื้อเอชไอวี เกือบ 8 หมื่นคน -รายใหม่เกินครึ่ง อายุน้อยกว่า 25 ปี
“ผอ.ศูนย์วิจัยโรคเอดส์” หารือ สปสช. ชง 3 แนวทางพัฒนาการดูแล “ผู้ติดเชื้อ HIV
กสม. ย้ำผู้ติดเชื้อเอชไอวีต้องไม่ถูกกีดกันสิทธิจ้างงาน แนะรัฐบาลเร่งส่งเสริมความเข้าใจถูกต้อง
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/