บอร์ดทอท.ไฟเขียว โครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ อยู่ในระยะที่ 3 รวมถึงก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 ด้วย เล็งนำเสนอกระทรวงคมนาคมและสศช.เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 20 พฤศจิกายน มีการประชุมคณะกรรมการ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) ครั้งที่ 13/2562 น. ห้องประชุมสำนักงานใหญ่ ทอท. ซึ่งมีนายประสงค์ พูนธเนศ ประธานกรรมการ ทอท. ที่ประชุมมีมติสรุปได้ คือ
1. ความคืบหน้าแผนแม่บทท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและโครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ (North Expansion) ท่าอากาศยานสุวรรรภูมิคณะกรรมการ ทอท.เห็นชอบแผนแม่บทท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (พฤศจิกายน 2562) และเห็นชอบโครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ (North Expansion) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.)
ทอท.ได้ดำเนินการปรับปรุงแผนแม่บท ทสภ. โดยได้ประชุมหารือร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งจราจร (สนข.) กองยุทธศาสตร์และแผนงาน (กยผ.) สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม และสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประเด็นการดำเนินโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ทสภ.ตามแผนแม่บท ทสภ.(ฉบับปี พ.ศ.2561) เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2562 โดยที่ประชุมมีความเห็นว่า แผนแม่บท ทสภ.เป็นการวางแผนระยะยาว สามารถปรับปรุงได้ตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่ง ทอท.ต้องพิจารณารายละเอียดให้รอบด้าน คำนึงถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมอื่นๆ เนื่องจากส่งผลต่อการคาดการณ์จำนวนผู้โดยสารของ ทสภ.และพิจารณาความเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น คณะกรรมการที่ปรึกษาท่าอากาศยาน (Airports Consultative Committee: ACC) และคณะกรรมการดำเนินงานธุรกิจการบินกรุงเทพ (Airline Operators Committee: AOC) โดยที่ผ่านมา ทอท.ได้ประชุมร่วมกับคณะกรรมการ ACC ในปี พ.ศ.2562 จำนวน 7 ครั้ง และ ทอท.ได้ดำเนินการจัดทำแผนแม่บท ทสภ.(พฤศจิกายน 2562) ตามความเห็นของ ACC และแนวทางการจัดทำแผนแม่บทท่าอากาศยานตามคู่มือการพัฒนาท่าอากาศยาน (Airport Development Reference Manual: ADRM) ของ IATA
รวมทั้งได้จัดทำรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ (North Expansion) ตามแนวทางที่ ACC ได้ให้ความเห็นไว้ โดยมีสาระสำคัญของแผนแม่บท ทสภ. (พฤศจิกายน 2562) คือ
(1) ปรับปรุงข้อมูลการเชื่อมท่าอากาศยานทั้ง 3 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานอู่ตะเภา ให้สอดคล้องกับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : ECC)
(2) ปรับปรุงข้อมูลการการคาดการณ์ปริมาณการขนส่งทางอากาศให้เป็นปัจจุบัน โดยคำนึงถึงปริมาณผู้โดยสารส่วนที่เกินขีดความสามารถของท่าอากาศยานดอนเมืองในอนาคต
(3) เพิ่มเติมข้อมูลการจัดสรรสายการบินที่ให้บริการประจำอาคารผู้โดยสารหลัก (Main Terminal Building: MTB) อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT1) และส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ (North Expansion) ตามที่ ACC ได้ให้ความเห็น
(4) เพิ่มเติมข้อมูลการกำหนดทางเลือกในการจัดวางอาคารผู้โดยสารเพื่อให้สอดคล้องกับปริมาณความต้องการใช้งาน
และ (5) ปรับลำดับการพัฒนา ทสภ. (Phasing) ให้มีขีดความสามารถสอดคล้องกับปริมาณการขนส่งทางอากาศ ดังนี้ ระยะที่ 1 ประกอบด้วย อาคารผู้โดยสาร และทางวิ่ง 2 เส้น (ปัจจุบัน) สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 45 ล้านคนต่อปี และเที่ยวบิน 68 เที่ยวบินต่อชั่วโมง ระยะที่ 2 (ปีงบประมาณ 2554-2560 ประกอบด้วยการก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารของ ทสภ.ได้ 60 ล้านคนต่อปี และเที่ยวบินได้ 68 เที่ยวบินต่อชั่วโมง กำหนดแล้วเสร็จปี 2563 ระยะที่ 3 (ดำเนินการระหว่างปี 2559-2565) ประกอบด้วย การก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 และการก่อสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ (North Expansion) เพื่อให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 90 ล้านคนต่อปี และเที่ยวบินได้ 94 เที่ยวบินต่อชั่วโมง ระยะที่ 4 (ดำเนินการระหว่างปี 2564-2569) ประกอบด้วยการก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 2 เพื่อให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 105 ล้านคนต่อปี และเที่ยวบินได้ 94 เที่ยวบินต่อชั่วโมง ระยะที่ 5 (ดำเนินการระหว่างปี 2568-2573) ประกอบด้วย การก่อสร้างอาคารผู้โดยสารด้านทิศใต้ และการก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 4 เพื่อให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 150 ล้านคนต่อปี และเที่ยวบินได้ 120 เที่ยวบินต่อชั่วโมง และการพัฒนาเพิ่มเติม โดยการก่อสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกในอาคารผู้โดยสารในระยะท้ายสุดของแผนพัฒนา ทสภ.เพื่อลดผลกระทบจากการก่อสร้างต่อการให้บริการในอาคารผู้โดยสารของ ทสภ.ในปัจจุบัน
ทั้งนี้ โครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ (North Expansion) ซึ่งอยู่ในระยะที่ 3 เมื่อผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ทอท.แล้ว ฝ่ายบริหาร ทอท.จะนำเสนอกระทรวงคมนาคมและ สศช.เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
2. โครงการกระตุ้นตลาดด้านการบินและการท่องเที่ยวไทยระยะสั้น
คณะกรรมการ ทอท.มีมติอนุมัติโครงการกระตุ้นตลาดด้านการบินและการท่องเที่ยวไทยระยะสั้น ณ ท่าอากาศยานที่อยู่ในความรับผิดชอบของ ทอท.ทั้ง 6 แห่ง โดยให้ส่วนลดค่าบริการขึ้นลงอากาศยาน (Landing Fee) แก่เที่ยวบินเช่าเหมาลำระหว่างประเทศ (International Chartered Flight) เพื่อการขนส่งผู้โดยสาร โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2562 – 30 เมษายน 2563
ทอท.ได้ดำเนินการศึกษาและวิเคราะห์ตลาดนักท่องเที่ยวของประเทศไทยแล้ว เห็นว่า เพื่อเป็นการกระตุ้นตลาดนักท่องเที่ยวระหว่างประเทศที่มีการเติบโตลดลงในปีงบประมาณ 2562 โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่สุด รองลงมาคือ ตลาดอินเดียและรัสเซีย ให้มีการเติบโตเชิงบูรณาการในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวและสร้างรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติให้กับประเทศไทย รวมทั้งเป็นไปตามนโยบายของคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจที่ให้กระทรวงคมนาคม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณากำหนดมาตรการเพื่ออำนวยความสะดวกหรือสร้างแรงจูงใจในการเดินทางมายังประเทศไทยเพิ่มเติม นอกเหนือจากการอำนวยความสะดวกเรื่องวีซ่า
ดังนั้น ทอท.จึงได้จัดทำโครงการกระตุ้นตลาดด้านการบินและการท่องเที่ยวไทยระยะสั้น โดยให้ส่วนลดค่าบริการขึ้นลงอากาศยาน (Landing Fee) ของเครื่องบินเช่าเหมาลำ โดยอัตโนมัติในอัตราร้อยละ 50 ของอัตราปกติ แก่เที่ยวบินเช่าเหมาลำระหว่างประเทศ (International Chartered Flight) เพื่อการขนส่งผู้โดยสาร โดยไม่นับรวมเที่ยวบินพิเศษ (Extra Flight) ที่มาทำการบิน ณ ท่าอากาศยาน ทั้ง 6 แห่งของ ทอท. ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานหาดใหญ่ และท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย มีระยะเวลาโครงการฯ 5 เดือน คือระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม 2562 – 30 เมษายน 2563 ซึ่งจากการดำเนินการโครงการดังกล่าว ทอท.คาดว่าจะสามารถเพิ่มเที่ยวบินในช่วงตารางการบินไม่คับคั่ง และส่งเสริมการตลาดด้านการบินของ ทอท.เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ได้อย่างสูงสุด อีกทั้งยังสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ภาคการท่องเที่ยวร่วมมือกันดำเนินการกระตุ้นการท่องเที่ยวในภาพรวมและขยายฐานการท่องเที่ยวให้กว้างขึ้น อันจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและรายได้ของประเทศในภาพรวมต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ทอท.ไขปม!ทำไมเลือกทำ โครงการส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ สนามบินสุวรรณภูมิ
เข้า-ออกเทอร์มินัล 2 ด้านใต้ สะดวกด้วยโมโนเรล-แอร์พอร์ตลิงก์ ทอท.มีแบบแล้ว!
"สามารถ" แนะทอท.ขยายเทอร์มินัล 1 ฝั่งตะวันตก-ออก ยันทำได้เร็วสุด ไร้ปัญหาตามมา
วงสัมมนา ACT สับ ทอท.เละ! ปมสร้างเทอร์มินอล 2 สุวรรณภูมิ-จี้ ก.คลังกำกับจริงจัง
บริษัทท่าอากาศยานไทย ขุมทรัพย์ของใครหรือ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/