นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ยันสุขภาพประชากรข้ามชาติ รัฐบาลต้องลงทุน เพื่อป้องกันคนไทยส่วนหนึ่งไม่ให้ติดโรค มองอีกมุมเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน กระทบต่อความมั่นคงประเทศ เตรียมของบฯ 90 ล้านต่อปี ฉีดวัคซีน ป้องกันวัณโรค เอดส์ ให้คนต่างด้าวที่ทำงานในไทย
เมื่อเร็วๆ นี้ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานภาคี จัดประชุมวิชาการระดับชาติด้านสุขภาพของประชากรข้ามชาติ ประจำปี 2562 “สุขภาพคนข้ามชาติ ความจริงกับสิ่งที่รับรู้” ณ มิราเคิลแกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพ
นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวตอนหนึ่ง โดยตั้งคำถามถึงระบบประกันสุขภาพที่เหมาะสมสำหรับคนที่ไม่ใช่สัญชาติไทย หน้าตาควรเป็นอย่างไร ที่ทุกควรยอมรับ ไม่เป็นภาระกับประชากรข้ามชาติมากเกิน และไม่ทำให้ประเทศชาติมีปัญหาที่ต้องนำเงินไปสนับสนุนค่าใช้จ่ายเหล่านี้
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า วันนี้เรามีแผนพัฒนาระบบสาธารณสุขในเขตสุขภาพพิเศษ ประกอบด้วย 1.การสาธารณสุขเขตสุขภาพพิเศษด้านสาธารณสุขทางทะเล 2.การสาธารณสุขเขตสุขภาพพิเศษด้านเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก 3.การสาธารณสุขเขตสุขภาพพิเศษด้านสาธารณสุขชายแดน ไทยมี 31 จังหวัดที่อยู่ติดกับชายแดน และ 4.การสาธารณสุขเขตสุขภาพพิเศษด้านเขตพื้นที่เฉพาะ (ประชากรต่างด้าว) ซึ่งเป็นแผนระยะ 3 ปี (2562-2565) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) กำลังพิจารณา ก่อนนำเข้าสู่คณะรัฐมนตรี (ครม.)
"ประเทศไทยมีการให้บริการสาธารณสุขบางอย่างกับกลุ่มที่ไม่ใช่ประชากรไทย เป็นการให้บริการฟรี เป็นเรื่องกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ เช่น การให้วัคซีนป้องกันโรค เป็นต้น ที่ผ่านมากระทรวงฯ ให้บริการบนการไม่มีงบประมาณสนับสนุนชัดเจน ทั้งการเลี่ยงบาลี แจ้งสำนักงบประมาณ การฉีดวัคซีนจะสูญเสีย 30-40% และนำส่วนนี้ไปฉีดให้ประชากรข้ามชาติ แต่วันนี้ทำแบบนี้ไม่ได้แล้ว กระทรวงสาธารณสุขจะทำตรงไปตรงมา เสนองบประมาณ 28 ล้านบาทต่อปี สำหรับการฉีดวัคซีนให้คนต่างด้าว ที่ไม่มีสิทธิ์ใดๆ " นายแพทย์ศุภกิจ กล่าว และว่า รวมถึงวัณโรค (Tuberculosis: TB) วิธีป้องกันได้ดีสุด คือการรักษาให้หายขาด และโรคเอดส์ ทั้งการฉีดวัคซีน ป้องกันวัณโรค และเอดส์เราจะของบประมาณจากรัฐบาลประมาณ 90 ล้านบาท ประเทศไทยควรต้องลงทุน นี่เป็นเรื่องที่ทำเพื่อป้องกันคนไทยส่วนหนึ่งไม่ให้ติดโรค และเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน
รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงเด็กนักเรียนที่มีเลขประจำตัวขึ้นต้นด้วยอักษร G หรือเด็กเลข G (นักเรียนที่ยังไม่มีบัตรประชาชนคนไทย ) เรียนหนังสือได้แต่พอจะรักษาพยาบาลถูกครม.ตีกลับ ซึ่งสธ.กำลังไปรวบรวมข้อมูลจากกระทรวงศึกษา ให้เด็กเลข G เรียนฟรีกี่ราย เด็กต่างด้าวใครบ้างที่เรียนฟรี จำนวนเหล่านั้นควรรักษาฟรี ด้วยใช่หรือไม่
ขณะที่นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า แม้ประเทศไทยจะมีมาตรการความร่วมมือระหว่างและภายในประเทศ โดยหน่วยงานหลายภาคส่วน แต่ความท้าทายของการพัฒนาการเข้าถึงบริการสุขภาพโดยขจัดอุปสรรคในการเข้ารับบริการทางสุขภาพที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบ จึงเป็นประเด็นท้าทายใหม่ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการระบาดของโรคติดต่อที่เคยป้องกันได้และกลับมาอุบัติใหม่ ตลอดจนโรคติดต่อสำคัญ ระบบการจัดการและเชื่อมต่อบริการระหว่างประเทศ ระบบสารสนเทศสุขภาพแรงงานต่างด้าว เด็กข้ามชาติที่มีหลากหลายกลุ่มหลายสถานะ ขณะที่กลไกอภิบาลระบบและนโยบายเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงานยังขาดเจ้าภาพหลัก กลุ่มประชากรชาวเขา/ชายแดนหรือราษฏรบนพื้นที่สูงไม่มีสัญชาติไทย เป็นอุปสรรคสำคัญในการเข้าถึงสิทธิต่างๆ รวมทั้งยังต้องพัฒนาวิธีการสากลเพื่อให้บริการด้านสุขภาพในกลุ่มประชากรข้ามชาติมีประสิทธิภาพและมีความยั่งยืนสำหรับประเทศไทย
"เราลืมไปว่า แรงงานข้ามชาติมีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ คิดเป็น 6.2% ของจีดีพี ท่านอยากให้คนบริการเรา คนเสิร์ฟอาหารเป็นโรคติดต่อ ไม่แข็งแรง ป่วย และให้บริการที่ดีกับเราก็ไม่ได้ ขณะเดียวกันอาจนำโรคมาติดเราด้วย ฉะนั้น คนไทยต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ เมื่อแรงงานต่างด้าวเข้ามาอยู่ในบ้านเราเขาต้องมีกิจกรรมร่วมกับคนไทย หลายกิจกรรมเราใช้บริการเขาโดยไม่รู้ตัว"นพ.นพพร กล่าว และว่า การที่เราละเลยเรื่องสุขภาพของแรงงานเหล่านี้ เราก็ทำร้ายตัวเองเช่นกัน
ทั้งนี้ ในเวทีการประชุมวิชาการระดับชาติด้านสุขภาพของประชากรข้ามชาติ ประจำปี 2562 มีการเปิดเผยตัวเลข ปัจจุบันประเทศไทยมีแรงงานข้ามชาติกว่า 3.2 ล้านคน โดยจำนวนนี้ 1.7 ล้านคนเป็นแรงงานที่ถูกกฎหมาย ( 70% หรือ 1.2 ล้านคน อยู่ในระบบประกันสังคม) และ 1.26 ล้านคนผ่อนผันตามมติครม. (60% หรือ 7.6 แสนคน มีประกันกับกระทรวงสาธารณสุข)
ขณะที่ตัวเลขเด็กข้ามชาติ 2.5 แสนคน ส่วนใหญ่ไม่มีประกันสุขภาพ ตัวเลขที่พบ มีเด็กข้ามชาติเพียง 4.7 หมื่นคนเท่านั้นที่มีประกันสุขภาพกับสธ. และยังพบปัญหาสุขภาพเด็กข้ามชาติ เตี้ย น้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ โรคที่พบบ่อยคือติดเชื้อทางเดินหายใจและทางเดินอาหาร
เมื่อเร็วๆ นี้ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานภาคี จัดประชุมวิชาการระดับชาติด้านสุขภาพของประชากรข้ามชาติ ประจำปี 2562 “สุขภาพคนข้ามชาติ ความจริงกับสิ่งที่รับรู้” ณ มิราเคิลแกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพ โดยดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประธานกล่าวเปิดงาน
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/