ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน แฉกลยุทธ์การตลาดเหนือเมฆของเว็บพนันออนไลน์ทั้งล่อให้เล่นฟรี ลวงให้ช่วยรีวิวและพรางว่าเป็นเกมสร้างรายได้ เด็กเยาวชนรู้ไม่ทัน ทำผิดกฎหมายไม่รู้ตัว
เมื่อเร็วๆ นี้ ที่โรงแรมแมนดาริน ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน ร่วมกับ มูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน จัดเวทีเสวนาหัวข้อ “เปิดโปงการตลาดของธุรกิจพนันบนโลกออนไลน์” พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกลยุทธ์การตลาดแบบล่อ ลวง พราง ของธุรกิจเว็บพนันออนไลน์ ซึ่งถือเป็นการตลาดแบบเหนือเมฆ เพื่อจะนำไปสู่การแสวงหาแนวทางป้องกันและลดผลกระทบจากการพนันออนไลน์
ดร.ณัฐกร วิทิตานนท์ อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ กล่าวว่า การพนันออนไลน์เป็นรูปแบบการพนันที่ต้องการดึงนักพนันหน้าใหม่เข้าสู่วงการ โดยกลุ่มคนที่เข้ามาเล่นการพนันรูปแบบนี้ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มนักเล่นหน้าใหม่ที่เป็นวัยรุ่นเพศชาย มีฐานะทางเศรษฐกิจสังคมดีและมีการศึกษาสูง การพนันออนไลน์จึงไม่ใช่การย้ายรูปแบบและวิธีการเล่นของกลุ่มผู้พนันเดิม ส่วนกลยุทธ์ทางการตลาดของเว็บพนันนั้น แรกๆ อาจจะใช้วิธีการให้ทดลองเล่นโดยใช้เงินปลอม ไม่มีได้ไม่มีเสีย การให้ทดลองเล่นแบบที่ไม่ต้องเสียเงิน ที่ให้ความรู้สึกเหมือนได้เงินจริง อย่างง่าย ๆ จัดเป็นกลยุทธ์สำคัญที่กระตุ้นให้นักเล่นหน้าใหม่เพิ่มมากขึ้น
“การเล่นพนันแบบออนไลน์ถูกสร้างขึ้นเพื่อย้ายฐานกลุ่มผู้เล่นเดิมไปสู่รูปแบบการเล่นแบบใหม่ เพราะการไปเล่นที่บ่อนมีความเสี่ยงต่อการถูกจับกุมดำเนินคดี ขณะที่ผู้ประกอบการก็ต้องแบกรับภาระต้นทุนที่สูง ทั้งการจ่ายค่าส่วยหรือใต้โต๊ะ ดังนั้นการทำแบบออนไลน์ถือเป็นการลดต้นทุนและเป็นการหลบเลี่ยงอุปสรรคทางกฎหมาย และเนื่องจากเว็บพนันออนไลน์เหล่านี้เป็นสิ่งที่กฎหมายบ้านเรายังเข้าไม่ถึง ทำให้ปราศจากความรับผิดชอบใด ๆ ทั้งสิ้นต่อผู้เข้าเล่นพนัน ไม่มีทั้งคำเตือน ไม่มีระบบจำกัดเวลาการเล่น ไม่มีมาตรการคุ้มครองผู้เล่น ทำให้ปัจจุบันเราจะเห็นข่าวคนถูกโกงจากการเล่นพนันออนไลน์กันเยอะมาก” ดร.ณัฐกรกล่าว
นายธาม เชื้อสถาปนศิริ นักวิชาการด้านการสื่อสารมวลชน กล่าวว่า รูปแบบของสถานการณ์พนันปัจจุบันไม่ใช่สิ่งที่ไกลตัวเด็ก ตั้งแต่ไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคม4.0 การพนันเริ่มปรับเข้ากับชีวิตของคนมากขึ้นโดยทลายเหตุผลเชิงลบไปเรื่อยๆ โดยใช้หลักการ
1.ล่อ ด้วยการหว่านล้อมให้คนเข้าเว็บไซต์ จากการฟังเพลงดูหนังออนไลน์จากเว็บเถื่อน จากนั้นค่อยล่อให้คนเข้าไปเล่นต่อ หรือล่อให้คนเข้ากลุ่ม
2.ลวง คนจากเว็บไซต์ผิดกฎหมาย ให้เข้าไปในเครือข่ายการพนันออนไลน์ด้วยการใช้สื่อบุคคล เน็ตไอดอล ที่มีอิทธิพลตรงกับกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการ ซึ่งรับจ้างโฆษณาถือว่ามีความผิดตามกฎหมายมาตรา12 พ.ร.บ.พนัน
และ3.พรางให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเข้าใจว่า เป็นเว็บบันเทิง และเป็นกิจกรรมที่สร้างรายได้ง่าย มีคนใช้งานเยอะ รวมถึงใช้ตัวอักษรพยัญชนะสระแปลกๆ โดยการสร้างชื่อเว็บเพื่อหลบเลี่ยงการถูกค้นหาตรวจจับ
“กลยุทธ์ทางการตลาดที่เว็บไซต์พนันออนไลน์ใช้สร้างแรงจูงใจให้ผู้เล่นเข้าสู่วงโคจรการพนัน เกิดจากที่ไทย ยังไม่มีมาตรการทางกฎหมายที่เข้มงวด ขณะเดียวกันกลยุทธ์ทางการตลาดที่เกิดขึ้น สามารถเปลี่ยนทัศนคติ ผู้เล่น ให้มองว่า เกมพนันออนไลน์ไม่ใช่การพนันเป็นเพียงแค่เกมที่มีความเสี่ยง ท้าทายต้องใช้ฝีมือในการเล่น ส่งผลให้การจับกุมผู้ประกอบการพนันออนไลน์เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก” นายธาม กล่าว
ด้าน นายพชรพรรษ์ ประจวบลาภ เลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากการลงพื้นที่สำรวจพบแนวโน้มของเยาวชนไทยเข้าถึงการพนันออนไลน์เพิ่มมากขึ้น โดยกลุ่มนักพนันหน้าใหม่ที่มีการเล่นสูงสุดจะมีช่วงอายุตั้งแต่ 15–25 ปี เนื่องจากผู้ประกอบการได้ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์และปรับภาพลักษณ์จากการพนันออนไลน์ให้กลายเป็นเกมส่วนการสื่อสารก็จะปรับเปลี่ยน โดยจะไม่ใช้คำว่าการพนัน การเสี่ยงดวง หรือเสี่ยงโชค เพื่อให้เด็กและเยาวชนเข้าใจว่า กิจกรรมนี้เป็นการเล่นเกมออนไลน์แบบมีรายได้ ไม่ใช่การเล่นพนัน นอกจากนี้ยังใช้กลยุทธ์นำบุคคลที่มีชื่อเสียงและมีอิทธิพลต่อกลุ่มเด็กและเยาวชน เช่น นักเรียน นักศึกษา เน็ตไอดอล หรือ อินฟลูเอนเซอร์ มาโพสต์รีวิวเว็บไซต์เพื่อโฆษณาเชิญชวนให้เล่นเกมที่สามารถสร้างรายได้ด้วยตนเองผ่าน เฟสบุ้ก ทวิตเตอร์ ที่มีคนติดตามและกดไลค์จำนวนมาก โดยผู้โพสต์จะได้รับค่าตอบแทนโพสต์ละ1,000 บาท
"จากการสอบถามผู้ที่รับโพสต์งานดังกล่าวสวนใหญ่ไม่รู้ว่าสิ่งที่ตนโพสต์นั้นเป็นการเชิญชวนเล่นพนัน ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดพ.ร.บ.การพนัน มีทั้งโทษจำและปรับ ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งสร้างองค์ความรู้ให้คนกลุ่มนี้"
ขณะที่ นายไพศาล ลิ้มสถิตย์ กรรมการบริหารศูนย์กฎหมาย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า พ.ร.บ.การพนัน เกิดขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.2478 ทำให้กฎหมายมีความล้าหลัง ที่จะนำมาควบคุมและปราบปรามการพนันออนไลน์ อีกทั้งภาครัฐไม่ได้ให้ความสำคัญในการควบคุม แถมยังส่งเสริมให้คนเล่นการพนัน โดยเฉพาะสลากกินแบ่งรัฐบาล นอกจากนี้รัฐยังขาดมาตรการคุ้มครองเด็กจากการพนัน รวมถึงไม่มีการส่งเสริมเครือข่ายการเฝ้าระวัง ทำให้หน่วยงานที่พยายามป้องกันเด็กและเยาวชนให้ห่างไกลจากการพนันต้องปฏิบัติงานแบบตามมีตามเกิด ซึ่งช่องโหว่ที่เกิดขึ้นส่งผลให้เด็กไทยมีโอกาสเข้าสู่วงจรพนันได้ง่ายขึ้น
“ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์การพนันของเว็บไซต์ต่างชาติ เพราะกฎหมายไทยอ่อน ทั้งเรื่องของการจับปรับผู้ประกอบการ และผู้รับโฆษณาเชิญชวน ดังนั้นภาครัฐและภาคประชาสังคมควรร่วมมือช่วยกันหาทางออกของปัญหาที่เกิดขึ้นโดยเร็ว” นายไพศาล กล่าว
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/