ข่าวดีศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แถลงผลทดสอบไม่พบยาปฏิชีวนะในน้ำส้มคั้น แต่พบสารเคมีตกค้าง 18 ตัวอย่าง จาก 30 ตัวอย่าง อึ้ง! Gourmet Juice by Hai Fresh Juice เจอถึง 7 ชนิด Good Monday พบ 6 ชนิด
วันที่ 15 พ.ย.ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แถลงผลทดสอบยาปฏิชีวนะในน้ำส้มคั้น โดยนางสาวสารี อ๋องสมหวัง บรรณาธิการบริหารนิตยสารฉลาดซื้อ นางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์ เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) และผศ.ภญ.ดร. นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.)
นางสาวสารี กล่าวถึงการทดสอบน้ำส้มคั้น 30 ตัวอย่าง ผลโดยสรุปตรวจพบสารเคมีตกค้าง สารกันบูด (กรดซอร์บิกและกรดเบนโซอิก) ข่าวดีไม่พบการตกค้างของยาปฏิชีวนะ ขณะเดียวกันก็พบน้ำตาลสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานอยู่บ้าง
สำหรับการเก็บตัวอย่างน้ำส้มคั้นเมื่อเดือนสิงหาคม ที่ผ่านมา โดยเก็บจากสถานที่จำหน่ายน้ำส้มคั้นสด จำนวน 25 ตัวอย่าง ในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล และจังหวัดเชียงใหม่(1 ตัวอย่าง) และน้ำส้มบรรจุกล่องผ่านการพาสเจอร์ไรซ์ ที่ระบุบนฉลากว่า เป็นน้ำส้ม 100 เปอร์เซ็นต์ จำนวน 5 ตัวอย่าง
ผลการทดสอบสารเคมีตกค้างในน้ำส้มคั้น พบมีสูงถึง 18 ตัวอย่าง จาก 30 ตัวอย่าง หรือร้อยละ 60 ซึ่งบางยี่ห้อพบสารเคมีถึง 7 ชนิด เช่น ยี่ห้อ Gourmet Juice by Hai Fresh Juice ยี่ห้อ Good Monday พบ 6 ชนิด ยี่ห้อ Farmacy by Mad about Juice และร้านกานดา น้ำผลไม้-สมุนไพร คั้นสอดพบ 4 ชนิด เป็นต้น และที่ไม่พบสารเคมีตกค้างมีอยู่ 12 ตัวอย่าง (อ่านประกอบ:ผลวิเคราะห์คุณภาพทางเคมีน้ำส้มคั้น)
บรรณาธิการบริหารนิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวถึงสารเคมีตกค้างที่พบในน้ำส้มคั้นมากที่สุด คือ Imazalil Imidacloprid พบถึง 8 ยี่ห้อ
ส่วนผลทดสอบวัตถุกันเสีย พบกรดเบนโซอิกใน 3 ตัวอย่าง ได้แก่ ส้มฝากนาย (190 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) อุดมพันธุ์ (50.8 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) และ Healthy Plus (66.6 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) พบกรดซอร์บิกใน 2 ตัวอย่าง ได้แก่ Healthy Plus (52.4 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) และ Malee จากส้มสายน้ำผึ้ง(43.1 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) ซึ่งปริมาณที่พบอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 389 คือ ไม่เกิน 200 มิลลิกรัม/กิโลกรัม
"น้ำส้มอุดมพันธุ์ Malee และ Healthy Plus ทั้งสามผลิตภัณฑ์ระบุว่า ไม่ใช้วัตถุกันเสีย ดังนั้นเมื่อพิจารณาจากปริมาณกรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิกที่พบในปริมาณต่ำ (น้อยกว่า 100 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) อาจเป็นไปได้ในทางทฤษฎีว่า เป็นสารที่ได้จากผลไม้ตามธรรมชาติไม่ได้มีการใส่สารเคมีเจือปนลงไป"
จากข้อมูลบทความเรื่อง สารกันบูด เรื่องจริงบางอย่างที่คุณอาจยังไม่รู้ ตีพิมพ์ในฉลาดซื้อ ฉบับที่ 203 โดย ดร.วิสิฐ จะวะสิต กล่าวว่า “สารกันบูดมีหลากหลายชนิด ทั้งที่อยู่ในรูปสารอินทรีย์และสารอนินทรีย์ ซึ่งสารกันบูดที่อยู่ในรูปสารอินทรีย์ ได้แก่ กรดอินทรีย์ ชนิดต่างๆ เช่น กรดเบนโซอิก กรดซอร์บิก กรดโพรพิโอนิก สารกันบูดที่เป็นกรดอินทรีย์ยังพบในพืชหลายชนิดตามธรรมชาติและยังสามารถสร้างได้โดยจุลินทรีย์บางชนิด เช่น กรดเบนโซอิกมีพบในผลไม้พวกเบอรี่หลายชนิด เครื่องเทศจำพวกอบเชย และนมเปรี้ยว ผลแครนเบอรี่เป็นตัวอย่างของผลไม้ที่มีกรดเบนโซอิกในปริมาณที่สูงมาก กรดซอร์บิกก็มีพบในผลไม้หลายชนิดเช่นกัน...”
ส่วนค่าเฉลี่ยน้ำตาลในน้ำส้มคั้น ผลทดสอบพบว่า ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 9.84 กรัม/100 มิลลิลิตร (ใกล้เคียงกับปริมาณน้ำตาลในน้ำส้มคั้นที่เคยมีผู้วิจัยไว้ คือ 8.4 กรัม/หน่วยบริโภค 100 กรัม ที่มา www.CalForLife.com)
โดยยี่ห้อที่มีน้ำตาลมากกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มตัวอย่างที่ฉลาดซื้อนำมาทดสอบ ได้แก่
- Orange Juice Healthy Valley 13.8 กรัม/100 มิลลิลิตร
- C-orange 13.4 กรัม/100 มิลลิลิตร
- Gourmet Juice by Hai Fresh Juice 13.3 กรัม/100 มิลลิลิตร
- เจ้ทิพย์ จี้ดจ้าด 12.8 กรัม/100 มิลลิลิตร
- Fram Fresh 12.5 กรัม/100 มิลลิลิตร
- Kiss Cjuice 12.5 กรัม/100 มิลลิลิตร
- Teddy Zero 12 กรัม/100 มิลลิลิตร
- The Orange 11.8 กรัม/100 มิลลิลิตร
- Orangee 11.4 กรัม/100 มิลลิลิตร
- Beautea 11.3 กรัม/100 มิลลิลิตร
- Tipco Squeeze Shogun 10.3 กรัม/100 มิลลิลิตร
- Malee จากส้มสายน้ำผึ้ง 10.1 กรัม/100 มิลลิลิตร
ด้านนางสาวปรกชล กล่าวถึงสารเคมีตกค้าง Carbofuran และ Methomyl เป็นสาร 2 ชนิดที่ไม่ได้รับอนุญาติให้ขึ้นทะเบียนมาตั้งแต่ปี 2554 เป็นเวลา 8 ปี สาร 2 ชนิดจึงไม่ควรเหลือในท้องตลาด ขณะที่สารบางชนิด Imidacloprid แม้มีพิษกับคนค่อนข้างต่ำ แต่ทางสหภาพยุโรปห้ามใช้เพราะมีผลทำให้ผึ้งหรือสัตว์ผสมเกษรตาย
"บางตัวอย่างของน้ำส้มคั้นที่พบสารตกค้างร่วมกันของสารหลายชนิดนั้น ถือว่าอันตราย" นางสาวปรกชล กล่าว และว่า ฉะนั้น ทางกระทรวงสาธารณสุขต้องมีการเฝ้าระวังสารเคมีตกค้างในน้ำส้ม รวมถึงผลิตภัณฑ์น้ำผักและผลไม้อย่างต่อเนื่อง พร้อมประกาศให้ผู้บริโภครับทราบข้อมูลทุกครั้ง ขณะที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ควบคุมการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชในพืชอาหารอย่างเข้มงวด
สุดท้ายผศ.ภญ.ดร. นิยดา กล่าวถึงการตรวจสอบยาปฏิชีวนะในน้ำส้มคั้น เพราะเคยมีข่าวการฉีดยาปฏิชีวนะเข้าลำต้นมาก่อน ซึ่งหากมีการตกค้างในน้ำส้ม ผู้ใช้อาจเกิดอาการแก้ยา และมีอาการข้างเคียงอื่นๆ นำสู่การดื้อยาต้านแบคทีเรีย ผลเสียต่อสุขภาพและเศรษฐกิจ
"การตรวจไม่พบไม่สามารถยืนยันได้ว่า ไม่ได้ใช้"
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/