พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม แจงงบฯ กองทัพไม่ได้สูงผิดปกติ ส่วนใหญ่เป็นงบซ่อมปรับปรุบยุทโธปกรณ์ที่เก่า ล้าสมัย 'พิสิฐ ลี้อาธรรม' ส.ส. ปชป. ชี้การจัดทำงบประมาณ รัฐบาลมองตัวเลขรายได้ดีเกินไป สวนทางกับข้อมูลเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 เริ่มจะถดถอย แนะให้หันมาดูงบค้างท่อ 1 ล้านล้าน ชี้เร่งอัดฉีดเงินเข้าระบบ ช่วยเยียวยาศก.ไทยได้ ด้านส.ส.เลย พท. ห่วงการจัดสรรฯ งบให้ท้องถิ่น ทำแบบลวงพราง แช่แข็งให้อปท.อ่อนแอลง
วันที่ 18 ต.ค. 2562 ที่รัฐสภาใหม่ (เกียกกาย) มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท เป็นวันที่ 2 ช่วงเช้ามีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธาน
นายพิสิฐ ลี้อาธรรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ตั้งข้อสังเกตถึงการจัดทำงบประมาณ โดยเฉพาะเรื่องตัวเลขรายได้ น่าจะดีเกินไป เพราะข้อมูลหลายประการชี้ว่า ตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ปี 2562 เริ่มจะถดถอย การจัดเก็บรายได้จากภาษี หรือภาษีมูลค่าเพิ่มเริ่มชะลอตัว และติดลบ
"หากรัฐบาลมองเศรษฐกิจดีเกินไป ทำให้การประเมินภาวะการทำนโยบายผิดพลาด เช่นที่เคยเกิดแล้วเมื่อปี 2540 ดังนั้น ตัวเลขเศรษฐกิจจึงต้องดูให้ดี รัฐบาลต้องยอมให้ขาดดุลมากขึ้น จากตัวเลขรายได้ที่ตั้งไว้ 2.7 ล้านล้านบาท น่าจะหายไปสักแสนล้านบาท ตัวเลขขาดดุลงบประมาณที่ตั้งไว้ 4 แสนล้านบาท อาจต้องกลายเป็น 5 แสนล้านบาท ซึ่งไม่ใช่การขึ้นภาษีมากขึ้น แต่เป็นการเร่งการใช้จ่ายภาครัฐ"
ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงตัวเลขงบประมาณ 2561 ที่มีการทิ้งวงเงิน 3.3 แสนล้านบาท เป็นตัวเลขที่น่าตกใจ ในอดีตตัวเลขไม่มาก ราชการเบิกจ่ายไม่ทัน แต่ปี 2561 เกิดปรากฎการณ์นี้ขึ้นมา เป็นส่วนหนึ่งทำให้เศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากระบบการคลังทิ้งวงเงินงบประมาณ
"นี่คือประการหนึ่งทำให้ธุรกิจที่ทำกับภาครัฐเดือดร้อน ประกอบกับขณะนี้งบประมาณปี 2563 ล่าช้าถึง 4 เดือนมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ในเอกสารงบประมาณ หน้า 113 รัฐบาลมีเงินค้างท่อ 1.003 ล้านล้านบาท เงินก้อนนี้มีระเบียบ มติครม.บังคับ แก้ปัญหาเฉพาะหน้า หันมาดูงบค้างท่อเหล่านี้ หากเร่งเบิกจ่ายอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบ เชื่อว่า จะช่วยเยียวยาเศรษฐกิจไทยไม่เข้าสู่ภาวะถดถอยมากขึ้น"
นายพิสิฐ กล่าวถึงเงินคงคลัง 30 กันยายน 2562 ที่มีกว่า 5 แสนล้านบาท เงินจำนวนนี้คิดดอกเบี้ย 2% ก็เป็นเงินหมื่นล้านบาท รัฐบาลต้องจ่ายดอกเบี้ยในการเก็บเงินคงคลังเอาไว้ ถามว่า รัฐบาลทำไปทำไม เสียเงินภาษีอากรโดยใช่เหตุ แต่หากยอมให้ขาดดุลมากขึ้น 2 แสนล้านบาท รัฐบาลไม่ต้องไปกู้เงิน หรือก่อหนี้เพิ่ม โดยการลดเงินคงคลังลงบ้าง เหลือสัก 3 แสนล้านบาท จึงเสนอรัฐบาลโปรดดูแลระบบการคลัง เพราะความเดือดร้อนภาคเศรษฐกิจไทยมีจริง
ส่วนระบบการทำงานของรัฐบาล การจัดสรรงบประมาณ นายพิสิฐ กล่าวว่า ได้รับข้อมูลจากสำนักงบประมาณ อนุมัติคำของบประมาณว่า เวลากระทรวงต่างๆ มาของบประมาณ 100 บาท ท่านให้ไปกี่บาท พบว่า กระทรวงหลักๆ กระทรวงเก่าแก่ทั้งการศึกษา มหาดไทย กลาโหม ยุติธรรม จะได้รับไป 70-80% แต่กระทรวงใหม่ๆ ได้รับน้อยกว่าประมาณ 40-50% ระบบราชการมีการจัดสรรงบประมาณทำแบบเดิมๆ เราไม่ได้ประโยชน์จากกระทรวงใหม่ๆ เท่าที่ควร
" การจัดสรรงบฯ สิ่งนี้เราต้องคิดใหม่ ข้อมูลแบบนี้ ย้อนหลัง 10 ปี ก็เป็นระบบแบบนี้ หากปล่อยให้ระบบงบประมาณเป็นแบบนี้ การจัดสรรก็จะตีบตันมากขึ้น งบประมาณใหม่ๆ ทำกับกระทรวงวิทย์ฯ กระทรวงใหม่ๆ ก็ทำไม่ได้เลย ยังทำงานแบบเดิมๆ กระทรวงที่ไม่เอาเทคโนโลยีมาใช้นั้น ก็ควรมีการเปลี่ยนแปลง"
ด้านนายเลิศศักดิ์ พัฒนชัยกุล ส.ส.จังหวัดเลย พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกฎหมายกำหนดแผนและขั้นตอนกระจายอำนาจองค์ปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งกำหนดให้รัฐถ่ายโอนบริการสาธารณะให้อปท.และจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอต่อการบริการสาธารณะ ให้ท้องถิ่นมีรายได้ไม่น้อยกว่า 35% แม้รัฐบาลจัดสรรงบฯ ให้ท้องถิ่น 8 แสนล้านบาทเพิ่มขึ้นก็จริง แต่สัดส่วนอยู่ที่ 29.4% ยังห่างไกลเป้าหมาย 35%
"รัฐบาลลวงพราง เอาแผนรัฐบาลไปซุกในงบประมาณท้องถิ่น เช่น เงินเบี้ยผู้สูงอายุ เบี้ยผู้พิการ นมโรงเรียน รัฐบาลกำลังแช่แข็งทำให้อปท.อ่อนแอลง จัดสรรงบไม่เหมาะสม ไม่ลดความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะถ่ายโอนภารกิจไม่โอนงบประมาณ เช่น ถนนท้องถิ่น ถ่ายโอนภารกิจดูแลรักษา ไม่ถ่ายโอนงบประมาณ ดังนั้นถนนหนทางชำรุด เป็นหลุมเป็นบ่อ เทศบาลไม่มีงบดูแลรักษา แม้จัดสรรงบรูปแบบเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ เพียง 5 พันล้านบาทเท่านั้น งบหลักอยู่ที่กรมทางหลวงชนบท นี่คือรัฐรวมศูนย์อำนาจเอาไว้ ไม่รวมภารกิจการจัดการขยะ ที่จัดสรรเงินไปที่กระทรวงมหาดไทย"
นายเลิศศักดิ์ กล่าวถึงโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ -นครราชสีมา ที่ประชาชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะได้ใช้นั้น ใช้งบประมาณสูงมาก พบว่า ละทิ้งบางจังหวัดไว้ข้างหลัง เช่น บึงกาฬ เลย ที่ไม่อยู่ในเส้นทางรถไฟความเร็วสูง จึงอยากให้กระทรวงคมนาคม พิจารณาเส้นทางทางหลวงเชื่อมต่อไปยังรถไฟความเร็วสูง ทางเลี่ยงเมือง เส้นทางเลย-หนองคาย เป็นต้น กรมทางหลวงควรพิจารณาการพัฒนาจังหวัดในลักษณะแบบนี้ด้วย
ขณะที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ชี้แจงข้อสงสัย และทำความเข้าใจเกี่ยวกับงบประมาณและโครงการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจฐานรากทั้งเรื่องการประกันรายได้เกษตรกร ข้าว ยางพารา ปาล์ม มันสำปะหลัง ข้าวโพด การจัดการปัญหาเรื่องผลไม้ ตลอดจนการพลิกสถานการณ์การส่งออกของไทย และการค้าชายแดน
เมื่อเวลา 12.58 น.พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ลุกขึ้นชี้แจง ระหว่างการแถลงการประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยวิสามัญ เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 โดยตอบประเด็นความโปร่งใส หลังจากนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.พรรคเพื่อไทย อภิปราย โดยเฉพาะความเป็นมารถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ BTS และประเด็นที่ห่วงจะมีการทุจริต
พล.อ.อนุพงษ์ ยืนยันว่า ยังไม่มีการทุจริต แต่ไม่ว่าใครทำอะไรไปต้องรับผิดชอบ สังคม สื่อต้องรับทราบ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการตั้งงบประมาณมาให้สภาพิจารณาแต่อย่างใด
จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ชี้แจงการดำเนินการรถไฟฟ้าโดยระบุว่า หลายสิบปีไม่สามารถดำเนินการได้ หรือเกิดปัญหา เช่น รถไฟฟ้าสายสีม่วง เมื่อรัฐบาลเข้ามาก็พยายามแก้ปัญหา เป็นการลงทุนร่วมลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชน (Public-Private Partnership : PPP) รวมถึงการกู้เงิน ซึ่งรัฐบาลชุดนี้ถือว่า กู้น้อยกว่ารัฐบาลที่ผ่านมา
งบกลาโหม ไม่ได้สูงผิดปกติ
ทั้งนี้ เมื่อเวลาประมาณ 14.00 น.พลเอกชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ชี้แจงถึงงบประมาณของกองทัพ และการจัดเตรียมกำลัง ว่า การจัดเตรียมกำลังปัจจุบันอยู่ในแนวคิดการจัดเตรียมกำลังให้พร้อม 1 ใน 3 หมายความว่า ในอดีตอาจจัดเตรียมกำลังระดับกองพล ก็ลดระดับกรมที่มีความพร้อม มีขีดความสามารถ คล่องแคล่วในการเคลื่อนที่ มีอำนาจการยิง การติดต่อสื่อสาร เข้าไปควบคุมสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว
พลเอกชัยชาญ กล่าวถึงยุทโธปกรณ์ของกองทัพนั้น ในอดีตจะได้รับการช่วยเหลือจากมิตรประเทศ และการจัดหามาบางส่วน ยุทโธปกรณ์ เช่น เฮลิคอปเตอร์ที่ใช้อยู่ปัจจุบัน ส่วนใหญ่อายุ 50 ปีขึ้นไป รวมถึงรถถัง รถเกราะ 40 ปีขึ้นไป เครื่องบินขับไล่ F5 และเครื่องบินลำเลียง C 130 อายุใช้งานไม่ต่ำกว่า 40 ปี สรุปยุทธโปกรณ์ที่กองทัพมีอยู่เกิน 30-40 ปี มีอยู่ 58 %
"การจัดหายุทโธปกรณ์ 1 ใน 3 ก็เพื่อทดแทนที่ชำรุดไม่สามารถซ่อมแซมได้ ที่ผ่านมางบกลาโหมส่วนใหญ่เป็นงบซ่อมแซม ยุทโธปกรณ์บางอย่างไทยใช้อยู่ประเทศต่างๆ เลิกใช้ไปแล้ว แต่เรายังซ่อมปรับปรุงให้ใช้งานได้ต่อไป เพื่อลดงบประมาณในการจัดหา และจัดหาเท่าที่จำเป็นให้สอดคล้องกับการใช้กำลัง"
พลเอกชัยชาญ กล่าวถึงงบประมาณ 2 แสนกว่าล้านบาท หรือ 1.31% ของจีดีพี และในร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ จะเห็นว่า ตั้งแต่ปี 2540 งบประมาณของกระทรวงกลาโหมไม่ได้สูงผิดปกติ หรือไม่ได้มีการเพิ่มขึ้นผิดปกติ ส่วนงบประมาณกลาโหมที่เพิ่มปี 2563 นั้น เป็นการเพิ่มขึ้นเรื่องการดูแลสวัสดิการให้กับข้าราชการชั้นผู้น้อย เครื่องมือที่ไว้ช่วยเหลือประชาชน รวมถึงงบใช้ซ่อมปรับปรุบยุทโธปกรณ์ที่เก่า ล้าสมัย และใช้งานมานาน ดังนั้น งบกลาโหมที่ผ่านมาถึงปัจจุบันไม่ได้เพิ่มจนผิดปกติ
ภาษีมรดก 3 ปี เก็บได้ไม่ถึงพันล้าน
ช่วงเย็น นายกรณ์ จาติกวณิช สส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายถึงงบประมาณปี 2563 ในส่วนของรายได้ พบว่า ประมาณ 90% รัฐมีรายได้จากการเก็บภาษี (รายได้) ทั้งที่รายได้รัฐบาลควรมาจากการเก็บจากภาษีทรัพย์สินมากยิ่งขึ้น
นายกรณ์ กล่าวถึงประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีมรดก ซึ่งเป็นการจัดเก็บภาษีจากทรัพย์สินนั้น ยังต้องมีการพัฒนาอีกมาก วันนี้เราเก็บมาแล้ว 3 ปี เก็บจากประชาชนแค่ 200 คน รวมเม็ดเงินแค่ 770 ล้านบาท ไม่ถึง 1 พันล้านบาท
"ใครรวยจริงหนีได้ มีช่องโหว่ให้หลบได้ คนที่เสียภาษี คือ คนไม่รวยจริง หลบไม่เป็น แทนที่ภาษีมรดกแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำกลับตอกย้ำความเหลื่อมล้ำในสังคม"
ส่วนภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯ ที่จะจัดเก็บปี 2563 นายกรณ์ กล่าวว่า ไม่แน่ใจประชาชน และหน่วยงานราชการพร้อมแค่ไหน รัฐบาลประเมินรายได้จากภาษีใหม่แค่ 4 หมื่นล้านบาท น้อยกว่ารายได้รวมของภาษีโรงเรือน และภาษีบำรุงท้องที่ ที่ภาษีที่ดินฯ จะมาทดแทน ดังนั้น ปี 2563 ภาษี หรือรายรับภาษี ที่มาจากทรัพย์สินยังน้อยมาก ไม่ตอบโจทย์ระยะยาวของประเทศ
นายกรณ์ กล่าวถึงนโยบายการลดภาระภาษีให้กับคนชั้นกลาง แสดงว่า รายได้ทางภาษีของรัฐจะสูญหายไปอีก เกือบ 1.8 แสนล้านบาท ดังนั้น ยังไม่เห็นการจัดเก็บภาษีที่จะมาทดแทน
"หากรัฐบาลสามารถทำตามนโยบายได้ คือลดภาระภาษีให้กับคนชั้นกลาง สิ่งที่ต้องพิจารณา ต้องพิจารณาภาษีนิติบุคคล แค่เราสามารถเก็บตามอัตราฐาน รายได้รัฐบาลเพิ่มขึ้นได้เกือบ 2 แสนล้านบาท"
นายกรณ์ กล่าวอีกว่า ยังมีภาษีอีกหลายชนิด เช่น ภาษีกำไร ภาษีที่ได้จากการขายที่ดิน ภาษีกำไรจากตลาดหลักทรัพย์ฯ และแผนการเก็บภาษีจากบริษัทเทคโนโลยีแพลตฟอร์มจากต่างประเทศ ซึ่งยังไม่เห็นประมาณการจัดเก็บรายได้ในปีงบฯ 2563 จึงอยากเห็นการผลักดันปฏิรูประบบภาษี จัดเก็บจากแหล่งอื่นๆ เพื่อสร้างความเป็นธรรม
"เรื่องรายจ่ายก็ว่ากันไป เรื่องรายรับหวังว่ารัฐบาลจะจัดเก็บได้ตามที่ตั้งเป้าไว้ และเอาจริงกับการปฏิรูประบบภาษี เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของสังคมในอนาคต"
ช่วงหัวค่ำ นายพิธา ลิ้มเจริญรัฐ ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ อภิปรายถึงเรื่องการบริหารจัดการน้ำว่า ไทยมีปริมาณน้ำเหลือพอต่อความต้องการใช้ แต่มีปัญหาเรื่องการบริหาร และมีพื้นที่แล้งซ้ำซากเทียบเท่ากับพื้นที่ชลประทาน นอกจากนี้ มี 7 กระทรวง 30 กรม และกฎหมายกว่า 50 ฉบับเกี่ยวข้องกับน้ำ
นายพิธา กล่าวถึงแผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ปี 2563 มีมูลค่าเกือบ 6 หมื่นล้านบาท และหากรวมกับงบฯ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการน้ำในภาวะวิกฤต พบว่า มีมูลค่าประมาณ 1 แสนล้านบาท การจัดงบฯ สะท้อนความเป็นรัฐราชการรวมศูนย์ ขาดการกระจายอำนาจ เป็นงบประมาณแบบนี้เน้นเยียวยา มากกว่าการเตรียมพร้อม
ทั้งนี้ มีการยกตัวอย่างภัยแล้งและน้ำท่วมซ้ำซากที่จังหวัดขอนแก่น และที่อุบลราชธานี นายพิธา ได้เสนอแนะการจัดสรรงบประมาณต้องกระจายมากกว่านี้ ทางออกวิกฤตน้ำในประเทศไทย ความหลากหลายทางนโยบายจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพราะเสื้อตัวเดียวตัดทุกจังหวัดใส่ก็ใส่ไม่ได้
นางอนุรักษ์ บุญศล ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย อภิปรายถึงการบริหารจัดการน้ำทั้งประเทศ ไม่เป็นโล้เป็นพาย ไม่เห็นการพัฒนาขึ้นในทุกลุ่มน้ำทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
"น้ำคือชีวิต คือความมั่นคง หาใช่เรือดำน้ำ และรถถังไม่ รัฐบาลสร้างกองทัพให้เกรียงไกรหลายแสนล้านบาทได้ แต่ไม่เสริมสร้างแหล่งน้ำให้เกษตรกรเลย"
ส่วนดร.อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายถึงภาคเกษตรกรรม ที่พึงพาสารเคมีอันตราย โดยเฉพาะพาราควอต ซึ่งเป็นสารเคมีเป็นอันตราย และก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ ขณะที่สารทดแทนพาราควอต มีราคาแตกต่างหลากหลาย และมีราคาสูง
"ปีที่ผ่านมามีการนำเข้าพาราควอต 1,900 ล้านบาท สารทดแทนที่ปลอดภัยมีส่วนต่างที่แพงกว่า 3 เท่า คือ 3,800 ล้านบาท คิดเป็น 4.2% ของเงินในหมวดการพัฒนาขีดความสามารถของกองทัพ"
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/