ลักหลับ! ชาวนครนายกรวมตัวคัดค้านสร้างเตานิวเคลียร์ขนาด 29 เมกกะวัตต์ นักวิชาการชี้ใช้ข้อมูลเก่า เลือกพื้นที่ ระบุปัจจุบันเป็นที่ตั้งหน่วยงานราชการ ขณะที่การรับฟังความเห็น ไม่ชอบมาพากล
หลังจากเมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2562 กลุ่มรักษ์องครักษ์นำชาวบ้านจังหวัดนครนายกจัดกิจกรรมเดินรำลึกครบรอบ 74 ปี ระเบิดนิวเคลียร์ เหตุการณ์ทิ้งระเบิดปรมณูที่ฮิโรชิม่า พร้อมทั้งยื่นหนังสือคัดค้านการสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ต่อนายอำเภอ
สำหรับวัตถุประสงค์การจัดกิจกรรมเพื่อขอให้ยุติโครงการสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขนาด 20 เมกะวัตต์ ที่ อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก ซึ่งโครงการดังกล่าวมีที่มาสืบเนื่องจากสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) ได้ทำโครงการก่อสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ขนาด 29 เมกะวัตต์และที่เก็บกากนิวเคลียร์ที่อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก โดยได้จัดเวทีรับถึงความเป็นครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2561 ครั้งที่ 2 เสร็จสิ้นแล้ว และกำลังจะจัดครั้งที่ 3 ภาคประชาชนจังหวัดนครนายกเห็นว่ากระบวนการรับฟังความเห็นที่ผ่านมาไม่ชอบด้วยระเบียบกฎหมายคือมีการแจกเงินและผ้าห่ม ซึ่งเป็นการจูงใจและทำให้การแสดงความคิดเห็นไม่เป็นอิสระ นอกจากนี้ยังขาดความครอบคลุมเป็นการลักหลับสร้างเตานิวเคลียร์ เพราะคนนครนายกจำนวนมากไม่ได้รับรู้รับทราบ อีกทั้งยังขาดข้อมูลการสำรวจความเหมาะสมเชิงพื้นที่
ดร.นพ.สุธีร์ รัตนะมงคลกุล หัวหน้าภาควิชาเวชศาตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศราถึงการเลือกพื้นที่ตั้งโครงการเป็นข้อมูลในอดีตเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ซึ่งล้าสมัยและไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน เนื่องด้วยปัจจุบันอำเภอองครักษ์มีชุมชนที่หนาแน่นมากและเต็มไปด้วยหน่วยราชการจำนวนมาก อาทิเช่น มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ โรงเรียนกีฬาวิทยาลัยการอาชีพ โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพฯ บ้านพักผู้สูงอายุ เป็นต้น
ขณะที่ภาคประชาสังคมออกมาแสดงถึงความกังวลใจต่อปัญหาผลกระทบของโครงการ เพราะเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์อยู่ห่างจากแม่น้ำนครนายกเพียง 600 เมตร ซึ่งข้อมูลจากต่างประเทศพบว่ามีสารกัมมันตภาพรังสีสามารถการรั่วซึมออกมาได้แม้ไม่มีรอยร้าว และหากลงสู่แหล่งน้ำจะมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมสัตว์น้ำซึ่งนครนายกเป็นตลาดอันดับต้นๆของประเทศ
ดร.นพ.สุธีร์ กล่าวอีกว่าจังหวัดนครนายกยังถูกจัดให้เป็นเมืองรองของการท่องเที่ยว ซึ่งจะไวต่อข่าวลบจากความเสี่ยงของนิวเคลียร์และจะส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว และประชาชนจังหวัดนครนายกมีความกังวลใจต่อผลกระทบที่จะตามมาในรุ่นลูกรุ่นหลาน
"ความไม่ชอบมาพากลของกระบวนการรับฟังความเห็นจากประชาชนทั้งการแจกเงินแจกสิ่งของ การละเลยต่อการสร้างการรับรู้ของคนนครนายก ปัญหาการทุจริตการสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่มีมาในอดีต และความไม่เชื่อมั่นในราชการในการเยียวยาแก้ไขปัญหาอย่างที่รับรู้กันโดยทั่วไป คนในพื้นที่จึงเดินทางยื่นหนังสือคัดค้านและขอให้ยุติการสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ให้นายอำเภอ ณ ที่ว่าการอำเภอ องครักษ์"