สมเด็จพระกนิษฐาธิราชฯ ทรงห่วงหลังรัฐจัดงบฯ อุดหนุนมื้อกลางวัน ละเลย ฝึกทักษะหาเลี้ยงชีพ อธิบดีสถ. ระบุ ข่าวทุจริตอาหารกลางวัน เรื่องใหญ่อยู่ที่คน ชีัยังมีผู้ใหญ่ใจร้าย เชื่อระเบียบจัดซื้อจัดจ้าง เขียนไว้ดีหมด- ไม่นิ่งเฉยแนะแนวทางป้องปรามหมั่นตรวจเยี่ยม ลงไปรับรู้ปัญหาความเดือดร้อน ติดประกาศเมนูล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 5 วัน
วันที่ 5 สิงหาคม กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกับโครงเด็กไทยแก้มใส โดยสถาบันสร้างเสริมวิถีบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย จัดงานท้องถิ่นไทยก้าวสู่แหล่งเรียนรู้เด็กไทยแก้มใส วิถีชีวิตสุขภาวะ การขยายผลต้นแบบจัดการอาหารกลางวันนักเรียนสู่ทุกโรงเรียนในจังหวัดตาก ณ เทศบาลนครแม่สอด อำเภอเมืองแม่สอด จังหวัดตาก โดยมีนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น และนายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ร่วมงาน
นายเจริญฤทธิ์ กล่าวว่า ปี 2561 จังหวัดตากประกาศนโยบายเด็กไทยแก้มใส เด็กที่นี่ต้องมีสุขภาวะที่ดี ได้รับสารอาหารที่ถูกต้อง เหมาะสม และเพียงพอ พร้อมเรียนรู้ และเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ โดยมีการผลักดันโรงเรียนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 31 แห่งเป็นต้นแบบ จัดอาหารกลางวันให้มีคุณภาพ
“ปี 2562 จังหวัดตาก ยกระดับโรงเรียนสังกัดอปท. 31 แห่ง ใช้โปรแกรม Thai School Lunch ได้ครบถ้วน และกำลังพัฒนาเมนูให้มีความหลากหลาย ภายใต้สารอาหารต้องครบถ้วน เหมาะสม วัตถุดิบที่ปลอดภัย รวมไปถึงการพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับครู ตลอดจนให้สาธารณชนชุมชนได้รับรู้สาธารณชนลูกหลานได้รับอาหารถูกต้อง ครบถ้วน และปลอดภัย เพียงพอ”
ขณะที่นายสุทธิพงษ์ กล่าวถึงการดูแลเด็กให้ได้รับสารอาหารครบถ้วนทั้ง 3 มื้อนั้น แม้ว่า อาหารกลางวันจะอยู่ในความดูแลของโรงเรียน แต่ก็มีนัยว่า ทั้ง 3 มื้อ ต้องมีคุณภาพ โดยมื้อที่จะเป็นต้นแบบ คือ อาหารกลางวันในโรงเรียน
“ที่ผ่านมาเป็นที่น่าเสียใจว่า การดูแลลูกหลานให้ได้รับสารอาหารครบถ้วน เพื่อไปพัฒนาสมอง พัฒนาร่างกายให้เติบโตขึ้นเพื่อเป็นเสาหลักดูแลประเทศชาติต่อไปนั้น กลับมีข่าว โรงเรียนแถวปราจีนบุรี ข้าวมื้อกลางวันของเด็ก เมนูพะโล้บูด หรือก่อนหน้านี้ก็มีข่าวขนมจีนน้ำยา กลายเป็นขนมจีนน้ำปลา ซึ่งถามว่า ทำไมไม่เลิกมีข่าวแบบนี้ คำตอบคือ เรายังมีผู้ใหญ่ใจร้าย แต่ผมก็เชื่อว่า น้ำดีไล่น้ำเสีย เพราะวันนี้ที่จังหวัดตากกำลังเป็นต้นแบบจัดการอาหารกลางวันในโรงเรียนแบบยกจังหวัด”
อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กล่าวถึงพระราชดำริฯ ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงห่วงใยเด็กไทยในเรื่องทักษะการหาเลี้ยงชีพ
“ท่านเคยบอกว่า ท้องถิ่นทำให้เด็กของท่านเสีย รัฐจัดสรรเงินอาหารกลางวัน 20 บาทต่อคนต่อวัน ไม่สอนให้เด็กเลี้ยงไก่ ปลูกถั่วงอก ประกอบอาหาร ท่านบอกให้พวกเราช่วยกันพัฒนาทักษะ ฝึกให้เด็กทำการเกษตรเพื่อใช้ทำเป็นอาหาร รู้จักปรุงอาหารเป็น กลับไปบ้านให้ผู้ปกครองส่งเสริมเด็กปลูกผักสวนครัว เลี้ยงไก่ไข่”
นายสุทธิพงษ์ กล่าวถึงโปรแกรมเมนู Thai School Lunch มีคำถามเสมอว่า ทำไมถึงไม่บังคับให้ท้องถิ่นทุกแห่งทำ ต้องอย่าลืมว่า กฎหมายไม่ได้เปิดช่องตรงนี้ แต่ยืนยันได้ว่า โปรแกรมสำเร็จรูปนี้ดีมาก มีเป็นหมื่นๆ เมนู และมีการคำนวนสารอาหารให้เสร็จ ไม่เป็นภาระแก่ครูในโรงเรียน
ส่วนข่าวคราวการทุจริตงบประมาณอาหารกลางวันในโรงเรียน อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กล่าวด้วยว่า การทำตามระเบียบการจัดซื้อจัดจ้าง มองว่า กฎหมายเขียนไว้ดี มีกรรมการตรวจรับดีหมด แต่ก็ยังพบข่าวเด็กไทยยังได้อาหารไม่ครบมาตลอด เรื่องใหญ่อยู่ที่คน ปัจจุบันกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ได้วางแนวทางให้มีการตรวจเยี่ยมการบริหารจัดการอาหารกลางวันในโรงเรียน เพื่อป้องปรามและไปรับรู้โรงเรียน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเดือดร้อนอะไรบ้าง พร้อมให้ทุกโรงเรียนติดประกาศเมนูอาหารกลางวันล่วงหน้าอย่างน้อย 5 วันให้ผู้ปกครองได้รับทราบ หากลูกหลานรับประทานไม่ได้ หรือแพ้อาหารเมนูใด โรงเรียนสามารถปรับเปลี่ยนเมนูได้ ขณะเดียวกันมื้อต่อๆ ไปผู้ปกครองก็อย่าให้ซ้ำกับเมนูอาหารกลางวัน เป็นต้น
“อาหารกลางวันในโรงเรียนเป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น ในชีวิตจริงเด็กต้องได้รับอาหารครบทุกมื้อ อีกทั้งต้องมีสุขภาวะที่ดี เช่น การออกกำลังกาย การเล่นในสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา เพื่อให้เด็กเกิดจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ วันนี้เราไม่สามารถทำอะไรโดยแยกส่วนได้อีกต่อไปแล้ว ฉะนั้นทุกภาคส่วนต้องร่วมไม้ร่วมมือกัน”