เครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง เล็งจัดกิจกรรม “ปักหมุดจุดเผือก” ค้นหาเส้นทางเสี่ยงถูกคุกคามทางเพศ หวังนำฐานข้อมูลเสนอต่อผู้ว่ากรุงเทพมหานคร อธิการบดีมหาวิทยาลัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า องค์การแอ็คชั่นเอด (Action Aid) ได้ทำการสำรวจเหตุคุกคามทางเพศของผู้หญิงในวัยนักศึกษาและวัยทำงาน 20 เมืองทั่วโลก พบว่า ทุก ๆ 15 วินาทีผู้หญิงในเมืองเซาเปาโล ประเทศบราซิลเจอกับการคุกคามทางเพศในพื้นที่สาธารณะ ในส่วนของกรุงนิวเดลีประเทศอินเดียผู้หญิงมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์เคยเจอกับเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่สาธารณะ ส่วนของประเทศอังกฤษมีผู้หญิงเคยเจอกับเหตุการณ์คุกคามทางเพศในพื้นที่สาธารณะมากถึง 40 เปอร์เซ็นต์
สำหรับประเทศไทย มีสถิติที่น่าสนใจจากกองบัญชาการตำรวจนครบาล ระบุว่า กรุงเทพมหานครมีจุดเสี่ยงมากถึง 217 จุด
เครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง ซึ่งประกอบด้วย องค์การ แอ็คชั่นเอด (Action Aid) แผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เครือข่ายสลัมสี่ภาค สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) Shma SoEn Urban Creature Big Trees ได้ร่วมมือกับเครือข่ายสถาปนิก นักผังเมือง เครือข่ายคนเมือง และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เตรียมเปิดตัวโครงการ “ปักหมุดจุดเผือก” เพื่อชวนประชาชนร่วมกันออกเดินทางสำรวจค้นหาจุดเสี่ยงในพื้นที่สาธารณะและสถานศึกษาทั่วกรุงเทพมหานคร พัฒนาต้นแบบแผนที่ “จุดเผือก Map” จากเสียงของประชาชน เพื่อให้ผู้หญิงได้ใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นในการระแวดระวังภัยการคุกคามทางเพศที่จะเกิดขึ้นกับตนเอง และให้ประชาชนได้ร่วมเป็นทีมเผือกในการเฝ้าระวังเพื่อช่วยสอดส่องในพื้นที่จุดเสี่ยงเหล่านั้น
นอกจากนี้ ยังจะนำฐานข้อมูล “จุดเผือก Map” เสนอต่อผู้ว่ากรุงเทพมหานคร อธิการบดีมหาวิทยาลัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีแนวทางในการแก้ไขปัญหาการคุกคามทางเพศในพื้นที่จุดเสี่ยงเหล่านี้อย่างเป็นรูปธรรม โดยวันเสาร์ที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2562 ที่โรงแรมเอทัส ซอยร่วมฤดี เวลา 12.30 – 18.00 น. เครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง เตรียมจัดกิจกรรมร่วมกันปักหมุดจุดเผือกบนแผนที่กทม.ยักษ์ เพื่อแสดงเจตจำนงในการเป็นทีมร่วมค้นหาจุดเสี่ยงผ่านเครื่องมือ google map ในพื้นที่ของตนเอง
ก่อนหน้านี้ เครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง (Safe Cities for Women) ได้เคยรณรงค์เพื่อสร้างความปลอดภัยจากการคุกคามทางเพศบนระบบขนส่งสาธารณะ ภายใต้ชื่อโครงการ “ถึงเวลาเผือก” ที่มีผู้เข้าร่วมเป็นสมาชิก “ทีมเผือก” แล้วกว่า 800 คน และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาขานรับและปรับเปลี่ยนความปลอดภัยบนระบบขนส่งสาธารณะเพื่อป้องกันการคุกคามทางเพศที่จะเกิดขึ้นกันอย่างหลากหลาย
อย่างไรก็ตามนิยามเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิงขององค์การแอ็คชั่นเอด นอกจากการให้ความสำคัญกับการคุกคามทางเพศบนระบบขนส่งสาธารณะแล้วยังได้ให้ความสำคัญกับการคุกคามทางเพศผู้หญิงในพื้นที่สาธารณะ โดยเฉพาะพื้นที่บนท้องถนนและตรอกซอกซอย หรือที่เรียกว่า “Street Harrasment” โดยการคุกคามทางเพศที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงบนท้องถนนและตรอกซอกซอย นอกจากจะสร้างความไม่ปลอดภัยในการดำเนินชีวิตของผู้หญิงแล้ว ยังเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่จะฉุดรั้งความก้าวหน้า การปิดโอกาสในการใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพของผู้หญิงในหลากหลายมิติอีกด้วย