"สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย" อภิปรายนโยบายรบ.ประยุทธ์ 2 ระบุสังคมไทยมีเสาหลักอยู่ 4 เสา สถาบันพระมหากษัตริย์ ความมั่นคง การเมือง และสังคม เศรษฐกิจ ชี้นโยบายรัฐกลับเน้นไปที่เศรษฐกิจ แก้ปัญหาปากท้่อง ละเลยคุณภาพสังคม หวั่นขาดความสมดุล แนะควรไปเพิ่มเติมสร้างสังคมที่เข้มแข็งให้มีความชัดขึ้น ด้านกรณ์ จาติกวณิช สะกิดรัฐบาลอย่าลืมดูแลภาระภาษีของคนชั้นกลาง ยัน 2 พรรคให้สัญญาไว้กับประชาชน
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2562 ที่อาคารทีโอที แจ้งวัฒนะ (รัฐสภาชั่วคราว) มีการประชุมร่วมรัฐสภาระหว่าง ส.ส. และ ส.ว. เพื่อรับฟังคำแถลงนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยเปิดโอกาสให้แต่ละฝ่ายได้อภิปรายด้วย โดยช่วงบ่าย ส.ว.ที่อภิปรายเป็นคนแรก คือ นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย
เริ่มต้นนายสสุรชัย กล่าวถึงการจัดทำนโยบายคณะรัฐมนตรีว่า เป็นเงื่อนไขหนึ่งของรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ แม้จะไม่มีการลงมติ แต่สมาชิกรัฐสภาสามารถให้ความคิดเห็น และซักถามครม.ได้ ซึ่งถือเป็นเงื่อนไขที่ไม่เคยถูกกำหนดมาก่อน
"ผมได้ตรวจสอบเอกสารทั้งหมดแล้ว ชื่นชมรัฐบาลได้จัดทำคำแถลงนโยบายถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยนโยบายต้อง สอดคล้องกับแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ หน้าที่ของรัฐ และยุทธศาสตร์ชาติ มีภาคผนวกที่สรุปไว้" นายสุรชัย กล่าว และว่า เจตนารมณ์การแถลงนโยบาย แนวคิดนี้ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นขึ้น เมื่อ 22 ปีที่แล้ว ยุคการจัดทำรัฐธรรมนูญปี 2540 คนยุคสมัยนั้นคิดถึงอนาคตของประเทศทำอย่างไรให้ประเทศยั่งยืน ภายใต้ความไม่ยั่งยืนของระบบการเมืองของประเทศไทย แนวนโยบายแห่งรัฐ จึงถูกบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งเป็นการเขียนที่เบาบาง ปรากฎว่า 9 ปี หลังการบังคับใช้กฎหมายลูกยังออกมาไม่ครบ พอจัดทำรัฐธรรมนูญปี 2550 ยกระดับจากแนวทาง ให้เป็นแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ คือเจตจำนงค์ของรัฐให้รัฐไปออกนโยบายและไปออกกฎหมาย แต่ที่สุดเราเดินซ้ำประวัติศาสตร์เดิม 7 ปี ไม่ได้รับการปฏิบัติเช่นกัน ซึ่งบทสรุปที่ประเทศไทยได้รับ คือเราไม่สามารถแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ เป็นเข็มทิศ เพื่อไปสู่เป้าหมายที่ต้องการได้
นายสุรชัย กล่าวอีกว่า เมื่อเข้าสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญปี 2560 ก็พยายามสานต่อ แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ มีการนำมาสังเคราะห์ใหม่ กลั่นสิ่งที่เป็นเรื่องสำคัญของประเทศชาติ ยอมไม่ได้ที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญแล้วไม่ได้ทำ จึงกลายเป็นหมวดหน้าที่แห่งรัฐส่วนหนึ่ง และหมวดที่ว่าด้วยแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ นี่คือเหตุผลทำไม รัฐธรรมนูญปี 2560 ถึงกำหนดให้มีการทำนโยบายของรัฐบาล มีการแถลงนโยบาย ต้องแถลงว่า จะต้องทำอย่างไร บริหารประเทศนี้อย่างไรให้สอดคล้องกับแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ เพื่อป้องกันไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย เกิดขึ้นมาแล้ว 22 ปี
"เมื่อเสร็จภารกิจแล้ว ขอให้รัฐบาลนำแผนปฏิบัติการ วิธีการปฏิบัติการไปสู่การปฏิบัติการอย่างเป็นรูปธรรม เมื่อนั้นเราจะได้ชื่อว่าเราทำงานเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง"
นโยบายด้านสังคมอ่อนไปนิด
นายสุรชัย กล่าวอีกว่า สังคมไทยมีเสาหลักอยู่ 4 เสา สถาบันพระมหากษัตริย์ ความมั่นคง การเมือง และสังคมเศรษฐกิจ นโยบายของรัฐบาลเสาหลักที่ 1 เสาหลักที่ 2 พูดไว้อย่างชัดเจน แต่เสาที่ 3 การเมือง พูดไว้อย่างไม่ชัดเจน มีเพียงคำว่า สร้างความเข้มแข็งชุมชน จึงมองว่า นโยบายด้านนี้อ่อน ส่วนเสาที่ 4 สังคมเศรษฐกิจ รัฐบาลให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจมากกว่าสังคม ทำให้ขาดความสมดุล แม้เราจะรับรู้ว่า ปัญหาปากท้องเป็นเรื่องใหญ่ ต้องเร่งแก้ไข แต่คุณภาพสังคมก็สำคัญ รัฐบาลให้น้ำหนักค่อนข้างอ่อนไปนิดหนึ่ง
"หากเรามองไปที่สภาวะสังคมไทยขณะนี้ ค่อนข้างอ่อนแอ เรามีปัญหาอาชญากรรมค่อนข้างสูง ดูได้จากสถิติผู้ต้องขังในเรือนจำ ข้อมูลล่าสุด กรกฎาคม 2562 จำนวนกว่า 3.5 แสนคน เป็นผู้ต้องขังระหว่างดำเนินคดีกว่า 5 หมื่นคน ซึ่งเราไม่ควรให้ประชาชนเข้าใจว่า เพราะจนจึงต้องติดคุก ไม่มีเงินประกันจึงต้องติดคุก
ขณะที่ปัญหาความรุนแรงทางสังคม สะท้อนผ่านความรุนแรงต่อเด็ก เยาวชน สตรี ความรุนแรงในครอบครัว เราเห็นวัยรุ่นทำร้ายร่างกาย นักเรียนรอาชีวะตีกัน ปัญหาการฆ่าตัวตายที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้สังคมไทยอ่อนแอ ดังนั้น ผมอยากเห็นรัฐบาลเพิ่มเติมนโยบายการสร้างสังคมที่เข้มแข็งให้มีความชัดเจนมากกว่านี้"
ช่วงท้าย นายสุรชัย กล่าวถึงเรื่องสำคัญที่ไม่ปรากฎในนโยบายของรัฐบาล คือ นโยบายการจัดการปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนน พบว่า คน 2 หมื่นคนต้องตายลงทุกปี หรือ 5 ปี คนไทยเสียชีวิตบนท้องถนน 1 แสนคน ถามว่า เราปล่อยให้เหตุการณ์นี้ดำรงอยู่ได้อย่างไร ทั้งๆ ที่รัฐบาลปี 2553 มีมติครม.กำหนดให้ประเทศไทยเดินหน้าในเรื่องนี้ หรือทศวรรษแห่งความปลอดภัย ตั้งเป้าลดคนตายบนท้องถนน ไทยไม่ได้คิดเอง เป็นนโยบายขององค์การสหประชาชาติ ที่ให้ทุกประเทศไปลดจำนวนผู้เสียชีวิตบนท้องถนน
"การบริหารประเทศ รัฐบาลต้องซื่อสัตย์สุจริต เสียสละ เปิดเผย เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชน ต้องรักษาวินัยการเงินการคลังว่าด้วยกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด ต้องยึดถือและปฏิบัติการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี ต้องส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนอยู่ร่วมกันอย่างเป็นธรรม ปรองดอง รับผิดชอบต่อรัฐสภาที่จะบริหารประเทศตามนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภาฯ "
กรณ์ สะกิดรัฐบาลอย่าลืมดูแลภาระภาษีของคนชั้นกลาง
นายกรณ์ จาติกวณิช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงนโบายรัฐบาลที่แถลงต่อสภา มองว่า มีความครบถ้วนเกือบทุกประเด็นที่มีความสำคัญต่อการแก้ปัญหาของบ้านเมือง แต่ประชาชนก็มีความกังวลว่า รัฐบาลจะสามารถนำนโยบายเหล่านี้นำไปปฏิบัติได้มากน้อยเพียงใด ทั้งจากการเป็นรัฐบาลผสม 19 พรรคการเมือง อำนาจทางกฎหมายที่น้อยลง ฉะนั้นจำเป็นที่รัฐบาลต้องกำหนดเป้าหมาย และผลลัพท์ที่ชัดเจนสำหรับแต่ละนโยบาย
นายกรณ์ กล่าวว่า นโยบายรัฐบาล สิ่งที่ขาด คือเส้นทางที่จะเดินไปสู่เป้าหมายนั้น ไทยควรเดินเส้นทางใด ตัวอย่างสิงคโปร์ไม่ได้ทำหลายเรื่อง แค่มีเส้นทางกำหนดประเทศเป็นศูนย์กลางทางด้านการเงิน หรือจีน กำหนดว่า จะพึ่งพาระบบเศรษฐกิจการตลาด เกาหลีใต้ จัดการกับระบบราชการที่ล้าสมัยและอุ้ยอ้าย สู่การปฏิรูประบบกฎหมาย เป็นต้น ประเทศไทยเองก็เช่นกัน นโยบายการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมมีผลอย่างมากต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ดังนั้นการกำหนดเส้นทาง และแนวทางจึงเป็นเรื่องสำคัญ
ถึงเวลาที่เราจะยกระดับมาตรฐานต่างๆ ที่เราทำให้เป็นให้พรีเมี่ยม ทั้งมาตรฐานชีวิตของคนไทย มาตรฐานการรักษาพยาบาล ทางเดิน ฟุตบาท ภาคการเกษตร อาหาร อุตสาหกรรมให้มีมาตรฐานที่สูงขึ้น หรือระดับโลก
"ประเทศไทยมีทุกอย่าง ทั้งรถไฟเชื่อมสนามบิน ระบบชลประทาน แต่ก็ออกแบบไม่มีมาตรฐาน หรือเอื้อต่อผู้ใช้บริการ"
นายกรณ์ กล่าวว่า การเดินไปสู่จุดที่ประเทศจะเป็นประเทศพรีเมี่ยมในทุกๆ เรื่อง ซึ่งประชาธิปัตย์เคยกำหนดกรอบนโยบายไว้ เรียกว่า "แก้จน สร้างคน สร้างชาติ" นโยบายรัฐบาลก็ตอบโจทย์ดังกล่าว แต่เราต้องเตรียมตัวให้คนในสังคมปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แม้มีระบุหมดในนโยบายรัฐบาลที่นำเสนอต่อสภาฯ แต่การเดินหน้าสู่แก้ปัญหาเรื่องความยากจน เป็นภารกิจสำคัญที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการ การเกษตร การประกันรายได้ การแก้ไขปัญหาหนี้สิน ค่าครองชีพประชาชน
"ผมไม่อยากให้รัฐบาลมองข้าม ประชาชนคนชั้นกลาง พรรคร่วมรัฐบาลอย่างน้อย 2พรรค ที่สัญญากับประชาชนเอาไว้ว่า เราจะดูแลภาระภาษีให้มีความเป็นธรรม ส่วนเรื่องการสร้างชาติ สร้างคน อย่าพูดเรื่องการปฏิรูปอีก ให้กำหนดนโยบายที่จับต้องได้ วัดได้ ให้ชัดเจน"