เชื่อเป็นทางออกที่ดีสุด 'ระวี มาศฉมาดล' เสนอญัตติดด่วน ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษากรณีการต่อสัญญาสัมปทานให้กับ BEM ออกไปอีก 30 ปี เพื่อแลกกับค่าเสียหายและยุติข้อพิพาทมากกว่า 20 คดี
วันที่ 11 กรกฎาคม การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 11 มีการพิจารณาร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. .... และการพิจารณาเรื่องที่ค้างจากการประชุม ครั้งที่ 10 (พุธที่ 10 ก.ค.) โดยนายระวี มาศฉมาดล ส.ส.พรรคพลังธรรมใหม่ เป็นผู้เสนอญัตติดด่วน เรื่องขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษากรณีการต่อสัญญาสัมปทานให้กับบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ออกไปอีก 30 ปี เพื่อแลกกับค่าเสียหายและยุติข้อพิพาทมากกว่า 20 คดี
นายระวี กล่าวเปรียบเทียการต่อหรือไม่ต่ออายุสัมปทาน ข้อดีข้อเสีย และรายได้ของการทางพิเศษแห่งประเทศ ซึ่งทางออกดีที่สุดสำหรับกรณีนี้คือการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ จากตัวแทนของส.ส.และตัวแทนของประชาชนทั้งประเทศมาร่วมกันศึกษา กรณีพิพาท 1.3 แสนล้านบาทจะเอากันอย่างไร การต่อสัญญาจะเอาอย่างไร การขยายอายุสัมปทาน 30 ปี ถูกกฎหมายหรือไม่ ผิดพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐฯ หรือไม่ โดยเฉพาะอัยการเสนอแนะให้ดูให้ดี โดยเฉพาะมาตรา 49 พ.ร.บ.ร่วมทุุน ผิดหรือไม่
"ที่เสนอให้มีการตั้งกมธ.วิสามัญฯ ขึ้นมาศึกษาเรื่องนี้ เมื่อศึกษาเสร็จแล้วก็เสนอรัฐบาลใหม่เป็นผู้พิจารณา ทางออกนี้จะเหมาะที่สุด แต่หากไม่มีการตั้งเท่ากับรัฐบาลพร้อมรับเผือกร้อนด้วยตนเอง และฝ่ายค้านจะยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจญัตตินี้แน่นอน "
ขณะที่ นายอนุรักษ์ ตั้งปณิธานนท์ ส.ส.มุกดาหาร พรรคเพื่อไทย กล่าวลำดับเหตุการณ์ข้อพิพาทสัมปทานทางด่วน และที่มาการเจรจายุติข้อพิพาทด้วยการขยายสัมปทาน และรอเข้าคณะรัฐมนตรีว่า การเสนอญัตตินี้ไม่ได้มีเจตนาไปจับผิดใคร หรือมีเจตนาให้ทางเอกชนได้รับความเสียหาย ซึ่งต้องให้ความเป็นธรรมกับเอกชนที่เข้ามาร่วมลงทุน หากไม่มีเอกชนร่วมลงทุนทางด่วนต่าง ๆ อาจไม่เกิดขึ้น เพราะรัฐบาลไม่มีเงินพอ ฉะนั้น หากเอกชนได้รับความเสียหาย รัฐเองก็ต้องเยียวยาให้สมเหตุสมผล และเราต้องคำนึงถึงสิ่งที่รัฐควรได้รับจากการต่อสัญญาสัมปทานครั้งนี้ เรื่องนี้กระทบต่อประชาชนส่วนมาก จึงอยากให้รัฐบาลรอบคอบ ตั้งกมธ.วิสามัญฯ ขึ้นมาศึกษาเรื่องนี้อีกครั้ง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
"การต่อสัญญาสัมปทานต่างๆ ผ่านแต่ครม.อาจไม่รอบคอบพอ การมีสภาฯ มีหน้าตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล"
จากนั้นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์ลุกขึ้นอภิปรายอย่างกว้างขวาง เช่น นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส. พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลชุดใหม่ต้องฟังพวกเรา
นายเผดิมชัย บุญช่วยเหลือ ส.ส.พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงญัตติการต่อหรือไม่ต่อสัญญาทางด่วน วันนี้หลังศาลพิพากษาให้การทางพิเศษฯ แพ้คดี ก็ยังไม่มีการจ่ายให้เอกชน มีภาระจ่ายดอกเบี้ยวันละ 3 แสนบาทไม่มีวันหยุด "เรายอมตัดเนื้อร้ายเพื่อให้เลือดหยุดไหลหรือไม่ เพราะผู้มีอำนาจไม่ตัดสินใจจ่ายเงินตามคำพิพากษา"
นายเผดิมชัย กล่าวถึงรัฐบาลใหม่ที่จะมาสานต่อ จำเป็นจะตัดสินใจบนพื้นฐานรักษาผลประโยชน์ของประชาชน โดยการปลดเบื้องพันธนาการจากสัญญาทาสอย่างที่ผ่านมา หรือเลือกเดินโดยหลับหูหลับตา ไม่นึกถึงประชาชนจะต้องแบกรับภาระมากน้อยแค่ไหนอย่างไร
นายเกียรติ สิทธีอมร ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงประเด็นที่สังคมติดใจ กรณีการทางพิเศษฯ แพ้คดีต้องชดใช้เอกชน และมีคดีระหว่างทางอีกหลายคดี ขณะที่มีการจ้างที่ปรึกษาไปประเมินคดีไหนจะแพ้ คดีไหนจะชนะ ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ฉะนั้นจึงทำให้สังคมสงสัย โดยเฉพาะการเจรจาขณะที่คดีไม่ถึงที่สุด
"การไปเจรจายุติข้อพิพาท ทำให้หาตัวคนผิดไม่เจอ แม้กระทั่งการลงบัญชีของการทางพิเศษฯ ยังสงสัยว่า จะลงบัญชีอย่างไร เมื่อเป็นหนี้ที่ต้องชำระ และผมงงทำไมคดีนี้ไปเป็นคดีทางปกครอง เพราะเป็นเรื่องการผิดสัญญา เป็นคดีทางแพ่ง หรือมองเห็นช่องทางว่า เมื่อไปศาลปกครองคดีจะจบทางใดทางหนึ่ง "
นายเกียรติ กล่าวถึงสัญญาเดิมที่เขียนไว้ ไม่ให้สร้างทางแข่งกับเอกชนนั้น ถามว่า เป็นสัญญาที่เป็นธรรมหรือไม่ ฉะนั้นสภาฯ มีเหตุผลเพียงพอที่จะตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ขึ้นมาพิจารณา เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องผลประโยชน์ของรัฐหลายแสนล้านบาท จะทำกันง่ายๆ ไม่ได้ ยิ่งเมื่อต้องชดเชยกันต้องทำด้วยความรอบคอบและถี่ถ้วน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การอภิปรายผ่านไปกว่า 4 ชั่วโมง เวลา 17:00 น.ที่ประชุมสภาฯ ตั้งกมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษากรณีการต่อสัญญาสัมปทานฯ จำนวน 39 คน โดยแบ่งเป็นฝ่ายรัฐบาล 20 คน และฝ่านค้าน 19 คน โดยใช้เวลาศึกษาเป็นเวลา 45 วัน
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า สำหรับการขยายสัมปทานแลกยุติข้อพิพาท หลักการลงทุนโครงการทางด่วนนั้น การลงทุนโครงการทางด่วนต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล เพราะต้องก่อสร้างและเวนคืนที่ดิน มีความเสี่ยงรายได้จากปริมาณจราจร รัฐจึงลดความเสี่ยงโดยให้เอกชนร่วมลงทุน ดำเนินการก่อสร้าง ให้บริการ และบำรุงรักษา และรับความเสี่ยงรายได้ โดยรับผิดชอบเรื่องการเวนคืน และการปรับใช้อัตราค่าผ่านทางตามสัญญา
ส่วนรายได้ในโครงการทางด่วนมาจากปัจจัยหลัก คือ ปริมาณจราจร ในช่วงแรกปริมาณจราจรจะน้อยและค่อย ๆ เพิ่มขึ้น และค่าผ่านทางตามสัญญา ขณะเดียวกันก็ให้เอกชนได้ผลตอบแทนที่เหมาะสม เช่น ทางด่วนในเมืองที่มีปริมาณจราจรมากจะมีการแบ่งรายได้ให้รับ แต่ถ้าเป็นทางด่วนนอกเมือง ที่มีปริมาณจราจรน้อย รัฐจะชดเชยให้เอกชน ซึ่งปัจจุบันการทางพิเศษแห่งประเทศไทยมีทางด่วนให้บริการอยู่ 7 สาย แบ่งเป็นทางด่วนที่การทางฯ บริหารเอง 4 สาย และให้ BEM สัมปทาน 3 สาย
ปัจจุบันมูลค่าข้อพิพาทระหว่างการทางพิเศษฯ กับ BEM (เงินต้นรวมดอกเบี้ยตามสัญญา) ณ วันที่ 31 ธ.ค.2561 รวม 137,517 ล้านบาท ข้อพิพาทเกิดจาก 2 คดีหลัก คือ คดีค่าผ่านทางและคดีทางแข่งขัน จึงเป็นที่มาของการเจรจาระหว่างการทางพิเศษฯ และ BEM เพื่อยุติข้อพิพาททั้งหมด บรรเทาความเสียหายของรัฐ โดยการขยายสัมปทานให้ BEM แทนการจ่ายเป็นตัวเงิน
ในส่วนของการเก็บค่าผ่านทางแบบคงที่ทุก 10 ปี และแบ่งรายได้ให้รัฐนั้น ทาง BEM ให้ข้อมูลว่า จะถูกกว่าการปรับทุก 5 ปี ตามอัตราเงินเฟ้อ (ตามสัญญาเดิม) (ตามตารางประกอบ)
ส่วนประโยชน์จากการยุติข้อพิพาทนั้น
ประชาชน ไม่ต้องรับผิดชอบความเสียหายแทนการทางพิเศษฯ ไม่ต้องมีภาระทางการเงินเพื่อช่วยรัฐจ่ายค่าเสียหาย เช่น ใช้เงินภาษีอากรไปใช้หนี้ ใช้ทางด่วนได้มีประสิทธิภาพ รถไม่ติดขัดเหมือนปัจจุบัน และจ่ายค่าทางด่วนถูกลง
รัฐ ยุติข้อพิพาทที่มีทั้งหมดกับเอกชน บรรเทาความเสียหาย ไม่ต้องเป็นหนี้หรือจ่ายเงินชดใช้ค่าเสียหายจำนวนมากจากการแพ้คดี สามารถปรับปรุงทางด่วนแก้ปัญหาจราจร ลดภาระทางการเงิน การลงทุนและการบริหารงานของรัฐ รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจให้แก่ผู้ลงทุน
ภาคเอกชน ยุติข้อพิพาททั้งหมดกับรัฐ ได้รับการชดเชยที่เป็นธรรม และได้ดำเนินธุรกิจต่อเนื่องและมีผลตอบแทนที่เหมาะสม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
บอร์ด กทพ. ยังไม่ตัดสินใจ นำเงินกองทุน TFFIF จ่ายชดเชยทางด่วน 4.3 พันล. แทนยืดอายุสัมปทาน
'บีอีเอ็ม' โชว์ละเอียด เงินต้น+ดบ. เรียกค่าเสียหายกทพ. 11 เรื่อง เป็นเงิน 1.3 แสนล.
:เปิดผลเจรจาข้อพิพาท 'กทพ.-บีอีเอ็ม' ก่อนได้ข้อยุติขยายสัมปทาน แลกใช้หนี้แสนล้าน
รองปลัดคมนาคม ระบุพร้อมประชุมพิจารณาผลเจรจา 'กทพ.-บีอีเอ็ม' ขยายสัมปทานทางด่วน 2
บีอีเอ็ม แจ้งตลท.ไกล่เกลี่ยยุติข้อพิพาทคดีทางด่วน 1.3 แสนล้าน ลุ้นครม.เห็นชอบ
เปิดข้อมูล 23 คดี การทางพิเศษฯ ถูกฟ้องร้อง เป็นเงินกว่า 5.2 หมื่นล้าน
รองปลัดคมนาคม ระบุพร้อมประชุมพิจารณาผลเจรจา 'กทพ.-บีอีเอ็ม' ขยายสัมปทานทางด่วน 2
เช็คลิสต์ 5 คดีค้าง กทพ. พิพาททางด่วนกับ 2 เอกชนยักษ์ใหญ่
เปิดผลเจรจาข้อพิพาท 'กทพ.-บีอีเอ็ม' ก่อนได้ข้อยุติขยายสัมปทาน แลกใช้หนี้แสนล้าน