5 ก.ค.ลุ้นการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกฯ ที่อาเซอร์ไบจาน หลังไทยเสนอผืนป่าแก่งกระจาน-ป่าข้างเคียงเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติอีกแห่ง ด้านกะเหรี่ยงบางกลอย ยื่นค้าน -สุรพงษ์ กองจันทึก หวั่นเสียดินแดน หลังเจ้าหน้าที่รัฐ ระบุ ผืนป่าขึ้นทะเบียนมรดกโลกที่ติดกับพม่า เรายอมถอยพื้นที่ออกมา 10-15%
หลังจากเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2561 ศาลปกครองกลางได้อ่านคำพิพากษาของ ศาลปกครองสูงสุด ในคดีหมายเลขดำที่ อส.77/2559 หมายเลขแดงที่ อส.4/2561 ซึ่งนายโคอิ หรือคออี้ มีมิ กับพวกรวม 6 คน ยื่นฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กับพวกรวม 2 คน ขอให้ชดใช้ค่าเสียหายจากกรณีพนักงานเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 รื้อถอนเผาทำลายสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีทั้งหกที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน
โดย ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้ กรมอุทยานฯ ชดใช้ค่าเสียหาย 'ปู่คออี้' กับพวกรวม 6 คน คนละกว่า 5 หมื่นบาท กรณีรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ทำลายทรัพย์สิน ในเขตป่าเเก่งกระจานนั้น
นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวถึงความคืบหน้าหลังศาลปกครองพิพากษาผ่านมากว่า 1 ปีว่า คำพิพากษาของศาลฯ เป็นการยืนยัน ในสิทธิของชุมชน ทั้งการยืนยันการมีตัวตนของปู่คออี้ ว่า เป็นคนพื้นที่นี้ เกิดในพื้นที่นี้มากว่า 100 ปี ให้จัดทำบัตรประชาชนก่อนปู่คออี้จะเสียชีวิตไม่นานนัก และเป็นการยืนยันในการสิทธิชุมชนท้องถิ่นดั่งเดิมตามรัฐธรรมนูญ ยืนยันในสิทธิทรัพย์สิน ในบ้าน ในเครื่องใช้ของชาวบ้านที่ถูกเจ้าหน้าที่เผาไป ซึ่งศาลให้ชดใช้เป็นเงิน 5 หมื่นบาท เรื่องเหล่านี้เป็นความพยายามของทุกคนที่ช่วยกันบอกว่า มีคนกลุ่มหนึ่งอยู่มานานแล้ว เป็นคนดั่งเดิม เก่าแก่ของสังคมนี้และประเทศไทยและถูกกระทำที่รุนแรงที่สุด (อ่านประกอบ:เผาบ้านกะเหรี่ยงแก่งกระจาน ศาลปค.สูงสุด ให้กรมอุทยานฯ ชดใช้ 'ปู่คออี้' กับพวก คนละ 5 หมื่น)
"ศาลปกครองพิพากษาแล้ว ผ่านมากว่า 1 ปี เจ้าหน้าที่รัฐก็ยังไม่ดำเนินการตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ทั้งเรื่องการยอมรับชาวบ้านเป็นคนชุมชนท้องถิ่นดั่งเดิม ยังไม่ปฏิบัติตามมติครม.เมื่อวันที่ 3 ส.ค.2553 ซึ่งให้ยุติการจับกุมชาวบ้าน และที่สำคัญชาวบ้านกะเหรี่ยงแก่งกระจานยังไม่สามารถกลับไปหมู่บ้านใจแผ่นดินได้"นายสุรพงษ์ กล่าว และว่า ปู่คออี้อายุ 100 กว่าปี คนฟ้องคดี เงินชดเชยจำนวน 5 หมื่นบาทยังไม่ได้รับ ซึ่งปัจจุบันปู่คออี้เสียชีวิตไปแล้ว แต่ได้ให้บรรทัดไว้กับแผ่นดินนี้
ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า ชาวบ้านไม่ได้ต่อสู้เพื่อชุมชนเท่านั้น แต่เพื่อรักษาป่า รักษามรดกทางธรรมชาติไว้ให้กับพวกเรา ขณะที่รัฐทำอีกรูปแบบหนึ่งขึ้นมา พยายามยกพื้นที่แก่งกระจานเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ ด้วยการไล่คนกะเหรี่ยงออกและประกาศขึ้นทะเบียนมรดกโลก ทั้งๆ ที่กะเหรี่ยงบ้านใจแผ่นดิน อยู่มาก่อนตั้งเป็นหมู่บ้านตั้งแต่ปี 2518 อยู่หมู่ที่ 7 ตำบลสองพี่น้อง อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี มีผู้ใหญ่บ้านสืบต่อกันมา มีเลขบ้าน มีคนอยู่ มีบัตรประจำตัวประชาชน แต่ปัจจุบันหมู่บ้านนี้หายไปแล้ว"
นายสุรพงษ์ กล่าวด้วยว่า ในวันที่ 5 กรกฎาคม จะมีการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ 43 ประเทศอาเซอร์ไบจาน โดยประเทศไทยเสนอให้ผืนป่าแก่งกระจาน และป่าข้างเคียงเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติอีกแห่งหนึ่งของประเทศไทย แห่งที่ 3 ทั้งนี้ชาวบ้านโป่งลึกบางกลอย 120 คน แสดงความกังวลประเด็นนี้มาก ได้ลงนามและทำหนังสือถึงคณะกรรมการมรดกโลก เมื่อเดือนมีนาคม 2562 ไม่เห็นด้วยการขึ้นทะเบียนมรดกโลก เพราะไม่ได้มีส่วนร่วม รวมทั้งได้มีข้อเสนอให้รัฐไทยยอมรับในวิถีชีวิต วิถีวัฒนธรรมชุมชนกะเหรี่ยงอย่างแท้จริง
"อีก 1-2 วัน เราคงจะได้เห็น คณะกรรมการมรดกโลกจะฟังเสียงใคร ระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐ โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กับชาวบ้าน สิ่งสำคัญการที่เจ้าหน้าที่รัฐ ระบุว่า การขึ้นทะเบียนมรดกโลกที่มีปัญหากับพม่านั้น ประเทศไทยยอมถอยพื้นที่ออกมา 10-15% เพื่อจะไม่ประกาศเป็นพื้นที่มรดกโลก ขอย้ำว่า การที่รัฐไทยไปประกาศแบบนี้ แสดงว่า พื้นที่นั้นไม่ใช่พื้นที่ของประเทศไทยใช่หรือไม่ ถามว่า ไม่ใช่ป่าของไทย แล้วป่าของใคร ในเมื่อพม่าอ้างว่า เป็นป่าของพม่า นี่แสดงว่า เรากำลังเสียดินแดนครั้งใหญ่ โดยเจ้าหน้าที่กระทรวงทรัพย์ฯ ไม่ยอมรับคน ไม่ยอมรับป่า นี่คืองานของเจ้าหน้าที่รัฐไทยทำหรือ"
ขณะที่นางสุนี ไชยรส จากมหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า การตัดสินใจของคณะกรรมการมรดกโลก ดูเหมือนว่า ข่าวออกมาทุกวัน เราจะเห็นภาพสื่อให้ภาพที่มีความขัดแย้งต่อสาธารณะตลอดเวลา ขณะที่ก็นำเสนอข่าวดีใจที่ไทยจะได้ขึ้นทะเบียนป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก
"เราไม่ปฏิเสธการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ แต่ของให้รัฐไทยแก้ไขปัญหาคาราคาซังทั้งหลายให้ได้ก่อน หากมองป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ อย่างเดียวจบเลย เพราะมีเรื่องวัฒนธรรมด้วย วิถีชีวิตชุมชนอยู่ในนั้น ฉะนั้น เราพยายามจะบอกว่า การเป็นมรดกโลกที่มีชีวิตคน ไม่ใช่มรดกโลกที่ดูแลแค่ธรรมชาติอย่างเดียว เราจึงอยากให้หยุดเอาไว้ก่อน เพราะรัฐไทยยังแก้ไขปัญหากะเหรี่ยงแก่งกระจานไม่ได้เลย"
นายสมชาย หอมลออ นักกฎหมายสิทธิมนุษยชน กล่าวถึงการพยายามขึ้นทะเบียนมรดกโลกทางธรรมชาติมีมานานแล้ว ตั้งแต่ปี 2554 การขึ้นทะเบียนมรดกโลกผืนป่าแก่งกระจาน กินพื้นที่หลายอำเภอ อย่างน้อย 3 จังหวัด ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี และราชบุรี ส่งผลกระทบชาวกะเหรี่ยง มีการเปิดยุทธการตะนาวศรี บังคับโยกย้ายคนเหล่านี้ลงมาพื้นที่ราบ เป็นต้น
"การดิ้นรนต่อสู้ของชาวกะเหรี่ยงในผืนป่าตะวันตก พบว่า ยืดเยื้อยาวนาน สลับซับซ้อนอย่างมาก หลายเรื่อง หลายคดี รัฐบาลไทยยังไม่สามารถให้คำตอบได้ แม้คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดชัดเจน รัฐบาลไทยก็ยังไม่ได้ทำอะไรกับสิทธิเหล่านี้ หรือแม้แต่เงินเยียวยา นี่คือโจทย์ใหญ่ที่พี่น้องกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยบน บ้านใจแผ่นดิน ถามรัฐบาลไทย ถามสังคมไทย และถามสังคมโลกที่อาเซอร์ไบจาน"