“...ความเห็นของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้างก็ไม่ได้ระบุว่าเป็นความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบการมาตราของรัฐธรรมนูญปี 2560 แต่อย่างใด ข้อกล่าวอ้างของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น เช่นนี้แล้วกำหนดระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 158 วรรค 4 จึงหมายความเฉพาะการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญปี 2560…”
กรณีศาลรัฐธรรมนูญ ตัดสินคดีความเป็นนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา ว่าให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย.2560 ยังไม่ครบ 8 ปี พล.อ.ประยุทธ์ จึงยังคงเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปได้
โดยการพิจารณาตัดสินคดีนี้ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมติเสียงข้างมาก 6 เสียงต่อ 3 เสียง ที่ลงมติให้ พล.อ.ประยุทธ์ ทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีต่อไป
เสียงข้างมาก 6 เสียง ประกอบด้วย 1.นายวรวิทย์ กังศศิเทียม, 2.นายปัญญา อุดชาชน 3.นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม 4.นายจิรนิติ หะวานนท์ 5.นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ และ 6.นายวิรุฬห์ แสงเทียน
ส่วนอีก 3 เสียงข้างน้อย ลงมติให้ พล.อ.ประยุทธ์ พ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ประกอบด้วย 1.นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ 2.นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ์ และ 3.นายนภดล เทพพิทักษ์
ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำคำวินิจฉัยส่วนตนของ 3 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อย คือ นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ,นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ์ และ นายนภดล เทพพิทักษ์ ที่เห็นควรให้ พล.อ.ประยุทธ์ พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
- คดี 8 ปีประยุทธ์ คำวินิจฉัย 'นครินทร์' : การผูกขาดอำนาจ อาจก่อให้เกิดวิกฤต-การทุจริต
- คดี 8 ปี ประยุทธ์ :เปิดคำวินิจฉัยเสียงข้างน้อย ‘ทวีเกียรติ' ไม่ให้มีการผูกขาดอำนาจ!
- คดี 8 ปี ประยุทธ์:คำวินิจฉัยเสียงข้างน้อย‘นภดล'ให้นับเวลาดำรงตำแหน่งนายกฯตามความเป็นจริง
และคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก ได้แก่ นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ, นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์, นายปัญญา อุดชาชน และนายอุดม สิทธิวิรัชธรรม มานำเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบไปแล้ว
- คดี 8 ปี ประยุทธ์ คำวินิจฉัยเสียงข้างมาก 'วรวิทย์' : เริ่มนับ 6 เม.ย.60 รธน.ประกาศใช้
- คดี 8 ปี ประยุทธ์ ‘บรรจงศักดิ์’ : ใช้ ม.264 ตีความย้อนหลังอายุนายกฯ ไม่ได้
- คดี 8 ปีประยุทธ์ ‘ปัญญา อุดชาชน’ บทเฉพาะกาล รธน. ไม่ระบุนับวาระ ‘นายกฯ’
- คดี 8 ปี ประยุทธ์ ‘อุดม สิทธิวิรัชธรรม’ นับอายุนายกฯ ตาม รธน. ต้องเริ่มที่ 9 มิ.ย. 62
ต่อไปนี้ คือ คำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการเสียงข้างมากรายที่ 5 ‘วิรุฬห์ แสงเทียน’ ที่ให้ความเห็นโดยสรุปว่า มาตรา 158 วรรคสี่แห่งรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ยกมากล่าวอ้าง ต้องอ้างให้ครบทั้งมาตรา และเนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 สิ้นสุดลงหลังรัฐธรรมนูญปี 2560 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2560 และพลเอกประยุทธ์ เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 158 รัฐธรรมนูญปี 2560 เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2562 นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ดำรงตำแหน่งมาก่อน จึงถือให้เริ่มนับอายุนายกฯในวันที่ 9 มิ.ย. 2562 นอกจากนี้ความเห็นของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่ยกมาอ้าง ก็ไม่ได้เป็นเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญด้วย
ส่วนรายละเอียดคำวินิจฉัย มีดังนี้
ประเด็นวินิจฉัย
ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์จันทร์โอชาสิ้นสุดลงแล้วตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสองประกอบมาตรา 158 วรรคสี่ หรือไม่
ความเห็น
รัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 158 วรรค 4 เป็นบทบัญญัติว่าด้วยการจำกัดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีเจตนารมณ์เพื่อไม่ให้เกิดการผูกขาดอำนาจในทางการเมืองยาวนานเกินไปอันอาจเป็นต้นเหตุให้เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองขึ้นได้ หรือมีการขยายอิทธิพลและเครือข่ายทางการเมืองอันนำไปสู่การผูกขาดอำนาจหรืออันอาจนำพาประเทศไปสู่ระบอบอำนาจนิยมประชาธิปไตยได้
เมื่อพิจารณาบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 158 แล้วจะเห็นว่ามีอยู่ด้วยกัน 4 วรรค โดยวรรคที่หนึ่ง ถึงวรรคที่สามบัญญัติถึงขั้นตอนและคุณสมบัติในการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีหลักการ 3 ประการคือ 1 พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี 2 นายกรัฐมนตรีต้องแต่งตั้งจากบุคคลซึ่งสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นตามมาตรา 159 และ 3 ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี
แล้วจึงมาถึงบทบัญญัติในวรรคที่สี่ ที่กำหนดวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรวมกันแล้วไม่เกิน 8 ปี ดังนั้นมาตรา 158 ทั้ง 4 วรรคจึงได้บ่งบอกถึงขั้นตอนและที่มาของนายกรัฐมนตรี ตลอดจนระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีนั้นอย่างครบชัดเจนในข้อกฎหมายตามตัวของมาตรานั้นเอง
พลเอกประยุทธ์ แถลงครั้งแรกหลังการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2562 ภาพจากสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล
นับเวลานายกฯตาม วรรคสี่ ม.158 ต้องผ่านวรรคหนึ่งถึงสามมาก่อน
เช่นนี้แล้ว การจะนำความในมาตรา 158 วรรคสี่เพียงวัดเดียวมาใช้โดยไม่ได้พิจารณาขั้นตอนคุณสมบัติรวมถึงผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีตามเนื้อความในวรรคหนึ่งหรือวรรคสามของมาตรา 158 ซึ่งเกี่ยวข้องกันทุกวรรคไม่ได้
ดังนั้น นายกรัฐมนตรีที่จะดำรงตำแหน่งรวมกันเกิน 8 ปีมิได้ตามมาตรา 158 วรรคสี่ จึงต้องเป็นนายกรัฐมนตรีที่ผ่านขั้นตอนตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ในมาตรา 158 วรรคหนึ่งหรือวรรคสามแล้ว อีกทั้งในชั้นยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 158 วรรค 4 คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้ประชุมเกี่ยวกับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่ว่าจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกิน 8 ปีมิได้นี้หลายครั้ง ได้แก่ การประชุมครั้งที่ 45 เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2558, การประชุมครั้งที่ 63 เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2559, การประชุมครั้งที่ 70 เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2559, การประชุมครั้งที่ 95 เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2559 และการประชุมครั้งที่ 113 เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2559
โดยตามบันทึกการประชุมและรายงานการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญในแต่ละครั้งการพิจารณาในชั้นร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวไม่ปรากฏประเด็นในการพิจารณาหรืออธิบายเกี่ยวกับการนับระยะเวลา 8 ปีในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของผู้ที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก่อนวันที่รัฐธรรมนูญปี 2560 ประกาศบังคับใช้ด้วย
ชี้จะจำกัดเวลานายกฯก่อน รธน. ต้องบัญญัติให้ชัดแต่แรก
นอกจากนี้ ตามบันทึกการประชุมและรายงานการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่พิจารณาเกี่ยวกับการกำหนดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 158 วรรคสี่ ก็ไม่ปรากฏประเด็นในการพิจารณาหรืออธิบายเกี่ยวกับการนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีว่า สามารถนับรวมระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญนี้ประกาศใช้บังคับด้วย
เมื่อการตีความทางกฎหมายรัฐธรรมนูญไม่แตกต่างไปจากการตีความกฎหมายลายลักษณ์อักษรอื่น ทั้งยังต้องตีความบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องต้องกัน ไม่ตีความบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญให้ขัดแย้งกันเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในถ้อยคำตามมาตรา 158 ก็ชัดเจนหาความหมายที่แท้จริงได้ โดยไม่จำต้องค้นหาเจตนารมณ์จากดูร่างกฎหมายอีก
ยิ่งไปกว่านั้น หากรัฐธรรมนูญมีเจตนาให้นับระยะเวลาลงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มีที่มาตามและรัฐธรรมนูญนี้รวมเป็นระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 158 วรรคสี่ ก็น่าจะต้องบัญญัติไว้ให้ชัดเจน แต่กลับไม่ปรากฏว่ามีบทบัญญัติมาตราใดในรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่าระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 158 วรรคสี่ ให้นับรวมระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก่อนหน้านี้ที่มีที่มาจากรัฐธรรมนูญฉบับอื่นด้วย
พลเอกประยุทธ์ พบประชาชนที่โรงงานกระดาษไทย ตำบลบ้านเหนือ อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อ 11 พ.ย.62 ภาพจากสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล
ม.158 วรรคสี่ ไม่คลุมนายกฯ ที่มาจากจากรธน.ฉบับอื่น
ส่วนที่มาตรา 158 วรรคสี่ บัญญัติว่า ‘นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปีมิได้ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่แต่ให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่งนั้น’
ข้อความที่บัญญัติว่า ‘ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่’ ย่อมหมายความเฉพาะการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่มีที่มาตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญนี้เท่านั้น เมื่อรัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติไว้โดยชัดเจนว่าระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 158 วรรคสี่ ให้นับรวมระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก่อนหน้านี้ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับอื่นด้วยจึงไม่อาจตีความเกินไปกว่าที่รัฐธรรมนูญนี้บัญญัติได้
ความเห็น รองประธาน กรธ. ไม่ใช่เจตนารมณ์ตามรัฐธรรมนูญ
ส่วนการที่ผู้ร้องอ้างถึงบันทึกการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญครั้งที่ 500 เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2561 ซึ่งมีการระบุเจตนารมณ์การจำกัดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 158 วรรคสี่นั้น และยังอ้างถึงความเห็นของรองประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญคนที่ 1 (สุพจน์ ไข่มุกด์) ที่ว่า บุคคลใดก็ตามที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยวิธีการใดก็ตามก่อนรัฐธรรมนูญนี้ประกาศใช้บังคับก็สามารถนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีดังกล่าวเข้ากับระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ได้นั้น
เห็นว่า การประชุมเพื่อพิจารณาความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งเป็นเพียงการอธิบายแนวความคิดของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญในการจัดทำบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในมาตราต่างๆว่ามีความมุ่งหมายอย่างไร อีกทั้งเป็นการพิจารณาภายหลังรัฐธรรมนูญปี 2560 ประกาศใช้บังคับแล้วเป็นเวลาถึง 1 ปี 5 เดือน กรรมการผู้ร่างรัฐธรรมนูญผู้นั้นอาจมีความคิดที่แตกต่างไปจากความคิดในขณะร่างก็ได้ จึงไม่อาจน้ามารับฟังได้ว่าเป็นเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
อีกทั้งความเห็นของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้างก็ไม่ได้ระบุว่าเป็นความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบการมาตราของรัฐธรรมนูญปี 2560 แต่อย่างใด ข้อกล่าวอ้างของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น เช่นนี้แล้วกำหนดระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 158 วรรค 4 จึงหมายความเฉพาะการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญปี 2560
สุพจน์ ไข่มุก อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และอดีตรองประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ภาพจาก MGR Online
รธน.57 สิ้นสุดลงตามคำปรารภ รธน.60
ส่วนข้ออ้างที่ว่า เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2557 มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 มาตรา 19 แล้วต่อมาเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 โดยบทเฉพาะกาลมาตรา 264 บัญญัติให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญเป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่
ซึ่งพลเอกประยุทธ์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ต่อมาวันที่ 9 มิถุนายน 2562 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 158 พลเอกประยุทธ์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีติดต่อกันจนถึงวันที่ 24 สิงหาคม 2565 มาแล้วเกิน 8 ปีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 158 วรรคสี่นั้น
เห็นว่า ตามที่บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญมาตรา 264 ที่บัญญัติให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญเป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ก็เพื่อความต่อเนื่องในการบริหารราชการแผ่นดิน โดยคณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่บัญญัติไว้สำหรับรัฐมนตรี ยกเว้นลักษณะต้องห้ามบางประการอันเป็นกรณีที่ใช้บังคับแก่คณะรัฐมนตรีซึ่งมีที่มาตามรัฐธรรมนูญนี้เป็นการเฉพาะ รวมถึงไม่ให้นำเหตุแห่งการพ้นจากตำแหน่งของรัฐมนตรีบางประการที่กำหนดไว้สำหรับรัฐมนตรีตามนั้นรัฐธรรมนูญนี้มาใช้บังคับ
และในมาตรา 264 วรรคสอง ไม่ได้ยกเว้นกรณีตามมาตรา 170 วรรคสอง ที่บัญญัติให้ความเป็นรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเมื่อครบกำหนดเวลาตามมาตรา 158 วรรคสี่ ก็ตาม การใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 ระบุว่า ‘จึงมีพระราชโองการดำรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมให้ตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับนี้ขึ้นไว้ให้ใช้แทนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว)พุทธศักราช 2557 ตั้งแต่วันประกาศนี้เป็นต้นไป’
คำปรารภดังกล่าวมีผลให้กฎเกณฑ์และกติกาที่กำหนดหน้าที่ และอำนาจ บทบาทของบุคคลและสถาบันต่างๆในทางการเมืองตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ย่อมเป็นอันสิ้นสุดลงนับแต่วันที่ประกาศใช้บังคับรัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นต้นมา กฎเกณฑ์กติกาเกี่ยวกับที่มา วาร ะหน้าที่และอำนาจของบุคคลที่เป็นนายกรัฐมนตรีจึงต้องเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 บัญญัติไว้
และความว่าคณะรัฐมนตรีตามบทเฉพาะกาลเป็นคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 ซึ่งเป็นวันเริ่มใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 ดังนั้นแม้มาตรา 264 จะไม่ให้ยกเว้นกรณีตามมาตรา 170 วรรคสองที่บัญญัติให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเมื่อครบกำหนดตามมาตรา 158 วรรคสี่ก็ตาม วัดการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปีตามมาตรา 158 วรรค 4 เริ่มใช้บังคับตั้งแต่วันเริ่มใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 คือวันที่ 6 เมษายน 2560 เป็นต้นไป การที่มาตรา 264 ไม่ได้ยกเว้นกรณีตามมาตรา 170 วรรคสอง จึงหาได้มีผลต่อความสิ้นสุดความเป็นนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ตามคำร้องไม่
พลเอกประยุทธ์ รับสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25 ส.ค. 57 ที่กองบัญชาการกองทัพบก (ที่มาภาพ: ศูนย์สื่อทำเนียบรัฐบาล)
คำวินิจฉัยปี 50 กับ 64 เป็นเรื่องของพรรคการเมือง-ส.ส.
ขณะที่ข้อกล่าวอ้างว่าคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3-5/2550 และคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 24/2564 เห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำวินิจฉัยดังกล่าวเป็นกรณีเกี่ยวกับพรรคการเมืองกระทำการฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมืองอันเป็นเหตุให้ถูกยุบพรรคและเป็นผลให้กรรมการบริหารพรรคการเมืองถูกเพิกถอนสิทธิ์ทางการเมือง และเป็นกรณีลักษณะต้องห้ามของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) มันเป็นเหตุให้สมาชิกสภาพของ ส.ส. สิ้นสุดลง เป็นคนละกรณีกับข้อเท็จจริงในคดีนี้ที่เป็นกรณีเกี่ยวกับการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามระยะเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนด ซึ่งมีหลักการและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่ต่างกันไม่ใช่ประเด็นเรื่องการใช้กฎหมายย้อนหลังจึงไม่อาจนำมาเทียบเคียงกันได้ ข้ออ้างนี้จึงฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
ยื่นทรัพย์สิน-ตีความ 8 ปี คนละกฎหมาย คนละเจตนารมณ์
และการอ้างว่า พลเอกประยุทธ์และคู่สมรส ไม่เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเมื่อครั้งได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2562 ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้เหตุผลว่าไม่ใช่การยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินครั้งแรกตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2561 มาตรา 105 วรรคสาม (1) แต่เป็นการยื่นเพื่อเป็นหลักฐาน คงมีแต่บัญชีทรัพย์สินและหนี้สินที่เปิดเผยเฉพาะที่ยื่นไว้ในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2557 เท่านั้น จึงเท่ากับว่า พลเอกประยุทธ์ ดำรตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปีแล้วนั้น
เห็นว่า การยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2561 กับการกำหนดระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 158 วรรค 4 มีหลักการและเจตนารมณ์ที่ต่างกัน ไม่อาจนำความเห็นหรือดุลพินิจของหน่วยงานหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ซึ่งพิจารณาภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขของกฎหมายที่เกี่ยวข้องในเรื่องนั้นเป็นการเฉพาะ มาเป็นแนวทางในการพิจารณาเกี่ยวกับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 158 วรรคสี่ เช่นนี้ข้ออ้างดังกล่าวจึงฟังไม่ขึ้น
‘ประยุทธ์’ เป็นนายกฯตามม.158 วรรคสี่ เริ่มนับปี 62
ดังนั้น การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์จึงเป็นการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีภายใต้รัฐธรรมนูญนี้ต้องอยู่ภายใต้บังคับมาตรา 158 วรรคสี่ ทั้งนี้ การให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้เป็นคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญนี้ จะต้องถือเอาวันที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้เป็นวันเริ่มต้นเข้าตำแหน่ง พลเอกประยุทธ์จึงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามความในมาตรา 264 ของวัดธรรมนูญปี 2560 นับแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 และเมื่อนับรวมระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 158 เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2562 พลเอกประยุทธ์จึงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรียังไม่ครบกำหนดเวลาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 158 วรรค 4
ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์จึงไม่สิ้นสุดลงตามมาตรา 170 วรรคสองประกอบมาตรา 158 วรรค 4
อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้นจึงวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสอง ประกอบมาตรา 158 วรรคสี่
พลเอกประยุทธ์ พบประชาชนที่โรงงานกระดาษไทย ตำบลบ้านเหนือ อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อ 11 พ.ย.62 ภาพจากสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล