ดร.สุเมธ นำเสนอฉันทามติ 4 เรื่องจัดการขยะ ทั้งยกเครื่องโครงสร้างพื้นฐานรองรับการบริหารจัดการขยะ ผลักดันให้ภาคธุรกิจ ผลิตสินค้าที่เอื้อต่อการรีไซเคิล รณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจให้ประชาชน และบังคับใช้กฎหมายที่มีบทลงโทษที่มีอยู่อย่างจริงจัง
วันที่ 26 สิงหาคม เอสซีจี จัดงาน SD Symposium 10 Years : Circular Economy – Collaboration for Action ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ และบางกอกคอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ ชั้น 22 ช่วงท้ายของงาน ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล รองประธานกรรมการบริษัท เอสซีจี นำเสนอกลยุทธ์ Thailand Waste Management Way Forword ต่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่เดินทางมารับฟังด้วยตัวเอง
ดร.สุเมธ กล่าวถึงขยะ คือ ชีวิต ยิ่งพัฒนาเท่าไหร่ มนุษย์ก็ยิ่งต้องการความสะดวกในชีวิตสารพัด และไม่ว่ามนุษย์อยู่มุมไหนก็ดำเนินชีวิตไปในลักษณะแบบนี้ ขยะก็เกิดขึ้นมามากมาย โดยมีข้อมูลว่า คนตะวันตก มีขยะเพิ่มมากกว่าทวีปเอเชียถึง 4 เท่า จะเห็นว่า ยิ่งประเทศเจริญยิ่งใช้ทรัพยากรมาก สุดท้ายกลายเป็นขยะ
"มนุษย์บริโภคทุกอย่างตั้งแต่ของมองไม่เห็น ยันของจับต้องได้ โดยเราไม่รู้ตัวเราผลิตขยะออกมา วันนี้แม่น้ำหลายสายไม่สามารถใช้การได้ ป่าถูกทำลาย ดินพังทลาย ทุกมิติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงทนุถนอม ให้เหลือใช้ไปถึงคนรุ่นหน้า ซึ่งก็คือความยั่งยืนนั่นเอง ดิน น้ำ ลม ไฟ จากเคยใสสะอาด เรากำลังสูญสิ้นไปทีละอย่าง"รองประธานกรรมการบริษัท เอสซีจี กล่าว และว่า นี่คือช่วงจังหวะเวลาที่เราต้องตัดสินใจจะดำเนินการเรื่องนี้อย่างไร รวมถึง "ขยะ" ถ้าไม่เริ่มวันนี้ ต่อไปลูกหลานจะอยู่อย่างไร โลกภัยไข้เจ็บที่เกิดจากสภาพแวดล้อมมีมากมายก่ายกอง
ดร.สุเมธ กล่าวถึงฉันทามติ เรื่องการจัดการขยะ ที่ได้จากที่ประชุมนี้ มีอยู่ 4 ข้อ
1. ยกเครื่องโครงสร้างพื้นฐานรองรับการบริหารจัดการขยะและจัดสรรงบประมาณ โดยหน่วยงานภาครัฐเป็นผู้มีทบาทสนับสนุนให้การบริหารจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพ
ยกเครื่องโครงสร้างพื้นฐานรองรับการบริหารจัดการขยะและจัดสรรงบประมาณ เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการคัดแยกขยะแบบที่มีประสิทธิภาพและครบวงจร แบบญี่ปุ่น ไต้หวัน และประเทศแถบสแกนดิเนเวีย ตั้งแต่การจัดเก็บ คัดแยก และนำกลับไปใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด มาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ
โดยเฉพาะการจัดการขยะตามแหล่งชุมชนใกล้แหล่งน้ำ ทั้งแม่น้ำลำคลองและชายทะเล ซึ่งเป็นแหล่งที่ขยะถูกทิ้งลงน้ำ ภาครัฐต้องจัดดูแลให้มีถังขยะแห้ง/เปียกให้เพียงพอ เพิ่มการให้บริการจัดเก็บขยะให้เพียงพอ ลดการฝังกลบด้วยวิธีการต่างๆ รวมไปถึงการเปลี่ยนเป็นพลังงาน หากไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้อย่างเหมาะสม
2. ผลักดันให้ภาคธุรกิจ ผลิตสินค้าที่เอื้อต่อการรีไซเคิล และมีส่วนรับผิดชอบต่อการจัดการซากสินค้า เมื่อสิ้นอายุการใช้งาน โดยกำหนดมาตรฐานในการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ต้องคำนึงถึงขยะที่จะเกิดขึ้น หลังจากการใช้งาน ให้สามารถนำมาหมุนเวียน และเพิ่มมูลค่าของขยะ สร้างมาตรฐานอุตสาหกรรมให้มีส่วนผสมของรีไซเคิลในปริมาณที่เหมาะสม โดยกำหนดเป็นนโยบายการซื้อผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานในส่วนของทางราชการ และภาครัฐ
3. รณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจให้ประชาชน ลดการสร้างขยะ และเพิ่มการรีไซเคิล ประชาชนต้องมีความรู้และเข้าใจว่า ทำไมต้องลดการสร้างขยะ หมุนเวียน ใช้ซ้ำให้คุ้มค่าอย่างไร เศรษฐกิจหมุนเวียนช่วยโลกของเราอย่างไร ทุกภาคส่วนต้องช่วยรณรงค์เริ่มจากครอบครัว ส่งเสริมให้ลูกหลานใช้ทรัพยากรคุ้มค่า ลดการสร้างขยะ คัดแยกขยะ โรงเรียนบรรจุแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในทุกระดับชั้น ส่งเสริมการคัดแยกขยะให้ถูกต้องเป็มมาตรฐานเดียวกัน ภาครัฐ/เอกชน/สื่อมวลชน ประชาสัมพันธ์ การใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า การแยกขยะเปียก ขยะแห้ง รีไซเคิลได้ การไม่ทิ้งขยะลงแม่น้ำลำคลอง
4. บังคับใช้กฎหมายที่มีบทลงโทษที่มีอยู่อย่างจริงจัง บังคับใช้กฎหมายการทิ้งและจัดเก็บขยะ และส่งเสริมการจัดการขยะเปียกในครัวเรือนให้มีประสิทธิภาพ แยกเศษอาหารออกจากขยะทั่วไปด้วยการใช้ถุงขยะเปียก กำหนดการจัดเก็บขยะตามประเภท เพื่อให้มั่นใจว่า ขยะที่ถูกแยกแล้วไม่ได้ถูกนำไปรวมกันเหมือนอย่างที่ทุกคนเข้าใจ
ประเทศไทยมีกฎหมายห้ามทิ้งขยะลงแม่น้ำลำคลอง ลงแหล่งน้ำแต่ยังพบขยะลอยอยู่เป็นจำนวนมาก สุดท้ายไหลลงทะเล ภาครัฐต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด จับจริงลงโทษจริง
ที่สำคัญการบังคับใช้กฎหมายฉลากผลิตภัณฑ์ ให้ผู้ผลิตแจ้งข้อมูลการจัดการรีไซเคิลผลิตภัณฑ์หลังการใช้ บนฉลากผลิตภัณฑ์ เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องของการคัดแยก และสร้างความตระหนักว่า ขยะมีมูลค่า กำกับดูแลบ่อขยะใกล้แหล่งน้ำ ป้องกันไม่ให้ขยะรั่วไหลลงสิ่งแวดล้อม กลายเป็นขยะทะเล
จากนั้น พลเอกประยุทธ์ กล่าวแสดงความเห็นด้วยกับฉันทามติทั้ง 4 ข้อ พร้อมกับชี้ว่า วันนี้ต้องช่วยแก้ปัญหาร่วมกันทุกภาคส่วน โดยเฉพาะขยะไม่เพียงเกิดกับประเทศไทยเท่านั้น เกิดกับคนทั้งโลก การประชุมอาเซียน ก็ได้มีการพูดคุยถึงปัญหาขยะทะเลด้วย
สำหรับการจัดการปัญหาขยะ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ต้องช่วยกันตั้งแต่ต้นทาง ทุกภาคส่วน ประชาชนต้องช่วยกันขับเคลื่อนด้วย "ท่านต้องทำขยะให้น้อย แยกขยะ ส่วนการเก็บขยะ เทรวม ทิ้งรวม ต้องแยก ซึ่งได้มอบกระทรวงมหาดไทยไปแก้ปัญหาตรงนี้แล้ว "
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า ประเทศไทยต้องมีคลัสเตอร์ขยะ 30 แห่งทั่วประเทศ แต่ปัจจุบันพบปัญหาความขัดแย้ง ทุกคนไม่ชอบขยะ ต้องไม่มีรง.กำจัดขยะในพื้นที่ตัวเอง ซึ่งที่ผ่านมารัฐใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นล้านบาท เพื่อการจัดการขยะ แม้จะเก็บค่าขยะได้จำนวนหนึ่ง แต่ก็ยังไม่เพียงพอ ฉะนั้น ปัญหาขยะต้องแก้ที่ต้นทางตั้งแต่คนทิ้งขยะ
"ในกติกาการส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอ ที่รัฐบาลนี้ได้แก้ไขหลายข้อ หนึ่งในนั้นมีเรื่องของการลงทุนที่ต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม มีระบบการบริหารจัดการของเสียที่ทำได้จริง "
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage
แก้ขยะต้นทาง! เอสซีจีเผยจับมือ 45 พันธมิตร ใช้โมเดลธุรกิจตามแนวคิดศก.หมุนเวียน