หมดสัญญาเช่า กรมศิลปากร ส่งหนังสือเตือนวังช้างแลเพนียด ขนย้ายทรัพย์สินออกจากพื้นที่ภายใน 30 วัน ผู้ว่าฯ อยุธยา ชี้ต้องมองแยกกัน เรื่องมรดกโลก -เพนียดคล้องช้าง และการจัดระเบียบ
จากกรณีมีหนังสือจากกรมศิลปากร ลงนามโดยนายอรุณศักดิ์ กิ่งมณี รองอธิบดีกรมศิลปากร ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมศิลปากร ถึงนายลายทองเหรียญ มีพันธุ์ เจ้าของวังช้างแลเพนียด ลงวันที่ 5 มิถุนายน 2562 เรื่อง สัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการให้บริการช้างแก่นักท่องเที่ยวในพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา โดยให้ขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากพื้นที่ที่ได้รับอนุญาต รวมทั้ง ต้องซ่อมแซมพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในภาพเรียบร้อยภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ ซึ่งเป็นไปตามสัญญาที่อ้างถึง สำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา ได้อนุญาตให้นายลายทองเหรียญฯ ดำเนินกิจการให้บริการช้างแก่นักท่องเที่ยวในพื้นที่ดังกล่าว มีกำหนดระยะเวลา 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2561 ถึงวันที่ 9 มกราคม 2562
ทั้งนี้ ข้อกำหนดระบุว่าจะต้องต่อสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการปีต่อปี และผู้รับอนุญาตชำระค่าตอบแทนเป็นรายเดือนในอัตราเดือนละ 10,000 บาท
ล่าสุด สัญญาได้หมดลงแล้ว ตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม 2562 แต่พบว่า นายลายทองเหรียญ มีพันธุ์ เจ้าของวังช้างแลเพนียด ยังไม่ดำเนินการตามสัญญาที่กำหนด ซึ่งกรมศิลปากรจะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
ซึ่งประเด็นดังกล่าว นายสุจินต์ ไชยชุมศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยถึงกรณีกรมศิลปากรขอให้วังช้างอยุธยาแลเพนียดย้ายออกจากพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์หลังหมดสัญญาเช่า กับสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ว่า เนื่องจากสำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยามีความจำเป็นต้องปรับภูมิทัศน์และปรับปรุงมรดกโลกให้สง่างาม ซึ่งเป็นแผนของกรมศิลปากรที่จัดทำไว้เป็นเวลานานแล้ว และเป็นการจัดระเบียบเหมือนกับร้านค้าหลังวิหารพระมงคลบพิตร ดังนั้น คงต้องเป็นเรื่องของกรมศิลปากรที่ต้องดำเนินการไปตามหน้าที่ อีกทั้ง วังช้างอยุธยาแลเพนียดก็ต้องรับทราบและดำเนินการตามที่สัญญาระบุไว้
"กรมศิลปากรมีหน้าที่อนุรักษ์โบราณสถาน มีหน้าที่จัดระเบียบ ขณะที่ วังช้างฯ ก็ต้องทำหน้าที่ดูแลพื้นที่ให้มีความสง่างามควบคู่กันไป เพราะถือว่าช้างเป็นสัญลักษณ์จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อย่างไรก็ตาม คิดว่าทั้งสองฝ่ายจะต้องเจรจาหารือและเป็นไปอย่างเหมาะสม"
ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวด้วยว่า สถานที่แห่งนี้เป็นมรดกของประเทศ เป็นมรดกของทุกคน ส่วนความมีเสน่ห์ของช้างนั้น คิดว่ายังมีความจำเป็น แต่ส่วนเรื่องของการจัดที่อยู่นั้นก็เป็นคนละส่วนกัน คงต้องมองแยกกัน ในเรื่องของมรดกโลกนั้นเราก็อยากจะรักษา เหมือนกับที่เราออกมาเสนอความเห็นในเรื่องของเพนียดคล้องช้าง ที่อยากจะเห็นความสง่างาม เพราะฉะนั้น การจัดระเบียบหรืออะไรต่างๆ เป็นสิ่งที่ควบคู่กันไป
สำหรับ มูลนิธิพระคชบาล มีนายลายทองเหรียญ มีพันธุ์ เป็นประธานมูลนิธิฯ มีที่ตั้งสำนักงานอยู่ที่โรงเรียนตำหนักเพนียด หมู่ 1 ตำบลสวนพริก อำเภอพระนครศรีอยุธยา มีวัตถุประสงค์ช่วยเหลือและอนุรักษ์ช้างไทย ส่งเสริมทุนการศึกษาแก่เด็กนักเรียน นักศึกษาที่เรียนดี แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ส่งเสริมงานวัฒนธรรม ทางด้านการเลี้ยงช้าง ซึ่งผลงานที่ผ่านมา ตราตรึงใจขบวน “คชสารงางามแสดงความอาลัย” ช้างพลาย 11 เชือก และ คชสาร 11 เชือก แต่งคชาภรณ์ เดินเทิดพระเกียรติ กราบถวายบังคม ในหลวง ร.10 เป็นต้น
ทั้งนี้สำนักข่าวอิศรา ตรวจค้นจากระบบ GIS ข้อมูลที่ราชพัสดุ ของกรมธนารักษ์ พบว่า นาย ลายทองเหรียญ มีพันธ์ มีชื่อเป็นผู้เช่าที่ราชพัสดุ บริเวณหมู่บ้านช้างเพนียดหลวง ทะเบียนรายตัวผู้เช่า :4-011401-001-082 ตำบล/แขวง :สวนพริก อำเภอ/เขต :พระนครศรีฯ จังหวัด :พระนครศรีอยุธยา เส้นรุ้ง (ละติจูด) :14.3786478042603 เส้นแวง (ลองติจูด) :100.56941986084 UTM :E:669220 N:1590179 Zone:47
อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวอิศรา ยังได้ติดต่อไปยัง นายอิทธิพันธ์ ขาวละมัย เลขาฯ นายลายทองเหรียญ โดยระบุถึงเรื่องดังกล่าวว่า ยังไม่มีความคืบหน้า ไม่มีการเจรจาใดๆ นอกจากได้รับจดหมายไล่ที่ แต่มีการจ่ายค่าเช่าล่วงหน้าไปถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2563 แต่สัญญาเป็นการต่อแบบปีต่อปี ตอนนี้กำลังให้ทนายดูเรื่องอยู่ แล้วจะยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง
"ระยะเวลา 30 วันที่ให้มา ย้ายไม่ได้ทัน เพราะช้างไม่ใช่แมวที่จะย้ายได้ทันที อยู่มา 22 ปีไม่มีปัญหาอะไร แต่ที่เกิดเรื่องขึ้นอาจจะเป็นเพราะชาวบ้านคัดค้านเรื่องเสาตะลุง เลยทำให้กรมศิลปากรออกมาไล่วังช้างด้วย" นายอิทธิพันธ์ กล่าว และว่า ปัจจุบันหมู่บ้านช้างเพนียดหลวงมีช้างประมาณ 60 เชือกและช้างสมาชิกอีก 50 เชือก
ส่วนนางศาริสา จินดาวงษ์ ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา ระบุเพียงสั้นๆ ว่า มีนโยบายจากทางกรมศิลปากรไม่ให้สำนักศิลปากรที่3 ให้สัมภาษณ์ พร้อมขอให้ไปสอบถามเรื่องนี้กับอธิบดีกรมศิลปากร