ศ.กิตติคุณนพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะที่ปรึกษาฯ คาดโควิดอยู่ยาว 1 ปีครึ่ง เหตุยังไม่มียา วัคซีนรักษา เล็งอีก 3 เดือนส่งคำตอบเล็ก เป็นข้อเสนอถึงรัฐบาล เชื่อโรคระบาดหมดไปแล้ว ไทยจะไม่กลับไปเป็นแบบเดิม
วันที่ 8 พฤษภาคม 2563 ณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ศาสตราจารย์กิตติคุณนายแพทย์จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะที่ปรึกษาฯ แถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะที่ปรึกษาด้านผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมในศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ครั้งที่ 2/2563 ว่า ขณะนี้ประเทศไทยเข้าสู่ระยะผ่อนปรน ซึ่งจะมีความเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดของโรคเกิดขึ้นอีก เป็นรอบที่ 2 ฉะนั้น การ์ดไม่ตก ไม่เฉพาะใช้การกำกับ ควบคุม จากภาครัฐเท่านั้น จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากสังคม ประชาชน ที่ต้องช่วยกันด้วย
"ความแตกต่างและหลากหลาย ภูมิสังคมที่ไม่เหมือนกัน ฉะนั้นการแก้ปัญหาด้านสุขภาพ การเจ็บป่วย กับปัญหาเศรษฐกิจ สังคม ก็ละเลยไม่ได้ จำเป็นต้องให้พอเหมาะพอดี ขณะเดียวสภาพดังกล่าวก็มีความไม่แน่นอนอยู่ด้วย จึงต้องเฝ้าระวังการควบคุมโรค พฤติกรรมการใส่หน้ากาก ล้างมือ ประชาชนยังจำเป็นต้องทำอยู่ แต่ส่วนที่ยากสุดคือระยะห่างของผู้คน โดยเฉพาะที่ชุมชนที่คนอยู่จำนวนมาก อาจทำให้เกิดการระบาดของโรคได้ง่าย ดังนั้นความเข้มข้นมาตรการนี้จึงเป็นส่วนสำคัญ"
ประธานคณะที่ปรึกษาฯ กล่าวอีกว่า เมื่อรัฐมีมาตรการผ่อนปรนแล้ว อาจมีคนที่แพร่โรคไปยังบุคคลอื่นจำนวนมาก (Super Spreader ) ได้ ซึ่งมีตัวอย่างเกิดขึ้นที่ประเทศสิงคโปร์ หากคุมไม่ได้จนเกินกำลังของระบบบริการ ก็จะเกิดปรากฎการณ์แบบที่อิตาลี ยุโรป สหรัฐฯ ที่มีอัตราการเสียชีวิตสูง เพราะระบบบริการรองรับไม่ได้
ศาสตราจารย์กิตติคุณนพ.จรัส ยกกรณีการเปิดโรงเรียน ให้เด็กใช้มาตรการดูแลตัวเอง อาจทำได้ระดับหนึ่ง แต่หากมีการติดเชื้อ เมื่อกลับบ้านก็จะไปแพร่เชื้อให้กับคนที่บ้าน ซึ่งมีความเสี่ยงสูง นี่จะเป็นปัญหา จำเป็นต้องมีมาตรการออกมาก่อน
"ไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ใช้มาตรการได้ผลดีกว่าประเทศอื่น แต่การปิด การหยุดก็กระทบต่อระบบเศรษฐกิจ ฉะนั้นทางสายกลาง คือ พอดีโรคไม่ทำร้ายเรา ขณะเดียวกันส่วนอื่นๆก็อยู่ได้ โรคโควิดไม่หยุดง่ายๆ เพราะวันนี้ไม่มียารักษาโดยตรง ขณะที่วัคซีน แม้จะมีการศึกษา 70-80 โครงการทั่วโลก บางแห่งเริ่มได้ผล และเข้าสู่ระดับการทดลองในคน แต่ทั้งหมดต้องใช้ระยะเวลา เร็วสุดไม่เร็วกว่า 1 ปี หรือมิถุนายน 2564 และอาจยาวไปถึงปลายปี 2564 (1ปีครึ่ง) ฉะนั้นเราต้องผจญกับโควิดถึงปลายปี 2564"
ประธานคณะที่ปรึกษาฯ กล่าวถึงมาตรการที่เราต้องใช้ คือ ใช้มาตรการขณะที่มีโรคระบาดอยู่จะทำอย่างไรให้สภาพเศรษฐกิจไม่หยุดชะงัก และหลังจากนี้ต้องทำอะไรบ้าง โรงเรียน มหาวิทยาลัย โรงพยาบาล คลินิกทันตกรรม ถูกปิด บริการเหล่านี้จำเป็นต้องเปิดให้บริการ มิเช่นนั้นโรคธรรมดาๆ หาที่รักษาไม่ได้ เพราะเรามัวเอาพลังทั้งหมดมาใช้กับการดูแลโรคระบาดโควิด จึงจำเป็นต้องนำของเหล่านั้นกลับขึ้นมาด้วย
"คณะที่ปรึกษาฯ พยายามดูว่า คำตอบที่เกิดขึ้น โรคระบาดโควิดไปแล้วประเทศไทยจะเป็นอย่างไร New Normal ไทยคงไม่กลับไปเป็นแบบปี 2561 ปี 2562 แล้ว อีก 1 ปีครึ่งข้างหน้าต้องทำอย่างไร จะแบ่งเป็นคำตอบเล็ก คำตอบใหญ่ และคณะที่ปรึกษาฯ น่าจะมีข้อเสนอแนะไปถึงรัฐบาลภายใน 3 เดือนข้างหน้าเพื่อให้ใช้ประโยชน์ได้ทัน"
ที่มาภาพ:http://bodyandsoul.md.chula.ac.th/th/news/detail/3077