นักวิชาการ จุฬาฯ ให้คะแนนภาพรวมการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย เดินถูกทาง ย้ำชัดสิ่งที่ต้องทำต่อ คือเรื่องสิทธิ มากกว่าการสงเคราะห์ และไม่ลืมเรื่องความยั่งยืนของท้องทะเล
ผศ. ดร. นฤมล ทับจุมพล อาจารย์ศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย สถาบันเอเชียศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา ในประเด็น ภาพรวมการแก้ไขปัญหา IUU (Illegal Unreported and Unregulated Fishing) ของรัฐบาลประยุทธ์ 1 และแนวทางการดำเนินการของรัฐบาลประยุทธ์ 2 ที่ต้องทำเรื่องอะไร
ผศ. ดร. นฤมล กล่าวว่า ในช่วงที่รัฐบาลที่ผ่านมา มีการทำประมงผิดกฎหมาย การขาดรายงานการควบคุม ซึ่งถ้าดูสิ่งที่รัฐบาลชุดที่แล้วทำ ก็เห็นได้ความพยายามในการแก้ไขปัญหาหลายเรื่อง อาทิเช่น มีการแก้กฎหมาย มีการตรวจสอบเอกสารลูกเรือ มีการให้เปิดบัญชีธนาคาร รัฐบาลแก้กฎหมายหลายฉบับมาก ตัวอย่างเช่น กฎหมายประมง กฎหมายค้ามนุษย์ กฎหมายที่เกี่ยวกับเรื่องของการคุ้มครองแรงงาน ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ควรชื่นชมและควรจะต้องให้กำลังใจว่า ได้ทำมาถูกทางแล้ว แม้จะถูกตั้งคำถามหรือท้าทาย
เมื่อถามว่า การแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย สิ่งที่ทำแล้ว มีอะไรบ้างที่ต้องทำต่อยอดอีกบ้าง ผศ.ดร.นฤมล กล่าวโดยยกตัวอย่าง หากเรายังมองปัญหาของลูกเรือที่เป็นแรงงานข้ามชาติ เป็นแรงงานประมงในลักษณะที่มองว่า เขาไม่ใช่คนไทย จึงเป็นสงเคราะห์มากกว่าสิทธิ
“สิ่งที่ต้องเปลี่ยนหรือคิดก็อย่างเช่น สิทธิในการรวมตัว เรื่องของกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ว่าด้วยสหภาพแรงงานควรจะต้องแก้แล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ใช่เพราะ IUU แต่เพราะว่า ในอนาคตในประเทศไทยจะเป็นศูนย์รวมของภูมิภาค ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีแรงงานที่ไม่ใช่เชื้อชาติไทยสัญชาติไทย ถ้าหากยังไม่ให้โอกาสแรงงานข้ามชาติในการที่จะมีการรวมตัว ก็เป็นเรื่องยากที่จะอยู่ได้ในกระแสโลก ดังนั้นคิดว่าประเทศไทยควรจะต้องทำ ถึงแม้ว่าจะต้องพูดถึงว่ากระบวนการต่างๆว่า จะมีผู้มีส่วนได้เสียที่จะมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่ไม่คิดว่าสิ่งนั้นต้องทำ พูดง่ายก็คือไปให้ไกลจากกว่า แนวคิดของรัฐชาตินำเข้าแรงงานต่างด้าว ส่งออกแรงงานไทยไปต่างประเทศ หรือที่เรียกว่ารัฐไทยเองก็ต้องเปลี่ยนวิธีคิด”
นักวิชาการจากสถาบันเอเชียศึกษาฯ กล่าวอีกว่า ช่วงที่มีการประชุมของ ASEAN ministers Meeting ถ้าคิดในนามของภูมิภาคอาเซียน ถือว่า เป็นโจทย์ใหญ่ที่เราควรจะต้องทำ ในแง่ของการให้สิทธิในการรวมตัวที่ไม่จำกัดเชื้อชาติสัญชาติ และในแง่ของมาตรฐานในระดับนานาชาติ ซึ่งก็ควรจะมีอันที่สองนั้น คิดว่า ขณะนี้เราพูดกันแต่เฉพาะเรื่องรายงานสิทธิแรงงานโจทย์ของ IUU เป็นเรื่องความยั่งยืนของท้องทะเล ดังนั้นเราคงจะต้องคุยหารือว่า นอกเหนือจากเรื่องของสิทธิแรงงานแล้ว จะต้องพูดถึงสิ่งแวดล้อม พูดถึงความยั่งยืนของท้องทะเล ก็คือลักษณะของการจับปลา จับปลาอย่างไรที่ไม่ทำให้ทะเลมีปัญหาผลกระทบมาก หรือการสูญพันธุ์ปลา ซึ่งปัจจุบันนี้เราไม่ได้ให้น้ำหนัก เราให้น้ำหนัก IUU เฉพาะในเรื่องของสิทธิของผู้ของลูกเรือในเรือเท่านั้น
ช่วงท้าย ผศ.ดร. นฤมล กล่าวด้วยว่า โจทย์ถัดไปเวลาที่พูดถึงปรัชญาเบื้องหลัง IUU ก็คือเรื่องของความยั่งยืนด้านความยั่งยืนของอุตสาหกรรมประมง ดังนั้นจะต้องมีการคุย ตัวอย่างที่เห็นชัดเจน คือ บางบริษัทที่มีเงื่อนไข จะเลือกที่จะรับปลาจากประเทศที่มีแหล่งผลิต ที่มีต้นทางชัดเจนว่าไม่ทำลายปลาหรือไม่มีการค้ามนุษย์ เป็นการจับปลาที่แบบยั่งยืน ไม่ได้มีลักษณะการจับปลาแบบล้างผลาญ ซึ่งโจทย์นี้เป็นโจทย์ถัดไปที่ประเทศไทยจะต้องคิดและหาทางออกต่อไป