เราเห็นมาตรการเฉพาะหน้า ส่วนมาตรการระยะกลาง ระยะยาว ขณะที่รัฐแถลงความสำเร็จเรื่องจำนวนคนติดเชื้อโควิด-19 ลดลง สาธารณสุขบอกการ์ดอย่าตก เราเข้าใจ แต่ฝั่งสังคม เศรษฐกิจ สามารถมีอะไรหรือไม่ ภายใต้ภาวะการ์ดไม่ตก เราจะสามารถจัดการให้ชาวบ้านพร้อมลืมตาอ้าปากได้หรือไม่ ช่วงการจัดการปัญหาเฉพาะหน้า
“รัฐบาลรู้อยู่แล้วว่า จำนวนแรงงานนอกระบบในประเทศไทยมีมากกว่าแรงงานในระบบ รัฐบาลไม่ได้มีแค่กระทรวงที่ควบคุมโรค ซึ่งทำงานหนักมากเวลานี้ แต่ทำไมกระทรวงที่จะเข้ามาดูแลเรื่องชีวิต แรงงาน ความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงเหล่านี้ช่วงเวลา 2 เดือนที่ผ่านมา ตั้งแต่เกิดสถานการณ์โรคระบาดติดเชื้อโควิด -19 ถึงยังไม่พัฒนาความเข้าใจบทบาทหน้าที่ของตัวเอง ต้องทำอะไรบ้าง”
ศ.สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์สันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้มุมมองไว้ในเวทีเสวนาวิชาการสาธารณะ "งาน ชีวิต และโรคระบาด: แรงงานนอกระบบในสถานการณ์โรคโควิด -19" จัดโดยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับภาคีเครือข่าย
ศ.สุริชัย ชี้ว่า ช่วงวิกฤติโควิดมีกระทรวงที่ทำงานหนักมาก กับกระทรวงที่รอนายกฯ คอยสั่งการเมื่อไหร่ หากยังเป็นแบบนี้บ้านเมืองก็จะลำบาก ความเฉื่อยของระบบราชการ ที่ไม่ถูกสั่งการจากข้างบน
“เราพูดกันมากเรื่องควบคุมโรคนี้ได้สำเร็จ แต่ชีวิตความเป็นอยู่ของคน ไม่มีอะไรมากไปกว่าคำว่า เยียวยา ขณะที่ช่องทางทำมาหากินของคนตัวเล็กตัวน้อยอยากให้รัฐบาลช่วยมองด้วย เราคุยเรื่องเชื้อโรคเยอะ มีความสำเร็จมาก แต่ชีวิตผู้คนไม่มีใครมาเป็นธุระเท่าที่ควร"
ขณะที่รศ.ดร.นฤมล นิราทร คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองถึงปัญหาของแรงงานนอกระบบ คือ การไม่มีงาน ไม่มีเงิน ทุนก็มีไม่เท่าแรงงานในระบบ การที่รัฐไม่ทำความเข้าใจในสัมมาชีพ มองไม่เห็นแรงงานนอกระบบ ไม่เข้าใจตัวตน เพราะไม่มีระบบฐานข้อมูลกลุ่มนี้อยู่ที่ไหน
รศ.ดร.นฤมล ยกตัวอย่าง มอเตอร์ไซด์รับจ้าง ถือเป็นแรงงานที่มีฐานข้อมูลชัดเจนที่สุด มากกว่ากลุ่มแรงงานรับงานไปทำที่บ้าน ส่วนความเสี่ยงของแต่ละอาชีพก็ไม่เหมือนกันอีก โรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สิ่งที่เราต้องยอมรับ คือ เป็นประเด็นทางการพัฒนา ไม่ได้มีเพียงประเด็นด้านสาธารณสุขอย่างเดียว
“เราเห็นมาตรการเฉพาะหน้า ส่วนมาตรการระยะกลาง ระยะยาว ขณะที่รัฐแถลงความสำเร็จเรื่องจำนวนคนติดเชื้อลดลง สาธารณสุขบอกการ์ดอย่าตก เราเข้าใจ แต่ฝั่งสังคม เศรษฐกิจ สามารถมีอะไรหรือไม่ ภายใต้ภาวะการ์ดไม่ตกเราจะสามารถจัดการให้ชาวบ้านพร้อมลืมตาอ้าปากได้หรือไม่ ช่วงการจัดการปัญหาเฉพาะหน้า และเป็นไปได้ไหม อยากเห็นภาพมีการพูดถึงอย่างเป็นเรื่องเป็นราว สถานการณ์ชาวบ้านที่เผชิญกับภาวะตรงนี้ ที่ไม่ใช่การแจกเงิน หรือแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เพราะเมื่อถึงเวลาสถานการณ์คลี่คลาย จะไม่คลี่คลายแบบโครมเดียว ต้องการการซักซ้อม และการเตรียมการพอสมควร”
ภาวะเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข
รศ.ดร.นฤมล มองอีกว่า มาตรการของรัฐบาลในการเยียวยากลุ่มแรงงานในระบบ และ SMEs จากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ไปออกที่ภาคธุรกิจ เรื่องของเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ แต่ “แรงงานนอกระบบ” ถามว่า จะทำอย่างไรการช่วยเหลือแรงงาน 2 กลุ่มจะไม่ขัดแย้งจนเกินไป ได้รับประโยชน์ไม่แตกต่างกันมากนักจากมาตรการการให้ความช่วยเหลือจากภาครัฐ
พร้อมกันนี้ อาจารย์มธ. ยังเชื่อว่า ในวิกฤติมีโอกาส เป็นเวลาที่กระทรวงแรงงาน ต้องเริ่มคิดภาวะมองอย่างเปลี่ยนผ่าน ความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้าง ปัญหาปากท้องจากวิกฤติโควิดนี้ ไม่ใช่เรื่องของการจัดการไม่ได้ ขึ้นอยู่กับว่าจะจัดการจริงๆ หรือไม่ รัฐไม่พยายามมองภายใต้ภาวะที่เป็นอยู่ เช่น การค้าขาย แผงลอย ต้องการการจัดการพื้นที่ โซนปลอดภัย ร่วมทำงานกัน เพื่อให้เกิดภาวะเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข
“เมื่อมีการเปิดเมือง จากวิกฤติโควิดแล้ว จะมีคนเข้าสู่แรงงานนอกระบบมากขึ้น” รศ.ดร.นฤมล วิเคราะห์
พร้อมกับตั้งคำถามด้วยว่า รัฐเตรียมรับมือกันอย่างไร บุคคลเหล่านี้จำนวนหนึ่งมีความรู้ความสามารถ กระทรวงแรงงาน ได้เตรียมคิดเรื่องนี้ไว้หรือไม่อย่างไร ฝั่งสาธารณสุขพูดถึงการ์ดอย่าตก เพื่อไม่ให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันฝั่งสังคม ทำอย่างไรให้คนพอลืมปากอ้าปากได้บ้างไหม
เสียงสะท้อนของแรงงานนอกระบบ
เสียงสะท้อนของแรงงานนอกระบบที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงบทเรียนการเผชิญหน้ากับปัญหา และการปรับตัวของแรงงานนอกระบบจากสถานการณ์สถานการณ์โรคโควิด-19
นายมานพ แก้วผกา นายกสมาคมเครือข่ายแรงงานนอกระบบ (ประเทศไทย) ซึ่งมีสมาชิกในกลุ่ม 30 คน และนอกกลุ่มอีกประมาณ 100 คน ถ่ายทอดผลกระทบจากโรคโควิด-19 ว่า กลุ่มซึ่งรับงานเย็บผ้า เริ่มได้รับผลกระทบตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ที่ไม่มีคำสั่งซื้อ
“พอมาช่วงรัฐประกาศปิดห้างสรรพค้า ร้านค้า ตลาดต่างๆ ก็แทบไม่มีออเดอร์เข้ามาเลย จนสมาชิกเริ่มมีปัญหาความเครียดจากการไม่มีงานทำ ไม่มีรายได้ ขณะที่ค่าใช้จ่ายภาระยังคงเหมือนเดิม และวันนี้บางคนเรื่องอาหารการกินเริ่มมีปัญหากันบ้างแล้ว” นายกสมาคมเครือข่ายแรงงานนอกระบบฯ บอก และว่า รายได้ของกลุ่มหายไปไม่ต่ำกว่า 80-100% ส่วนมาตรการเยียวยาจากภาครัฐ สมาชิกบางคนก็พึ่งพาเงินเยียวยา 5 พันบาทจากรัฐ ขณะที่บางคนก็ไม่ได้รับเงินเยียวยาเลย
อุตสาหกรรมสิ่งทอ ที่ไม่รู้จะฟื้นเมื่อไหร่ และตอนไหน เขาเชื่อว่า เมื่อคนไม่มีเงิน คงไม่ซื้อเสื้อผ้าใหม่ ดังนั้น ปัจจุบันนี้ สมาชิกในกลุ่ม ก็เริ่มปรับตัวหารายได้เสริมกันบ้างแล้ว เช่น การปลูกผัก เพื่อแบ่งเบาภาระ การเข้าถึงอาหาร
“เราเครียดเรื่องค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเช่าบ้าน หากรัฐไม่กำหนด ประกาศเคอร์ฟิว ถึงตอนไหน ความไม่ชัดเจน และการไม่รู้ล่วงหน้า ทำให้เราไม่รู้ว่า สถานการณ์เมื่อไหร่จะจบ”
ด้านนางมาลี สอบเหล็ก ประธานเครือข่ายลูกจ้างทำงานบ้านในประเทศไทย ซึ่งมีทั้งลูกจ้างที่อยู่ที่บ้านนายจ้าง และทำงานไปกลับ ผลกระทบของลูกจ้างทำงานที่บ้านนายจ้าง วันนี้ก็ใช้ชีวิตยากลำบาก แม้นายจ้างยังจ้างงานต่อ แต่แทบไม่ให้ลูกจ้างออกไปไหนเลย จากเคยมีเวลาส่วนตัว เสาร์-อาทิตย์ มีพื้นที่ส่วนตัว วันนี้แทบไม่มีเลย ต้องอยู่กับนายจ้างตลอด 24 ชั่วโมง
“การทำกับข้าว ออกไปหาอาหารก็ยากลำบาก ระยะเวลาการทำงานยาวนานมากขึ้น นายจ้างได้รับผลกระทบ ทำให้ต้องทำงานที่บ้าน ทุกคนใช้ชีวิตอยู่บ้านหมดเลย ฉะนั้นลูกจ้างที่อยู่กับนายจ้างก็ทำงานเต็มเวลา 24 ชั่วโมง ดีหน่อยบางคนก็ไม่ได้ใช้ตลอดเวลา ยังให้พักบ้าง”
ส่วนคนทำงานบ้านแบบเช้าไปเย็นกลับ นางมาลี บอกว่า บางคนมีการให้หยุดงานแล้ว ยิ่งเมื่อกลับไปต่างจังหวัดก็โดนกักตัว 14 ตัว ใช้ชีวิตยากลำบาก บ้างก็ให้หยุดงานจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย บางคนแม้นายจ้างยังจ้างงานต่อ แต่ก็ลดวันทำงานลง ทำให้รายได้ไม่เหมือนเดิม
การที่กลุ่มคนทำงานที่บ้านส่วนใหญ่ เป็นแรงงานอิสระ เธอบอกว่า มาตรการเยียวยารัฐ 5 พันบาท น้อยคนที่จะได้ และไม่ได้ตอบโจทย์ลูกจ้างทำงานบ้านเลย เพราะลูกจ้างทำงานที่บ้าน ส่วนใหญ่ เป็นแรงงานย้ายถิ่น มีพื้นเพต่างจังหวัดขึ้นทะเบียนเป็นเกษตรกร ฉะนั้น จะไม่ได้รับเงินเยียวยาตรงนี้ ยิ่งบางคนห่างไกลเทคโนโลยี การให้ลงทะเบียนออนไลน์ ยิ่งลำบาก
“กลุ่มเราได้รับการเยียวยาจากรัฐค่อนข้างน้อย ตอนนี้อยากให้ขึ้นทะเบียนลูกจ้างทำงานบ้าน เพราะรัฐมองว่า เราไม่ใช่แรงงาน ทั้งๆที่เรามีนายจ้างชัดเจน เวลามีมาตรการแบบนี้ เราจึงไม่ได้รับการเยียวยา”
ประธานเครือข่ายลูกจ้างทำงานบ้าน บอกด้วยว่า ลูกจ้างทำงานที่บ้าน ไม่ใช่มีแต่คนไทย ยังมีแรงงานข้ามชาติที่ถูกเลิกจ้าง และยังกลับบ้านไม่ได้อีกจำนวนมากด้วย
“หากโควิดยืดเยื้อต่อไป เชื่อว่า นายจ้างอาจลดวันทำงานลงอีก”
ไม่ต่างจาก นายเฉลิม ช่างทองมะดัน นายกสมาคมจักรยานยนต์รับจ้างแห่งประเทศไทย เล่าว่า ผลกระทบจากสถานการณ์โรคระบาดนี้ ก่อนเคยวิ่งรถได้เต็มที่ 500 บาท วันนี้ รายได้ลดน้อยลงไปมาก ไหนยังต้องออกมาเสี่ยงติดเชื้อโรคอีก
แม้เขาจะป้องกันด้วยการใส่หน้ากากอนามัยและพกเจลแอลกอฮอล์ตลอดเวลา แต่ต้นทุนหาซื้อเจลใช้ไม่ต่ำ 2 หลอดต่อเดือน การหาซื้อก็ยาก อาหารการกินก็หายาก เขาบอกว่า ดีหน่อยวันนี้มีผู้ใจบุญมาแจกอาหาร
อาชีพจักรยานยนต์รับจ้างฯ ก็ไม่ต่างจากแรงงานนอกระบบอาชีพอื่นๆ ที่เริ่มมีสมาชิกบางคนโดนยึดรถไปแล้ว เพราะไม่มีเงินจ่าย ทั้งภาระด้านค่าห้องพัก ห้องเช่า ขณะที่เงินที่รัฐบาลเยียวยา 5 พันบาท มีส่วนน้อยที่ได้
“ผลกระทบต่อครอบครัว เราออกมาวิ่งรถก็เสี่ยงทุกวัน กลับบ้านเงินที่วิ่งรถก็ต้องซื้อกับข้าว เรียกว่า หาวันใช้วัน ไม่เหลือเก็บแม้แต่บาทเดียว” นายเฉลิม สะท้อนปัญหาที่ไม่รู้เขาและเพื่อนๆ สมาชิกจะต้องเจออีกนานเท่าไหร่ ยิ่งคนมีอายุวิ่งวินฯ และใช้เทคโนโลยีไม่เป็น ก็จะขาดรายได้มากกว่าคนที่อายุยังน้อย ที่ใช้เครื่องมือเป็น
สำหรับกลุ่มคนจนเมืองที่ลุกมาต่อสู้เรื่องที่ดิน ที่อยู่อาศัย ในสถานการณ์โรคระบาดนี้ นางสาวนุชนารถ แท่นทอง ที่ปรึกษาเครือข่ายสลัม 4 ภาค ชี้ว่า คนในชุมนแออัด มีหลากหลายอาชีพได้รับผลกระทบมาก ช่วงแรกของนโยบายรัฐบอก “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ต่อมามีการกักตุนสินค้า ถามว่า คนจนเมืองจะเอาเงินที่ไหนไปซื้อของกักตุน
“เราไม่มีเงินไปซื้อของเตรียมอยู่บ้าน ขณะที่หน้ากาก เจลช่วงแรกหากยากมาก และราคาแพงขึ้น หรือแม้แต่มาตรการเว้นระยะห่างก็ทำไม่ได้ บ้านหลังหนึ่งอยู่กันกี่คน ไหนจะค้าขายไม่ได้ คนทำงานถูกสั่งให้หยุดงาน หรือลูกจ้างรายวันในสถานบันเทิง ถูกให้หยุดงาน ไม่มีเงินแม้จะซื้อข้าวกิน”
เครือข่ายสลัมฯ แม้จะมีหน่วยงาน ภาคเอกชน จิตอาสา ลงพื้นที่มาบริจาคอาหาร เครื่องยังชีพ แต่เธอบอกว่า ไม่ได้ทั่วถึงทุกหลัง หากเป็นอาหารสด เราจะตั้งครัวกลางในชุมชน ของที่มาบริจาคชาวบ้าน ทุ่นจ่ายค่าอุปโภคบริโภคของชาวบ้านได้มาก
“โควิดอยู่กับเราอีกนานเท่าไหร่ไม่รู้ หรืออาจเปลี่ยนวิถีชีวิตเราไปเลยก็ได้ สถานประกอบการ งานบริการไม่มีทีท่าจะเปิด วันนี้เรานำคนที่มีฝีมือทำอาหาร ขายภายในสมาชิกเราก่อน เช่น กลุ่มทำน้ำพริก กำไรนิดหน่อยก็แบ่งรายได้กันไป”
เธอบอกว่า แม้เครือข่ายสลัมฯ ถือว่า จนที่สุดแล้ว ก็ยังมีกลุ่มคนไร้บ้านเดือดร้อนกว่ากลุ่มเราอีก
เมื่อถามถึงมาตรการเยียวยาภาครัฐ บางคนลงเรียนกศน. เพื่อพัฒนาตัวเอง อย่าง ประธานเครือข่ายสลัมฯ แต่ระบบระบุให้เป็นนักศึกษา ไม่ได้รับเงินเยียวยา 5 พันบาท บางคนถูกตัดสิทธิ์ เพราะเป็นเกษตรกร ก็มี
“มาตรการเยียวยาของรัฐบาลที่ให้จึงไม่เหมาะสมกับความต้องการ สถานการณ์แบบนี้ควรได้รับถ้วนหน้า คือทุกคนควรมีสิทธิได้รับการเยียวยา ส่วนการเข้าถึงแหล่งทุนของภาครัฐ ก็เป็นมาตรการที่ชาวบ้านเข้าไม่ถึง แค่ประชาสัมพันธ์เอาหน้าเท่านั้นมีปัญหาทางปฏิบัติ”
ทั้งนี้ รัฐควรส่งเสริมการปรับตัวของประชาชนเรื่องอาชีพการค้า การลงทุน ส่งเสริมให้พึ่งตนเอง ลดรายจ่ายให้น้อยที่สุด ลดค่าไฟ ค่าน้ำอย่างจริงจัง ยิ่งช่วงเปิดเทอมมีค่าใช้จ่าย ลดค่าเทอมถึงปริญญาตรี ลดค่าเช่าบ้าน เป็นต้น
สุดท้าย นายปรีชา ไทยสงเคราะห์ ผู้ค้าหาบเร่แผงลอย บริเวณถนนพระราม 2 ซึ่งมีสมาชิกกลุ่มประมาณ 45 ร้านค้า บอกว่า วิกฤติที่ผ่านมา ถือว่า หนักแล้ว แต่โรคระบาดโควิดโหดร้ายกว่ามาก เราทั้งกลัวไม่มีกิน กลัวติดโรคโควิด เราเข้าใจ มีการป้องกัน แต่ก็ไม่รู้ว่า เราจะติดเมื่อไหร่
“การค้าขายทุกวันนี้ยอดขายตกลง 70% เงียบมากถึงขนาดทำเพื่อให้มีกินมีใช้ไปวันๆ”
แถวเขตบางขุนเทียน พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นโรงงาน เมื่อโรงงานปิด ผู้ค้าย่อมได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
“ผมขายขาหมู จากปกติทุนบวกกำไรได้ 8 พันบาทต่อวัน วันนี้ 3 พันบาทแทบขายไม่ได้ ขณะที่จากต้องลงทุนซื้อของวันต่อ เปลี่ยนมาซื้อของ 2-3 วันที ยิ่งลูกค้านั่งรับประทานที่ร้านไม่ได้ ผมแทบเจ็บปวด มีลูกค้ามาซื้อขาหมู 50 บาทกลับบ้าน บอกขอน้ำเยอะ ๆ เรามองเห็นแล้วขนลุก”
เมื่อถามถึงการปรับตัวต่อจากนี้ ผู้ค้าหลายคนมีการคุยกันว่า ต้องปรับตัว มิเช่นนั้นเราจะอยู่กันไม่ได้ มีแอปพลิเคชั่น ลงทะเบียนขายของทางออนไลน์ “เราปรับตัวนะ แต่ผู้ค้าส่วนใหญ่อายุเยอะ เราเข้าไปสอนไปบอกแล้วก็ทำได้ลำบาก เขาไม่ถนัด และแม้รัฐเยียวยาก็ตาม ก็ยังไม่เพียงพอ เยียวยาก็ไม่ทั่วถึง"
นายปรีชา บอกว่า การเปลี่ยนแปลงของคนในชุมชน ปัจจุบันยังไม่ค่อยเห็นชัดมากนัก เพราะคนได้รับเงินเยียวยาจากรัฐบาล นำมาจับจ่ายใช้สอย และก็มีการเก็บเงินไว้จ่ายค่าบ้าน ค่าเช่าบ้าน อีกทั้งการที่หลายหน่วยงานมาแจกข้าวของ ถือว่า ยังไปได้อยู่ แต่หากโควิดลากยาวนาน อาจกระทบมากกว่านี้
“ผู้ค้าเหมือนหลายๆ อาชีพที่ได้รับผลกระทบ จึงอยากเสนอให้พักชำระหนี้ 3 เดือน ทั้งผ่อนรถ บ้าน ผู้ค้าหาบเร่เราอยากเสนอไปยังภาครัฐให้เราสามารถกลับมาค้าขายกันก่อนได้หรือไม่ ร่วมสร้างเมืองให้มีชีวิตชีวา ขอให้ยกเลิก ให้พวกเราออกไปค้าขายก่อน เพื่อให้ลืมตาอ้าปากไม่เป็นภาระของรัฐบาล เรามีมาตรการป้องกันโรคทั้งสวมหน้ากากอนามัย มีเจลแอลกฮอล์ล้างมือ และเว้นระยะห่าง”