"31 โรงเรียนเครือข่ายที่สังกัดอปท.บริบทจะเหมือนกัน คือ หากไม่มี 1 มื้อจากเรา เขาก็จะไม่มี 1 มื้อที่ดีจากใคร บางคนไม่ได้กินมื้อเช้า มื้อเย็นแทบไม่ต้องพูดถึง เป็นอะไรที่ง่ายๆ มาม่า ข้าวเหนียวหมู ไ่ก่ย่าง ตับปิ้ง เพราะทั้งวันพ่อแม่เด็กก็กินแต่ข้าวเหนียวหมู ยืนยันได้จากสมุดบันทึกโภชนาการของเด็ก เราจะเห็นเลยว่า เด็กกินอะไรตลอดทั้งวัน เราเห็นชัดเลยว่า มื้อที่ดีที่สุด คือมื้อกลางวันที่โรงเรียน"
จากการที่ ร.ร.เทศบาล 2 วัดดอนมูลชัย และ ร.ร.บ้านวังประจบ จ.ตาก เข้าร่วมโครงการเด็กไทยแก้มใส มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 โดยน้อมนำหลักการบริหารจัดการอาหารและโภชนาการในโรงเรียนอย่างครบวงจรของโครงการพระราชดำริฯ ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มาใช้โดยบูรณาการงานและพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้มีความรู้ด้านอาหาร โภชนาการ และสุขภาพ สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน เชื่อมโยงผลผลิตเกษตรปลอดภัยในพื้นที่ ทำให้เกิดความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการในโรงเรียนและชุมชน
ประกอบกับมีการนำโปรแกรมสำรับอาหารกลางวันสำหรับโรงเรียนแบบอัตโนมัติ หรือ Thai School Lunch (TSL) สามารถจัดเมนูอาหารกลางวันได้อย่างสะดวก รวดเร็วหลากหลายและมีคุณภาพ และทั้งยังช่วยประมวลผลคุณค่าอาหารและงบประมาณที่ใช้ได้แบบ real-time นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพอาหารของนักเรียนได้อย่างยั่งยืน
กระทั่งปี พ.ศ.2561 จ.ตาก ได้ประกาศเป็นจังหวัดต้นแบบการจัดการอาหารกลางวันคุณภาพในโรงเรียน โดยมี ร.ร.เทศบาล 2 วัดดอนมูลชัย และ ร.ร.บ้านวังประจบ ซึ่งยกระดับเป็นศูนย์เรียนรู้ต้นแบบโรงเรียนเด็กไทยแก้มใส เป็นแม่ข่ายขยายผลให้กับโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ ภายใต้ 4 ยุทธศาสตร์ คือ
1.สร้างความเข้าใจและความตระหนัก บูรณาการงานที่เกี่ยวข้อง
2.เสริมสร้างความเข้มแข็งผลผลิตปลอดภัยในพื้นที่โรงเรียนและในชุมชน
3.ส่งเสริมให้ใช้โปรแกรม Thai School Lunch
และ 4.บังคับใช้กฎหมาย กำกับติดตาม ประเมินผล ส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายระหว่างโรงเรียน นักเรียน ผู้ปกครอง ชุมชน ในการจัดซื้อวัตถุดิบมาประกอบอาหาร
นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ระบุว่า ตลอดการดำเนินงานในระยะ 1 ปีที่ผ่านมา สามารถส่งเสริมและสนับสนุนการน้อมนำแนวทางการดำเนินงานที่ประสบความสำเร็จ จากการบริหารจัดการอาหารและโภชนาการในโรงเรียนอย่างครบวงจรของโครงการตามแนวพระราชดำริฯ ทำให้เกิดการพัฒนาด้านเกษตร อาหาร โภชนาการและสุขภาพของเด็กในโรงเรียนได้เป็นอย่างดี ดังนั้นในปี 2562 นี้ จ.ตาก จึงยกระดับนโยบายเพื่อขับเคลื่อน “ท้องถิ่นไทยก้าวสู่แหล่งเรียนรู้ เด็กไทยแก้มใส วิถีชีวิตสุขภาวะ” ด้วย Road Map เด็กไทยแก้มใสโมเดล จังหวัดตาก โดยมีโรงเรียนในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั้งหมดจำนวน 36 แห่ง ที่มีความพร้อมและมุ่งมั่นจะสืบสาน รักษา และต่อยอดการดำเนินงานโครงการเด็กไทยแก้มใสให้ครบทุกองค์ประกอบ (อ่านประกอบ:อธิบดีสถ.เผย ‘กรมสมเด็จพระเทพ’ ทรงห่วงใยเด็ก แนะท้องถิ่นพัฒนาทักษะหาเลี้ยงชีพ)
“เราให้ความสำคัญในการพัฒนาบุคลากร ซึ่งเริ่มตั้งแต่วัยเด็ก โดยเฉพาะเรื่องอาหาร ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการเจริญเติบโตในทุกมิติ ซึ่งหากเด็กได้รับอาหารดีครบถ้วนตามหลักโภชนาก็จะทำให้มีร่างกายแข็งแรง จิตใจแจ่มใส สดชื่น มีความพร้อม เกิดการเรียนรู้ที่ดี นำมาซึ่งพัฒนาการทางด้านอารมณ์ สังคม และสติปัญญา พร้อมเป็นบุคลากรสำคัญในการพัฒนาประเทศในอนาคต” ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก กล่าว
ด้าน นางจงกลนี วิทยารุ่งเรืองศรี ผู้จัดการโครงการศูนย์เรียนรู้ต้นแบบโรงเรียนเด็กไทยแก้มใส ชี้แจงถึงโครงการเด็กไทยแก้มใส เกิดจากความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ ภายใต้การสนับสนุนจาก สสส. ร่วมกับองค์กรภาคี ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานคร และสมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนโรงเรียนในการน้อมนำแนวทางการดำเนินงานที่ประสบความสำเร็จ การบริหารจัดการอาหารและโภชนาการในโรงเรียนอย่างครบวงจรของโครงการตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ไปปฏิบัติในการพัฒนาอาหารกลางวันและภาวะโภชนาการของเด็กและเยาวชนในระยะยาว
ทั้งนี้ องค์ประกอบหลักของโครงการเด็กไทยแก้มใส มี 8 องค์ประกอบ ได้แก่ 1.ส่งเสริมการเกษตรในโรงเรียน 2.ส่งเสริมสหกรณ์นักเรียน ร้านค้า ออมทรัพย์ ส่งเสริมการผลิต 3.จัดบริการอาหารของโรงเรียนตามหลักโภชนาการ ด้วยโปรแกรม Thai School Lunch 4.ติดตามภาวะโภชนาการของนักเรียน 5.พัฒนาสุขนิสัยและส่งเสริมอนามัยนักเรียน 6.พัฒนาอนามัยสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน 7.จัดบริการสุขภาพนักเรียน และ 8.จัดการเรียนรู้แบบ Active Learning เชื่อมโยงทั้งการเกษตร โภชนาการและสุขภาพ
ปี 2562 เด็กไทยแก้มใสมีแผนจะสนับสนุนกลไกขับเคลื่อนระดับจังหวัด อำเภอและพื้นที่ เพื่อสนับสนุนการเพิ่มศักยภาพของโรงเรียนต้นแบบศูนย์เรียนรู้เด็กไทยแก้มใสที่เด่นชัดมากขึ้น ในการเป็นแหล่งเรียนรู้เด็กไทยแก้มใสวิถีชีวิตสุขภาวะในโรงเรียนและชุมชนอย่างครบวงจร โดยมีเป้าหมายหลัก คือ พัฒนาระบบบริการจัดการอาหารและโภชนาการในโรงเรียนให้มีคุณภาพและแก้ปัญหาทุพโภชนาการ ส่งเสริมให้โรงเรียนใช้ผลผลิตเกษตรปลอดภัย และพัฒนาความเชื่อมโยงระหว่างโรงเรียน บ้าน ชุมชน นำไปสู่พฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์ของเด็ก
ในส่วนของ “เด็กไทยแก้มใสโมเดล จังหวัดตาก” จะเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานของโรงเรียนในการร่วมพัฒนาให้ครบทั้ง 8 องค์ประกอบ ขณะเดียวกันถือว่า เป็นจังหวัดแรกของประเทศที่มีการขับเคลื่อนการจัดการอาหารกลางวันคุณภาพในโรงเรียนครบทุกแห่งในสังกัด อปท. และในอนาคตจะมีการขยายผลไปยังโรงเรียนในสังกัดอื่น
“ประเด็นอาหารกลางวันไม่ต้องพูดถึง เพราะเป็นนโยบายของรัฐอยู่แล้ว ซึ่งมีการจัดอบรม TSL ไปให้ทุกแห่งแล้วเช่นกัน เพียงแต่ว่าจะนำไปปฏิบัติมากน้อยแค่ไหน ไม่ใช่ว่าครูที่รับผิดชอบย้ายออกไปแล้วทุกอย่างจบ หรือโรงเรียนที่อาจจะมีปัญหาเรื่องการใช้สัญญาณอินเตอร์เน็ตไม่สามารถเข้าถึงโปรแกรมได้อย่างสะดวก เราก็จะพยายามแก้ไขให้ ซึ่งขณะนี้เรากำลังทำวิจัยในรูปแบบการใช้โปรแกรมแบบออฟไลน์ หรือทำแบบกลุ่ม ก็จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้” นางจงกลนี กล่าว
โรงเรียนเทศบาล 2 วัดดอนมูลชัย
ในฐานะศูนย์เรียนรู้ต้นแบบโรงเรียนเด็กไทยแก้มใส ดร.สุพจนีย์ พัดจาด ผู้อำนวยการโรงเรียนเทศบาล 2 วัดดอนมูลชัย ต.หัวเดียด อ.เมือง จ.ตาก กล่าวถึงเด็กไทยแก้มใสโมเดล จังหวัดตาก ในปี 2562 นี้ มีความพิเศษ คือ จะมีการนำเมนูอาหารพื้นถิ่นของ จ.ตาก ที่มีอยู่อย่างหลากหลาย เข้าสู่ระบบสร้างตำรับอาหารของโรงเรียน หรือ Thai School Recipes (TSR) ไปใช้ร่วมกับระบบแนะนำสำรับอาหารกลางวัน
สำหรับ Thai School Lunch ซึ่งโรงเรียนสามารถปรับเปลี่ยนวัตถุดิบได้ตามบริบทของแต่ละพื้นที่ แต่ยังคงคุณค่าทางโภชนาการอย่างครบถ้วน
ทั้งนี้การใช้โปรแกรม Thai School Recipes มาใช้ร่วมกับโปรแกรม Thai School Lunch เป็นผลมาจากการดำเนินงานในระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา เราพบข้อจำกัดเรื่องวัตถุดิบของโรงเรียน ซึ่งบางแห่งอยู่พื้นที่ห่างไกล การใช้โปรแกรม TSR ก็จะมีช่วยแก้ปัญหาได้ โรงเรียนก็จัดหาวัตถุดิบที่มีอยู่ในท้องถิ่น ซึ่งมีหลากหลายตามฤดูกาลมาประกอบอาหารให้เด็กได้รับประทาน ขณะเดียวกันยังเป็นการสร้างคุณค่าให้กับอาหารพื้นบ้านอีกด้วย
"ใน 31 โรงเรียนเครือข่ายที่สังกัดอปท.บริบทจะเหมือนกัน คือ หากไม่มี 1 มื้อจากเรา เขาก็จะไม่มี 1 มื้อที่ดีจากใคร บางคนไม่ได้กินมื้อเช้า มื้อเย็นแทบไม่ต้องพูดถึง เป็นอะไรที่ง่ายๆ มาม่า ข้าวเหนียวหมู ไ่ก่ย่าง ตับปิ้ง เพราะทั้งวันพ่อแม่เด็กก็กินแต่ข้าวเหนียวหมู ยืนยันได้จากสมุดบันทึกโภชนาการของเด็ก เราจะเห็นเลยว่า เด็กกินอะไรตลอดทั้งวัน ผักผลไม้ ไม่ต้องพูดถึง เราเห็นชัดเลยว่า มื้อที่ดีที่สุด คือมื้อกลางวันที่โรงเรียน ยิ่งหากมื้อกลางวันไม่ดี เด็กขาดสารอาหารแน่นอน" ดร.สุพจนีย์ ให้ข้อมูล และเตรียมขยายผลไปยังที่บ้าน อย่างน้อย ให้เด็กได้ทานผัก ผลไม้บ้าง
จากการเข้าร่วมโครงการเด็กไทยแก้มใสเป็นเวลา 5 ปี ทางโรงเรียนเห็นถึงความเปลี่ยนแปลง เด็กมีคุณภาพ มีการเติบโตสมส่วน จากที่โรงเรียนมีเด็กที่มีปัญหาอ้วน 14.02 % ในปี 2559 ปัจจุบันมีเด็กที่มีปัญหาอ้วนเหลือเพียง 7.34 % ซึ่งก็ยังไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่ สสส.กำหนดไว้ 7% แต่จะเห็นได้ว่า เกิดการพัฒนาที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
โรงเรียนเทศบาลวัดดอนแก้ว
ขณะที่โรงเรียนเทศบาลวัดดอนแก้ว อ.แม่สอด จังหวัดตาก นางวาสนา เบ้านี รองผู้อำนวยการสถานศึกษา โรงเรียนเทศบาลวัดดอนแก้ว จัดประชุมวางแผนโครงการเด็กไทยแก้มใส ประเด็นอาหารกลางวันปลอดภัยระหว่างเทศบาลนครแม่สอด กับผู้ประกอบการเกษตรอินทรีย์จังหวัดตาก จากการหารือ เบื้องต้นได้ข้อสรุป ผู้ประกอบการพร้อมส่งผลผลิตเกษตรอินทรีย์ให้กับโรงเรียนทุกแห่งในสังกัดอปท.ในราคาท้องตลาด
กระบวนการและขั้นตอนจากนี้ทางโรงเรียนวัดดอนแก้ว และเทศบาลจะไปปรับเปลี่ยนข้อกําหนดของผู้ว่าจ้าง หรือทีโออาร์ ให้มีการกำหนดวัตถุดิบอาหารกลางวันในโรงเรียนต้องเป็น อินทรีย์ ตรวจสอบได้ถึงแปลง มีใบรับรอง ซึ่งหากทำได้ตามนี้ โรงเรียนในสังกัดเทศบาลนครแม่สอด 5 แห่ง กับอีก 5 ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จำนวนไม่ต่ำกว่า 4,000 คน จะได้รับประทานอาหารกลางวันในโรงเรียนอย่างปลอดภัยที่ผลิตจากผู้ประกอบการในท้องถิ่นเอง
โรงเรียนตำรวจตะเวนชายแดนจาตุรจินดา
อีกแห่งที่มีการบริหารจัดการอาหารกลางวันได้คุณภาพ โรงเรียนตำรวจตะเวนชายแดนจาตุรจินดา ต.พระธาตุ อ.แม่ระมาด จ.ตาก ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อให้การศึกษาแก่เยาวชนที่อยู่ในถิ่นทุรกันดารและห่างไกล โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นผู้อุปถัมภ์ แต่จากการขายตัวของชุมชนเมือง จึงมีพระราชดำริให้โอนย้าย ร.ร.ตชด.ที่อยู่ใกล้เขตเมืองไปให้สังกัด อปท. ซึ่ง ร.ร.ตชด.จาตุรจินดา ได้โอนย้ายมาสังกัดองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)พระธาตุ เมื่อปี 2550
ปัจจุบันโรงเรียนตำรวจตะเวนชายแดนจาตุรจินดา มีครูทั้งหมด 6 คน เด็กนักเรียนมีตั้งแต่ชั้นอนุบาล 1 ถึงประถมศึกษาปีที่ 6 รวมทั้งสิ้น 89 คน และแม้จะมีการโอนย้ายหน่วยงานสังกัดแล้ว แต่ทาง ร.ร.จาตุรจินดา ยังคงสืบสานพระราชดำนิแนวทางการดำเนินงานของโรงเรียนเช่นเดิม โดยเฉพาะโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน ซึ่งส่งเสริมให้นักเรียนสร้างแหล่งผลิตอาหาร ไม่ว่าจะเป็นการปลูกพืชผัก ผลไม้ การเลี้ยงปลา ไก่เนื้อ ไก่ไข่ เป็นต้น เพื่อนำมาประกอบอาหารบริโภคภายในโรงเรียนเพื่อแก้ปัญหาทุพโภชนาการ
ทาง ร.ร.ตชด.จาตุรจินดา ได้กันพื้นที่ส่วนหนึ่งจากพื้นที่ของโรงเรียนจำนวน 4 ไร่ ทำแปลงปลูกผัก ปลูกผลไม้ เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา โดยผลผลิตที่ได้จะถูกขายให้กับสหกรณ์ของโรงเรียนเพื่อกลับมาเป็นอาหารกลางวันต่อไป
การบริหารจัดการอาหารกลางวัน ของ ร.ร.ตชด.จาตุรจินดา ได้ใช้ระบบจ้างเหมาแบบเฉพาะเจาะจง คือ มีผู้รับเหมา โดยให้ซื้อวัตถุดิบจากโรงเรียนผ่านสหกรณ์ของโรงเรียน ถ้าไม่มีค่อยหาจากที่อื่นมาใช้ จากนั้นครูจะเป็นเป็นผู้รับวัตถุดิบมาประกอบอาหารเองตามรายการที่ได้กำหนดไว้ ด้วยโปรแกรม Thai School Lunch
การจัดการอาหารกลางวันของที่โรงเรียนแห่งนี้จึงสามารถควบคุมวัตถุดิบ และต้นทุนค่าใช้จ่ายทุกอย่างได้ เด็กจึงสุขภาพดี และภูมิใจที่ได้ทานอาหารที่มาจากวัตถุดิบที่ตัวเองช่วยกันผลิตขึ้น
แม้ท้องถิ่นจะจัดเก็บรายได้ไม่พอเลี้ยงตัว มีงบประมาณทั้งหมด 42 ล้านบาท แต่นายเฉลิมเกียรติ บูลย์ประมุข นายก อบต.พระธาตุ ก็ให้ความสำคัญ จัดงบให้กองการศึกษา 13 ล้านบาท "เด็กไม่มีชื่อในโรงเรียนก็ได้ทานอาหารกลางวันหมดทุกคน หัวละ 20 บาท เราบริหารจัดการไม่มีไข่เน่าแน่นอน เพราะไข่ไก่ของเราสดใหม่เสมอ"
จุดเด่นการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันของ ร.ร.ตชด.แห่งนี้ ได้ดำเนินงานมาเป็นระยะเวลานาน นี้จึงเป็นต้นแบบให้แต่ละโรงเรียนสร้างแหล่งอาหารปลอดภัยด้วยตนเอง เพื่อตอบโจทย์คุณค่าโภชนาการในอาหารกลางวันได้เป็นอย่างดี