คำว่าโรคประจำถิ่นนั้น มีความหมายว่าโรคนี้ยังคงหมุนเวียนอยู่ แต่ว่าต่ำกว่าคำว่าโรคระบาด, อยู่ในอัตราที่สามารถคาดการณ์ได้มากกว่า มีผู้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลน้อยกว่า และความหมายของคำว่าโรคประจำถิ่นในบางครั้งนั้นยังหมายถึงโรคที่มีการแพร่เชื้อจำกัดในเฉพาะภูมิภาค ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นโควิด แต่เป็นกรณีของไข้หวัดใหญ่ที่เกิดขึ้นเป็นประจำในหลายที่ทั่วโลก มีรูปแบบของการแพร่เชื้อตามฤดูกาลที่จะมีผู้ติดเชื้อสูงในฤดูหนาว มีอัตราการระบาดในท้องถิ่นและอาจจะมีการระบาดในท้องถิ่นเหนือบรรทัดฐานที่คาดการณ์ไว้บ้าง
สืบเนื่องจากการระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์โอไมครอนที่แพร่เชื้อได้รวดเร็วกว่าไวรัสโควิดสายพันธุ์ก่อนหน้านี้ แต่ที่ผ่านมาก็มีการพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าไวรัสโควิดสายพันธุ์นี้นั้นมีความรุนแรงที่น้อยลง ดังนั้นจึงเป็นที่ว่าของการหารือกันในหลายภาคส่วนว่าวิกฤติไวรัสโควิด-19 ที่ระบาดทั่วโลกอยู่นั้นอาจจะกลายมาเป็นโรคประจำถิ่นได้หรือไม่
ในขณะที่ประเทศไทยเอง ทางศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ก็ได้ออกมาชี้แจงว่าอีกไม่นาน โรคนี้นั้นจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น
จากกรณีดังกล่าวนั้นสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้ตรวจสอบรายงานต่างประเทศก็พบว่าสำนักข่าวบลูมเบิร์กได้วิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ที่ไวรัสโควิด-19 นั้นจะกลายเป็นโรคประจำถิ่นภายในปี 2565 ได้หรือไม่ โดยสำนักข่าวอิศราได้นำเอารายงานดังกล่าวมานำเสนอมีรายละเอียดดังนี้
โดยที่ประเทศสเปน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นายเปโดร ซานเชซ ได้กล่าวว่าถึงเวลาที่จะคิดเกี่ยวกับวิธีใหม่ในการใช้ชีวิตกับไวรัสโควิด-19 ในระยะยาว เช่นที่ทั่วโลกได้เคยทำกับโรคระบาด ขณะที่อีกหลายประเทศก็ได้มีท่าทีที่คล้ายกัน โดยกล่าวว่านี่อาจจะเป็นบทใหม่ของวิกฤติโรคระบาดนี้แล้ว แม้ว่าผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพได้แสดงความกังวลออกมาในประเด็นที่ว่ายังคงมีความไม่แน่นอนเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะกับกรณีที่ว่าไวรัสจะวิวัฒนาการตัวเองต่อไปอย่างไรในอนาคต, สังคมได้สร้างภูมิคุ้มกันมากน้อยแค่ไหน และจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าหากผู้คนเริ่มละเลยมาตรการเฝ้าระวัง
จำนวนผู้ติดเชื้อโควิดในประเทศอังกฤษที่ลดลงไป 44 เปอร์เซ็นต์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา (อ้างอิงวิดีโอจากเดลี่ เมล์)
ทั้งนี้ไม่ใช่แค่รัฐบาลอย่างเดียวเท่านั้น ที่ตั้งความหวังไว้กับปี 2565 ว่าไวรัสโควิด-19 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น แต่ประชาชนที่เหนื่อยล้ากับวิกฤติโรคระบาดนี้ก็เช่นกัน ซึ่งถ้าหากดูการค้นหาบนอินเตอร์เน็ต ก็พบว่ามีการค้นหาคำว่า “โรคเฉพาะถิ่น” มากขึ้นในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา
โดยคำว่าโรคประจำถิ่นนั้น มีความหมายว่าโรคนี้ยังคงหมุนเวียนอยู่ แต่ว่าต่ำกว่าคำว่าโรคระบาด, อยู่ในอัตราที่สามารถคาดการณ์ได้มากกว่า มีผู้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลน้อยกว่า และความหมายของคำว่าโรคประจำถิ่นในบางครั้งนั้นยังหมายถึงโรคที่มีการแพร่เชื้อจำกัดในเฉพาะภูมิภาค ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นโควิด แต่เป็นกรณีของไข้หวัดใหญ่ที่เกิดขึ้นเป็นประจำในหลายที่ทั่วโลก มีรูปแบบของการแพร่เชื้อตามฤดูกาลที่จะมีผู้ติดเชื้อสูงในฤดูหนาว มีอัตราการระบาดในท้องถิ่นและอาจจะมีการระบาดในท้องถิ่นเหนือบรรทัดฐานที่คาดการณ์ไว้บ้าง
อย่างไรก็ดี มีเหตุผลอันควรเชื่อได้ว่าปัญหาของโรคระบาดนั้นอาจจะทุเลาลงไปแล้ว เนื่องจากว่าโลกนั้นมีเครื่องมือมากขึ้นกว่าแต่ก่อน นับตั้งแต่ชุดการตรวจหาเชื้อแบบรวดเร็วไปจนถึงขีดความสามารถในการอัปเดต และผลิตวัคซีนเป็นจำนวนมากได้ ผนวกกับระดับภูมิคุ้มกันที่เพิ่มขึ้นผ่านการฉีดวัคซีน และการแข่งขันกันของตัวไวรัสโควิดเอง ในขณะที่แอนติบอดีหรือว่าสารภูมิคุ้มกันนั้นอาจจะดูอ่อนกำลังลงหรือว่าล้มเหลวจากการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ๆ แต่ปรากฏว่าทีเซลล์นั้นได้กลายมาเป็นอาวุธหลักของระบบภูมิคุ้มกันในการป้องกันโรคมากขึ้น เนื่องจากทีเซลล์นั้นดูเหมือนว่าจะมีความแข็งแกร่งพอที่จะป้องกันโรคร้ายแรงได้
นอกจากนี้ยังมีการศึกษาในอีกหลายครั้งที่บ่งชี้ว่าไวรัสโควิดสายพันธุ์โอไมครอนนั้นมีความรุนแรงที่น้อยลงกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้าน้า เนื่องจากพบว่าการระบาดในบางภูมิภาคนั้นได้ซาลงไปแล้ว อาทิ อัตราการติดเชื้อใหม่ที่แอฟริกาใต้นั้นลดลงหลังจากที่มีการติดเชื้อเป็นอย่างมากในเดือน ธ.ค. 2564 ขณะที่อัตราการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลนั้นก็อยู่ในระดับที่ลดลงเช่นกัน
ขณะที่ทางด้านของนายนูการ์ อาเฟยัน ผู้ก่อตั้งบริษัทโมเดอร์นาได้กล่าวว่าหลักฐานทั้งหมดที่กล่าวมานั้นถือว่าเป็นข่าวดีในมุมใดมุมหนึ่ง แต่เราก็ยังคงต้องเฝ้าระวังอยู่ดี
โดยทางด้านของบริษัทผู้ผลิตวัคซีนนั้นได้มีการเตรียมตัวที่จะผลิตวัคซีนบูสเตอร์ ที่จะใช้งานกับไวรัสโควิดสายพันธุ์โอไมครอนโดยเฉพาะ และวัคซีนที่ว่ามานี้ก็จะเข้าสู่กระบวนการทดลองในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้านี้ ซึ่งนายอาเฟยันได้กล่าวว่าการที่โควิดจะกลายเป็นโรคประจำถิ่นนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ในปีนี้ แต่เรื่องนี้ก็ยังเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน
ส่วนองค์การอนามัยโลกหรือ WHO ก็ได้ออกคำเตือนว่าแม้ว่าจะมีความพยายามผลักดันวัคซีนทั่วโลก โดยขณะนี้มีการจัดสรรวัคซีนไปเกือบ 1 หมื่นล้านโดสแล้ว แต่ก็ยังมีช่องว่างขนาดใหญ่ เพราะมากกว่า 85 เปอร์เซ็นต์ของประชากรในทวีปแอฟริกานั้นยังคงไม่ได้รับวัคซีนแล้วแม้แต่โดสเดียว ขณะที่อีก 36 ประเทศสมาชิกของ WHO ก็ยังไม่สามารถบรรลุ 10 เปอร์เซ็นต์ของภูมิคุ้มกันของประชากรไปได้
อัตราการเสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนในแอฟริกาใต้
ทั้งนี้ปัญหาเรื่องประเด็นของการแจกวัคซีนไม่ทั่วถึงนั้นถือว่ายังเป็นปัญหาที่สำคัญ แม้ว่าปัญหานี้จะรุนแรงน้อยกว่ามากถ้าหากเกิดขึ้นในประเทศที่พัฒนาแล้ว อาทิ ประเทศเยอรมนีนั้นพบว่ายังมีผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี จำนวนกว่า 3 ล้านคนนั้นยังไม่ได้รับวัคซีนครบโดสแต่อย่างใด ซึ่งส่วนมากแล้วสาเหตุที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนนั้นก็มาจากทางเลือกส่วนตัวของแต่ละคน
อย่างไรก็ตาม การกระจายของไวรัสโควิดอย่างควบคุมไม่ได้นนั้นก็ถือว่าเป็นปัจจัยนำไปสู่การเสียชีวิตอันไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ในหลายกรณี โดยนายคาร์ล เลาเทอร์บาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเยอรมนีได้กล่าวชัดเจนว่ายังไม่มีเหตุผลอะไรที่จะบอกว่าปลอดภัย ณ เวลานี้
ส่วนทางด้านของ นพ.คริส บีเยอร์ ศาสตราจารย์ที่โรงเรียนสาธารณสุขจอห์นฮอปกินส์บลูมเบิร์ก ได้กล่าวว่าสำหรับสถานการณ์ในประเทศสหรัฐอเมริกานั้นยังคงเป็นเรื่องที่เร็วเกินไปที่จะกล่าวว่าจะเข้าสู่ขั้นตอนต่อไปแล้ว แม้ว่าสหรัฐฯนั้นจะพบกับการระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์โอไมครอนก่อนหน้านี้ และพบกับกรณีผู้ติดเชื้อที่ลดลงแล้วก็ตาม
นพ.บีเยอร์กล่าวต่อไปว่านอกจากนี้ยังมีความเป็นไปได้ที่คนที่ติดเชื้อโอไมครอนนั้นอาจไม่ได้สร้างภูมิคุ้มกันมากนัก ถ้าหากต้องเผชิญกับกรณีการระบาดแบบพุ่งขึ้นของไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลต้าขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง หรือเผชิญกับการระบาดของไวรัสโควิดลูกผสมกับสายพันธุ์โอไมครอน
“เรามีไวรัสที่พัฒนาไปได้ค่อนข้างเร็ว ซึ่งมันอาจจะกลายเป็นโรคเฉพาะถิ่นได้ตามหลักการ แต่การกำหนดว่าจะต้องเป็นโรคประจำถิ่นในปี 2565 นั้นเป็นการระบุที่ค่อนข้างยากในขั้นตอนนี้” พญ.แคทเธอรีน สมอลวูด เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านฉุกเฉินของ WHO กล่าว
อย่างไรก็ตามแม้ไม่มีการประกาศอย่างเป็นทางการถึงการลดระดับของมาตรการฉุกเฉินทางด้านสุขภาพ แต่ก็ดูเหมือนว่ารัฐบาลหลายแห่งนั้นจะเริ่มมีการผ่อนปรนมาตรการต่างๆในเร็ววันนี้ ด้วยเหตุผลที่ว่ามีผู้เสียชีวิตน้อยกว่าการระบาดในระลอกที่ผ่านๆมา โดยขณะที่ประเทศจีนนั้นยังคงใช้นโยบายปลอดโควิดไม่เปลี่ยนแปลง
โดยรัฐบาลหลายแห่งมีความเชื่อที่ว่ามาตรการที่เข้มงวดนั้นไม่อาจใช้ได้อีกต่อไปแล้ว ยกตัวอย่างเช่นที่ประเทศฝรั่งเศสนั้นมีการปิดพรมแดนกับสหราชอาณาจักรในช่วงกลางเดือน ธ.ค. เพื่อปกป้องตัวเองจากโควิดสายพันธุ์โอไมครอน แต่มาตรการนี้ก็ได้ผลเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เนื่องจากประเทศนี้นั้นเคยพบผู้ติดเชื้อสูงสุดในวันเดียวในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาถึง 370,000 ราย และหลังจากนั้นการใช้มาตรการก็ค่อยๆมีการผ่อนคลายลง
และเมื่อรัฐบาลยอมถอยมาตรการบางอย่างออกไป ความรับผิดชอบก็จะตกอยู่ที่บุคคลมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในด้านของการตรวจหาเชื้อโควิดด้วยตัวเอง การสวมใส่หน้ากาก และการสมัครใจที่จะจำกัดการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม
ขณะที่ นพ.เดวิด เฮย์แมน ศาสตราจารย์ด้านระบาดวิทยาโรคติดเชื้อที่วิทยาลัยการแพทย์ด้านสุขอนามัยและเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยลอนดอน ได้กล่าวว่าสหราชอาณาจักรนั้นได้มีการใช้มาตรการที่ไม่เข้มงวดและยังคงผลักดันในแนวทางนี้ โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น ประเทศอังกฤษได้ร่วมมือกับประเทศอื่นๆในการลดเวลากักตัวจากไวรัสโควิด-19 ลงเหลือ 5 วัน ซึ่งนี่ถือว่าเป็นตัวอย่างที่ดีในการเริ่มอยู่ร่วมกับไวรัส แต่ทว่านี่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นกรอบให้กับทุกคนในการจะดำเนินการตามนี้ เนื่องจากว่าแต่ละประเทศกำลังเผชิญกับสถานการณ์ของไวรัส ด้วยเงื่อนไขในช่วงเวลาของการระบาดที่แตกต่างกันออกไป
“เราไม่สามารถคาดเดาได้ว่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่จะเกิดขึ้นที่ไหน และเราไม่สามารถจะคาดการณ์ได้อีกว่าความรุนแรงรวมไปถึงความสามารถในการแพร่เชื้อของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่ว่านี้จะเป็นอย่างไร ซึ่งมันอาจจะเป็นเส้นทางที่ขรุขระก็ได้ เราไม่มีทางจะรู้ได้เลย” นพ.เฮย์แมนกล่าว
เรียบเรียงจาก:https://www.bloomberg.com/news/articles/2022-01-15/from-pandemic-to-endemic-can-2022-succeed-where-2021-failed