“…ผลการสำรวจความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านโรคโควิดกว่า 100 คน ต่อเส้นทางการการระบาดของโควิดในอนาคต เมื่อช่วงเดือน ม.ค.2564 พบว่า เกือบ 90% คิดว่าโควิดจะไม่หายไปจากโลก แต่จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งจะยังเกิดการแพร่ระบาดวนเวียนอยู่ในประชากรโลกอีกหลายปีข้างหน้า และมากกว่า 1 ใน 3 ของผู้แสดงความคิดเห็นทั้งหมด ต่างเห็นว่าการจะกำจัดโควิดได้อย่างรวดเร็ว จะต้องมีภูมิคุ้มกันแบบหมู่…”
ขณะนี้ทั่วโลกเริ่มมีอาวุธต่อสู้กับโควิดมากขึ้น ที่มีทั้งวัคซีนและยาต้านโควิด ซึ่งข้อมูลจาก Bloomberg ณ วันที่ 11 พ.ย.2564 ใน 184 ประเทศ จากทั้งหมด 193 ประเทศทั่วโลก ฉีดวัคซีนสะสมไปแล้ว 7.36 พันล้านโดส ส่วนยาต้านโควิด โดยเฉพาะยาแพกซ์โลวิด หรือยาโมลนูพิราเวียร์ เริ่มปรากฎผลการทดสอบทางคลินิกที่พบว่าลดอัตราการเข้าโรงพยาบาลและเสียชีวิตได้ 50-90%
ส่วนจุดจบของโควิดจะเป็นอย่างไรนั้น ในช่วงเริ่มต้นของการระบาดใหญ่ หลายคนคาดหวังว่าให้ไวรัสโควิด หรือ SARS-CoV-2 หายไป เหมือนกับไวรัสบางตัวที่ได้หายไปแล้ว ยกตัวอย่างเช่น ไวรัสโคโรนา หรือ SARS-CoV ซึ่งทำให้เกิดการระบาดใหญ่ของโรคซาร์สในปี 2545 แพร่กระจายไป 29 ประเทศ และทำให้มีผู้ติดเชื้อมากกว่า 8,000 คน ตั้งแต่เดือน พ.ย.2545-ก.ค.2546 ซึ่งปัจจุบันไวรัส SARS-CoV ไม่พบในคนมาเกือบ 20 ปี
อย่างไรก็ตามไวรัสบางตัวอาจค่อยๆ ลดลงไปสู่อัตราการเกิดที่คงที่ ซึ่งยังสามารถแพร่ไปสู่ผู้อื่นได้ เรียกว่า ‘โรคประจำถิ่น’ ยกตัวอย่างเช่น โรคไข้หวัด และไข้หวัดใหญ่ ที่จะเกิดขึ้นตามฤดูกาลทุกปี ซึ่งบุคลากรการแพทย์ รวมถึงนักวิทยาศาสตร์หลายคนมองว่าโควิดจะไม่หายไป แต่อาจกลายเป็นโรคประจำถิ่น
ดังนั้นจะเป็นอย่างไรเมื่อโควิด กลายเป็นโรคประจำถิ่น สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้แปลและเรียบเรียงข้อมูลจากเว็บไซต์ The Conversation ที่รายงานผลการศึกษาการแพร่ระบาดของไวรัสในมนุษย์ ของทีมนักไวรัสวิทยาและนักภูมิคุ้มกันวิทยาจากมหาวิทยาลัยโคโลราโด โบลเดอร์ มีข้อมูลดังนี้
สำหรับสาเหตุที่ทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยโคโลราโด โบลเดอร์ คาดการณ์ว่าโควิดจะไม่หายไป แต่อาจกลายเป็นโรคประจำถิ่น เพราะเชื้อโควิดสามารถแพร่กระจายได้ดีจากบุคคลหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่ง โดยหากใช้คณิตศาสตร์เปรียบเทียบความสามารถในการแพร่ระบาด หรือที่เรียกว่า R0 โควิดสายพันธุ์เดลต้าจะมี R0 อยู่ระหว่าง 6-7 หมายความว่าผู้ติดเชื้อแต่ละคนจะสามารถส่งไวรัสให้คน 6-7 คนโดยเฉลี่ย ขณะที่เชื้อโคโรนา มี R0 อยู่ประมาณ 2 เท่านั้น
ด้วยธรรมชาติของโควิดสายพันธุ์เดลต้าสามารถแพร่เชื้อได้สูง ความท้าทายในการกำจัดไวรัสจะมีมากขึ้น เพราะเป้าหมายของหน่วยงานสาธารณสุข คือ การชะลออัตราการแพร่กระจายของไวรัส นอกจากนี้โควิดยังสามารถแพร่เชื้อไปยังผู้ที่เคยได้รับวัคซีนแล้วได้ ดังนั้นไวรัสจึงมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคประจำถิ่นมากกว่าจะหายไป
โควิดจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น
เว็บไซต์ The Conversation เปิดเผยอีกว่า เมื่อโควิด จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น สิ่งสำคัญที่จะต้องคิดต่อไป คือ สาเหตุว่าทำไมโควิดถึงแพร่ระบาดจากบุคคลหนึ่งไปยังอีกบุคคลหนึ่ง และพฤติกรรมของคนส่งผลต่อการแพร่เชื้อโควิดอย่างไร
โควิดเป็นโรคทางเดินหายใจที่สามารถแพร่เชื้อไวรัสกระจายไปในอากาศและสามารถทำให้ติดต่อกันได้ง่าย เมื่ออยู่รวมกันจำนวนมาก ส่งผลให้เมื่อไม่ปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุข เช่น ไม่ใส่หน้ากากอนามัย และไม่เว้นระยะห่าง จะทำให้เกิดผลร้ายตามมา
ยกตัวอย่างเช่น การชุมนุมด้วยรถจักรยานยนต์ของคนเกือบ 500,000 คน ในปี 2563 ณ เมืองสเตอร์กิส รัฐเซาท์ดาโคตา สหรัฐอเมริกา ที่ผู้ชุมนุมส่วนมากไม่ได้สวมหน้ากากอนามัยและไม่มีการเว้นระยะห่างทางสังคม ทำให้เกิดการระบาดเพิ่มขึ้นมากในรัฐเซาท์ดาโคตา แสดงให้เห็นว่าโควิดสามารถแพร่กระจายได้ง่าย เมื่อการ์ดตก
ทั้งนี้ ทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยโคโลราโด โบลเดอร์ เปิดเผยผลการศึกษาการระบาดของโควิดด้วยว่า โดยทั่วไปแล้วจะมาจากผู้ติดเชื้อเพียงคนเดียว และมีเพียง 2% ของจำนวนผู้ติดเชื้อเท่านั้นที่ติดเชื้อมาจากชุมชน ดังนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมด้วยรถจักรยานยนต์ดังกล่าว จะทำให้เกิดการระบาดในวงกว้างไปสู่บุคคลอื่น หากคนกลุ่มนี้ไม่ถูกติดตามหรือถูกนำเข้าสู่ระบบการรักษา
อย่างไรก็ตามผู้ติดเชื้อประมาณครึ่งหนึ่ง มักไม่มีอาการ เมื่อรวมกับช่วงเวลาที่ผู้คนสามารถติดเชื้อได้ คือ ช่วง 2 วันก่อน และ 10 วันหลังมีอาการ โควิดจะมีโอกาสในการแพร่เชื้อมากมาย เพราะคนที่ไม่รู้ว่าตัวเองป่วย จะใช้มาตรการเพียงเล็กน้อยเท่านั้นในการแยกตัวจากผู้อื่น ด้วยลักษณะการแพร่ระบาดของโควิดและมาตรการทางสังคมที่เชื่อมโยงกันดังกล่าว จึงกลายเป็นตัวช่วยสนับสนุนการแพร่กระจายของโควิดให้ยั่งยืน หากไม่ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
ฉีดวัคซีนทางสู้ไวรัสประจำถิ่น
เว็บไซต์ The Conversation เปิดเผยต่อว่า แม้นักวิทยาศาสต์หลายคนเชื่อว่าโควิดมีแนวโน้มที่จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น และความสามารถของเราขณะนี้ แม้จะกำจัดไวรัสไม่ได้ ไม่ได้หมายความว่าความหวังทั้งหมดจะหายไป
อนาคตหลังเกิดการระบาดของโรคนี้ จะขึ้นอยู่กับว่าไวรัสมีวิวัฒนาการอย่างไรในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า โควิดเป็นไวรัสในคนชนิดใหม่ที่สมบูรณ์ ซึ่งยังคงปรับตัวให้เข้ากับคนอยู่ตลอด เมื่อเวลาผ่านไปเราอาจเห็นไวรัสก่อโรคน้อยลง คล้ายกับโคโรนาไวรัส 4 ตัว (OC43, 229E,NL63 และ HKU1) ที่ทำให้เกิดโรคไข้หวัด ซึ่งมักเกิดตามฤดูกาลเพียงเล็กน้อย
การฉีดวัคซีนทั่วโลกมีผลต่อการควบคุมผู้ป่วยรายใหม่ อย่างไรก็ตามจนถึงตอนนี้การฉีดวัคซีนเข้าถึงผู้คนเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ ขณะที่การติดเชื้อยังลุกลามในกลุ่มผู้ได้รับวัคซีนแล้วอีกด้วย เพราะไม่มีวัคซีนใดที่ให้ผล 100% ซึ่งหมายความว่า อาจจำเป็นต้องฉีดวัคซีนกระตุ้นเพื่อเพิ่มการป้องกันการติดเชื้อ
การเฝ้าระวังไวรัสทั่วโลก และความเร็วในการพัฒนาวัคซีนที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ แสดงให้เห็นความพร้อมที่จะจัดการกับเป้าหมายที่พัฒนาตลอดเวลานั่น คือ โควิด ซึ่งหากไวรัสนี้กลายเป็นโรคประจำถิ่น เหมือนไข้หวัดใหญ่ และมีวิวัฒนาการอย่างรวดเร็ว การฉีดวัคซีนตามฤดูกาลช่วยให้ชีวิตดำเนินไปตามปกติ ตรงนี้อาจเป็นอนาคตของโควิดที่เราสามารถคาดหวังเช่นเดียวกันกับไข้หวัดใหญ่
โรคเฉพาะถิ่นช่วงฤดูหนาว
สำหรับฤดูการแพร่กระจายของโควิด เว็บไซต์ The Conversation เปิดเผยด้วยว่า ฤดูกาลการแพร่กระจายของโรคประจำถิ่น หรือโรคเฉพาะถิ่นในมนุษย์ มักเกิดขึ้นทุกปีในช่วงฤดูหนาว และส่งผลกระทบต่อเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ โควิดยังไม่สงบในรูปแบบที่คาดเดาได้ และอาจกลับไปแพร่ระบาดทั่วโลกอย่างคาดเดาไม่ได้
เมื่ออัตราการเกิดของโควิดคงที่ เราสามารถเรียกได้ว่าโรคนี้ได้กลายเป็นโรคประจำถิ่นแล้ว แต่การเปลี่ยนแปลงนี้อาจแตกต่างออกไปขึ้นอยู่กับว่าเราอยู่ที่ไหน เช่น หากเราอยู่ในประเทศที่ฉีดวัคซีนครอบคลุมสูงและฉีดเข็มกระตุ้นที่เพียงพอในเร็วๆ นี้ ประเทศดังกล่าวอาจเกิดการระบาดของโควิดลดลงและอาจเจอโควิดเฉพาะช่วงฤดูหนาว เพราะเป็นช่วงเวลาที่เอื้ออำนวยต่อการแพร่ระบาดของไวรัส ในทางตรงกันข้ามโควิดอาจยังไม่สงบ มีการแพร่ระบาดอยู่ในภูมิภาคที่มีอัตราการติดเชื้อต่ำ
ผู้เชี่ยวชาญเกือบ 90% ชี้โควิดยังอยู่กับเราอีกหลายปี
ขณะเดียวกันเว็บไซต์ Nature ได้เปิดเผยผลการสำรวจความคิดเห็นของนักวิทยาศาตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคโควิดกว่า 100 คน ต่อเส้นทางการการระบาดของโควิดในอนาคต เมื่อช่วงเดือน ม.ค.2564 พบว่า เกือบ 90% คิดว่าโควิดจะไม่หายไปจากโลก แต่จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งจะยังเกิดการแพร่ระบาดวนเวียนอยู่ในประชากรโลกอีกหลายปีข้างหน้า และมากกว่า 1 ใน 3 ของผู้แสดงความคิดเห็นทั้งหมด ต่างเห็นว่าการจะกำจัดโควิดได้อย่างรวดเร็ว จะต้องมีภูมิคุ้มกันแบบหมู่
โดยนักวิทยาศาสตร์ทั้งหมด 119 คน จาก 23 ประเทศ ต่างคาดการณ์การระบาดของโควิดที่จะเป็นโรคประจำถิ่นไว้ดังนี้
-
โควิดอาจระบาดเหมือนโรคหัด คือ ไวรัสอาจถูกจำกัดวงได้ในภูมิภาคที่มีภูมิคุ้มกันหมู่
-
โควิดอาจหมุนเวียนต่อไป แต่เมื่อประชาชนได้รับภูมิคุ้มกันแล้ว โควิดจะทำให้เกิดอาการป่วยในระดับปานกลางไปจนถึงเล็กน้อยเท่านั้น
-
โควิดอาจกลับมาลุกลาม ทำให้เกิดการระบาดใหญ่อีกครั้ง โดยเฉพาะไวรัสที่สามารถแพร่สู่สัตว์ในธรรมชาติ เช่น แมว กระต่าย หนูแฮมเตอร์ เป็นต้น เพราะอาจแพร่เชื้อมาสู่คนได้
ผลการสำรวจความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญต่อการระบาดของโควิดในอนาคต
ทิศทางการระบาดของโควิดเมื่อกลายเป็นโรคประจำถิ่น
ศัตรูตัวฉกาจของเด็ก
เว็บไซต์ Nature เปิดเผยอีกว่า ในอีก 5 ปีต่อจากนี้โควิดอาจยังวนเวียนอยู่โดยรอบ แต่เมื่อผู้คนมีภูมิคุ้มกันโรค จากการติดเชื้อธรรมชาติ หรือการฉีดวัคซีนก็ตาม เราจะไม่มีอาการป่วยรุนแรงเมื่อติดเชื้อ แต่โควิดอาจกลายเป็นศัตรูตัวฉกาจที่พบในเด็กปฐมวัย ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะทำให้เกิดการติดเชื้อเล็กน้อยหรือไม่มีเลย
โดยนักวิทยาศาสตร์ ตั้งสมมติฐานการติดเชื้อในเด็กปฐมวัย มาจากวิธีการระบาดของโคโรนาไวรัสประจำถิ่น 4 ตัว ที่มีชื้อว่า OC43, 229E,NL63 และ HKU1 ที่ยังพบการระบาดอยู่ในเด็กอายุต่ำกว่า 6 ขวบ
โควิดจะยังอยู่หากทั่วโลกไม่ได้ฉีดวัคซีน
เว็บไซต์ Nature เปิดเผยถึงการฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ด้วยว่า ประเทศที่ฉีดวัดวัคซีนจำนวนมาก จะเห็นการเจ็บป่วยรุนแรงลดลง และอาจลดการแพร่ระบาดของโควิดได้ อย่างไรก็ตามจะต้องฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชากรทั้งหมดอย่างน้อย 55% เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ และปกป้องผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนได้
“การฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชากรทั้งหมด 55% เป็นสิ่งที่ท้าทายในหลายประเทศ แต่ไวรัสจะยังอยู่ ถ้าส่วนต่างๆ ของโลกไม่ได้รับการฉีดวัคซีน” เจฟฟรีย์ ชาแมน นักวิจัยด้านโรคติดเชื้อแห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบียในนิวยอร์กซิตี้ กล่าว
อาจระบาดเหมือนไข้หวัดใหญ่ หรือโรคหัด
โควิดในอนาคตอาจเหมือนโรคไข้หวัดใหญ่ หรือโรคหัดได้ โดย เว็บไซต์ Nature เปิดเผยการวิเคราะห์จากผู้เชี่ยวชาญว่า โควิดสามารถปรับตัวให้เข้ากับฤดูกาลของการระบาดช่วงฤดูหนาวได้ เหมือนกับไข้หวัดใหญ่ แต่ไข้หวัดใหญ่นั้น จะวิวัฒนาการได้เร็วกว่าโควิดมาก ทำให้สามารถเล็ดรอดผ่านแนวป้องกันได้ดีกว่า
อย่างไรก็ตามโควิดอาจหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันที่ได้รับจากการติดเชื้อธรรมชาติ ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์มากกว่า 70% ต่างเชื่อว่าความสามารถในการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้โควิดยังวนเวียนอยู่
ด้วยเหตุดังกล่าวจึงมีแนวโน้มว่าวัคซีนโควิดจะมีการปรับปรุงอยู่ตลอด โดยอาจปรับปรุงทุกปี แต่การติดเชื้อซ้ำจะไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะการติดเชื้อซ้ำบ่อยครั้ง จะช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันโรคต่อสายพันธุ์ที่เกี่ยวข้อง และโดยทั่วไปแล้วผู้ติดเชื้อจะมีอาการเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่เป็นไปได้ว่าวัคซีนไม่สามารถหยุดคนบางคนที่มีอาการรุนแรงได้ ซึ่งในกรณีนี้ไวรัสจะยังคงเป็นภาระสำคัญต่อสังคมต่อไป
ส่วนกรณีวัคซีนโควิดสามารถป้องกันการติดเชื้อและแพร่กระจายเชื้อได้ไปตลอดชีวิต โควิดจะคล้ายกับโรคหัด ซึ่งเป็นโอกาสที่เกิดขึ้นได้น้อยกว่า แต่ยังมีความเป็นไปได้
โรคหัด ก่อนที่วัคซีนจะได้รับการพัฒนาในปี 2506 ได้คร่าชีวิตผู้คนไปแล้ว 2.6 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็ก แต่ต่อมาวัคซีนถูกพัฒนาให้มีประสิทธิภาพสูง ฉีดครบ 2 โดส สามารถป้องกันโรคหัดได้ตลอดชีวิต โดยไม่จำเป็นต้องปรับปรุงใหม่ และไวรัสยังไม่มีวิวัฒนาการในลักษณะหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกัน ทำให้ขณะนั้นไวรัสถูกจำกัดไปแล้วในหลายภูมิภาคของโลก แต่ก็ยังมีแพร่ระบาดในส่วนต่างๆ อยู่ ต่อมาในปี 2561 โรคหัดได้กลับมาลุกลามอีกครั้ง คร่าชีวิตไปกว่า 140,000 คน
ดังนั้นแล้วเหตุการณ์นี้อาจเกิดขึ้นกับการระบาดของโควิดได้เช่นเดียวกัน หากผู้คนยังปฏิเสธวัคซีน ซึ่งจากการสำรวจพลเมืองในสหรัฐอเมริกามากกว่า 1,600 คน ยังพบว่ามากกว่า 1 ใน 4 จะปฏิเสธวัคซีนโควิดอย่างแน่นอนหรืออาจปฏิเสธ
อย่างไรก็ตาม นายไมเคิล ไรอัน ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกโลก (WHO) ออกมาเปิดเผยด้วยว่า เชื้อโควิดอาจอยู่คู่สังคมมนุษย์ตลอดไป แม้จะค้นพบวัคซีนแล้ว แต่การจะควบคุมการระบาดยังต้องใช้ความพยายามมาก ยกตัวอย่าง เช่น HIV แม้จะพบวิธีการรักษาและการป้องกัน แต่ก็ยังไม่ได้หายไปไหนเช่นเดียวกัน และก็ยังมีอีกหลายโรคที่แม้จะมีวัคซีนแล้ว แต่ก็ยังไม่หมดไป อาทิ โรคหัด ดังนั้นจึงควรปฏิบัติตามมาตรการทางสาธารณสุขควบคู่กันไปด้วย เช่น การสวมหน้ากากอนามัย การเว้นระยะห่าง หรือการหมั่นล้างมือ เป็นต้น
ปัจจัยที่ทำให้โควิดจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น
อ้างอิง :
-
https://theconversation.com/is-covid-19-here-to-stay-a-team-of-biologists-explains-what-it-means-for-a-virus-to-become-endemic-168462
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage