วันที่ 15 เมษายน คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามมติคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) ในการประชุมครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2563 ตามที่คณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ เสนอ ดังนี้
คปร. ในการประชุมครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2563 ได้พิจารณาเรื่อง การขอเพิ่มอัตราข้าราชการตั้งใหม่ และมาตรการเพิ่มสิทธิประโยชน์อื่น สำหรับบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข รองรับภาวะฉุกเฉินในสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 แล้ว มีมติดังนี้
1) การจัดสรรอัตราข้าราชการตั้งใหม่เพื่อบรรจุบุคลากรในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (พนักงานราชการ พนักงานกระทรวงสาธารณสุข หรือลูกจ้างชั่วคราว) ที่ปฏิบัติงานด่านหน้าในสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โรคโควิด 19 ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 จำนวน 24 สายงาน รวมทั้งสิ้น 38,105 อัตรา
1.1) เห็นชอบให้จัดสรรอัตราข้าราชการตั้งใหม่ รวม 38,105 อัตรา เพื่อบรรจุบุคคลดังกล่าวเข้ารับราชการให้ตรงตามตำแหน่งงานที่จ้างอยู่เดิม อย่างไรก็ดี หากภายหลังบริบทของงานเปลี่ยนแปลงไป ให้กระทรวงสาธารณสุขเสนอ อ.ก.พ. กระทรวงสาธารณสุข ปรับเปลี่ยนสายงานของอัตราข้าราชการตั้งใหม่ที่จะจัดสรรเป็นสายงานบริการทางการแพทย์อื่น ๆ ได้ตามความจำเป็น แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินจำนวนกรอบอัตรากำลังตามที่ คปร. กำหนด และจะต้องสอดคล้องกับแผนปฏิรูปกำลังคนและภารกิจบริการด้านสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข โดยให้บรรจุในกลุ่มผู้ปฏิบัติงานที่มีวุฒิคัดเลือกก่อนกลุ่มผู้ปฏิบัติงานที่จะต้องสอบแข่งขัน และถือว่าอัตราข้าราชการตั้งใหม่ครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการบรรจุบุคลากรตามแผนปฏิรูปกำลังคนฯ ด้วย
1.2) เห็นชอบให้กำหนดเงื่อนไขว่าเมื่อบุคลากรของกระทรวงสาธารณสุขได้รับการบรรจุเข้ารับราชการในตำแหน่งที่ได้รับจัดสรรแล้ว ให้ยุบเลิกตำแหน่งพนักงานราชการ พนักงานกระทรวงสาธารณสุข หรือลูกจ้างชั่วคราวตามจำนวนที่ได้บรรจุบุคคลเข้ารับราชการและให้กระทรวงสาธารณสุขปรับรูปแบบการจ้างพนักงานกระทรวงสาธารณสุขโดยเน้นเฉพาะการจ้างงานสนับสนุนทั่วไปเท่านั้น และให้กระทรวงสาธารณสุขรายงานผลการดำเนินการเกี่ยวกับการเปลี่ยนสายงาน การบรรจุบุคคลเข้ารับราชการ ตลอดจนการยุบเลิกตำแหน่งที่จ้างงานด้วยรูปแบบอื่นให้ คปร. ทราบด้วย
1.3) เห็นชอบให้ อ.ก.พ. กระทรวงสาธารณสุข แบ่งการกำหนดตำแหน่งอัตราข้าราชการ ตั้งใหม่เป็น 3 ระยะ ดังนี้
ระยะที่ 1 ให้กำหนดตำแหน่งเพื่อรองรับการบรรจุกลุ่มบุคลากรที่ให้บริการในสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยตรง รวม 25,051 อัตรา ภายในเดือนพฤษภาคม 2563
ระยะที่ 2 ให้กำหนดตำแหน่งเพื่อรองรับการบรรจุกลุ่มบุคลากรที่สนับสนุนการให้บริการในสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รวม 5,616 อัตรา ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2563 เป็นต้นไป
ระยะที่ 3 ให้กำหนดตำแหน่งเพื่อรองรับการบรรจุกลุ่มบุคลากรที่ให้บริการหรือสนับสนุนการให้บริการในสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหรือสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ รวม 7,438 อัตรา ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ ให้กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการ
โอนเงินงบประมาณเหลือจ่ายประจำปีและเงินนอกงบประมาณของกระทรวงสาธารณสุขมาตั้งจ่ายเป็นเงินเดือนและค่าตอบแทนของบุคลากรที่ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการดังกล่าวตามจำนวนวงเงินงบประมาณงบบุคลากรที่จะใช้ เพื่อลดการขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายเงินงบกลาง ตามที่ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเสนอต่อที่ประชุม
2) การจัดสรรอัตราข้าราชการตั้งใหม่เพื่อบรรจุนักศึกษาผู้สำเร็จการศึกษา
ในปี พ.ศ. 2563 จำนวน 5 สายงาน รวมทั้งสิ้น 7,579 อัตรา
2.1) ตำแหน่งนายแพทย์และทันตแพทย์
เห็นชอบให้จัดสรรอัตราข้าราชการตั้งใหม่ตำแหน่งนายแพทย์และทันตแพทย์ให้กับสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข เพื่อรองรับการบรรจุนักศึกษาวิชาแพทยศาสตร์และทันตแพทยศาสตร์ ที่เป็นนักศึกษาคู่สัญญากับกระทรวงสาธารณสุขและสำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. 2563 รวม 2,792 อัตรา โดยเป็นตำแหน่งนายแพทย์ จำนวน 2,157 อัตรา และตำแหน่งทันตแพทย์ จำนวน 635 อัตรา และให้นำจำนวนอัตราข้าราชการตำแหน่งนายแพทย์ที่ได้รับจัดสรรตามข้อ 1) มานับรวมเป็นส่วนหนึ่งของจำนวนตำแหน่งนายแพทย์ตามเป้าหมาย
ที่กำหนดในแผนปฏิรูปกำลังคนและภารกิจบริการด้านสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุขในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ซึ่ง คปร. จะจัดสรรอัตราข้าราชการตั้งใหม่ตำแหน่งนายแพทย์และตำแหน่งทันตแพทย์ให้เป็นปีสุดท้ายด้วย ทั้งนี้ หากกระทรวงสาธารณสุขพิจารณาแล้วเห็นว่าจำเป็นต้องบรรจุนักศึกษาคู่สัญญาของนักศึกษาวิชาแพทยศาสตร์และทันตแพทยศาสตร์เป็นข้าราชการต่อไป ให้กระทรวงสาธารณสุขทบทวนความต้องการอัตรากำลัง และแสดงความจำเป็นพร้อมกับแผนการใช้ประโยชน์ว่าจะใช้ตำแหน่งดังกล่าวในการปฏิบัติภารกิจตามแผนงานหรือยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องอย่างไร เพื่อให้ คปร. พิจารณาต่อไป
2.2) ตำแหน่งเภสัชกร
เห็นชอบให้กระทรวงสาธารณสุขบรรจุนักศึกษาวิชาเภสัชศาสตร์ที่เป็นนักศึกษาคู่สัญญาของกระทรวงสาธารณสุขเป็นพนักงานราชการแทนการบรรจุเป็นข้าราชการตามมติ อ.ก.พ.กระทรวงสาธารณสุข ในการประชุมครั้งที่ 9/2562 เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2562 และให้นำจำนวนอัตราข้าราชการตำแหน่งเภสัชกรที่ได้รับจัดสรรตามข้อ 1) มานับรวมเป็นส่วนหนึ่งของจำนวนตำแหน่งเภสัชกรตามเป้าหมายที่กำหนดในแผนปฏิรูปกำลังคนและภารกิจบริการด้านสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุขในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 โดยยังไม่จัดสรรอัตราข้าราชการตั้งใหม่ตามที่ขอ
2.3) ตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพและนักวิชาการสาธารณสุข
เห็นชอบให้กระทรวงสาธารณสุขพิจารณาทบทวนเหตุผลความจำเป็นของภารกิจ จัดทำแผนกำลังคนรองรับและแสดงความสอดคล้องกับแผนปฏิรูปกำลังคนฯ เพื่อให้อัตราข้าราชการที่จะขอตั้งใหม่มีความชัดเจนทั้งภารกิจและหน่วยงานที่จะปฏิบัติ รวมถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากการบรรจุบุคคลเข้ารับราชการ โดยจะต้องไม่ซ้ำซ้อนกับอัตรากำลังที่ได้รับจัดสรรและหากมีความจำเป็นให้จัดทำรายละเอียดเสนอ คปร. ในโอกาสต่อไป
3) การคัดเลือกบรรจุบุคคลซึ่งมิได้สำเร็จการศึกษาในวุฒิที่ ก.พ. กำหนดให้คัดเลือกบรรจุเข้ารับราชการตามหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 1004/ว 17 ลงวันที่ 19 กันยายน 2562
เห็นชอบให้สำนักงาน ก.พ. พิจารณาดำเนินการตามมาตรา 55 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 เพื่อคัดเลือกบรรจุบุคลากรในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานในสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งเป็นกรณีที่มีเหตุพิเศษเข้ารับราชการและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งโดยไม่ต้องดำเนินการสอบแข่งขัน ทั้งนี้ ให้หารือร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการดำเนินการคัดเลือกบุคคลเข้ารับราชการให้สอดคล้องกับข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ สิทธิประโยชน์ของผู้ที่จะบรรจุเข้ารับราชการ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ ก.พ. และคณะรัฐมนตรีกำหนดไว้เดิม ตามหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 1008.1/154 ลงวันที่ 6 มิถุนายน 2556 และ ที่ นร 1012.2/235 ลงวันที่ 16 ตุลาคม 2560 แล้วแต่กรณี
4) การขอสนับสนุนเงินเพิ่มพิเศษรายเดือนสำหรับบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข
เห็นชอบให้บุคลากรสาธารณสุขผู้ปฏิบัติงานในสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้รับเงินเพิ่มพิเศษรายเดือนในอัตรา ดังนี้
กลุ่มที่ 1 ผู้ปฏิบัติงานโดยตรง ให้ได้รับในอัตราเดือนละ 1,500 บาท
กลุ่มที่ 2 ผู้ปฏิบัติงานสนับสนุน ให้ได้รับในอัตราเดือนละ 1,000 บาท
ประมาณการงบประมาณที่จะต้องใช้สำหรับการจ่ายเงินเพิ่มพิเศษรายเดือน เป็นระยะเวลา 7 เดือน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 2,746,397,500 บาท
สำหรับหลักเกณฑ์การได้รับเงินเพิ่มพิเศษสำหรับบุคลากรสาธารณสุข ให้กระทรวงการคลัง (กรมบัญชีกลาง) จัดทำระเบียบหรือหลักเกณฑ์เพื่อรองรับการเบิกจ่ายเงินเพิ่มพิเศษ โดยอาจกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเพิ่มพิเศษให้สอดคล้องกับกฎหมายหรือระเบียบว่าด้วยการจ่ายเงินอื่นที่กำหนดให้จ่ายเป็นรายเดือน
ทั้งนี้ ให้นำหลักเกณฑ์ตามข้อนี้ไปใช้บังคับโดยอนุโลมกับข้าราชการทหาร ข้าราชการตำรวจ ข้าราชการและพนักงานมหาวิทยาลัยในสถานพยาบาลสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ข้าราชการและพนักงานส่วนท้องถิ่น และบุคลากรภาครัฐอื่น ที่ปฏิบัติงานด้านสาธารณสุขในสถานการณ์เช่นเดียวกันนี้
5) การจัดสรรโควตาพิเศษความดีความชอบพิเศษสำหรับบุคลากรสาธารณสุข
เห็นชอบให้บุคลากรสาธารณสุขผู้ปฏิบัติงานในสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้รับการเลื่อนเงินเดือนเป็นกรณีพิเศษ ดังนี้
5.1) ระบบการเลื่อนเงินเดือนแบบร้อยละ ให้ผู้ปฏิบัติงานทั้งกลุ่มผู้ปฏิบัติงานโดยตรงและกลุ่มผู้ปฏิบัติงานสนับสนุน ได้รับการเลื่อนเงินเดือนเพิ่มขึ้นจากการเลื่อนเงินเดือนปกติอีกร้อยละ 1 ของฐานในการคำนวณต่อรอบการประเมิน ทั้งนี้ เมื่อรวมการเลื่อนเงินเดือนกรณีปกติกับการเลื่อนเงินเดือนกรณีพิเศษแล้ว ต้องไม่เกินร้อยละ 6 ของฐานในการคำนวณ
5.2) ระบบการเลื่อนเงินเดือนแบบขั้น ให้ผู้ปฏิบัติงานทั้งกลุ่มผู้ปฏิบัติงานโดยตรงและกลุ่มผู้ปฏิบัติงานสนับสนุนได้รับการเลื่อนขั้นเงินเดือนทั้งกรณีปกติและกรณีพิเศษนอกเหนือโควตาปกติ รวมทั้งปีไม่เกิน 2 ขั้น โดยไม่นับรวมอยู่ในโควตาการเลื่อนขั้นเงินเดือนของผู้มีผลงานดีเด่น ร้อยละ 15 ของจำนวนผู้ปฏิบัติงานในรอบการประเมิน
ประมาณการงบประมาณที่จะต้องใช้สำหรับการเลื่อนเงินเดือนกรณีพิเศษ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 2,023,270,920 บาท
สำหรับหลักเกณฑ์การเลื่อนเงินเดือนกรณีพิเศษนอกเหนือโควตาปกติให้สำนักงาน ก.พ. แจ้งแนวทางปฏิบัติเพื่อให้กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการ โดยนำหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติในการพิจารณาบำเหน็จความชอบกรณีพิเศษนอกเหนือโควตาปกติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2552 และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องมาใช้โดยอนุโลม
ทั้งนี้ ให้นำหลักเกณฑ์ตามข้อนี้ ไปใช้บังคับโดยอนุโลมกับข้าราชการทหาร ข้าราชการตำรวจ ข้าราชการและพนักงานมหาวิทยาลัยในสถานพยาบาลสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ข้าราชการและพนักงานส่วนท้องถิ่น และบุคลากรภาครัฐอื่น ที่ปฏิบัติงานด้านสาธารณสุขในสถานการณ์เช่นเดียวกันนี้
6) การเพิ่มอายุราชการเพิ่มทวีคูณในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉินสำหรับบุคลากรสาธารณสุข
มีมติรับทราบตามที่กระทรวงการคลังชี้แจงว่า กรณีการขอเพิ่มอายุราชการทวีคูณในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉินสำหรับบุคลากรสาธารณสุขเนื่องจากการนับเวลาราชการเป็นทวีคูณของข้าราชการเป็นไปตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 มาตรา 24 ซึ่งบัญญัติไว้โดยสรุปว่า ข้าราชการสามารถนับเวลาราชการเป็นทวีคูณได้ 2 กรณี ได้แก่ (1) ผู้ซึ่งกระทำหน้าที่ตามที่กระทรวงกลาโหมกำหนด ในระหว่างเวลาที่มีการรบหรือการสงครามหรือมีการปราบปรามจลาจล หรือในระหว่างเวลาที่มีพระบรมราชโองการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือในระหว่างเวลาที่สั่งให้เป็นนักดำเรือดำน้ำ และ (2) ในกรณีที่มีการประกาศกฎอัยการศึก ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีอำนาจพิจารณาให้ข้าราชการซึ่งประจำปฏิบัติหน้าที่อยู่ในเขตที่ได้มีการประกาศกฎอัยการศึกนั้น ได้รับการนับเวลาราชการที่ปฏิบัติหน้าที่ในระหว่างนั้นเป็นทวีคูณได้ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด ดังนั้น การนับเวลาราชการเป็นทวีคูณสำหรับบุคลากรสาธารณสุข จึงต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว
7) การลดดอกเบี้ยเงินกู้ส่วนบุคคลกรุงไทยธนวัฏ/ธนาคารออมสิน ระยะเวลา 1 ปี สำหรับบุคลากรสาธารณสุข
มีมติรับทราบมาตรการช่วยเหลือเพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ให้กับข้าราชการและบุคลากรของกระทรวงสาธารณสุขของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารออมสิน อย่างไรก็ดี ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารออมสินอยู่ระหว่างการพิจารณาขยายมาตรการเดิม หรือกำหนดมาตรการอื่นเพิ่มเติม ซึ่งจะแจ้งให้กระทรวงสาธารณสุขและสำนักงาน ก.พ. ทราบต่อไป
8) การปรับอัตราจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ให้บริการสาธารณสุขตามข้อ 6 ของระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ให้บริการสาธารณสุขที่ได้รับความเสียหายจากการให้บริการสาธารณสุข พ.ศ. 2561 กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 จำนวน 2 เท่าจากอัตราเดิม
มีมติรับทราบตามความเห็นของกระทรวงการคลังว่า กรณีนี้เป็นการช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ ผู้ให้บริการสาธารณสุขกรณีติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โรคโควิด 19 ดังนั้น จึงเห็นสมควรที่คณะรัฐมนตรีจะให้ความเห็นชอบในหลักการตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำรายละเอียดข้อมูลพร้อมกับการขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรีแล้ว