ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจ้างงานผู้พ้นโทษเข้าทำงาน)
วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงการคลังและกระทรวงยุติธรรมรับความเห็นของสำนักงบประมาณไปพิจารณาดำเนินการต่อไป
กค. เสนอว่า
1. สืบเนื่องจากกระทรวงยุติธรรม (ยธ.) ได้มีนโยบายพัฒนาและส่งเสริมอาชีพของผู้พ้นโทษ ผู้ถูกคุมประพฤติ เด็กและเยาวชนผู้กระทำความผิดที่พ้นการฝึกอบรม ซึ่งได้ดำเนินการภายใต้นโยบายของรัฐบาลในการยกระดับศักยภาพ ทักษะและสมรรถนะแรงงานอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน เพื่อสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำให้กับบุคคลเหล่านี้ให้สามารถประกอบอาชีพโดยสุจริตดูแลตนเองและครอบครัวได้ไม่หวนกลับไปกระทำความผิดซ้ำ ด้วยการสร้างอาชีพเพื่อเป็นการเพิ่มคุณค่าให้บุคคลเหล่านี้ก่อนได้รับการปล่อยตัว
2. แต่เนื่องจากผู้ต้องขังหรือเด็กและเยาวชนผู้กระทำความผิดซึ่งได้รับการปล่อยตัวภายหลังพ้นโทษถือเป็นบุคคลที่มีประวัติทางอาชญากรรม ทำให้นายจ้างหรือผู้ประกอบการปฏิเสธการรับบุคคลเหล่านี้เข้าทำงาน ส่งผลให้ผู้ต้องขังหรือเด็กและเยาวชนดังกล่าวขาดโอกาสในการเข้าทำงาน ดังนั้น รัฐจึงจำเป็นต้องมีมาตรการในการส่งเสริมและสนับสนุนให้นายจ้างและสถานประกอบการจ้างงานผู้ต้องขังหรือเด็กและเยาชนซึ่งได้รับการปล่อยตัวดังกล่าว โดยมีมาตรการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่นายจ้างหรือผู้ประกอบการซึ่งจ้างงานผู้ต้องขังหรือเด็กและเยาวชนผู้กระทำผิดซึ่งได้รับการปล่อยตัวและเป็นการสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐ เพื่อพัฒนาพฤตินัยผู้ต้องขังให้กลับตัวเป็นคนดีคืนสู่สังคมหลังพ้นโทษ
3. กค. โดยกรมสรรพากรได้มีการประชุมหารือกับ ยธ. เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2562 เพื่อพิจารณาร่วมกันในหลักการการกำหนดสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้กับผู้ประกอบการที่จ้างผู้พ้นโทษเข้าทำงานฯ ให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น นอกจากนี้ กค. ได้วิเคราะห์การจัดทำประมาณการการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับตามมาตรา 27 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ดังนี้
3.1 การกำหนดสิทธิประโยชน์ทางภาษีโดยให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งรับผู้พ้นโทษที่ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำเป็นระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี นับแต่วันที่ได้รับ การปล่อยตัวเข้าทำงาน สำหรับเงินได้เป็นจำนวนร้อยละห้าสิบของรายจ่าย ที่ได้จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างแรงงานผู้พ้นโทษเฉพาะในส่วนที่ไม่เกิน 15,000 บาทต่อคนต่อเดือน สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีเริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2563 แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2563
3.2 การจัดทำประมาณการการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับฯ โดยเห็นว่ามาตรการทางภาษีดังกล่าวทำให้รัฐจัดเก็บภาษีลดลงประมาณ 6,732 ล้านบาท แต่มีประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ ดังนี้
3.2.1 สร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมสนับสนุนการจ้างงานผู้พ้นโทษ ให้มีอาชีพก่อให้เกิดรายได้พึ่งพาตนเองอย่างมีศักดิ์ศรี
3.2.2 สร้างโอกาสให้ผู้พ้นโทษกลับคืนสู่สังคมได้อย่างมั่นคง ก่อให้เกิดการสร้างสังคมที่ปลอดภัยจากการลดการกลับมากระทำความผิดซ้ำ
3.2.3 เสริมสร้างด้านเศรษฐกิจตลาดแรงงานในประเทศไทยที่ขาดแคลนโดยไม่ต้องพึ่งแรงงานประเทศเพื่อนบ้าน
สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
1. กำหนดบทนิยามคำว่า “ผู้พ้นโทษ” หมายความว่า นักโทษเด็ดขาด ซึ่งมีสัญชาติไทยที่ได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำ เนื่องจากครบกำหนดโทษตามหมายศาล ลดวันต้องโทษจำคุก หรือพักการลงโทษ
2. กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งรับผู้พ้นโทษที่ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำเป็นระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี นับแต่วันที่ได้รับการปล่อยตัวเข้าทำงาน สำหรับเงินได้เป็นจำนวนร้อยละห้าสิบของรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างแรงงานผู้พ้นโทษเฉพาะในส่วนที่ไม่เกิน 15,000 บาทต่อคนต่อเดือน สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีเริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2563 แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2563
3. กำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 59 แห่งประมวลรัษฎากรสำหรับการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 (1) แห่งประมวลรัษฎากร กรณีการจ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตภายในกำหนดเวลาตามกฎหมาย ตั้งแต่เดือนที่รับผู้พ้นโทษเข้าทำงานจนถึงเดือนสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้
4. กำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ เนื่องจากการจ้างแรงงานผู้พ้นโทษ ต้องไม่ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้เนื่องจากรายจ่ายในการจ้างงานบุคคลดังกล่าวตามพระราชกฤษฎีกาอื่นที่ออกตามความในประมวลรัษฎากรอีกไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน