1.ประเทศไทยเปลี่ยนไป การศึกษาก็ต้องปรับตัวเช่นกัน เราประสบกับวิกฤติที่ทำให้ชะงักงัน (Disruption) อย่างน้อย 5 ประการ ได้แก่
1.1 จำนวนประชากรลดลง
1.2 ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี
1.3 โครงสร้างอาชีพและการทํางานในอนาคตเปลี่ยนไปะ
1.4 กระแสการเกิดกระบวนการจัดการเรียนรู้ออนไลน์
1.5 วิกฤติจากสถานการณ์ใหม่ที่ไม่เคยเกิดมาก่อนในโลก เช่นโรคระบาดโควิด-19
ดังนั้นการจัดการศึกษาจึงต้องปรับตัวและเปลี่ยนแปลง เพื่อรองรับวิกฤติที่เป็นภาวะชะงักงัน (Disruption)
2.เป้าหมายการศึกษาทุกระดับชั้นในปัจจุบัน เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่มุ่งเน้นแต่ความรู้ เปลี่ยนเป็น วิถีชีวิตใหม่ (New Normal) ตามกระแสโลกใหม่ในศตวรรษที่ 21
2.1 เน้นทักษะ (Skills) และสมรรถนะ (Competency)
2.2 มุ่งสู่ระบบการเรียนรู้แบบบูรณาการ ระหว่างการสอนแบบเผชิญหน้า (Face to Face) กับการสอนผ่านสื่อเทคโนโลยี (Online) บนแฟลตฟอร์ม (Platform) ต่างๆ
2.3 การสอนออนไลน์เต็มรูปแบบตามแนวทางมหาวิทยาลัยไซเบอร์ หรือมหาวิทยาลัยเสมือนจริง (Virtual University)
3. โลกปัจจุบันเป็นโลกแห่งการแข่งขัน
3.1 การเรียนรู้ทำได้ง่ายทางสื่อเทคโนโลยีต่างๆ
3.2 ชีวิตที่มีการแข่งขันสูง ทำให้มนุษย์ควรจะได้ทำงานเร็วกว่าวิถีชีวิตปกติ
3.3 การปรับระบบการศึกษาไทย โดยให้เรียนการศึกษาพื้นฐาน 13 ปี และ ปริญญาตรี 3 ปี รวม 16 ปี จะทำให้เด็กไทยสำเร็จการศึกษาเร็วขึ้นหนึ่งปี ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการดำรงชีวิต
4.วิเคราะห์ปัญหาและอุปสรรคในการปฏิรูปการศึกษาอย่างจริงจัง เพื่อจะสร้างการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง ให้สำเร็จได้จริง
4.1 ต้องวิเคราะห์หาทางออกในเชิงยุทธศาสตร์ โดยต้องประกอบด้วยคนส่วนใหญ่ที่มีแรงผลักดัน มุ่งมั่นอยากเปลี่ยนแปลงให้เกิดผลได้ภายใน 2-3 ปีเป็นอย่างช้า จะได้กล้าคิดนอกกรอบ มิฉะนั้น จะไม่กล้าคิด แล้วพยายามแก้ไขด้วยวิธีเดิมตลอด
4.2 เริ่มต้้งแต่ กำหนดคุณภาพการศึกษาที่ต้องการที่แท้จริงที่เป็นรูปธรรม คือ อะไร ที่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศและสังคมให้แข็งแรง
4.3 สื่อสารให้เข้าใจตรงกันในลักษณะสมรรถนะ (Competency-Based) ง่ายต่อการออกแบบกระบวนการ
4.4 สามารถประเมินผลได้ชัดเจน
4.5 หานวัตกรรมที่เหมาะสมมาช่วยให้บรรลุเป้าหมายได้โดยเร็ว ภายใต้ทรัพยากรที่จำกัด
4.6 ที่ผ่านมานโยบายที่ออกมา ไม่ได้ทำให้เกิดผลทางด้านคุณภาพที่ได้ผลจริง ดังนั้นการตั้งเป้าคุณภาพ และการมีวิธีวัดผลที่ถูกต้องเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด
4.7 การแก้ไขปัญหาทุกอย่าง เรามักต้องใช้กฏหมาย ถึงเวลาต้องพิจารณา เราจำเป็นต้องใช้กฏหมายแบบนี้หรือไม่ เพราะพลวัตรของการเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบันรวดเร็วมาก จะมีกลไกอื่นที่จะมาทดแทนระบอบกฏหมายได้หรือไม่
5. เปรียบเทียบผลการดำเนินงานอย่างแท้จริง เพื่อดูว่า โครงสร้างปัจจุบันตั้งแต่ภาพรวมของระบบการบริหารจัดการ ให้มีโอกาสเอื้อต่อการพัฒนาคุณภาพ
5.1 การศึกษาที่ต้องการให้ก้าวกระโดดจนได้สิ่งที่ต้องการได้จริงไหม ติดขัดที่ใด กลไกใดที่ไม่จำเป็นต่อการขับเคลื่อน
5.2 คุณภาพการศึกษาที่ต้องการ ได้กำหนดเป้าหมายใหญ่ หากจะอิงกับกฏหมาย ก็ขอให้เริ่มต้นจากรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2560 มาตรา 54 วรรค 4 ต้องทำเป็นรูปธรรมให้ชัดเจน
5.3 มีตัวอย่างนวัตกรรมการเรียนรู้ที่เป็นรูปธรรมแล้ว คือ นวัตกรรม STAR STEMS ได้ประยุกต์หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาสู่การปฏิบัติ ซึ่งเป็นกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันจากสถานการณ์จริง ทุกคนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม สร้างสังคมการเรียนรู้ สร้างกระบวนคิดรอบคอบ รอบด้าน บนพื้นฐานคุณธรรม น้อมนำคุณค่าไทย และเข้าใจภูมิสังคม
5.4 ต้องจัดการเรียนรู้ให้เป็นกระบวนการที่สามารถตอบความต้องการการศึกษายุคใหม่ของไทย โดยเฉพาะยุคหลั’การระบาดของโรคติดต่อ (After COVID 19) ได้อย่างมีประสิทธิภาพชัดเจน
6. ช่วยกันวิเคราะห์ว่าที่ผ่าน 100 ปี การศึกษาไทย ปัญหาอยู่ที่ไหน อนาคตต้องการอย่างไร
6.1 ทำอะไรไปแล้วบ้าง ที่ทำไปได้ผล อย่างไร เพราะอะไรจึงเป็นเช่นนั้น
6.2 ปัญหาอยู่ที่ไหน ใครเกี่ยวข้องบ้าง เพราะที่ผ่านมาการแก้ไขปัญหา ยิ่งกลับสร้างปัญหามากขึ้น อย่ามองภาพแบบฉวบฉวย หรือหาแพะรับบาป
6.3 เจาะลึกลงไปที่ต้นเหตุ ซึ่งไม่ใช่ดูเพียงโครงสร้าง นโยบาย ระเบียบ กฏหมาย อำนาจ หน้าที่ งบประมาณ ความรับผิดชอบ หรือสิ่งที่เราเห็น เท่านั้น
6.4 ต้องมองไปที่วิวัฒนาการ ประวัติศาสตร์ ความเป็นมาและเป็นไป วัฒนธรรม วิถีชีวิต ภูมิปัญญาท่องถิ่น ความเชื่อ ศาสนาและสิ่งอื่นที่เราอาจมองข้ามมาตลอด แต่มีผลต่อพัฒนาการศึกษา
6.5 ที่ผ่านมาเรามักใช้วิธีที่เราเรียกว่าบูรณาการ (Integration) คือเอาสิ่งที่มีปัญหาอยู่แล้วมา สุดท้ายกลายเป็นปะติดปะต่อ เพราะยังคงเวียนว่ายอยู่ในโครงสร้างเดิม ที่สลับกันไปมาเท่านั้น มันเป็นวงจรอย่างนี้มานานแสนนาน
6.6 กระบวนการเรียนรู้ ต้องทำให้เกิดสามัญสำนึกและความรับผิดชอบ ต้องนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน จะได้เห็นภาพครบทุกด้านทุกมุมมอง เราจะได้รู้ว่า ปัญหาจริงๆคืออะไร แล้วจะมาร่วมกันออกแบบใหม่ อยากเห็นอนาคตของชาติและของคนไทยเป็นอย่างไร
7. การปรับโครงสร้างองค์กร
7.1 ไม่ควรมีการขยายหน่วยงานออกไปอีก ควรพิจารณาแบบองค์รวมและต้องมองทั้ง รูปแบบที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ (Formal Institution และ Informal Institution)
7.2 ต้องเลิกทำแบบปะติดปะต่อ ย้ายหน่วยงานนั้นมาอยู่หน่วยนี้แบบเดิมอีกแล้ว อะไรควรเอาไว้ อะไรควรยุบ ควรยกเลิก ต้องทำ
7.3 ต้องกล้าตัดสินใจ อย่าปรับโครงสร้างแบบปะผุ เขตพื้นที่การศึกษากับศึกษาธิการจังหวัด ยังมีปัญหาแย่งอำนาจบริหารกันอยู่
7.4 เจตนา พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 กระทรวงศึกษาธิการต้องเล็กลง กระจายอำนาจมากขึ้น แต่ผ่านมา 20 ปี อำนาจยังอยู่ที่ส่วนกลาง อ้างแต่ความไม่พร้อม
7.5 ถึงเวลาแล้วที่ต้องให้จังหวัดรับผิดชอบการศึกษาของจังหวัดเอง ศึกษาธิการภาคอาจจะไม่จำเป็นด้วยซ้ำไป เปลืองงบประมาณ
7.6 ส่วนเขตพื้นที่การศึกษาทั้งหมด รวมทั้งการจัดการศึกษาทั้งสามัญ อาชีวศึกษา การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) และโรงเรียนเอกชน (ยกเว้นอุดมศึกษา) ให้จังหวัดดูแลรับผิดชอบเองได้แล้ว โดยให้มีคณะกรรมการนโยบายการศึกษาจังหวัด กำกับดูแลทิศทางและคุณภาพการศึกษา ซึ่งจังหวัดสามารถพิจารณานำเงินท้องถิ่นมาจัดสรรเพิ่มเงินให้กับเงินเดือนครูสาขาขาดแคลนได้ หรือจ้างครูเพิ่มได้โดยไม่ต้องรองบประมาณแผ่นดินอย่างเดียว มีอิสระในการบริหารอย่างแท้จริง
7.7 ให้จัดระบบที่สามารถสั่งให้ย้ายศึกษาธิการจังหวัดออกนอกระบบเป็นวาระ 4 ปี ไม่ใช้ข้าราชการแบบปัจจุบัน หากคุณภาพการศึกษาไม่ดีทำไม่ได้ก็เลิกจ้าง
7.8 ให้มุ่งเน้นผลสัมฤทธ์ของงานที่คุณภาพการศึกษา ต้องมีผู้รับผิดชอบไม่ว่าจะเป็น ผู้อำนวยการ โรงเรียน ผู้อำนวยการเขตพื้นที่ หรือศึกษาธิการจังหวัด หากคุณภาพต่ำ
7.9 ต้องกระจายอำนาจจากกระทรวงศึกษาธิการออกไปให้จังหวัดอย่างจริงจัง งบประมาณการศึกษาลงไปที่จังหวัดโดยตรงไม่ใช่ลงที่ส่วนกลาง แล้วให้ส่วนกลางจัดสรรส่งไปให้
8. ต้องพัฒนาคุณภาพการศึกษาแบบก้าวกระโดด
8.1 คำถาม คือ ทำไมจึงไม่มีบทบาทการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นได้สำเร็จเลย ติดขัดอะไร หรือสุดท้าย คือยังไม่รู้ว่าจะปรับปรุงให้ดีขึ้นได้อย่างไร หรือเพราะไม่มีองค์ความรู้ และไม่สามารถนำการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นจริงได้
8.2 เรามีคำตอบสำหรับทุกปัญหา แต่ในทางปฏิบัติจริงผู้รับผิดชอบไม่ได้ต้องการคำตอบเลย เพราะมีในใจเองหมดแล้ว
9. ปัญหาที่โรงเรียนอยากแก้ให้สำเร็จเป็นอันดับแรก คืออะไร
9.1 ผู้อำนวยการและครูทั้งประเทศ จะตอบว่า O-NET แต่ไม่รู้ว่าจะทำให้ดีขึ้นได้อย่างไร ติวเข้ม เอาเป็นเอาตายกันก็แล้ว จนเครียดกันหมดทั้งโรงเรียน
9.2 คณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ก็แก้ปัญหาคุณภาพการศึกษาเหล่านี้ไม่ตกเช่นเดียวกัน จึงไม่สามารถพัฒนากระบวนการให้ครูได้เรียนรูู้ และออกไปทำจริงได้
9.3 เราขาดนวัตกรรมทางการศึกษา ที่จะช่วยให้ครูของเราเรียนรู้ และนำไปใช้งานแก้ปัญหาจริงได้
10. เราไม่เคยมีโครงการไหนในกระบวนการเรียนรู้ ที่ไม่มีเด็กถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลัง (No Child Left Behind) อย่างแท้จริง เรายังมีความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอยู่มา
11. การพัฒนาครู
11.1 ครู ส่วนใหญ่ ถูกปิดกั้นด้วยตัวชี้วัด และ เนื้อหาวิชา ยากที่จะคิดนอกกรอบได้ยิ่งหากสัญญาณจากข้างบนเองก็ไม่ยืดหยุ่น หรือบางที่ก็ทำตามสบายจนไม่อยากจะคิด11.2 ต้องพัฒนาครูที่วิธีจัดการเรียนรู้ เช่น การสอนแบบ Flip Class Room ในหมวดวิชาไฟฟ้า ปรากฎว่า เด็กๆ ชอบใจและสนุกกันมาก
11.3 ครูที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล จะสามารถสร้างกระบวนการ บนเนื้อหาเดิมแต่สร้างการเรียนรู้ใหม่ แถมได้ความท้าทาย ที่จะเด็กๆ ไป คิดต่อยอดนวัตกรรม (Innovation) ต่อได้เลย
11.4 ให้ปรับห้องเรียนโดยวางแผนเปลี่ยนใหม่ เช่น
- เข้ามาในห้อง ยังไม่ใช้วิธีขานชื่อแบบเดิม
-แต่ เข้าสู่ โหมดการเล่นเกมส์ แบ่งกลุ่ม โดยบอกกติกา รวมทั้งจดรายชื่อสมาชิกกลุ่มไว้ ตั้งชื่อกลุ่มกันเอง แข่งต่อไฟฟ้ากระแสตรงเลย
- วัดกันที่ของใครหลอดสว่างทีมแรก ชนะ ขานชื่อสมาชิกกลุ่ม
- แข่งเกมส์ โดยหาความต่างระหว่างกลุ่มที่หลอดไฟสว่าง กับกลุ่มที่หลอดไฟไม่สว่าง ว่า ต่างกันตรงไหน เร็วกว่ากัน ขานชื่อกลุ่ม
- ลองเปิดถกแถลงว่า ทำไมหลอดไฟติดและไม่ติด แล้วค่อยใส่เนื้อหาเข้าไป
- ต่อด้วยเกมส์ โดยให้ลุ่มหนึ่งลองตั้งโจทย์ที่ไม่ซ้ำกัน แล้วอีกกลุ่มฝึกตอบโจทย์
11.5 ระบบพัฒนาครูอย่างเดียว ยังหาเจ้าภาพหลักไม่ได้ เพราะมีหน่วยงานเกี่ยวข้องจำนวนมาก ต่างคนต่างทำ จึงพายเรือวนอยู่ในอ่าง
11.6 กระบวนการประเมินครู เช่น การเลื่อนวิทยฐานะ เป้าหมายคุณภาพมีชัดเจนอยู่แล้ว ใน ว.17/2552 แต่มาเปลี่ยนเป็น ว.22/2560 ซึ่งกลับปรากฏว่าหลักเกณฑ์ใหม่นี้ที่เปลี่ยนไปมีจุดอ่อนในด้านหลักการ
12. การพัฒนาสถานศึกษา
12.1 การกระจายอำนาจและลดขั้นตอนส่วนกลางลง ให้โรงเรียนมีคณะกรรมการ (ที่ไม่มีครู ไม่มีลูกจ้าง แต่มีเพียง ผู้อำนวยการคนเดียวและผู้ปกครองหรือผู้ทรงคุณวุฒิที่ไม่ได้มาจากตำแหน่ง แต่มาจากความรู้ ความสามารถ) ตรวจสอบคุณภาพกันเอง
12.2 กระทรวงมีหน้าที่แนะนำและส่งเสริมขบวนการการทำหน้าที่ของคณะกรรมการโรงเรียน
12.3 กลไกในการวัดคุณภาพ ตัดการรายงานตามลำดับชั้นอย่างปัจจุบันออก เพราะไม่มีใครในส่วนกลางอ่านอยู่ดี และ ไม่มีทางทราบได้เลยว่ารายงานส่วนไหนเป็นเท็จ
12.4 การเลือก ผู้อำนวยการโรงเรียนให้คณะกรรมการมีสิทธิ์ขาด ไม่มีการก้าวก่ายจากส่วนกลาง เกิดจากการสมัครและการแสดงวิสัยทัศน์ และหากไม่ดีจริง กรรมการมีอำนาจปลด ผู้อำนวยการได้
12.5 การสร้างความรับผิดชอบ (Accountability) ให้มีผู้อำนวยการเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง โรงเรียนไหนพร้อมให้เริ่มได้เลย
12.6 การบ่มเพาะคุณลักษณะอันพึงประสงค์ และค่านิยมต่างๆ โรงเรียนไหนยังทำเรื่องนี้ไม่สำเร็จ เท่าที่ควร
12.7 เรื่องคน ควรจำแนก..ครูผู้สอน และสายงานบุคลากรฝ่ายสนับสนุน บางตำแหน่งอาจจ้างผู้มีวุฒิ ต่ำกว่าปริญญา และเปิดสายงานที่สนับสนุนงานเฉพาะทางเช่น งานวิจัย...
12.8 ในกรณีของนักศึกษาอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา เราไม่มีกลไกสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างฝ่ายผลิต กับผู้ใช้บัณฑิตในการพัฒนาคุณภาพอย่างแท้จริงและทันการ สิ่งที่เน้นจึงมีเพียง บัณฑิตมีงานทำหรือไม่ แต่กลับไม่อยากรู้ว่าบัณฑิตทำงานได้หรือไม่.
13. เราขาดแมวมองทางการศึกษา ที่พยายามแสวงหานวัตกรรมใหม่ๆ ที่น่าจะมาศึกษาเรียนรู้เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตที่เราประสบอยู่
13.1 ขาดการแสวงหาผู้ที่มีประสบการณ์และมีทางออก มาช่วยกันหาทางออกให้ประเทศอย่างจริงจัง เราเลยได้แต่คนหน้าเดิม มาแก้ปัญหาที่แต่ละคนยังแก้ไม่ตก จึงขาดความคิดใหม่ๆ
13.2 ขาดการแสวงหากรณีศึกษาที่ประสบความสำเร็จ ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ มาถอดบทเรียน และถอดกระบวนการให้ง่ายต่อการเรียนรู้ และทำตาม มาให้นักการศึกษาและครูได้ร่วมกันเรียนรู้ และได้ลองใช้กัน
ที่มา : เครือข่ายพัฒนามหาวิทยาลัย และกลุ่มโซเชียลมีเดียในแวดวงการศึกษา สรุปโดย ดร.จรวยพร ธรณินทร์ อดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
ที่มาภาพประกอบ:https://www.facebook.com/opecoffice/?tn-str=k*F