"...ผลการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงาน พบว่า โครงการยังไม่มีการวัดผลลัพธ์เชิงเศรษฐกิจและสังคมในปีที่ 2 เพื่อทราบผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินโครงการ การดำเนินงานโครงการยังไม่มีประสิทธิภาพ โดยมีผลการดำเนินงานกิจกรรมหลักบางกิจกรรมไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของชุมชนที่จัดทำแล้วเสร็จยังไม่มีการเผยแพร่เพื่อให้เกิดการนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป ตลอดจนข้อมูลจากระบบ Project Based Management: PBM บางส่วน ยังไม่ครบถ้วน ถูกต้อง.."
โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย) ภายใต้แผนงาน/โครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจ และสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 เป็นโครงการล่าสุด
ที่ถูกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบพบปัญหาในการดำเนินงานโครงการ อาทิ โครงการยังไม่มีการวัดผลลัพธ์เชิงเศรษฐกิจและสังคมในปีที่ 2 เพื่อทราบ ผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินโครงการ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการ บางส่วนมีความเห็นว่ารายได้ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมก่อนเข้าร่วม กิจกรรม และโครงการอาจยังไม่สามารถบรรลุผลสัมฤทธิ์ตามที่กำหนด ผลการดำเนินงานโครงการตามกิจกรรมหลักบางกิจกรรมไม่เป็นไปตาม เป้าหมายที่กำหนดไว้ อาจส่งผลทำให้การใช้จ่ายงบประมาณเงินกู้เกิดความไม่คุ้มค่า
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สตง. ได้เผยแพร่รายงานผลการตรวจสอบ โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ โดยมีมหาวิทยาลัยในพื้นที่เป็นหน่วยบูรณาการโครงการการจ้างงาน การฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่มีความครอบคลุมในประเด็นต่าง ๆ ตามปัญหาและความต้องการของชุมชน และการจัดทำข้อมูลขนาดใหญ่ของชุมชน เป็นโครงการที่ก่อให้เกิดประโยชน์โดยตรงในการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประชาชน บัณฑิตจบใหม่ และนักศึกษา ในพื้นที่ 3,000 ตำบล ระยะเวลาการดำเนินโครงการตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 – 31 ธันวาคม 2564 หน่วยงานหลักที่รับผิดชอบ ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) ใช้งบประมาณเงินกู้ดำเนินงานโครงการ จำนวนทั้งสิ้น 9,373.09 ล้านบาท กำหนดช่วงระยะเวลาการตรวจสอบตั้งแต่วันที่ 13 ธันวาคม 2564 – 26 สิงหาคม 2565
ผลการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงาน พบว่า โครงการยังไม่มีการวัดผลลัพธ์เชิงเศรษฐกิจและสังคมในปีที่ 2 เพื่อทราบผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินโครงการ การดำเนินงานโครงการยังไม่มีประสิทธิภาพ โดยมีผลการดำเนินงานกิจกรรมหลักบางกิจกรรมไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของชุมชนที่จัดทำแล้วเสร็จยังไม่มีการเผยแพร่เพื่อให้เกิดการนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป ตลอดจนข้อมูลจากระบบ Project Based Management: PBM บางส่วน ยังไม่ครบถ้วน ถูกต้อง
มีรายละเอียดดังนี้
ข้อตรวจพบที่ 1 โครงการยังไม่มีการวัดผลลัพธ์เชิงเศรษฐกิจและสังคมในปีที่ 2 เพื่อทราบผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินโครงการ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการบางส่วนมีความเห็นว่ารายได้ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมก่อนเข้าร่วมกิจกรรม และโครงการอาจยังไม่สามารถบรรลุผลสัมฤทธิ์ตามที่กำหนด
1. ผลลัพธ์ของโครงการปีที่ 1 บางส่วนยังไม่เป็นไปตามตัวชี้วัดที่กำหนด
ผลการตรวจสอบพบว่า กลุ่มตำบลพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนมีจำนวนมากกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้โดยเป้าหมายกำหนดไว้ร้อยละ 25.00 โดยมีผลการดำเนินงานคิดเป็นร้อยละ 55.73 ของตำบลที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมด และมีตำบลที่เข้าร่วมโครงการบางส่วนยังมีผลการดำเนินงานไม่เป็นไปตามเป้าหมายกำหนด ไม่สามารถจัดอยู่ในกลุ่มตำบลพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ตำบลมุ่งสู่ความพอเพียง หรือตำบลที่อยู่รอด โดยเป็นตำบลที่มีการบรรลุค่าเป้าหมายต่ำกว่า 8 เป้าหมายจากทั้งหมด 16 เป้าหมาย ซึ่งสป.อว. กำหนดให้เป็นกลุ่มตำบลที่ยังไม่รอดพ้นจากความยากลำบากหรือตำบลยากลำบาก มีจำนวน55 ตำบล คิดเป็นร้อยละ 1.83 ของกลุ่มตำบลเป้าหมายทั้งหมด (ระดับความสำเร็จที่ไม่ได้ถูกกำหนดไว้ในข้อเสนอโครงการ) ทั้งนี้ ในจำนวน 55 ตำบลดังกล่าว พบว่า มีตำบลที่มีศักยภาพลดลงหลังจากเข้าร่วมโครงการ จำนวน 1 ตำบล โดยก่อนเข้าร่วมโครงการผลการประเมินศักยภาพตำบลคือ ตำบลมุ่งสู่ความพอเพียง แต่ภายหลังสิ้นสุดโครงการ ผลการประเมินศักยภาพลดลงเป็น ตำบลยากลำบาก
2. โครงการยังไม่มีการวัดผลลัพธ์เชิงเศรษฐกิจและสังคม ในปีที่ 2 เพื่อทราบผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินโครงการ
ผลการตรวจสอบ พบว่า โครงการยังไม่มีการวัดผลลัพธ์เชิงเศรษฐกิจและสังคมในปีที่ 2 เพื่อทราบผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินโครงการ ทั้งนี้ การดำเนินโครงการที่ผ่านมา สป.อว. ได้จัดทำโครงการเพิ่มศักยภาพให้กับหน่วยปฏิบัติการ อว. ส่วนหน้า: การออกแบบแนวทางการประเมินผลตอบแทนทางเศรษฐกิจและสังคม โครงการในพื้นที่ระดับจังหวัดด้วยเครื่องมือ SROI โดยมอบหมายให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีดำเนินการ มีผลการประเมินในระดับประเทศ เท่ากับ 4.75X คิดเป็นมูลค่าที่เป็นตัวเงินรวมทั้งสิ้น จำนวน 50,547.70 ล้านบาท ซึ่งรายงานการประเมินผลดังกล่าวยังไม่ใช่การวัดผลลัพธ์เชิงเศรษฐกิจและสังคม ในปีที่ 2 หรือการประเมินผลสัมฤทธิ์ของโครงการ เป็นเพียงการวัดผลกระทบในเชิงตัวเลขที่มีการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนเงินที่ลงทุนไปว่าสามารถที่จะสร้างผลกระทบที่เป็นตัวเงินต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ได้มากน้อยเพียงใด
3. ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการบางส่วนมีความเห็นว่ารายได้ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมก่อนเข้าร่วมกิจกรรม และโครงการอาจยังไม่สามารถบรรลุผลสัมฤทธิ์ตามที่กำหนด
ผลการตรวจสอบ พบว่า ผู้เข้าร่วมกิจกรรมภายใต้กรอบกิจกรรมที่ 1 การพัฒนาสัมมาชีพและสร้างอาชีพใหม่บางส่วนมีความเห็นว่าการเข้าร่วมกิจกรรมยังไม่สามารถเพิ่มรายได้ให้กับตนเองได้อย่างชัดเจน และโครงการอาจยังไม่สามารถบรรลุผลสัมฤทธิ์ตามที่กำหนด รายละเอียดดังนี้
1) ผู้เข้าร่วมกิจกรรมภายใต้กรอบกิจกรรมที่ 1 การพัฒนาสัมมาชีพและสร้างอาชีพใหม่จำนวน 4 กิจกรรม คิดเป็นร้อยละ 6.67 ของผู้เข้าร่วมกิจกรรมที่ให้สัมภาษณ์ทั้งหมด มีความเห็นว่ารายได้ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม และผู้เข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 18 กิจกรรม คิดเป็นร้อยละ30.00 ของผู้เข้าร่วมกิจกรรมที่ให้สัมภาษณ์ทั้งหมด มีความเห็นว่า มีรายได้น้อยลงกว่าเดิม หรือไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่ามีรายได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
ทั้งนี้ ทีมตรวจสอบได้มีการตกลงร่วมกับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบโครงการของ สป.อว. ว่าการตรวจสอบครั้งนี้จะไม่นำกลุ่มตัวอย่างนี้มาพิจารณาเรื่องรายได้ เนื่องด้วยกิจกรรมตามกรอบที่ 2 – 4 ยังไม่ได้มุ่งเน้นเรื่องการสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้นให้กับผู้เข้าร่วมกิจกรรมอย่างชัดเจน
2) ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจกรรมการพัฒนาตำบลบางส่วนมีความเห็นว่าโครงการอาจยังไม่สามารถบรรลุผลสัมฤทธิ์ตามที่กำหนด โดยเป็นความเห็นจาก 1) ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการ คิดเป็นร้อยละ 35.71 ของจำนวนมหาวิทยาลัยที่สุ่มตรวจสอบ 2) ผู้นำท้องถิ่น/ผู้นำชุมชน คิดเป็นร้อยละ 28.57 ของจำนวนตำบลที่สุ่มตรวจสอบ และ 3) ผู้เข้าร่วมกิจกรรมการพัฒนาตำบล คิดเป็นร้อยละ 20.00 ของจำนวนที่สุ่มตรวจสอบ นอกจากนี้ หัวหน้าโครงการประจำตำบล ร้อยละ 28.57 ของจำนวนที่สุ่มตรวจสอบ เห็นว่ากิจกรรมการพัฒนาตำบลอาจยังไม่สามารถบรรลุตามเป้าหมายในการเพิ่มรายได้ให้กับตำบลได้ตามผลสัมฤทธิ์ที่โครงการกำหนด และผู้เข้ารับการจ้างงาน คิดเป็นร้อยละ 4.04 จากจำนวนที่สุ่มตรวจสอบ มีความเห็นว่า กิจกรรมการพัฒนาตำบลยังไม่สามารถนำไปต่อยอดให้เกิดความยั่งยืนได้ทั้งนี้ ข้อมูลข้างต้นเป็นเพียงการสะท้อนความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมกิจกรรม และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการที่ผ่านมาเท่านั้น
การที่ผลการดำเนินงานโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (1ตำบล 1 มหาวิทยาลัย) ยังมีตำบลบางส่วนที่ผลการดำเนินงานยังไม่เป็นไปตามตัวชี้วัดที่กำหนด ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพและความคุ้มค่าในการใช้จ่ายเงินกู้ จากการที่ยังไม่สามารถพัฒนาสถานภาพของตำบลให้เป็นไปตามตัวชี้วัดที่กำหนดไว้ กรณีที่โครงการยังไม่มีการวัดผลลัพธ์เชิงเศรษฐกิจและสังคมในปีที่ 2 เพื่อทราบผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินงานโครงการ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการบางส่วนมีความเห็นว่ารายได้ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมก่อนเข้าร่วมกิจกรรม และโครงการอาจยังไม่สามารถบรรลุผลสัมฤทธิ์ตามที่กำหนด ส่งผลกระทบให้การใช้จ่ายเงินกู้จำนวน1,911,737,802.74 บาท เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลในด้านต่าง ๆ จำนวน 3,000 ตำบล ยังไม่ทราบถึงความคุ้มค่าของการใช้จ่ายเงินได้อย่างชัดเจน รวมทั้งไม่ทราบถึงปัญหาอุปสรรคที่อาจทำให้ตำบลที่เข้าร่วมโครงการไม่สามารถบรรลุผลสัมฤทธิ์ตามความมุ่งหวังของโครงการ เพื่อช่วยหาแนวทางแก้ไขอันนำไปสู่ความสำเร็จในการดำเนินโครงการ และเกิดความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณเงินกู้
นอกจากนี้ การที่โครงการยังไม่มีการกำหนดแนวทาง/หลักเกณฑ์การวัดผลลัพธ์เชิงเศรษฐกิจและสังคม ในปีที่ 2 –5 ตามที่กำหนด ส่งผลให้ สป.อว. ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบดำเนินโครงการขาดข้อมูลสำคัญที่จะใช้ในการพัฒนาต่อยอดโครงการในปีที่ 1 และขาดข้อมูลสำคัญประกอบการพิจารณาคัดเลือกตำบลและลักษณะกิจกรรมที่เหมาะสมที่จะเข้าไปส่งเสริมเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการพัฒนาและนำไปสู่การต่อยอดให้เกิดความยั่งยืนกับตำบล จำนวน 3,000 ตำบลซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายที่จะเข้าร่วมโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG กำหนดระยะเวลาดำเนินโครงการช่วงเดือนกรกฎาคม - กันยายน 2565
ข้อตรวจพบที่ 2 ผลการดำเนินงานโครงการตามกิจกรรมหลักบางกิจกรรมไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
1. กิจกรรมการจ้างงานผลการดำเนินงานไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด ผลการตรวจสอบ พบว่า ผลการจ้างงานในภาพรวมทั้งประเทศต่ำกว่าเป้าหมายกำหนดไว้ โดยมีการจ้างงานในภาพรวมเฉลี่ยคิดเป็นร้อยละ 87.47 ของเป้าหมายการจ้างงาน แบ่งเป็นการจ้างงานประชาชนทั่วไป คิดเป็นร้อยละ 88.94 ของจำนวนเป้าหมายกลุ่มประชาชนทั่วไป การจ้างงานบัณฑิตจบใหม่ คิดเป็นร้อยละ87.36 ของจำนวนเป้าหมายกลุ่มบัณฑิตจบใหม่ และการจ้างงานนักศึกษา คิดเป็นร้อยละ 86.25 ของจำนวนเป้าหมายกลุ่มนักศึกษา โดยมีการจ้างงานในภาพรวมต่ำกว่าเป้าหมาย จำนวน 90,181 อัตรา
2. ผลการเบิกจ่ายงบประมาณโครงการในภาพรวมต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนด ผลการตรวจสอบ พบว่า ผลการเบิกจ่ายงบประมาณโครงการในภาพรวมต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนด โดยมีผลการเบิกจ่ายรวมทั้งสิ้น 9,373.09 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 88.18 ของกรอบวงเงินงบประมาณโครงการ และมีเงินงบประมาณคงเหลือ จำนวน 1,256.51 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 11.82 ของกรอบวงเงินงบประมาณโครงการ ทั้งนี้สป.อว. ยังไม่รายงานเงินกู้เหลือจ่ายให้กระทรวงการคลังทราบ และส่งคืนเงินกู้เหลือจ่ายเข้าบัญชีเงินฝากกระทรวงการคลัง ภายในวันที่ 29 สิงหาคม 2565 หลังสิ้นสุดการดำเนินโครงการตามกรอบเวลาที่กำหนดโดยอยู่ระหว่างการตรวจสอบ/ยืนยันข้อมูลเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินงบประมาณจากมหาวิทยาลัยที่ร่วมดำเนินโครงการ
จากการที่ผลการดำเนินงานกิจกรรมหลักของโครงการไม่เป็นไปตามเป้าหมาย โดยเฉพาะกิจกรรมการจ้างงาน ส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายงบประมาณเงินกู้ต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนด โดยการเบิกจ่ายงบประมาณในภาพรวมของโครงการต่ำกว่าเป้าหมาย จำนวน 1,256.51 ล้านบาท ส่งผลต่อการหมุนเวียนเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจที่ไม่สามารถใช้จ่ายเงินได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้นอกจากนี้จากการที่สป.อว. ยังไม่รายงานเงินกู้เหลือจ่ายให้กระทรวงการคลังทราบ และส่งคืนเงินกู้เหลือจ่ายเข้าบัญชีเงินฝากกระทรวงการคลัง ภายในวันที่ 29 สิงหาคม 2565 หลังสิ้นสุดการดำเนินโครงการตามกรอบเวลาที่กำหนด ส่งผลให้รัฐเสียโอกาสในการนำเงินกู้ที่เหลือจ่ายจำนวนดังกล่าวไปใช้จ่ายตามแผนงานหรือโครงการอื่น เพื่อประโยชน์ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตลอดจนเกิดภาระทางการเงิน (ดอกเบี้ยเงินกู้) ที่จะต้องใช้คืนจากการที่เม็ดเงินที่กู้ยืมมาไม่ถูกนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจและสังคม หรือสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะนำเงินกู้ที่เหลือในบัญชีส่งคืนคลังและปิดบัญชีต่อไป
ข้อสังเกตที่ 1 ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของชุมชน (Thailand Community Big Data: TCD) ยังไม่มีการเผยแพร่เพื่อให้เกิดการนำไปใช้ประโยชน์
โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย)กำหนด ให้จัดทำข้อมูลขนาดใหญ่ของชุมชน เพื่อเป็นข้อมูลในการวิเคราะห์และตัดสินใจในการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบมีเป้าหมายชัดเจน โดย สป.อว. ได้ทำบันทึกข้อตกลงร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เพื่อขับเคลื่อนการจัดทำฐานข้อมูลขนาดใหญ่ชุมชน ใช้งบประมาณในการดำเนินการ จำนวน 20,000,000 บาท ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าในการใช้จ่ายเงินงบประมาณจำนวนดังกล่าว เมื่อมีการจัดทำข้อมูล TCD แล้วเสร็จ สป.อว. ควรมีการกำหนดแนวทางการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การเข้าใช้งานข้อมูลและขั้นตอน/วิธีการใช้งานข้อมูลให้กลุ่มเป้าหมายได้รับทราบ เพื่อให้ข้อมูลถูกนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป
ผลการตรวจสอบ พบว่า ปัจจุบัน(เดือนสิงหาคม 2565) สป.อว. ยังไม่มีการนำฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของชุมชนดังกล่าว ไปเผยแพร่เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง/ผู้สนใจสามารถนำฐานข้อมูลไปใช้ประโยชน์ข้อมูลขนาดใหญ่ของชุมชนที่มีการจัดทำแล้วเสร็จ ได้นำเข้าสู่ฐานข้อมูลในเว็บไซต์ระบบบริหารจัดการข้อมูล Community Big Data สำหรับโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย) “tcb.u2t.ac.th” รวมทั้งสิ้น 371,936 ข้อมูล
จากการทดสอบเข้าใช้งานผ่านเว็บไซต์ tcb.u2t.ac.th เมื่อวันที่ 26สิงหาคม 2565 พบว่า เว็บไซต์ดังกล่าวยังไม่เปิดให้ผู้ท้องการใช้งาน/ผู้สนใจข้อมูลสามารถเข้าใช้งานผ่านเว็บไซต์ดังกล่าวได้อย่างเสรี โดยผู้ที่ต้องการเข้าใช้งานต้องได้รับรหัสผู้ใช้งานจาก สป.อว. ก่อนจึงจะสามารถเข้าใช้งานเว็บไซต์ดังกล่าวได้ข้อมูลขนาดใหญ่ของของชุมชน (TCD) เป็นข้อมูลที่ดำเนินการตามวัตถุประสงค์โครงการและเป็นชุดข้อมูลที่มีความสำคัญที่หน่วยงานต่าง ๆ สามารถนำไปใช้สำหรับการวางแผนพัฒนาในระดับตำบลต่อไปในอนาคต การที่ผลการดำเนินงานปัจจุบันพบว่า สป.อว. ยังไม่มีการเผยแพร่การเข้าถึงชุดข้อมูลดังกล่าวเพื่อให้เกิดการนำไปใช้ประโยชน์ ทำให้การใช้จ่ายเงินงบประมาณสำหรับดำเนินการจัดทำข้อมูลขนาดใหญ่ของชุมชน จำนวน 20,000,000 บาท ยังไม่เกิดความคุ้มค่าเท่าที่ควรและส่งผลให้การพัฒนาในระดับตำบลขาดข้อมูลสำคัญ โดยเฉพาะข้อมูลที่เป็นจุดเด่นหรือเป็นอัตลักษณ์ของพื้นที่ เพื่อจะนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ตามความเหมาะสมและบริบทของชุมชน และหน่วยงานต่าง ๆ สามารถนำข้อมูลไปใช้ขับเคลื่อนการดำเนินงานหรือนโยบายต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับทรัพยากรและศักยภาพของพื้นที่ต่อไป
ข้อสังเกตที่ 2 ข้อมูลจากระบบ Project Based Management: PBM บางส่วน ยังไม่ครบถ้วน ถูกต้อง
สป.อว. เป็นผู้พัฒนาระบบ Project Based Management: PBM และใช้ Server ของสำนักงานบริหารเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาการศึกษา (UniNet) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยไม่ได้ใช้งบประมาณจากโครงการ ซึ่งการพัฒนาระบบ PBM ได้มีการประชุมร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใน สป.อว. เพื่อออกแบบวิธีการจัดเก็บข้อมูลของทุกหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องและกำหนดรายการข้อมูลต่าง ๆ ให้มหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการ 76 แห่ง รายงานผลผ่านระบบ ผลการตรวจสอบ พบว่า ข้อมูลที่มีการรายงานในระบบ PBM บางส่วนยังไม่ครบถ้วน ถูกต้อง โดยระบบ PBM ยังมีสถานะการกรอกข้อมูลผิด และไม่กรอกข้อมูลหรือกรอกข้อมูลไม่ครบถ้วน และการรายงานผลการดำเนินงานโครงการในระบบ PBM ยังไม่ครบถ้วน ถูกต้อง ทั้งนี้ปัจจุบันระบบ PBM จะใช้ในการติดตามหรือรายงานผลการดำเนินงานของโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ(1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย) เท่านั้น โดยการดำเนินโครงการในระยะที่ 2 ช่วงระหว่างเดือนกรกฎาคม -กันยายน พ.ศ. 2565 ในชื่อ “โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจBCG” สป.อว. ได้มีการปรับเปลี่ยนการใช้งานจากระบบ PBM ไปใช้งานผ่าน web base “u2t.ac.th”การรายงานผลการดำเนินงานผ่านระบบ PBM จะช่วยให้ สป.อว. ติดตามผลการดำเนินงานโครงการของมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น หากมหาวิทยาลัยรายงานผลการดำเนินงานไม่ถูกต้อง ครบถ้วน หรือบันทึกข้อมูลผิดไปจากข้อเท็จจริง จะส่งผลกระทบให้ข้อมูลในระบบPBM ขาดความน่าเชื่อถือ และไม่สามารถสะท้อนผลการดำเนินงานได้อย่างถูกต้อง
ทั้งนี้ ข้อมูลในระบบPBM สามารถนำไปใช้ในการติดตาม หรือนำไปใช้ประโยชน์ในการวางแผนพัฒนาตำบล จำนวน 3,000ตำบล ผ่านโครงการอื่น ๆ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำข้อมูลจากระบบ PBM ไปใช้ในการวางแผนช่วยเหลือ ต่อยอดการพัฒนาให้กับตำบลต่าง ๆ ในโอกาสต่อไป หากข้อมูลในระบบ PBM ยังไม่ถูกต้องครบถ้วน ก็จะส่งผลต่อการนำฐานข้อมูลไปใช้ในการวางแผนการดำเนินโครงการให้มีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับสถานภาพความต้องการ ความจำเป็นในการพัฒนาตำบลต่าง ๆ ในอนาคต
เพื่อให้การดำเนินโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (1 ตำบล1 มหาวิทยาลัย) เกิดประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่ตำบล การใช้จ่ายงบประมาณเงินกู้เกิดความคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการดำเนินงานในลักษณะเดียวกันในอนาคตเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด
ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินมีข้อเสนอแนะให้ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พิจารณาดำเนินการดังนี้
1. เร่งรัดจัดทำหลักเกณฑ์แนวทางการประเมินผลสัมฤทธิ์โครงการในปีที่ 2 –5 ให้มีความชัดเจนและกำหนด/มอบหมายหน่วยงานรับผิดชอบดำเนินการประเมินผลการดำเนินงานตำบลทั้ง 3,000 ตำบลเพื่อให้ทราบถึงผลสัมฤทธิ์และความคุ้มค่าจากการใช้จ่ายงบประมาณเงินกู้ในการดำเนินโครงการ และเพื่อให้มีข้อมูลสำคัญเพียงพอที่จะใช้ในการพัฒนาต่อยอดผลการดำเนินงานโครงการในปีที่ 2 -5 ให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามที่กำหนดไว้
2. ให้ความสำคัญกับการติดตาม ประเมินผลการดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ตำบลที่ได้รับการสนับสนุนทั้ง 3,000 ตำบล สามารถดำเนินกิจกรรมได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน โดยกำหนดผู้รับผิดชอบที่มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแล และติดตามผลการดำเนินงานโครงการในแต่ละตำบลพร้อมทั้งกำหนดแนวทาง หลักเกณฑ์ หรือขั้นตอนในการกำกับดูแลและติดตามผลการดำเนินงานโครงการรายตำบลให้ชัดเจน เพื่อให้ประชาชนหรือผู้ที่เข้าร่วมโครงการดำเนินกิจกรรมได้อย่างยั่งยืน
3. การกำหนดกิจกรรมที่จะสนับสนุน ส่งเสริมการพัฒนาตำบลต่าง ๆ ในโอกาสต่อไป ควรกำหนดกิจกรรมให้สอดคล้องกับตัวชี้วัดหรือผลสัมฤทธิ์ของโครงการ โดยหากโครงการกำหนดผลสัมฤทธิ์เชิงเศรษฐกิจเรื่องการเพิ่มรายได้ให้กับกลุ่มเป้าหมาย การกำหนดกิจกรรมการพัฒนาควรกำหนดให้ครอบคลุมตั้งแต่ระดับต้นน้ำกลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ เพื่อให้การใช้จ่ายเงินเกิดความคุ้มค่า และเกิดประโยชน์กับประชาชนในการสร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง
4. การดำเนินโครงการที่ต้องมีการประเมินตัวชี้วัดต่าง ๆ ในโอกาสต่อไป ควรให้ความสำคัญกับการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ขั้นตอน การประเมินผลการดำเนินงานตามตัวชี้วัดต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ โดยให้ความสำคัญกับการจัดทำคำอธิบาย และแสดงตัวอย่างที่ชัดเจนในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้ผู้มีหน้าที่ประเมินผลการดำเนินงานตามตัวชี้วัดมีความเข้าใจ สามารถใช้เป็นแนวทางประเมินผลการดำเนินงานได้อย่างถูกต้อง และเป็นไปในแนวทางเดียวกัน
5. เร่งรัดรายงานเงินกู้เหลือจ่ายให้กระทรวงการคลังทราบ และส่งคืนเงินกู้เหลือจ่ายเข้าบัญชีเงินฝากกระทรวงการคลังโดยเร็ว เพื่อให้คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้มีกรอบวงเงินเพื่อนำไปใช้อนุมัติโครงการอื่นที่จะช่วยแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะนำเงินกู้ที่เหลือในบัญชีส่งคืนคลังและปิดบัญชีต่อไป
6. สั่งการให้มีการทบทวน วิเคราะห์ถึงปัญหา อุปสรรค ที่เป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลต่อประสิทธิภาพการดำเนินงานโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (1ตำบล 1มหาวิทยาลัย) ทั้งจากหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้อง และหน่วยงานสนับสนุนการดำเนินงานในระดับพื้นที่ เพื่อร่วมกันกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหา/ปรับปรุงขั้นตอนการดำเนินงานให้เหมาะสม สอดคล้องกับกิจกรรมการดำเนินงานโครงการ และบริบทของแต่ละพื้นที่ และเพื่อใช้เป็นแนวทางการบริหารจัดการโครงการที่มีลักษณะกิจกรรมการดำเนินงานใกล้เคียงกันต่อไป
นอกจากนี้ เพื่อให้การใช้จ่ายเงินงบประมาณในการจัดทำข้อมูลขนาดใหญ่ของชุมชน (TCD) เกิดความคุ้มค่า มีการนำไปใช้ประโยชน์ทั้งในระดับตำบล ระดับจังหวัด และระดับประเทศ ตามความ คาดหวังของการจัดทำฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของชุมชน และเพื่อให้มีระบบสำหรับใช้ในการรายงานและ ติดตามผลการดำเนินงานโครงการต่าง ๆ ที่จะมีขึ้นต่อไปในอนาคต โดยสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ อย่างมีประสิทธิภาพ
ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินมีข้อเสนอแนะให้ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พิจารณาดำเนินการดังนี้
1. กำหนดแนวทางการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลขนาดใหญ่ของชุมชนให้มีความชัดเจน พร้อมกับกำหนดหน่วยงานรับผิดชอบการเผยแพร่ข้อมูล รวมทั้งควรมีการถ่ายทอดขั้นตอน/วิธีการใช้งาน ข้อมูลให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่หรือผู้ที่สนใจสามารถนำข้อมูลไปใช้งานให้เกิดประโยชน์ต่อไป โดยในอนาคตหน่วยงานในระดับพื้นที่อาจมีบทบาทสำคัญในการพัฒนา ปรับปรุงฐานข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน
2. กำหนดผู้รับผิดชอบปรับปรุงฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของชุมชน เพื่อให้มีการปรับปรุง พัฒนา ข้อมูลอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ฐานข้อมูลเกิดความยั่งยืน และมีความพร้อมสำหรับการนำไปใช้ประโยชน์
3. พิจารณาดำเนินการทบทวน วิเคราะห์ถึงปัญหา อุปสรรค ที่จะส่งผลต่อประสิทธิภาพของ ฐานข้อมูลที่จะมีขึ้นในโอกาสต่อไป และควรจัดการอบรมให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ใช้ งานระบบ รวมทั้งจัดทำคู่มือหรือแนวทางการบันทึกข้อมูลให้สอดคล้องกับการใช้งานระบบ และมีขั้นตอน วิธีการใช้งานที่ครบถ้วน เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการบันทึกข้อมูลในแต่ละรายการ และผู้ใช้งาน สามารถบันทึกข้อมูลได้อย่างครบถ้วน ถูกต้อง
รวมถึงควรกำหนดช่องทางการประสานงานหรือ ช่องทางในการให้คำปรึกษา แนะนำ กรณีเกิดปัญหาในการใช้งานระบบ เพื่อให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือผู้ ที่ได้รับมอบหมายให้บันทึกข้อมูลในระบบสามารถติดต่อขอคำปรึกษาหรือแนวทางการแก้ไขการบันทึก ข้อมูลได้อย่างทันกาล
อ่านข่าวผลการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินเรื่องโควิดของ สตง.