"... จากการตรวจสอบข้อมูลผู้มีสิทธิได้รับเงินเยียวยาตามโครงการ พบว่า มีผู้ประกันตนที่มีสิทธิได้รับเงินเยียวยาตามโครงการที่มีปัญหาเกี่ยวกับบัญชีเงินฝากธนาคารไม่ได้รับเงินเยียวยา จำนวน 1,177 ราย แบ่งเป็น ผู้ประกันตนที่ไม่มีข้อมูลเลขที่บัญชีเงินฝากธนาคาร จำนวน 1,018 ราย และผู้ประกันตนที่ข้อมูลเลขที่บัญชีเงินฝากธนาคารไม่ถูกต้องหรือบัญชีเงินฝากธนาคารปิด จำนวน 159 ราย..."
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานไปแล้วว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้เผยผลการตรวจสอบโครงการมาตรการชดเชยรายได้แก่ลูกจ้างของสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID - 19) ซึ่งยังไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยา พบการดำเนินโครงการบางส่วนไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด ในขณะเดียวกันผู้ประกันตนที่มีสิทธิได้รับเงินเยียวยาตามโครงการบางส่วนไม่ได้รับเงินเยียวยา ส่งผลให้ผู้ประกันตนซึ่งได้รับผลกระทบจากการว่างงานไม่ได้รับการบรรเทาความเดือดร้อน จึงมีข้อเสนอแนะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการปรับปรุงแก้ไขต่อไป
ต่อไปนี้ เป็นรายละเอียดผลการตรวจสอบโครงการฯ นี้ ฉบับเต็ม ของ สตง.
กระทรวงแรงงานโดยสำนักงานประกันสังคม ได้จัดทำโครงการมาตรการชดเชยรายได้แก่ ลูกจ้างของสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID - 19) ซึ่งยังไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยา โดยใช้เงินกู้ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 เพื่อจ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้ประกันตนตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ที่สำนักงานประกันสังคมปฏิเสธการจ่ายเงินตามกฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ. 2563 เนื่องจากไม่มีคุณสมบัติครบตามเงื่อนไขที่กำหนด (จ่ายเงินสมทบไม่ครบ 6 เดือน) โดยจ่ายเงินให้แก่ผู้ประกันตนดังกล่าว รายละ 15,000.00 บาท
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเห็นถึงความสำคัญของการดำเนินโครงการดังกล่าว เนื่องจากเป็นการใช้จ่ายจากเงินกู้และมีความเร่งด่วนในการดำเนินการ ประกอบกับนโยบายการตรวจเงินแผ่นดินประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ให้ความสำคัญกับการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินกู้เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จึงเลือกตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงานโครงการมาตรการชดเชยรายได้แก่ลูกจ้างของสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID - 19) ซึ่งยังไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยา เพื่อให้ทราบถึงประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการดำเนินโครงการ ปัญหาอุปสรรคหรือข้อจำกัดในการดำเนินโครงการ ตลอดจนเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหา และแนวทางการดำเนินโครงการที่มีลักษณะเดียวกันในอนาคต
จากการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงานโครงการมาตรการชดเชยราย ได้แก่ ลูกจ้างของสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID - 19) ซึ่งยังไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยา ตั้งแต่เริ่มดำเนินโครงการจนถึงสิ้นสุดการดำเนินโครงการ วันที่ 31 ตุลาคม 2563 มีข้อตรวจพบ ดังนี้
ข้อตรวจพบที่ 1 ผลการดำเนินโครงการบางส่วนไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด
จากการตรวจสอบผลการจ่ายเงินให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินเยียวยาตามโครงการ จำนวน 13,930 ราย พบว่า มีผู้ได้รับเงินเยียวยาไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด จำนวน 289 ราย คิดเป็นเงินจำนวน 4,425,000.00 บาท ดังนี้
1.1 ผู้ได้รับเงินเยียวยามีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของโครงการ
จากการตรวจสอบผลการจ่ายเงินเยียวยาตามโครงการ พบว่า มีผู้ได้รับเงินเยียวยามีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของโครงการ จำนวน 249 ราย คิดเป็นเงิน จำนวน 3,825,000.00 บาท โดยเป็นผู้ประกันตนที่ไม่มีสัญชาติไทย จำนวน 13 ราย ผู้ประกันตนได้รับเงินเยียวยาจากมาตรการของหน่วยงานอื่น จำนวน 190 ราย ผู้ประกันตนได้รับเงินประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยจากกองทุนประกันสังคม จำนวน 41 ราย และผู้ได้รับเงินเยียวยาไม่ได้เป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินเยียวยาตามโครงการ จำนวน 6 ราย ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้ประกันตนที่ได้รับเงินเยียวยาตามโครงการได้รับทั้งเงินเยียวยาจากมาตรการของหน่วยงานอื่น และได้รับเงินประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยจากกองทุนประกันสังคม จำนวน 1 ราย
1.2 ผู้ได้รับเงินเยียวยาบางรายได้รับเงินมากกว่า 15,000.00 บาท
จากการตรวจสอบข้อมูลผู้ได้รับเงินเยียวยาตามโครงการที่สำนักงานประกันสังคมโอนเงินเยียวยาเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินเยียวยาตามโครงการ จำนวน 96 ราย ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินเยียวยาที่มีรายชื่อซ้ำ จำนวน 57 ราย และผู้มีสิทธิได้รับเงินเยียวยาที่มีเลขที่บัญชีเงินฝากธนาคารที่ได้รับโอนเงินเยียวยาซ้ำกับผู้มีสิทธิได้รับเงินเยียวยารายอื่น จำนวน 39 ราย พบว่า มีผู้ได้รับเงินเยียวยาได้รับเงินมากกว่า 15,000.00 บาท จำนวน 40 ราย โดยทุกรายได้รับเงินเยียวยา 2 ครั้ง จำนวน 30,000.00 บาท การที่ผลการดำเนินโครงการบางส่วนไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด ทำให้มีการจ่ายเงินไปโดยไม่สมควร จำนวน 4,425,000.00 บาท และภาครัฐเสียโอกาสในการนำเงินจำนวนดังกล่าวไปใช้ในการดำเนินโครงการตามที่พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา และฟื้นฟูเยียวยา เศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 ได้กำหนดไว้
ข้อตรวจพบที่ 2 ผู้ประกันตนที่มีสิทธิได้รับเงินเยียวยาตามโครงการบางส่วนไม่ได้รับเงินเยียวยา
จากการตรวจสอบ พบว่า มีผู้ประกันตนที่มีสิทธิได้รับเงินเยียวยาตามโครงการไม่ได้รับเงินเยียวยาจำนวน 1,199 ราย ดังนี้
2.1 ผู้ประกันตนที่มีปัญหาเกี่ยวกับบัญชีเงินฝากธนาคาร
จากการตรวจสอบข้อมูลผู้มีสิทธิได้รับเงินเยียวยาตามโครงการ พบว่า มีผู้ประกันตนที่มีสิทธิได้รับเงินเยียวยาตามโครงการที่มีปัญหาเกี่ยวกับบัญชีเงินฝากธนาคารไม่ได้รับเงินเยียวยา จำนวน 1,177 ราย แบ่งเป็น ผู้ประกันตนที่ไม่มีข้อมูลเลขที่บัญชีเงินฝากธนาคาร จำนวน 1,018 ราย และผู้ประกันตนที่ข้อมูลเลขที่บัญชีเงินฝากธนาคารไม่ถูกต้องหรือบัญชีเงินฝากธนาคารปิด จำนวน 159 ราย
2.2 ผู้ประกันตนที่สำนักงานประกันสังคมโอนเงินเยียวยาเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของบุคคลอื่น
จากการตรวจสอบข้อมูลผู้ได้รับเงินเยียวยาตามโครงการที่สำนักงานประกันสังคมโอนเงินเยียวยาเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินเยียวยาตามโครงการ จำนวน 96 ราย โดยเปรียบเทียบชื่อบัญชีเงินฝากธนาคารที่ได้รับโอนเงินเยียวยากับชื่อผู้มีสิทธิได้รับเงินเยียวยาตามโครงการพบว่า มีผู้ประกันตนที่มีสิทธิได้รับเงินเยียวยาตามโครงการที่ไม่ได้รับเงินเยียวยา จำนวน 22 ราย จากการที่สำนักงานประกันสังคมโอนเงินเยียวยาของผู้มีสิทธิดังกล่าวเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของบุคคลอื่นการที่ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่มีสิทธิได้รับเงินเยียวยาตามโครงการบางส่วนไม่ได้รับเงินเยียวยาทำให้ผู้ประกันตนดังกล่าวซึ่งได้รับผลกระทบว่างงานจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID - 19) ไม่ได้รับการบรรเทาความเดือดร้อน และเกิดความไม่เป็นธรรมในการได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผลการดำเนินโครงการบางส่วนไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด และผู้ประกันตนที่มีสิทธิได้รับเงินเยียวยาตามโครงการบางส่วนไม่ได้รับเงินเยียวยา ได้แก่
1. การตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ประกันตนเพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่โครงการกำหนดยังขาดความละเอียด รอบคอบ และรัดกุม หรือได้ตรวจสอบแล้วแต่ยังเกิดความผิดพลาดในกระบวนการคัดกรองข้อมูล รวมถึงไม่ได้ตรวจสอบข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน
2. ระบบการรับแจ้งข้อมูลของผู้ประกันตนผ่านช่องทางการกรอกแบบฟอร์มออนไลน์ E – form ที่สำนักงานประกันสังคมออกแบบไว้ไม่เพียงพอในการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลที่รับแจ้ง เนื่องจากไม่ได้กำหนดให้ผู้ประกันตนต้องส่งเอกสารหลักฐานประกอบการแจ้งข้อมูล
3. เจ้าหน้าที่ของสำนักงานประกันสังคมไม่ได้บันทึกข้อมูลเลขที่บัญชีเงินฝากธนาคารของผู้ประกันตนในระบบการจ่ายประโยชน์ทดแทนโปรแกรม Sapiens หรือบันทึกข้อมูลเลขที่บัญชีเงินฝากธนาคารไม่ถูกต้อง
4. สำนักงานประกันสังคมไม่มีกระบวนการสอบทานความถูกต้องของข้อมูลผู้ประกันตนที่มีสิทธิได้รับเงินเยียวยาตามโครงการทั้งก่อนและหลังการโอนเงินเยียวยา
5. ระบบการโอนเงินที่สำนักงานประกันสังคมใช้ในการจ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้มีสิทธิได้รับเงินเยียวยาตามโครงการไม่มีกระบวนการตรวจสอบความถูกต้องตรงกันของชื่อบัญชีเงินฝากธนาคารกับชื่อผู้มีสิทธิได้รับเงินเยียวยาตามโครงการก่อนโอนเงินเยียวยา
6. การติดตามข้อมูลเลขที่บัญชีเงินฝากธนาคารของผู้ประกันตนที่มีปัญหาเกี่ยวกับบัญชีเงินฝากธนาคารไม่ครบถ้วนทุกราย
7. สำนักงานประกันสังคมขาดการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการติดตามข้อมูลเลขที่บัญชีเงินฝากธนาคารของผู้ประกันตนที่ไม่สามารถโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารได้ ผ่านทางช่องทางต่าง ๆ เช่น เว็บไซต์ของสำนักงานประกันสังคม ข้อความทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือแอปพลิเคชันต่าง ๆ
ข้อเสนอแนะ
ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินมีข้อเสนอแนะให้เลขาธิการสำนักงานประกันสังคมพิจารณาดำเนินการดังนี้
1. สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินตรวจสอบพบว่าผู้ได้รับเงินเยียวยาตามโครงการมีคุณสมบัติหรือได้รับเงินไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด และดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องต่อไป
2. ศึกษาและพัฒนาระบบสารสนเทศที่ใช้ในการจ่ายประโยชน์ทดแทนให้มีศักยภาพการบันทึกข้อมูลและการประมวลผลการจ่ายประโยชน์ทดแทนของกองทุนประกันสังคม หรือการจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาโครงการอื่นตามนโยบาย ข้อสั่งการของรัฐบาลให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อให้สามารถรองรับการให้บริการผู้ประกันตนทั้งในสถานการณ์ปกติและสถานการณ์ที่มีผู้ประกันตนมาใช้บริการจำนวนมากพร้อมกันได้อย่างสะดวก รวดเร็ว
3. การดำเนินโครงการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกันตนที่มีลักษณะเดียวกันในอนาคตควรพิจารณาดำเนินการ ดังนี้
3.1 กำชับให้เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบในการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ประกันตนตรวจสอบข้อมูลคุณสมบัติของผู้ประกันตนให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่โครงการกำหนดด้วยความละเอียด รอบคอบและรัดกุม
3.2 ปรับปรุงระบบการรับแจ้งข้อมูลคำขอของผู้ประกันตนในทุกช่องทาง โดยกำหนดให้ผู้ประกันตนต้องแจ้งข้อมูลและยื่นเอกสาร หลักฐานประกอบการรับแจ้งข้อมูลที่สำคัญให้ครบถ้วน เช่น สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาหน้าบัญชีเงินฝากธนาคาร เพื่อให้สามารถตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลก่อนบันทึกรับแจ้งในระบบการจ่ายประโยชน์ทดแทน
3.3 ให้ความสำคัญในการบันทึกข้อมูลคำขอรับประโยชน์ทดแทนของผู้ประกันตนในระบบการจ่ายประโยชน์ทดแทนให้ถูกต้อง ครบถ้วน ทั้งในกรณีที่ผู้ประกันตนเป็นผู้มีสิทธิและไม่มีสิทธิได้รับเงินประโยชน์ทดแทนจากกองทุนประกันสังคม และหากมีการนำข้อมูลผู้ประกันตนไปใช้ในการดำเนินโครงการอื่นใด ต้องมีการสอบทานความถูกต้องของข้อมูลผู้ประกันตนที่บันทึกในระบบการจ่ายประโยชน์ทดแทนทุกครั้ง
3.4 กำหนดให้มีกระบวนการสอบทานความถูกต้องของการดำเนินโครงการในขั้นตอนต่าง ๆ ทั้งก่อนและหลังจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินเยียวยาตามโครงการ ได้แก่ การสอบทานความถูกต้องของการตรวจสอบและคัดกรองข้อมูลผู้ประกันตนที่มีสิทธิได้รับเงินเยียวยาให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด การสอบทานความถูกต้องและความซ้ำซ้อนของการจัดทำรายชื่อผู้มีสิทธิได้รับเงินเยียวยาและการสอบทานความถูกต้องของผลการโอนเงินเยียวยาให้ผู้ประกันตนที่มีสิทธิได้รับเงินเยียวยา
3.5 ปรับปรุงวิธีการโอนเงินให้กับผู้ประกันตน โดยพิจารณาระบบการโอนเงินที่สามารถตรวจสอบยืนยันความถูกต้องของบัญชีเงินฝากธนาคารผู้รับโอนเงินได้ เช่น การโอนเงินด้วยระบบพร้อมเพย์ที่ผูกกับเลขประจำตัวประชาชน การโอนเงินที่มีข้อตกลงกับธนาคารในการตรวจสอบยืนยันความถูกต้องของชื่อบัญชีเงินฝากธนาคารก่อนการโอนเงิน
3.6 กำหนดมาตรการหรือแนวทางการติดตามข้อมูลผู้ประกันตนที่มีสิทธิได้รับเงินเยียวยาแต่ไม่สามารถโอนเงินเยียวยาได้ เพื่อให้สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา ที่ได้รับมอบหมายให้ติดตามข้อมูลเลขที่บัญชีเงินฝากธนาคารของผู้ประกันตนดังกล่าวสามารถรายงานผลการติดตามข้อมูลผู้ประกันตนให้ครบถ้วนทุกราย
3.7 กำหนดแนวทางการประชาสัมพันธ์และแจ้งผลการดำเนินโครงการในขั้นตอนต่าง ๆ ให้ผู้ประกันตนรับทราบข้อมูลได้อย่างสะดวก รวดเร็ว เช่น การแจ้งผลการพิจารณาสิทธิรับเงินเยียวยาตามโครงการ การแจ้งผลการโอนเงินเพื่อให้ผู้ประกันตนแจ้งข้อมูลเลขที่บัญชีเงินฝากธนาคารเพื่อใช้โอนเงินให้ผู้ประกันตนทราบผ่านช่องทางเว็บไซต์ ข้อความทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือแอปพลิเคชันต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ประกันตนที่มีสิทธิรับเงินเยียวยาได้รับเงินเยียวยาอย่างครบถ้วน