จากการประชุมวิชาการระดับชาติด้านสุขภาพของประชากรข้ามชาติ ประจำปี 2562 พบว่า นโยบายประกันสุขภาพแรงงานข้ามชาติไทย ถือว่า ค่อนข้างก้าวหน้าพอสมควร ทัดเทียมกับหลายประเทศในยุโรป แต่ก็มีประเด็นที่อาจจะเรียนรู้ได้จากประเทศอื่น เช่น การมีนโยบายคุ้มครองเฉพาะโรคที่เป็นภัยทางสาธารณสุขโดยไม่ขึ้นกับสถานะบุคคล
ช่วง 2 ปี ที่ผ่านมา (2560-2561) ประเทศไทยมีการจัดระเบียบการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว จนส่งผลให้แรงงานข้ามชาติที่หลบหนีเข้าเมืองมาโดยเฉพาะแรงงาน 3 สัญชาติ เมียนมาร์ ลาว กัมพูชา สามารถเข้าสู่กระบวนการทำงานได้อย่างถูกกฎหมาย และได้รับการคุ้มครองทางด้านสุขภาพมากขึ้น
ในเวทีการประชุมวิชาการระดับชาติด้านสุขภาพของประชากรข้ามชาติ ประจำปี 2562 จัดโดย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานภาคี มีการเปิดเผยตัวเลข ปัจจุบันประเทศไทยมีแรงงานข้ามชาติกว่า 3.2 ล้านคน โดยจำนวนนี้ 1.7 ล้านคนเป็นแรงงานที่ถูกกฎหมาย ( 70% หรือ 1.2 ล้านคน อยู่ในระบบประกันสังคม) และ 1.26 ล้านคนผ่อนผันตามมติครม. (60% หรือ 7.6 แสนคน มีประกันกับกระทรวงสาธารณสุข)
ขณะที่ตัวเลขเด็กข้ามชาติ 2.5 แสนคน ส่วนใหญ่ไม่มีประกันสุขภาพ มีเด็กข้ามชาติเพียง 4.7 หมื่นคนเท่านั้นที่มีประกันสุขภาพกับสธ. (อ่านประกอบ:ไทยควรลงทุน รองปลัดสธ.เล็งของบฯ 90 ล้าน/ปี ฉีดวัคซีน ป้องกันวัณโรค-เอดส์ แรงงานข้ามชาติ)
ก่อนที่จะหาคำตอบของคำถามที่ว่า ประกันสุขภาพสำหรับประชากรข้ามชาติของไทย ดีที่สุดแล้วหรือไม่นั้น
เราลองมาดูการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้
"วาทินี คุณเผือน" สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข ที่ได้ทำการศึกษา "ประกันสุขภาพและการจัดบริการสุขภาพสำหรับคนต่างด้าวในประเทศที่พัฒนาแล้ว" โดยใช้วิธีการทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับบัตรประกันสุขภาพต่างด้าวในต่างประเทศ โดยมุ่งเน้นไปยังประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปจำนวน 4 ประเทศ ได้แก่ ฝรั่งเศส เยอรมัน อิตาลี และอังกฤษ เนื่องจากมีข้อมูลค่อนข้างครบถ้วน ร่วมกับประเทศที่อยู่นอกสหภาพยุโรป 2 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา เนื่องจากเป็นประเทศจุดหมายสำคัญสำหรับผู้ย้ายถิ่น
ปัจจุบันการย้ายถิ่นของประชากรทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจน คาดการณ์ว่า มีประชากรมากกว่า 214 ล้านคน อาศัยอยู่นอกประเทศของตน การย้ายถิ่นโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลาง ถือเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจจากนักการเมืองและผู้กำหนดนโยบายในวงกว้าง โดยเฉพาะในเวทีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศและเศรษฐกิจ
การเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายของประชากรต่างด้าวนั้น เป็นปัญหาสำคัญที่ภาครัฐในประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทยเร่งแก้ไข ซึ่งมีความซับซ้อนและเกี่ยวข้องกับปัจจัยหลายด้าน ถึงแม้รัฐไทยเองจะมีมาตรการในการแก้ปัญหาการเข้าเมืองผิดกฎหมายโดยการตั้งศูนย์ One Stop Service (OSS) เพื่อขึ้นทะเบียนต่างด้าวเหล่านั้น อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อจำกัดในเชิงปฏิบัติ เช่น ต่างด้าวจำนวนหนึ่งไม่สามารถเข้าถึงระบบ OSS ได้ หรือต่างด้าวบางส่วนไม่สามารถกลับไปยังประเทศตน หรือสถานบริการสุขภาพบางแห่งปฏิเสธในการจำหน่ายบัตรประกันสุขภาพแก่ต่างด้าว เป็นต้น
นอกจากนี้ยังไม่มีกฎหมาย ข้อบังคับ และการตีความในตัวกฎหมายเหล่านั้นที่แน่ชัด ถือเป็นอุปสรรคที่ทำให้ต่างด้าวเหล่านั้นเข้าไม่ถึงบริการสุขภาพตามสิทธิ์ที่พวกเขาพึงได้รับ
การศึกษาครั้งนี้ ใช้วิธีการวิเคราะห์เชิงเปรียบเทียบ ผลการทบทวนวรรณกรรมแสดงให้เห็นว่า การให้บริการสุขภาพในกลุ่มประเทศที่ศึกษา แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม
1. กลุ่มที่ครอบคลุมบริการพื้นฐานและสิทธิประโยชน์บางส่วน สำหรับบางกลุ่มของต่างด้าวโดยประเทศที่จัดบริการในกลุ่มนี้ ได้แก่ อิตาลี อังกฤษ เยอรมัน
2. กลุ่มที่ครอบคลุมสุขภาพ เกือบทั้งหมด ได้แก่ ฝรั่งเศส
อย่างไรก็ตามถึงแม้ประเทศดังกล่าว จะประกาศว่า ต่างด้าวทั้งที่ขึ้นทะเบียนและไม่ขึ้นทะเบียนสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้ แต่ในทางปฏิบัตินั้นกฎหมายในแต่ละประเทศก็มักให้ต่างด้าวที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียน ทำการขึ้นทะเบียนก่อนเข้าถึงสิทธิในการรับบริการสุขภาพ
สำหรับค่าใช้จ่ายบริการสุขภาพในกลุ่มต่างด้าวที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนนั้น พบว่า ทุกประเทศมีนโยบายในการช่วยเหลือ ทั้งจากการสนับสนุนโดยใช้เงินภาษีของประเทศ ทั้งจากภาษีทั่วไป (General Tax) และภาษีจากเงินเดือนหรือค่าจ้าง (payroll tax) ร่วมกับการร่วมจ่าย (Co-payment) ของต่างด้าว
ส่วนประเทศญี่ปุ่นนั้น พบว่า ระบบจัดบริการสุขภาพสำหรับต่างด้าวที่เข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายยังไม่ชัดเจน ถึงแม้ภาครัฐจะมีนโยบายในการจัดทำบัตรประกันสุขภาพเฉพาะสำหรับคนกลุ่มนี้ แต่ในทางปฏิบัติก็ยังพิจารณาเป็นรายบุคคล และการนำนโยบายนี้ไปใช้ ก็พบเพียงบางภูมิภาคเท่านั้น
ในสหรัฐอเมริกา พบว่า รัฐแคลิฟอร์เนีย เป็นเพียงรัฐเดียวที่มีนโยบายชัดเจนในการจัดทำบัตรประกันสุขภาพสำหรับต่างด้าวที่เข้าเมืองอย่างไม่ถูกกฎหมาย
กรณีที่มีค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ที่เรียกเก็บไม่ได้ พบว่า มีเพียงประเทศฝรั่งเศสและญี่ปุ่น ที่มีกองทุนพิเศษที่ชัดเจนเพื่อชดเชยค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติก็ยังพิจารณาเป็นรายกรณีไปเช่นกัน
-----------------
อย่างไรก็ตาม ข้อค้นพบสำคัญ จากการประชุมวิชาการระดับชาติด้านสุขภาพของประชากรข้ามชาติฯ ชี้ชัดว่า นโยบายประกันสุขภาพแรงงานข้ามชาติไทย ถือว่า ค่อนข้างก้าวหน้าพอสมควร ทัดเทียมกับหลายประเทศในยุโรป แต่ก็มีประเด็นที่อาจจะเรียนรู้ได้จากประเทศอื่น เช่น การมีนโยบายคุ้มครองเฉพาะโรคที่เป็นภัยทางสาธารณสุขโดยไม่ขึ้นกับสถานะบุคคล
ประเด็นที่ท้าทาย บทเรียนจากต่างประเทศแสดงให้เห็นว่า ไม่ว่านโยบายจะออกแบบมาอย่างไร ก็ยังมีคนข้ามชาติที่ตกหล่นจากการประกันสุขภาพเสมอ
ประเด็นด้านความมั่นคงด้านสาธารณสุข มีข้อเสนอเชิงนโยบาย ให้มีการตรวจสุขภาพ (โรคติดต่อสำคัญ) จากประเทศต้นทางก่อนเข้ามาในไทยของแรงงาน MOU และให้กระทรวงสาธารณสุข ปรับปรุงระเบียบการจ้างงาน พนักงานสาธารณสุขต่างชาติ (พสต.) และพัฒนาศักยภาพของผู้ให้บริการสุขภาพและพสต./อสต.ในระดับพื้นที่
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/