กรณี “บริษัทจีน” เช่าที่ดินผืนใหญ่ในเขต อ.เบตง จ.ยะลา เพื่อปลูกทุเรียน กลายเป็นประเด็นที่บางฝ่ายให้ความสนใจขึ้นมา เมื่อ สส.อับดุลอายี สาแม็ง สส.ยะลา จากพรรคประชาขาติ นำไปอภิปรายในสภา เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
เป็นจังหวะที่รัฐบาลกำลังเปิดศึกกับ “กลุ่มจีนเทา” ตัดไฟฟ้า น้ำมัน อินเทอร์เน็ต ไม่ให้เป็นท่อน้ำเลี้ยง “เมืองคอลเซ็นเตอร์” ฝั่งประเทศเพื่อนบ้านอยู่พอดี
ปรากฏว่าข่าวทุนจีนเช่าที่ดินทำสวนทุเรียน ทำให้บางฝ่ายกังวล ทั้งในแง่สุขภาพและความสงบสุขของชุมชน โดยเฉพาะหากมีการใช้สารเคมีในการฉีดพ่น หรือเร่งผลผลิตทุเรียน นอกจากนั้นยังมีปัญหาเศรษฐกิจที่กระทบกับเกษตรกรไทยโดยตรงด้วย เพราะหากจีนปลูกเอง ขายเอง โดยอาศัยแผ่นดินไทย แล้วเกษตรกรไทยจะปลูกทุเรียนขายใคร
จากการตรวจสอบข้อมูลของ “ทีมข่าวอิศรา” พบว่า ปัญหา “นายทุนจีน” กับ “สวนทุเรียน” ใน อ.เบตง จริงๆ แล้วไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะตลอดหลายปีที่ผ่านมา ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะที่ อ.เบตง ถือได้ว่าเจ้าของสวนทุเรียนไม่ได้มีอำนาจตัดสินใจในการทำสวน ผลิต และขายจริงๆ เพราะกลายเป็นทุนจีนเข้ามากว้านซื้อสวนทุเรียนแบบยกสวน เรียกว่าครอบงำตลาดทุกอย่าง จนกระทั่งยกระดับมาเช่าที เป็นเจ้าของสวนเองกว่า 2,000 ไร่
หลายคนกังวลว่า ระยะยาวคนเบตงอาจจะไม่มีอากาศหายใจ เพราะพื้นที่จะเต็มไปด้วยมลพิษจากการฉีดพ่นสารเคมีเร่งให้ทุเรียนออกดอกออกผล ทำให้ชาวบ้านที่ชุมชนบ้านด่านสันติราษฏร์ อ.เบตง ร้องเรียนขอให้หน่วยงานเกี่ยวข้องเข้าตรวจสอบการดำเนินกิจการ และ สส.อับดุลอายี ออกมาเคลื่อนไหว
@@ หวั่นปัญหาระยะยาวซ้ำรอยภาคตะวันออก
“สวนทุเรียนที่มีปัญหา มีนายทุนชาวจีนเป็นผู้เข้ามาดำเนินกิจการปลูกทุเรียน และมีสารเคมีฟุ้งกระจาย เกรงว่าจะกระทบต่อร่างกายเด็กนักเรียน และ ประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียง จึงขอวอนให้หน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าดำเนินการตรวจสอบที่ดินประมาณ 2 พันกว่าไร่ ทราบว่าที่ดินดังกล่าวมีเอกสารสิทธิ์ที่เสียภาษีจำนวนหนึ่ง แต่ในเรื่องรายละเอียดของการถือกรรมสิทธิ์ยังไม่ชัด แต่ในจำนวน 2 พันไร่ มี 600 ไร่ที่มีกรรมสิทธิ์เป็นโฉนด และเป็น นส.3”
“วันนี้อาจจะยังดูไม่รุนแรง แต่ระยะยาว 20-30 ปีต่อไป มันต้องมีการฉีดพ่นสารบำรุงต้น ดอก ผล ที่นี้ระหว่างดำเนินการก็ต้องมีการพ่นสารเคมี แน่นอนว่าจะเอาปุ๋ยชีวภาพมาใช้มันไม่ทัน มันช้า เหมือนที่กำลังมีปัญหาในภาคตะวันออก ขณะนี้ปัญหาจะมาที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะเบตง” สส.อับดุลอายี ระบุ
@@ 2 พันไร่ใช้โดรนบิน กระทบชุมชน รร. - รพ.
และว่า การฉีดพ้นในเนื้อที่ 1-2 พันไร่ ลองคิดดูจะใช้แรงงานคนคงไม่ไหว ก็ต้องใช้โดรน พอใช้โดรน แน่นอนต้องใช้จำนวนหลายลำ ประมาณ 4-5 ลำ ก็ต้องใช้การฉีดพ่นอยู่ดี แต่พื้นที่ที่มีการเช่าทำสวนทุเรียน ล้อมรอบด้วยชุมชน โรงเรียน และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล จึงเป็นห่วงและกังวลว่าระยะยาวต้องมีผลกระทบแน่นอน
“เมื่อเช้าผมลงพื้นที่ ชาวบ้านยังบอกว่ากังวลเรื่องแหล่งน้ำที่อาจจะเจอปัญหา และสุขภาพของชาวบ้าน ประเด็นที่จะตามมาแน่นอน เรื่องสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจะกระทบแน่”
สส.พรรคประชาชาติ บอกต่อว่า ปัญหาอื่นนอกจากสุขภาพชุมชน คือ การปลูกทุเรียนซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจ มีราคาดี เป็นที่ต้องการของประเทศจีน เป็นแหล่งรายได้ของเกษตรกรไทย แต่ตอนนี้เท่ากับว่า จากเดิมนายทุนจีนแค่เข้ามาซื้อถึงในสวน วันนี้วิธีคิดของเขา คือเข้ามาปลูกเองในพื้นที่ เป็นเจ้าของสวนเอง โดยการเช่าที่ดิน
@@ ผู้ว่าฯส่งเกษตรจังหวัดลุยตรวจ
มีรายงานว่า นายอำพล พงศ์สุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา สั่งให้เกษตรจังหวัดลงพื้นที่ตรวจสอบ
เกษตรจังหวัดรายงานว่า ทางผู้เช่าที่ดินทำสวนทุเรียน จะใช้เทคโนโลยีชีวภาพในการดูแลผลผลิต ส่วนเรื่องของการปลูก จะปลูกให้ห่างจากโรงเรียนและชุมชน
@@ บริษัทจีนอ้างใช้ปุ๋ยชีวภาพ - ที่ดิน นส.3
มีรางานว่า เกษตรจังหวัดได้พบกับ นายอภิสิทธิ์ วณิกรสกุล ผู้จัดการ บริษัท เหยียนต้าเทคโนโลยีการเกษตร จำกัด ในฐานะผู้เช่าที่ดินปลูกทุเรียน ได้รับการยืนยันว่า ที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินที่มีเอกสาร นส.3 โดยเช่าจาก บริษัท จิบอยู่ ลาเท็คซ์ จำกัด จำนวน 1,500 ไร่ ปัจจุบันปลูกทุเรียนไปแล้ว 600 กว่าไร่
ส่วนการใช้สารเคมีนั้น นายอภิสิทธิ์ ได้แจ้งกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ใช้ปุ๋ยชีวภาพ คือ ปุ๋ยหมัก ในการบำรุงใบและป้องกันแมลง ซึ่งทำมาจากถั่วเหลืองและกากน้ำตาล โดยใช้แทนสารเคมี
@@ รพ.สต. ยังไม่ได้รับรายงานผลกระทบ
อีกด้านหนึ่ง นายอำเภอเบตงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้สอบถามไปยังผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) กม.18 อ.เบตง ซึ่งอยู่ใกล้กับสวนทุเรียน ได้รับแจ้งว่ายังไม่มีรายงานผู้ได้รับผลกระทบจากสวนทุเรียน โดยทาง รพ.สต. จัดโครงการตรวจเลือดคัดกรองสารเคมีทุกปี
สำหรับแนวทางแก้ไขเพื่อลดปัญหาในพื้นที่ จะปลูกต้นไม้ 2 ข้างทางเพื่อเป็นแนวกันชน ป้องกันการฟุ้งกระจายของสารฉีดพ่นเข้าไปในเขตชุมชน และการฉีดพ่นควรฉีดพ่นเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ หรือวันหยุดราชการ เพื่อป้องกันกลิ่นไม่ให้มีผลกระทบกับทางโรงเรียน
------------------------------------