วันเสาร์ที่ 1 ก.พ.68 บรรยากาศการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) และสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) ของพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีประชาชนทยอยกันออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งตามหน่วยเลือกตั้งต่างๆ หนาตาพอสมควร
@@ ชาวบันนังสตาทยอยใช้สิทธิ์ ไม่หวั่นเหตุรุนแรง
อย่างในพื้นที่ อ.บันนังสตา จ.ยะลา ที่โรงเรียนบ้านเตาปูน ซึ่งเป็นหน่วยเลือกที่ 3 และหน่วยเลือกตั้งที่ 4 หมู่ 2 ต.บังนังสตา มีผู้มีสิทธ์เลือกตั้งจำนวน 2,100 คน
แม้ว่าในการเลือกตั้ง สส.เมื่อปี 66 จะเคยเกิดระเบิดห่างจากโรงเรียนบ้านเตาปูนเพียง 200 เมตรก็ตาม แต่ก็ไม่ได้ทำให้ชาวบ้านรู้สึกหวั่นไหวหรือกลัวต่อเหตุการณ์ความไม่สงบ ต่างทยอยมาเช็คชื่อเข้าคูหาเลือกตั้ง และเข้าไปกากบาทเลือกคนที่ตนเองไว้วางใจให้เป็นผู้นำในระดับท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ดูแลรักษาความปลอดภัยเต็มพิกัดทุกจุดในหน่วยเลือกตั้ง
เช่นเดียวกับที่หน่วยเลือกที่ 10 หมู่ 7 ต.กรงปินัง อ.กรงปินัง จ.ยะลา ซึ่งใช้มัสยิดบ้านกรงปินังเป็นสถานที่เลือกตั้ง โดยผู้มีสิทธ์เลือกตั้งในหน่วยนี้มีทั้งสิ้น 653 คน ต่างทยอยเดินทางไปเข้าคูหาเลือกตั้งกันอย่างคึกคัก
อย่างไรก็ดี ทีมข่าวตั้งข้อสังเกตว่า ตั้งแต่เปิดหีบลงคะแนน ไม่ค่อยเห็นกลุ่มเยาวชนที่มีสิทธิ์เลือกตั้ง หรือคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งมีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้งเป็นครั้งแรก หรือ First Voters ไปลงคะแนนกันมากนัก สอบถามพ่อแม่ที่มาลงคะแนนทราบว่า กลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่น่าจะทยอยไปใช้สิทธิ์ในช่วงบ่าย
@@ คาดผู้มาใช้สิทธิ์ 70% ยังไม่พบซื้อเสียง
ขณะที่ กกต.ยะลา คาดการณ์ว่า จะมีผู้ว่าใช้สิทธ์เลือกตั้งราวๆ 70% ส่วนการซื้อเสียงในพื้นที่ ยังไม่พบว่ามีผู้มาร้องเรียน และยังไม่พบเหตุการณ์ในขณะที่ไปตรวจพื้นที่แต่อย่างใด
สำหรับจังหวัดยะลา ผู้สมัคร นายก อบจ.ยะลา มีจำนวน 2 ราย และมีผู้สมัคร ส.อบจ.ทั้ง 30 เขตเลือกตั้ง จำนวน 53 ราย มีหน่วยเลือกตั้ง 8 อำเภอ รวม 606 หน่วย ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 380,747 คน
@@ เบตงคึก! ผู้สูงอายุ – คนวัยทำงาน แห่ออกไปใช้สิทธิ์
ด้านบรรยากาศตามหน่วยเลือกตั้ง นายก อบจ. และ ส.อบจ.ยะลา ในพื้นที่ อ.เบตง จ.ยะลา ซึ่งมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนทั้งสิ้น 45,728 คน ปรากฏว่าหลังเปิดหีบลงคะแนน มีประชาชนทยอยไปใช้สิทธิ์อย่างต่อเนื่อง โดยส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ และคนวัยทำงาน
ขณะที่หน่วยเลือกตั้งต่างๆ ทั้ง 76 หน่วยเลือกตั้ง ในพื้นที่ อ.เบตง จะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ 2 นาย ฝ่ายปกครอง 2 นาย แต่งเครื่องแบบคอยดูแลรักษาความปลอดภัยอยู่ประจำทุกหน่วยเลือกตั้ง และตามถนนหนทาง ทั้งถนนสายหลักสายรอง ก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตำรวจตระเวนชายแดน หรือ ตชด. ทหาร ฝ่ายปกครอง ตั้งด่านตรวจ และคอยลาดตระเวนตรวจตรารักษาความสงบให้กับพี่น้องประชาชนที่ออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งอย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันกลุ่มผู้ไม่หวังดีก่อเหตุสร้างสถานการณ์ในวันเลือกตั้ง เนื่องจากในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบอย่างต่อเนื่อง
@@ ชาวปัตตานีอยากได้ อบจ. ที่สนับสนุนการศึกษาเด็ก
ส่วนบรรยากาศการเลือกตั้ง นายก อบจ. และ ส.อบจ.ปัตตานี ที่หน่วยเลือกตั้งที่ 10 เขตเลือกตั้งที่ 2 มูลนิธิจ้าวเฮงสือ อ.เมืองปัตตานี เป็นไปอย่างคึกคักมีประชาชนยืนรอและตรวจรายชื่อเพื่อลงคะแนนเสียงเลือกตั้งอย่างหนาตา และก็ยังมีประชาชนทยอยออกจากบ้านไปลงคะแนนอย่างไม่ขาดสาย โดยมีเจ้าหน้าที่ประจำหน่วย และเจ้าหน้าที่ ตำรวจ อส. (สมาชิกกองอาสารักษาดินแดน) เข้าประจำการดูแลความเรียบร้อยในหน่วยเลือกตั้ง
เช่นเดียวกับหน่วยเลือกตั้งที่ 8 เขตเลือกตั้งที่ 2 บริเวณลานจอดรถธนาคารกรุงไทย อ.เมืองปัตตานี ก็มีประชาชนทยอยไปคะแนนอย่างคึกคักเช่นกัน แต่ในเขตนี้เกิดปัญหากับประชาชนรายหนึ่ง สามารถลงคะแนนได้เฉพาะ นายก อบจ. แต่ไม่สามารถเลือก ส.อบจ. ในเขตเลือกตั้งนั้นได้ สาเหตุมาจากพบว่ามีการโอนย้ายทะเบียนบ้านมาจากต่างเขตเลือกตั้ง แต่ยังอยู่ในเขต อ.เมืองปัตตานี เช่นเดียวกัน สุดท้ายเจ้าหน้าที่ได้มีการตรวจสอบและแก้ไขปัญหาจนเรียบร้อย
ประชาชนในพื้นที่เขตเมืองปัตตานีที่ออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง กล่าวกับ “ทีมข่าวอิศรา” ว่า คาดหวังให้คณะบริหาร อบจ.ปัตตานีชุดใหม่ที่จะเข้ามาบริหาร เร่งแก้ปัญหาให้กับชาวปัตตานี โดยเฉพาะด้านการศึกษา ความยากจน การว่างงาน รวมถึงเรื่องสาธารณูปโภคต่างๆ
“เรามีลูก 2 คนที่อยู่ในวัยเจริญเติบโต จึงเป็นห่วงเรื่องของการศึกษามากที่สุด แม้ว่าทางภาครัฐได้ให้การสนับสนุนและส่งเสริมในเรื่องของอุปกรณ์การศึกษา แต่เราก็อยากได้ทุนการศึกษาเพิ่มขึ้น เพราะในพื้นที่ 3 จังหวัดเป็นพื้นที่ยากจน เรื่องนี้จะสอดคล้องกับการแก้ปัญหาการว่างงาน และความยากจน ก็อยากให้เน้นในเรื่องนี้” ชาวบ้านรายหนึ่งกล่าว
@@ เลือกตั้ง อบจ.นราธิวาส คึกคักไม่ต่างเลือก สส.ปี 66
ส่วนการเลือกตั้ง นายก อบจ. และ ส.อบจ.นราธิวาส ซึ่งมีหน่วยเลือกตั้งทั้ง 30 เขต ในพื้นที่ 13 อำเภอ รวมทั้งสิ้น 998 หน่วย บรรยากาศตั้งแต่เปิดหีบเลือกตั้งมีประชาชนทยอยเดินทางไปใช้สิทธิ์อย่างคึกคัก โดยหากเทียบกับการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง สส.ครั้งที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 14 พ.ค.66 พบว่า บรรยากาศไม่แตกต่างกันมากนัก โดยทาง กกต.นราธิวาส คาดการณ์ไว้ว่า จะมีประชาชนเดินทางมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งในครั้งนี้คิดเป็นร้อยละ 70 เลยทีเดียว
ด้านการรักษาความปลอดภัยบริเวณหน่วยเลือกตั้ง ทั้ง 998 หน่วยที่กระจายอยู่ใน 13 อำเภอ จะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ อส.ของแต่ละอำเภอ รวมทั้งชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) ประจำการดูแลความปลอดภัย โดยเฉพาะที่หน่วยเลือกตั้งในพื้นที่เสี่ยง จะมีกำลังทหารเข้าไปเสริมในการปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยเพิ่มเติม เพื่อคอยอำนวยความสะดวกและรักษาความเรียบร้อยของหน่วยลงคะแนนเสียงอย่างเข้มงวด
ส่วนบริเวณจุดตรวจต่างๆ จะมีเจ้าหน้าที่กองกำลัง 3 ฝ่าย ทั้งตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครอง สนธิกำลังกันตรวจสอบบุคคลและยานพาหนะที่แล่นผ่านเข้าออกในพื้นที่เขตเมืองและเขตชุมชน โดยเฉพาะเส้นทางซึ่งเป็นที่ตั้งของหน่วยลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้สมาชิกกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง แฝงตัวเข้าไปก่อเหตุรุนแรงที่ส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้ง นายก อบจ. และ ส.อบจ.