เหตุการณ์ตากใบ และคดีตากใบที่ใกล้ขาดอายุความ ซึ่งกำลังเป็นประเด็นร้อนแรงอยู่ในสังคมขณะนี้นั้น
ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาเรามักได้ยินแต่เสียงเหยื่อ ผู้ได้รับผลกระทบ หรือคนที่ออกมาพูดแทนผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งมีมุมมองต่อเจ้าหน้าที่รัฐในทางเลวร้าย
ยิ่งคดีใกล้ขาดอายุความ ทั้งจำเลยและผู้ต้องหาเงียบหาย ไม่ปรากฏตัวต่อศาล ทั้งๆ ที่ศาลประทับรับฟ้องคดี อัยการสูงสุดก็สั่งฟ้องคดี ยิ่งทำให้ภาพลักษณ์เจ้าหน้าที่โดยรวมซึ่งปฏิบัติงานอยู่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งในอดีตและปัจจุบัน พลอยติดลบไปด้วยทั้งหมด
“ทีมข่าวอิศรา” ติดต่อขอพูดคุยเปิดใจกับ “เจ้าหน้าที่รัฐหน่วยหนึ่ง” ซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่จริงในเหตุการณ์ตากใบ และรับรู้รับทราบสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมด รวมถึงการเบี้ยวนัดไม่ไปศาล ของบรรดาจำเลยและผู้ต้องหารวม 14 คน ซึ่งก็ล้วนเป็นเจ้าหน้าที่รัฐและอดีตเจ้าหน้าที่รัฐด้วยเช่นกัน
เขารู้สึกอย่างไร และมีมุมมองต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันอย่างไร นับว่าน่าสนใจไม่น้อย
“ผมเป็นเพียงเจ้าหน้าที่ตัวเล็กๆ ที่ถูกเรียกตัวให้ไปสังเกตุการณ์ คือยืนอยู่วงนอก แต่ก็ได้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมด” เขาเริ่มเล่าถึงบทบาทของตนในวันที่ 25 ต.ค.เมื่อ 20 ปีที่แล้ว
“ก็ใช่...ผมได้เห็น และเมื่อมานึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นวันนั้น ผมมองว่ามีปัจจัยหลายอย่างบังคับ และนำพาให้เกิดเหตุบานปลาย”
เขายืนยันว่า ในความรู้สึกของเจ้าหน้าที่ เท่าที่ตัวเขาสัมผัสเอง และได้ยินได้ฟังมา ไม่ได้มีใครอยากให้เกิดเรื่องร้ายๆ แบบนี้
“ไม่มีใครอยากให้ชาวบ้านตาย แต่ก็ไม่สามารถที่จะพูดเต็มปากได้ เพราะเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้ว” เขายอมรับความจริงโดยดุษฎี
การยอมรับในที่นี้ หมายถึงปฏิเสธความรู้สึกในแง่ลบของครอบครัวผู้สูญเสียไม่ได้ เพราะสุดท้ายผลก็เกิดขึ้นจริงตามที่ทุกคนรู้
เมื่อถามถึงคดีตากใบที่ศาลรับฟ้อง และอัยการสูงสุดสั่งฟ้อง แต่ผู้เกี่ยวข้องถึง 14 คนไม่มีใครยอมขึ้นศาล เจ้าหน้าที่รายนี้ยอมรับว่า พูดไม่ออกเหมือนกัน เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นก็ต้องยอมรับว่ามันเกินกว่าเหตุจริงๆ
“ถ้าพูดอย่างกลางๆ ผมคิดว่าคนที่ถูกออกหมายจับ ไม่มีใครสักคนที่ไม่ต้องรับบทลงโทษ ถึงยังไม่โดนโทษทางกฎหมาย และทุกคนได้รับผลจากการกระทำ เพียงแต่จะหนักหรือเบาอยู่ที่ใจของแต่ละคน”
“ผมเชื่อว่าใจเขาไม่เคยมีความสุขเลย รวมถึงตัวผมเองด้วย ขอยืนยันว่าทุกคนเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่มีใครอยากให้เกิด แต่ก็มีหลายอย่างที่มันไม่สามารถจะพูดได้ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นมันเกิดกว่าเหตุจริงๆ”
@@ สะมะแอ ท่าน้ำ : ประวัติศาสตร์ไม่มีอายุความ
ด้าน นายมะแอ สะอะ อดีตสมาชิกพูโล ซึ่งทุกคนรู้จักเขาในนาม “หะยี สะมะแอ ท่าน้ำ” แสดงความเห็นเรื่องตากใบเอาไว้อย่างคมคาย ซึ่งทุกฝ่ายสมควรนำไปทบทวน โดยเฉพาะฝ่ายรัฐ
“เรื่องคดีตากใบที่กำลังจะครบ 20 ปี และคดีก็จะหมดอายุความ ส่วนตัวมองว่าสำหรับคนในพื้นที่มันกลายเป็นประวัติศาสตร์ที่ไม่มีวันหมดอายุ อันนี้สำคัญกว่าถ้าไม่ทำให้เคลียร์”
สำหรับ หะยี สะมะแอ ท่าน้ำ หรือ นายมะแอ สะอะ เป็นหนึ่งในจำเลยคดีความมั่นคง ซึ่งโดนดำเนินคดีในข้อหากบฏแบ่งแยกดินแดน แต่ภายหลังได้รับพระราชทานอภัยโทษ และได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำจังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 17 ก.ค.2558 จากนั้นเขาจึงหันมาทำงานช่วยสร้างสันติสุขในพื้นที่ และมีบทบาททางอ้อมในกระบวนการสันติภาพ