“ดูหนังดูละคร แล้วย้อนดูตัว...” ถ้อยคำจากบทประพันธ์ในนวนิยายของ หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง กลายเป็นเครื่องเตือนใจที่ใครหลายคนมักหยิบยกมาเตือนสติกัน
ด้วยหวังให้ทบทวนตัวเอง พินิจพิจารณาถึงสิ่งต่างๆ ที่ผ่านมา เปรียบเทียบกับสภาวะแวดล้อมที่เป็นอยู่และดำรงอยู่ ซึ่งมีความเปลี่ยนแปลงไม่หยุดยั้งเช่นกัน
ในบริบทการเมือง ถ้อยคำนี้ก็สามารถนำมาใช้ได้ โดยเฉพาะกับการเมืองไทยที่กำลังวุ่นวายฝุ่นตลบ เปลี่ยนแปลงการปกครองมาเกือบจะครบ 1 ศตวรรษ แต่ดูเหมือนการต่อสู้ฟาดฟันเพื่อแย่งชิงอำนาจของนักการเมืองยังคงเลือดพล่านเหมือนกัน โดยที่ชาวบ้าน ประชาชน ได้แต่มองตาปริบๆ
บางคนสะกิดให้ผู้เกี่ยวข้องทบทวนความเป็นไปของการเมืองไทย โดยหยิบไปเปรียบเทียบกับการเมืองของประเทศพัฒนาแล้ว ดังเช่นสหรัฐอเมริกา
แต่อาจลืมคิดไปว่า การเมืองแบบอเมริกัน เจ้าของสมญา “ต้นแบบประชาธิปไตย” วันนี้เองก็มีปัญหาไม่น้อยไปกว่าไทย ถึงขั้นเสี่ยงล่มสลายกันเลยด้วยซ้ำ โดยเฉพาะหากพิจารณาจากการดีเบตและรณรงค์หาเสียงช่วงโค้งสุดท้ายเพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดี
พันธ์ศักดิ์ อาภาขจร ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร บันทึกข้อมูลและความเป็นไปของการเมืองสหรัฐฯ ซึ่งแม้จะมีความก้าวหน้าในการใช้ความทันสมัยของเครื่องมือสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นโซเชียลมีเดีย หรือเอไอ
แต่สุดท้ายแล้วการใช้เทคโนโลยีซึ่งเปรียบเหมือนอาวุธ โดยปราศจากความรับผิดชอบ และโป้ปดมดเท็จ ไร้จริยธรรมจรรยา ย่อมนำมาซึ่งความฉิบหาย
พร้อมๆ กับคำถามที่ว่าไทยยังควรยึดเป็นแบบอย่างอยู่หรือไม่ เพราะ ณ เวลานี้ คนอเมริกันก็กำลัง “ดูหนังดูละคร แล้วย้อนดูตัว…” ด้วยเช่นกัน
@@ อเมริกา : จากประชาธิปไตยที่เบ่งบานสู่ประชาธิปไตยที่ร่วงโรย
หากใครติดตามการเมืองของสหรัฐอเมริกา จะเห็นได้ว่ายิ่งใกล้วันเลือกตั้ง การหาเสียงจากแคตดิเดตของทั้งสองพรรคการเมืองยิ่งทวีความดุเดือดและเผ็ดร้อนจากการใช้คำพูดเสียดสีและทิ่มแทงฝ่ายตรงข้ามอย่างเมามัน
นอกจากใช้วาทกรรมเชือดเฉือนกันอย่างดุเดือดแล้ว เทคโนโลยีประเภทโซเชียลมีเดียและปัญญาประดิษฐ์ได้ถูกนำมาใช้เพื่อสร้างความได้เปรียบให้แก่ฝ่ายตัวเอง โดยไม่สนใจว่าคอนเทนต์ที่สร้างขึ้นและโพสต์ลงแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียนั้น เป็นเรื่องเท็จหรือความจริง คนอเมริกันจึงต้องไปตัดสินกันเองว่าจะเชื่อความจริงของฝ่ายไหน
ครั้งหนึ่งในการหาเสียง อดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้ท้าชิงจากพรรครีพับริกัน ได้โพสต์ภาพที่สร้างด้วย AI ผสมกับภาพจริง โดยอ้างว่าแฟนคลับของ เทย์เลอร์ สวิฟต์ นักร้องชื่อก้องโลก ที่เรียกกันว่า “สวิฟตี้” (Swfties) สนับสนุนเขา และบางภาพยังปรากฏข้อความบางส่วนว่า “ เทย์เลอร์ ต้องการให้พวกคุณโหวตให้กับทรัมป์”
โพสต์ของทรัมป์ ได้ถูกแชร์จากบัญชีของเขาเอง และจากบัญชีที่สนับสนุนเขา ซึ่งคนทั่วไปไม่มีทางรู้ได้เลยว่าสิ่งที่ ทรัมป์โพสต์ลงบน Truth Social และ X ครั้งนั้น และถูกเผยแพร่ต่ออย่างมากมายนั้น เป็นความจริงหรือความเท็จ
ซึ่งในภายหลังได้มีการพิสูจน์ได้ว่าเป็นการใช้ AI ในการสร้างภาพเหล่านี้ขึ้น ในขณะที่เวลาต่อมา เทย์เลอร์ สวิฟต์ ได้ประกาศว่าหลังดีเบตเสร็จสิ้น เธอจะออกเสียงเลือก กมลา แฮร์ริส จากพรรคเดโมแครต ซึ่งคำพูดของเธอขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิงกับการคุยโตของทรัมป์ ในการหาเสียงครั้งก่อนหน้า
@@ ดีเบตชิงประธานาธิบดี - ทฤษฎีสมคบคิดท่วมจอ
การดีเบตของ โดนัลด์ ทรัมป์ และ กมลา แฮร์ริส ครั้งแรกเมื่อ 11 กันยายนที่ผ่านมาได้พิสูจน์ให้เห็นอีกครั้งหนึ่งว่า นักการเมืองสามารถทำทุกอย่างเพื่อให้ตัวเองได้อำนาจ ด้วยวิธีการต่างๆ นานา ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองในประเทศที่เรียกตัวเองว่าเป็นประชาธิปไตยที่เหนือกว่าใครในโลก หรือประเทศที่มีประชาธิปไตยลุ่มๆ ดอนๆ แบบบ้านเรา
ช่วงหนึ่งของการดีเบต ทรัมป์กล่าวว่า รัฐบาลไบเดนและแฮร์ริสคือผู้ที่ปล่อยให้อาชญากรเข้ามาในประเทศ เข้ามาก่อกวนประชาชน และกินสุนัขและสัตว์เลี้ยงของผู้คนในเมืองต่างๆ และอัตราอาชญากรรมในประเทศนี้เพิ่มขึ้นอย่างมาก ในขณะที่ลดลงในประเทศอื่น เนื่องจากอาชญากรในประเทศเหล่านั้นลักลอบเข้ามาอยู่ในอเมริกาภายใต้รัฐบาลชุดนี้
ในขณะที่ ผู้ดำเนินรายการให้ข้อมูลว่า เอฟบีไอรายงานว่า ตัวเลขอาชญากรรมโดยรวมในสหรัฐฯ ลดลง แต่ทรัมป์กลับปฏิเสธข้อมูลนั้น
การกล่าวหาอย่างเลื่อนลอยว่าผู้อพยพกินสุนัข แมว และสัตว์เลี้ยง ในเวทีหาเสียงของทรัมป์ในวันนั้น กลายเป็นเรื่องน่าหัวเราะและไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้นได้ในระหว่างการดีเบตชิงชัยประธานาธิบดีของประเทศที่อ้างเสมอว่าเป็นหนึ่งในต้นแบบประชาธิปไตยของโลก
เพราะข้อมูลที่ทรัมป์อ้างนั้นพบว่า มาจากทฤษฎีสมคบคิดที่เป็นเทรนด์บนโซเชียลมีเดีย X ที่มีการโปรโมตโดยนักการเมืองในรัฐโอไฮโอ
นอกจากนี้ระหว่างการดีเบต แทนที่จะตอบโต้กันด้วยความจริงและเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ ทรัมป์และผู้สนับสนุนเขาต่างใช้ทฤษฎีสมคบคิดบนโซเชียลมีเดีย มาจับผิดการแต่งกายของ กมลา แฮร์ริส จากลักษณะของต่างหูที่เธอสวมใส่ โดยอ้างว่ากมลา แฮร์ริส ใส่ต่างหูที่มีหูฟังฝังไว้ข้างใน กมลา แฮร์ริส จึงได้เปรียบ เพราะมีโค้ชคอยให้ข้อมูลผ่านหูฟังระหว่างการดีเบต
การใช้เทคนิคทุกรูปแบบในการหาเสียงเลือกตั้งจึงเป็นบทพิสูจน์ได้อย่างหนึ่งว่า สังคมอเมริกันกำลังอยู่ภายใต้อิทธิพลของข้อมูลกำกวม และทฤษฎีสมคบคิดที่ออกมาจากปากของนักการเมือง ซึ่งเชื่อได้ว่าคนจำนวนไม่น้อยปักใจว่าแคนดิเดตจากพรรคการเมืองที่ตัวเองถือหางอยู่นั้นกำลังพูดความจริง และฝ่ายตรงข้ามกำลังพูดเท็จ
ประชาธิปไตยของคนอเมริกันจึงอยู่ในความเสี่ยงที่กำลังถูกทำลายด้วยข้อมูลเท็จ และหากมองด้วยความเป็นธรรมแล้ว การหาเสียงสาดโคลนใส่กันด้วยทฤษฎีสมคบคิดเหล่านี้ แทบจะไม่เห็นในบ้านเรา เว้นเสียแต่การโกหก ซึ่งนักการเมืองทุกประเทศมีพฤติกรรมเดียวกัน จึงทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่าเหตุใดคนอเมริกันจำนวนหนึ่งจึงหลงไหลต่อทฤษฎีสมคบคิดยิ่งนัก
@@ ประชาธิปไตยที่เปราะบาง
นักประวัติศาสตร์ชาวอเมริกันเคยกล่าวไว้ว่า สหรัฐอเมริกาคือหนึ่งในประเทศประชาธิปไตยยุคใหม่ที่เก่าแก่ที่สุดประเทศหนึ่ง และกว่าจะมาถึงจุดที่เป็ประชาธิปไตยที่ยอมรับกันทั้งโลก อเมริกาได้ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านการทดลองรูปแบบประชาธิปไตยในแบบของตัวเองด้วยความทุลักทุเลและลำบากยากเข็ญอยู่ไม่น้อย ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์ที่ไม่สวยงามนัก จนเป็นกลายแบบอย่างที่ดีในเวลาต่อมา
แม้ว่าคนอเมริกันบางกลุ่มยังทะนงตนว่าประชาธิปไตยของตัวเองยังสามารถนำไปใช้อ้างอิงเป็นแบบอย่างประชาธิปไตยของโลกได้ แต่คนอเมริกันจำนวนไม่น้อยมีความสงสัยว่าความเป็นประชาธิปไตยแบบอเมริกันนั้นยังคงเป็นแบบอย่างที่ดีอยู่จริงหรือไม่
เพราะหากมองเหตุการณ์ทางการเมืองตลอดหลายปีที่ผ่านมา ผ่านผลการสำรวจ บทวิเคราะห์ทางการเมืองและเหตุการณ์ความรุนแรงหลังจาก อดีตประธานาธิบดีทรัมป์พ่ายการเลือกตั้งให้กับ ประธานาธิบดี โจ ไบเดน อาจพูดได้ว่าประชาธิปไตยของคนอเมริกันกำลังอยู่ในภาวะขาลงสู่จุดที่คนอเมริกันแทบไม่มีความภาคภูมิใจอีกต่อไป
จากการรายงานเมื่อปี 2022 พบว่า 2 ใน 3 ของคนอเมริกันมีความรู้สึกว่าประชาธิปไตยของพวกเขาอยู่ในภาวะวิกฤต และมีความเสี่ยงต่อการล่มสลาย และปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดความรู้สึกเหล่านี้ คือการได้รับข้อมูลข่าวสารที่มาจากหลากหลายแหล่ง และแหล่งข้อมูลเหล่านี้ไม่มีความน่าเชื่อถือ
นอกจากนี้ ผลการรายงานที่ตอกย้ำความเสี่ยงของประชาธิปไตยในแบบของคนอเมริกันคือ ผลการสำรวจที่พบว่าคนอเมริกันเพียง 52 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ยังเชื่อว่าประชาธิปไตยแบบอเมริกันคือประชาธิปไตยที่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เหตุการณ์จลาจลเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2021 ที่กลุ่มผู้ประท้วงหัวรุนแรงที่สนับสนุน อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ นับร้อยคน ได้บุกเข้าไปในอาคารรัฐสภาของสหรัฐ ด้วยความพยายามที่ต้องการพลิกผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปี 2020 ได้แสดงให้เห็นแล้วว่าประชาธิปไตยของคนอเมริกันอยู่ในภาวะเปราะบางเพียงใด และยังแสดงให้เห็นว่าคนบางกลุ่มพร้อมที่จะใช้ความรุนแรงตลอดเวลา หากผลการเลือกตั้งไม่เป็นไปดังใจของพวกเขา
@@ แทรกแซงกิจการภายใน - ภารกิจหลักของชาติตะวันตก?
แม้ว่าประชาธิปไตยของตัวเองจะอยู่ในความเสี่ยงต่อความล้มเหลว แต่สหรัฐอเมริกาและพันธมิตรในฝั่งตะวันตกมักอดไม่ได้ที่จะเข้าไปแทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่นอยู่เสมอ โดยใช้ความเป็นประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพแบบของตนเองเป็นข้ออ้าง
หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกลเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2567 นอกจากสมาชิกพรรคการเมืองที่ถูกยุบและผู้สนับสนุนพรรคได้ออกมาแสดงออกถึงความโกรธเคืองต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งพอจะเป็นที่เข้าใจได้ถึงความผิดหวังที่พรรคถูกยุบ
แต่การที่ผู้แทนจากบางประเทศดาหน้ากันออกแถลงการณ์เผยแพร่ข้อเรียกร้อง ทวีตข้อความต่างๆ นานา ราวกับว่าพรรคการเมืองในประเทศของตัวเองกำลังถูกทำลายโดยกระบวนการยุติธรรมที่บิดเบี้ยวนั้น เป็นเรื่องที่ท้าทายต่อมารยาททางการทูต เพราะแต่ละประเทศย่อมมีอธิปไตยที่จะดำเนินการกิจกรรมใดๆ ภายใต้ขอบเขตของกฎหมายในประเทศนั้นๆ โดยไม่ควรมีใครแทรกแซงได้ การทำตัวเจ้ากี้เจ้าการเรื่องประชาธิปไตยในบ้านคนอื่นอย่างออกนอกหน้า จึงเป็นเรื่องไม่สมควร
จากสรุปรายงานของสำนักข่าวอิศราเรื่อง “ประมวลความเห็นจากตะวันตก ชี้เป็นภัยต่อ ปชต.พหุนิยม หลังศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบก้าวไกล” เผยแพร่เมื่อ วันที่ 8 สิงหาคม 2567 พบว่าบางประเทศ รวมถึงบุคคลและองค์กรบางองค์การต่างออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไทย และสั่งสอนความเป็นประชาธิปไตยให้กับคนไทยอย่างพร้อมเพรียงกัน โดยมีเนื้อหาราวกับลอกกันมา เป็นต้นว่า
- สถานทูตสหรัฐฯ และสถานกงสุลในประเทศไทย เผยแพร่แถลงการณ์ของ นายแมทธิว มิลเลอร์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ถึงกรณีการยุบพรรคก้าวไกลในประเทศไทย ระบุว่า สหรัฐอเมริกามีความกังวลอย่างยิ่งเกี่ยวกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไทยในวันนี้ ซึ่งมีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกลและตัดสิทธิทางการเมืองของแกนนำพรรค 11 คน
คำตัดสินนี้ลิดรอนสิทธิ์ของชาวไทยกว่า 14 ล้านคนที่ลงคะแนนเสียงให้พรรคก้าวไกลในการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 และทำให้เกิดคำถามว่าพวกเขาสามารถเลือกผู้แทนของตนในระบบการเลือกตั้งของไทยได้หรือไม่ คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญยังเสี่ยงต่อการบั่นทอนกระบวนการประชาธิปไตยของไทย และขัดกับความปรารถนาของชาวไทยต่ออนาคตที่มั่นคงและเป็นประชาธิปไตย
- กระทรวงต่างประเทศของประเทศออสเตรเลียได้ออกแถลงการณ์ในลักษณะเดียวกัน ระบุว่า ออสเตรเลียรับทราบคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญไทยเมื่อวันที่ 7 ส.ค.ให้ยุบพรรคก้าวไกลและสั่งแบนทางการเมืองกับสมาชิกผู้บริหารทั้งในปัจจุบันและอดีตจำนวน 11 คน
ออสเตรเลียเชื่อว่าการไม่แบ่งแยก ความเป็นพหุนิยม และเสรีภาพในการแสดงออก เป็นหลักการประชาธิปไตยที่สำคัญ และหลักการเหล่านี้ไม่ได้ถูกบังคับใช้ด้วยการยุบพรรคก้าวไกลซึ่งประชาชนไทยสนับสนุนกระบวนการเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคม 2566 อย่างท่วมท้นด้วยอัตราการลงคะแนนเสียงเป็นประวัติการณ์ร้อยละ 75.22 พรรคก้าวไกลได้รับคะแนนเสียงมากกว่า 14 ล้านเสียง
ในฐานะเพื่อนสนิทและพันธมิตร ออสเตรเลียสนับสนุนให้ประเทศไทยรับรองการมีส่วนร่วมทางการเมืองที่ครอบคลุม ซึ่งสะท้อนเจตจำนงของประชาชน
- กระทรวงต่างประเทศนิวซีแลนด์ ระบุว่า นิวซีแลนด์ตั้งข้อสังเกตว่าศาลรัฐธรรมนูญไทยมีคำตัดสินเมื่อวันที่ 7 ส.ค.ที่สั่งยุบพรรคก้าวไกล และห้ามผู้นำเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมือง นิวซีแลนด์สนับสนุนการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย และสิทธิประชาธิปไตยทั่วโลก และสิทธิสำหรับผู้มีสิทธิเลือกตั้งในการเลือกอย่างอิสระว่าพวกเขาต้องการเป็นตัวแทนของใครในรัฐสภา
ไม่เฉพาะสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ซึ่งเป็น 3 ประเทศจาก 5 ประเทศ ในกลุ่ม “ดวงตาห้าคู่” (The Five Eyes) ซึ่งประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และแคนาดา ที่มักจับมือกันเสมอเพื่อปกป้องผลประโยชน์ให้กับกลุ่มของตัวเองเท่านั้นที่มีปฏิกิริยาต่อการยุบพรรคก้าวไกล
เพราะ สหภาพยุโรป(EU) ได้ออกแถลงการณ์ กล่าวถึงคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญว่า เป็น "ความพ่ายแพ้ของความเป็นพหุนิยมทางการเมืองในประเทศไทย" โดยตั้งข้อสังเกตว่าพรรคก้าวไกลได้อันดับหนึ่งในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2566 ด้วยคะแนนเสียง 14 ล้านเสียงจาก 39 ล้านเสียง และยังเน้นว่า "ไม่มีระบบประชาธิปไตยใดสามารถทำงานได้หากไม่มีพรรคและผู้สมัครหลายพรรค"
และกล่าวต่อไปว่า "ข้อจำกัดใดๆ เกี่ยวกับการใช้เสรีภาพในการสมาคมและการแสดงออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านกิจกรรมและการจัดตั้งพรรคการเมือง จะต้องสอดคล้องกับบทบัญญัติและหลักการที่เกี่ยวข้องของตราสารระหว่างประเทศ รวมถึงกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง"
นอกจากนี้นักการเมืองสหรัฐฯ เช่น เบ็น คาร์ดิน สว.จากรัฐแมรีแลนด์ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการความสัมพันธ์ต่างประเทศของวุฒิสภาอเมริกัน ได้แถลงตอนหนึ่งว่า การยุบพรรคก้าวไกลทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับความมุ่งมั่นของประเทศไทยต่อหลักสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรม
โดยเขาเรียกร้องให้รัฐบาลไทยคืนสถานะพร้อมความเป็นผู้นำให้พรรคก้าวไกล และนำประเทศไทยกลับสู่รูปแบบการปกครองที่เป็นประชาธิปไตย โปร่งใส และมีความรับผิดชอบ และเคารพต่อความต้องการของคนไทยหลายล้านคนที่เรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในหีบบัตรเลือกตั้ง
สภาคองเกรส สหรัฐฯ จะประเมินต่อไปว่าเหตุการณ์ล่าสุดในประเทศไทยจะส่งผลกระทบต่อความเป็นหุ้นส่วนทวิภาคีระหว่างสหรัฐฯและไทยอย่างไร
ความเห็นที่แข็งกร้าวไม่ต่างจากความเห็นอื่น ได้แก่ ความเห็นจาก นางแอกเนส คาลามาร์ด เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล แถลงผ่านทวิตเตอร์ (X) ตอนหนึ่งระบุว่า คำตัดสินดังกล่าวเน้นย้ำถึงการเพิกเฉยต่อภาระผูกพันด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของประเทศไทยโดยสิ้นเชิง
การยุบพรรคเพียงเพราะสนับสนุนการปฏิรูปกฎหมายถือ เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก และสิทธิการสมาคมอย่างร้ายแรงต่อสมาชิกสภานิติบัญญัติที่ปฏิบัติหน้าที่ในการเสนอกฎหมาย
ประเทศไทยได้ให้คำมั่นสัญญาต่อสาธารณชนในการเป็นผู้นำระดับโลกในด้านสิทธิมนุษยชน โดยยื่นขอนั่งในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ แต่การคุกคามฝ่ายค้านทางการเมืองอย่างไม่หยุดยั้งแสดงให้เห็นว่า ความมุ่งมั่นที่ระบุไว้ของพวกเขาไม่สามารถไว้วางใจได้ ทางการไทยต้องยกเลิกการยุบพรรคอย่างเร่งด่วน และหยุดใช้กฎหมายเป็นอาวุธเพื่อข่มขู่และคุกคามผู้วิพากษ์วิจารณ์ นักปกป้องสิทธิมนุษยชน และนักการเมืองฝ่ายค้าน
@@ คำแถลงตอบโต้จากกระทรวงการต่างประเทศไทย
ความเห็นและการวิพากษ์วิจารณ์อย่างแข็งกร้าวต่อคำวินิจฉัยของศาล จนถึงขั้นสั่งสอนและยังขู่ว่าจะใช้มาตรการบางอย่างต่อประเทศไทย โดยหยิบประเด็นประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และจำนวนคะแนนเสียงเลือกตั้งเป็นสาระสำคัญในคำแถลงการณ์ แต่ไม่ได้พูดถึงมูลเหตุของการถูกยุบพรรค หรือรายละเอียดที่ระบุไว้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญ และไม่มีประเทศใดๆ ในเอเซียและภูมิภาคอื่นมีปฏิกิริยาโต้ตอบอย่างเป็นทางการ ดังเช่น อเมริกา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และสหภาพยุโรป
ในขณะที่ กระทรวงการต่างประเทศไทยได้ออกแถลงการณ์ตอบโต้ โดยระบุว่า คำวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกลเป็นเอกสิทธิ์และอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งอยู่ภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญตามหลักการของการแบ่งแยกเขตอำนาจของรัฐธรรมนูญ การตัดสินของศาลเป็นสิ่งที่ไม่สามารถแทรกแซงได้โดยอำนาจอื่น หรือโดยรัฐบาล คำตัดสินดังกล่าวมีผลผูกพันตามกฎหมาย และต้องได้รับความเคารพโดยปวงชนชาวชาวไทย
แถลงการณ์ของกระทรวงการต่างประเทศต่อกรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า ปฏิกิริยาการแสดงออกต่อการยุบพรรคก้าวไกลจากองค์กรภายนอก ถือว่าเป็นความไม่เหมาะสม ผิดกาลเทศะ และเป็นการแทรกแทรกแซงต่อการทำหน้าที่ของกระบวนการยุติธรรม ทั้งที่ประเทศของตัวเองกำลังเผชิญกับความล่อแหลมต่อการล่มสลายของประชาธิปไตยอยู่ทุกขณะ
จึงไม่อาจตีความไปเป็นอื่นได้เลยว่า แถลงการณ์ต่างๆ จากองค์กรต่างชาติต่อการยุบพรรคก้าวไกลครั้งนี้จะไม่ใช่การโจมตีกระบวนการยุติธรรมของไทย เพื่อวัตถุประสงค์แอบแฝงอย่างใดอย่างหนึ่ง
@@ กระบวนการยุติธรรมอ่อนแอ -ยุทธศาสตร์ทำลายศัตรู
การแทรกแซงใดๆ ต่อกระบวนการยุติธรรมที่ทำให้สถาบันความยุติธรรมซึ่งเป็นเสาหลักของประเทศถูกกัดกร่อนจนอ่อนแอ จึงถือว่าเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อความเป็นชาติ ไม่ว่าจะอยู่ในสังคมใดก็ตาม แม้แต่ในสหรัฐอเมริกาเองก็กำลังเผชิญปัญหากระบวนการยุติธรรมที่อ่อนแอ
เช่นเดียวกัน จากการสำรวจความน่าเชื่อถือต่อการทำงานของศาลสูงสหรัฐอเมริกา (US Supreme Court) เมื่อปี 2023 พบว่าความน่าเชื่อถือของสาธารณะต่อศาลสูงลดลงจนอยู่ในภาวะที่น่าเป็นห่วง โดยพบว่า มีคนเพียง 40 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่เชื่อถือในการทำงานของศาลสูงของสหรัฐอเมริกา
ประเทศสหรัฐอเมริกาเคยอ้างว่าในยุคสงครามเย็น คณะกรรมการความมั่นคงแห่งรัฐ หรือ เคจีบี ของรัสเซีย มักใช้ยุทธศาสตร์ทำลายความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรมของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ที่รัสเซียใช้หว่านเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความโกลาหลให้กับฝ่ายตรงข้าม ด้วยการโจมตีกระบวนการยุติธรรมด้วยวิธีต่างๆ นานา
จึงมีความเป็นไปได้ที่ยุทธศาสตร์เดียวกันกำลังถูกนำมาใช้แทรกแซงกระบวนการยุติธรรมของประเทศต่างๆ รวมทั้งที่กำลังปฏิบัติต่อประเทศไทย เพื่อหวังผลทางการเมือง โดยการอ้างความเป็นประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพบังหน้า
สังคมอเมริกันและผู้คนฝั่งตะวันตกมักวาดภาพในใจอยู่เสมอว่า การล่มสลายของประชาธิปไตยคือการรัฐประหารด้วยการยึดอำนาจโดยทหาร ดังเช่นที่เกิดขึ้นในประเทศอาร์เจนตินา กรีซ อียิปต์ ไทย และอีกหลายๆ ประเทศ
แต่คนอเมริกันส่วนหนึ่งกลับไม่ตระหนักว่า การล่มสลายของประชาธิปไตยในบ้านตัวเองนั้น กำลังเกิดขึ้นจากนักการเมืองที่ประชาชนเลือกตั้งเข้ามาเอง เป็นสนิมเหล็กเกิดแต่เนื้อในตนของความเป็นประชาธิปไตยจากผู้นำทางการเมืองที่มาจากระบบการเลือกตั้งที่กำลังทำลายความเป็นประชาธิปไตยเพื่อความได้เปรียบทางการเมืองของตัวเองทุกวิถีทาง ตั้งแต่การใช้วาทกรรมและเทคโนโลยีบิดเบือนความจริง การท้าทายกระบวนการยุติธรรม จนถึงการใช้ความรุนแรงจากม็อบ
คำพูดอันมีมนต์ขลังของ อดีตประธานาธิบดี โรนัลด์ เรแกน ที่ว่า “ประชาธิปไตยมีคุณค่ามากพอที่คนอเมริกันจะสละชีวิตให้ได้” จึงไม่น่าเป็นความจริงเสียแล้วในสังคมอเมริกันปัจจุบัน
อ้างอิง
1. https://isranews.org/article/isranews-article/131381-pansak-8.html
2. https://www.voathai.com/a/trump-harris-presidential-debate
philadelphia/7779649.html
3. Wired : September 11,2024
4. Building Back Truth in an Age of Misinformation โดย Leslie F. Stebbins
5. Cancel Culture Curse โดย Evan Nierman และ Mark Sachs
6. https://www.isranews.org/article/isranews-scoop/130783-isranews-Westernn.html
7. https://mgronline.com/politics/detail/9670000072772
8. Attack from within โดย Barbara McQuade