"...ยุคที่โซเชียลมีเดียครองพื้นที่สื่อ การกล่าวความเท็จซ้ำกันนับล้านๆครั้งในแต่ละวัน ความเท็จนั้นจะกลายเป็นความจริงที่มีน้ำหนัก จนยากที่จะหักล้างได้ เพราะการลบล้างคำโกหกด้วยความจริงนั้นต้องใช้พลังมากกว่าการสร้างเรื่องโกหกหลายเท่าตัว..."
“อย่าเชื่อทุกอย่างที่คุณอ่านบนอินเทอร์เน็ต” คือประโยคทองที่ใช้เตือนสติผู้คนบนโลกอินเทอร์เน็ตยุคแรกอยู่เสมอและเมื่อเข้าสู่ยุคของโซเชียลมีเดีย คำเตือนนี้ยิ่งมีประโยชน์ เพราะอย่างน้อยทำให้เราเอะใจว่า สิ่งที่แชร์กันครึกโครมบนโลกโซเชียล ที่อ้างว่า “ส่งต่อกันมา” “เขาเล่ากันว่า” “เสียงจากชาวเน็ต” หรือเครดิตจาก กูรูคนนั้นคนนี้ ซึ่งล้วนแต่เป็นบุคคลนิรนาม แต่เรื่องที่แชร์กันกระหึ่มเหล่านี้ได้ทำให้ผู้คนหลงเชื่อกันเป็นตุเป็นตะทั้งที่หลายเรื่องไม่เคยปรากฏบนสื่อหลักหรือแหล่งที่อ้างอิงได้แม้แต่สำนักเดียว
การโกหก นิสัยที่ไม่เคยเปลี่ยนของมนุษย์
ในโลกนี้นอกจากพิน็อคคิโอแล้ว ชื่อที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในเรื่องการโกหกคงไม่พ้นชื่อของอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐอเมริกา คำพูดของ ทรัมป์ มักถูกจับผิดอยู่เสมอ โดยเฉพาะจาก นักการเมืองฝั่งตรงข้าม นักวิชาการที่สนับสนุนพรรคเดโมแครตและสื่อที่อยู่ตรงข้ามกับพรรครีพับริกัน ความพยายามจับผิดคำโกหกของทรัมป์ได้ทำให้เขากลายเป็นหนึ่งในคนที่ถูกกล่าวหาว่าโกหกมากที่สุดคนหนึ่งของโลก
หลายปีก่อน ตอนที่ ทรัมป์ ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ทีมตรวจสอบความจริง(Fact checker) ของสื่อวอชิงตันโพสต์ เคยตรวจสอบคำพูดของ เขาและพบว่าตลอดระยะเวลา 4 ปีที่อยู่ในตำแหน่งอดีตประธานาธิบดี ทรัมป์ ให้ข้อมูลที่ไม่เป็นความจริงหรือชักนำไปในทางที่ทำให้เข้าใจผิด(Misleading) มากถึง 30,573 ข้อความ รวมทั้งการให้ข้อมูลเท็จอีกจำนวน 503 ข้อความ ก่อนการเลือกตั้งในเดือน พฤศจิกายน ปี 2020 ซึ่งน่าจะเป็นความตั้งใจจับโกหกผู้นำครั้งใหญ่ของโลกในยุคปัจจุบัน
หาเสียงบิดเบือน - เทคนิคของนักการเมือง
แม้ว่าการโกหกจะเป็นที่น่ารังเกียจแต่ด้วยนิสัยชอบโกหกของมนุษย์และมนุษย์เองมีการพัฒนาภาษาที่เหนือกว่าสัตว์อื่น มนุษย์จึงชอบที่จะใช้ชั้นเชิงของภาษาและเล่ห์กลเพื่อการหลีกเลี่ยงการโกหกที่ผู้คนรังเกียจ แต่สามารถใช้เทคนิคเลี่ยงไปใช้ภาษาทางอ้อมที่นุ่มนวลกว่าแต่ผลลัพธ์ก็ไม่ต่างจากการโกหกนั่นเอง
ถึงแม้อดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ จะพ่ายแพ้การเลือกตั้งให้กับประธานาธิบดี โจ ไบเดน ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา แต่หลังจากรอดจากการถูกลอบสังหารเขาได้กลับมาเป็นแคนดิเดตของพรรครีพับริกันอีกครั้งในการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่จะถึงในช่วงปลายปีนี้ เขายังใช้ลีลาการหาเสียงโจมตี กมลา แฮร์ริส แคนดิเดตจากพรรค เดโมแครต ซึ่งเป็นสตรีผิวสีอย่างดุเดือดเผ็ดร้อนเหมือนเมื่อการหาเสียงครั้งก่อนหน้าและยังใช้ถ้อยคำเยาะเย้ย ถากถางเช่นเคยและหนึ่งในเทคนิคที่เขานำมาใช้คือการใช้ข้อมูลที่มีความกำกวมหรือเข้าข่ายข้อมูลเท็จรวมทั้งการจับผิด ด้วยการโพสต์ผ่านช่องทางต่างๆ โดยเฉพาะ Truth Social ซึ่งเป็นกระบอกเสียงสำคัญของเขา เป็นต้นว่า กล่าวหา กมลา แฮร์ริส ใช้ AI ในการสร้างภาพฝูงชน ที่มาต้อนรับเธอที่สนามบินเพราะคนเหล่านั้นไม่มีอยู่จริง ในขณะที่ทีมงานของ กมลา แฮร์ริส ได้ออกมาปฏิเสธทันควันว่าภาพเหล่านั้นคือความจริงและกมลา แฮร์ริส ตอบโต้ด้วยการขยี้แผลเก่าในอดีตที่ ทรัมป์ ยากจะปฏิเสธ กรณีสมรู้ร่วมคิดให้เกิดเหตุการณ์จลาจลบุกรัฐสภาอเมริกันเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2021 ซึ่งทรัมป์และพลพรรคมักแก้เกี้ยวข้อกล่าวหาด้วยการยืนกระต่ายขาเดียวตลอดมาว่าไม่มีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นจริงและเป็นการประท้วงอย่างสงบ ซึ่งแปลว่าความจริงของทรัมป์กับความจริงของคนอเมริกันส่วนใหญ่และคนทั้งโลกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
เพียงสัปดาห์เดียวหลังจากนั้น ทรัมป์ กลับโพสต์ภาพที่สร้างด้วย AI ผสมกับภาพจริงโดยอ้างว่าแฟนคลับของ เทย์เลอร์ สวิฟต์ นักร้องชื่อก้องโลก ที่เรียกกันว่า สวิฟตี้ (Swfties) สนับสนุนเขาและบางภาพยังปรากฏข้อความบางส่วนว่า “ เทเลอร์ ต้องการให้พวกคุณโหวตให้กับทรัมป์” โพสต์ของทรัมป์ได้ถูกแชร์จากบัญชีของเขาเองและจากบัญชีที่สนับสนุนเขาซึ่งคนทั่วไปไม่มีทางรู้ได้เลยว่าสิ่งที่ ทรัมป์โพสต์ ลงบน Truth Social และ X ครั้งนี้และถูกเผยแพร่ต่ออย่างมากมายนั้นเป็นความจริงหรือความเท็จจนกว่าจะมีการพิสูจน์ในภายหลัง
การโจมตีฝ่ายตรงข้ามด้วยถ้อยคำที่เผ็ดร้อนร่วมกับการใช้เทคโนโลยี AI ในการหาเสียงเลือกตั้งของทรัมป์ครั้งนี้สร้างความสับสนให้กับผู้คนอยู่ไม่น้อยเพราะไม่มีใครรู้ได้เลยว่า นี่คือการโฆษณาชวนเชื่อหรือการพูดความจริง ซึ่งต้องใช้เทคนิคในการตรวจภาพปลอมด้วยเครื่องมือและผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น นักวิชาการด้าน ข้อมูลบิดเบือน(Disinformation) ได้ออกมาเตือนถึงการใช้เทคโนโลยี AI บิดเบือนการหาเสียงว่า เป็นภัยคุกคามต่อความโปร่งใสและจริยธรรมของการเลือกตั้งและน่าเชื่อได้ว่าศักยภาพและความรู้ทางเทคโนโลยีในการสร้าง ภาพปลอม เสียงปลอม รวมทั้งการใช้เทคนิคสร้างกระแสความนิยมผ่านโซเชียลมีเดียกำลังถูกนักการเมืองนำไปใช้หาเสียงสร้างคะแนนนิยมทั่วโลกซึ่งหากผู้ควบคุมกฎและผู้ลงคะแนนเสียงรู้ไม่เท่าทัน คนในสังคมนั้นก็จะตกเป็นเหยื่อการโกหกหลอกลวงทุกรูปแบบจากนักการเมืองได้อย่างง่ายดาย
รอยเปื้อนที่ล้างไม่ออก
ไม่เฉพาะในสหรัฐอเมริกาเท่านั้นที่การโกหกของนักการเมืองเป็นข่าวให้ชาวโลกได้รับรู้อยู่บ่อยครั้ง ในบ้านเราเองพฤติกรรมการใช้วาทกรรมหรือแม้แต่การใช้ข้อมูลบิดเบือนเพื่อการโฆษณาชวนเชื่อทางการเมืองเป็นที่เลื่องลือมาตั้งแต่อดีตจนถึงยุคปัจจุบันไม่ว่านักการเมืองคนนั้นจะเรียกตัวเองว่านักการเมืองรุ่นใหม่หรือนักการเมืองที่คร่ำหวอดในวงการเมืองมาแล้วอย่างโชกโชนล้วนมีพฤติกรรมเดียวกัน เพราะหลังจากเลือกตั้งและได้อำนาจมาแล้ว คำพูดที่เคยสัญญาไว้กลับกลายเป็นเรื่องโอละพ่อหรือไม่ก็เป็นความเท็จซึ่งหลายครั้งสังคมปล่อยเลยตามเลยเพราะไม่อยากหาความเพราะไม่ได้เป็นความเสียหายมาก แต่บ่อยครั้งได้ถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นการอภิปรายในสภาและพูดกันในโลกโซเชียลจนกลายเป็นภาพลักษณ์ที่ติดตัวนักการเมืองคนนั้นๆหรือพรรคการเมืองนั้นไปอย่างถาวรและยากที่จะลบล้างได้ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ปีก็ตาม
หากไปค้นหาชื่อของพรรคการเมืองที่ถูกกล่าวหาว่าพัวพันกับเรื่องโกหกบนโลกออนไลน์ ชื่อพรรคก้าวไกลจะโดดเด่นกว่าพรรคการเมืองอื่น เพราะเพจ ชื่อ “วันนี้ก้าวไกลโกหกอะไร” มักเคยนำเรื่องราวในทางลบของพรรคก้าวไกลมาพูดถึงอยู่บ่อยๆ แม้จะถูกยุบพรรคและเปลี่ยนชื่อเป็นพรรคประชาชนแล้ว ในโลกโซเชียลก็ยังมีเพจและช่อง “วันนี้พรรคส้มโกหกอะไร” ไลฟ์สดให้ดูอยู่เสมอ ซึ่งดูเหมือนว่าจะไม่เป็นธรรมต่อพรรคส้มซึ่งคงหมายถึงพรรคประชาชนนัก เพราะอารมณ์ขุ่นเคืองจากการถูกยุบพรรคเดิมยังไม่ทันจางก็มีคนตีตราให้พวกเขาในโลกโซเชียลว่าเป็นพรรคการเมืองที่ชอบโกหกเสียแล้ว ทั้งที่เป็นพรรคใหม่เพิ่งคลอดออกมาเพียงไม่นาน การถูกตีตราจากโลกโซเชียลคือการดิสเครดิตทางการเมืองที่ยากจะตอบโต้และข้อกล่าวหานี้จะคงอยู่ตลอดไป เพราะอินเทอร์เน็ตหมายถึง ความเป็นนิรันดร์ที่ใครต่อใครสามารถกลับไปขุดค้นหาคำโกหกที่พวกเขาคิดว่าเป็นจุดอ่อนทางการเมืองขึ้นมาแทงใจดำฝ่ายตรงข้ามได้เสมอเมื่อต้องการ
โลกหลังความจริง
ภายใต้ปมร้อนทางการเมืองจาก การวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกล การวินิจฉัยให้คุณเศรษฐาพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหรือแม้แต่ตอนที่คุณแพทองธารเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ จนถึงการตั้ง ครม. ฯลฯ ช่วงเวลานี้คือโอกาสทองของอินฟลูเอนเซอร์สายการเมืองที่ออกมา สร้างคอนเทนต์ ดัดแปลง แสดงความคิดเห็น สร้างเรื่องโกหก แจกแจงความจริง และปล่อยมีมต่างๆและปรับแต่ง ยกระดับคอนเทนต์ให้เข้ากับอุดมการณ์ทางการเมืองที่ฝ่ายตัวเองถือหาง รวมทั้งมีการโจมตีฝ่ายตรงข้ามมากกว่าเวลาปกติ
บรรยากาศทางการเมืองอันร้อนแรงส่งผลให้คนไทยในโลกโซเชียลจำนวนไม่น้อยตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของข้อมูลหรือข่าวสารที่ ความเชื่อส่วนตัว อารมณ์และความโกรธเคือง มีอิทธิพลเหนือกว่าความจริง ที่เรียกกันว่าโลกหลังความจริง( Post-truth) ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่คล้ายกับ สุริยุปราคา เมื่อโลกถูกบดบังแสงจากดวงอาทิตย์ด้วยดวงจันทร์ แต่ต่างกันตรงที่สุริยุปราคาตามธรรมชาติเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวในบางโอกาส ขณะที่โลกหลังความจริง กำลังจะเป็นสุริยุปราคาที่บดบังความจริงอย่างถาวรในโลกแห่งข้อมูลข่าวสารที่สับสนและยุ่งเหยิงจนยากที่จะแยกแยะหรือจัดระเบียบได้
ภาพเปรียบเทียบ สุริยุปราคากับโลกหลังความจริง
ความจริงที่เกิดขึ้นในโลกนี้ซึ่งจริงๆแล้วไม่ได้หายไปไหน แต่ถูกบดบังไว้ข้างหลังเพราะ ความเห็น อารมณ์และความเชื่อส่วนตัวปกปิดความจริงเอาไว้ จนยากที่จะหาความจริงพบหรือต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการเดินฝ่า ความเห็น ความเท็จหรือแรงต้านจากอารมณ์ของผู้คนไปค้นหาความจริงซึ่งมีมนุษย์ไม่มากนักที่พยายามตามความหาจริงนั้น
เขาบิดเบือนความจริงกันอย่างไร
ความเชื่อในสิ่งที่เห็นบนแพลตฟอร์มต่างๆซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการสนับสนุนด้วยอัลกอริทึมของแพลตฟอร์มเอง จากเพื่อน จากอินฟลูเอนเซอร์ จากคนไม่รู้จักและการได้ร่วมอยู่ในกลุ่มต่างๆ ภายใต้ฟังก์ชัน แชร์ ไลค์ และการแนะนำจากอัลกอริทึมของแพลตฟอร์ม ทำให้คอนเทนต์ที่ถูกใจและกระตุ้นอารมณ์ ถูกขยาย ดัดแปลงและส่งต่อ วนไปมาซ้ำแล้วซ้ำเล่าและเมื่อใดก็ตามที่ผู้คนได้เห็นข้อความต่างๆโดยเฉพาะข้อความเท็จซ้ำกันหลายๆครั้ง คนเหล่านั้นมักจะเชื่อว่าสิ่งที่ได้เห็นนั้นเป็นความจริง เพราะเมื่อใดก็ตามที่ข้อความเดิมยิ่งผ่านสายตาเรามากครั้งเท่าใด การประมวลผลของสมองเราก็จะยิ่งน้อยลงเท่านั้น ซึ่งแปลว่าไม่มีสิ่งใหม่ๆมาทำให้เราได้ประหลาดใจอีกต่อไปเราจึงยอมรับในสิ่งนั้นและเชื่อว่าสิ่งที่ได้เห็นหรือได้ยินซ้ำกันหลายๆครั้งนั้นคือความจริงอย่างสนิทใจ
การทำซ้ำ = ความเคยชิน = ความจริง
นักจิตวิทยาเรียกปรากฏการณ์ที่มนุษย์เชื่อในสิ่งที่เห็นซ้ำๆกันนี้ว่า “ปรากฏการณ์ความจริงลวงตา” (Illusory truth effect หรือ Illusion of truth) ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับพฤติกรรมของมนุษย์ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเชื่อในสิ่งที่ได้รับการบอกเล่าจากคนผู้อื่นว่าเป็นความจริงเสมอหรือที่เรียกกันว่า Truth bias เพราะทุกคนจะไม่อาจอยู่ร่วมกับผู้อื่นในโลกนี้ได้หากหวาดระแวงว่าคนอื่นกำลังพูดโกหกเรา ในขณะเดียวกัน Truth bias กลับทำให้เราเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพประเภท Call center หลอกให้ลงทุน และ Romance scam ได้อย่างง่ายดาย “ปรากฏการณ์ความจริงลวงตา” จึงสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาในยุคที่ “อินฟลูเอนเซอร์” “อัลกอริทึม” และ “ฝูงชน” กลายเป็นผู้ชี้นิ้วตัดสินความจริง-ความเท็จ
ยุคที่โซเชียลมีเดียครองพื้นที่สื่อ การกล่าวความเท็จซ้ำกันนับล้านๆครั้งในแต่ละวัน ความเท็จนั้นจะกลายเป็นความจริงที่มีน้ำหนัก จนยากที่จะหักล้างได้ เพราะการลบล้างคำโกหกด้วยความจริงนั้นต้องใช้พลังมากกว่าการสร้างเรื่องโกหกหลายเท่าตัว
มนุษย์อ่อนไหวต่อข้อมูลเท็จเสมอ
ในโลกนี้ไม่มีมนุษย์คนไหนมีภูมิต้านทานต่อข้อมูลเท็จได้แม้แต่คนเดียว ชั่วชีวิตของมนุษย์จะได้รับข้อมูลเท็จและเอนเอียงที่จะเชื่อในข้อมูลที่ได้รับอยู่เสมอไม่มากก็น้อยและคนที่มีแนวโน้มที่จะถูกครอบงำด้วยข้อมูลเท็จได้ง่ายที่สุดคือคนที่ขาดคุณสมบัติที่เรียกว่า การคิดเชิงวิเคราะห์และแยกแยะ(Critical thinking)และเคยชินต่อการใช้สมองส่วนคิดเร็ว(Fast thinking)หรือสมองระบบที่ 1(System 1) ซึ่งเป็นสมองส่วนที่คิดและตัดสินใจได้อย่างอัตโนมัติโดยอาศัย ความชำนาญ สัญชาตญาณและข้อมูลในอดีต โดยไม่ได้เอะใจหรือหาข้อมูลเพิ่มเติมจากสิ่งที่อ่านบนจอ
ทุกประเทศในโลกที่โซเชียลมีเดียเข้าถึง ผู้คนต่างประสบกับปัญหาการได้รับข้อมูลเท็จที่มาจากโลกดิจิทัล จนถึงขั้นบางครั้งไม่เชื่อความจริงแต่กลับยอมรับในสิ่งที่เห็นบนหน้าจอ แม้แต่สหรัฐอเมริกาที่เชื่อกันในหมู่คนไทยว่า ผู้คนมีการศึกษาดี มีประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง มีเทคโนโลยีที่เหนือกว่าประเทศใดในโลก แต่กลับมีปัญหาที่คนจำนวนไม่น้อยกำลังเผชิญกับการรับรู้และเชื่อข้อมูลเท็จบนโลกออนไลน์ที่แฝงมากับโซเชียลมีเดียด้วยเช่นกัน
จากการสำรวจ พบว่า 95 เปอร์เซ็นต์ของคนอเมริกันระบุว่า ข้อมูลเท็จ กำลังเป็นปัญหาของพวกเขาซึ่งสอดคล้องกับการสำรวจของนักวิจัยต่อความเชื่อของคนอเมริกันเมื่อสิบปีที่แล้ว (2014) โดยพบว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของคนอเมริกันมีความเชื่ออย่างน้อยที่สุดหนึ่งในทฤษฎีสมคบคิดต่อไปนี้
- 19 เปอร์เซ็นต์เชื่อว่า เหตุการณ์การก่อวินาศกรรม 9/11 ในสหรัฐอเมริกาเมื่อ 20 กว่าปีก่อนเป็นการสร้างสถานการณ์ขึ้นมาเองจากภายใน
- 40 เปอร์เซ็นต์เชื่อว่า องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา(FDA) จงใจปกปิดวิธีการรักษาโรคมะเร็ง
- 19 เปอร์เซ็นต์เชื่อว่า สภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจเมื่อปี 2008 เกิดจากความจงใจที่ธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกา(FED) สร้างขึ้น
เกือบสิบปีต่อมามีการสำรวจความเชื่อของคนอเมริกันด้วยคำถามเดียวกันอีกครั้ง รวมทั้งถามถึงความเชื่อในทฤษฎีสมคบคิดอื่นๆเพิ่มเติมด้วย ผลสำรวจครั้งนี้ให้ผลลัพธ์ที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย เพราะความเชื่อเมื่อหลายปีก่อนกับความเชื่อในการสำรวจครั้งหลังไม่ได้เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นเลย ผลสำรวจพบว่า
- 23 เปอร์เซ็นต์ ยังคงเชื่ออย่างหนักแน่นว่า การก่อวินาศกรรม 9/11เป็น การสร้างสถานการณ์ขึ้นมาเอง
- 25 เปอร์เซ็นต์ เชื่อว่าการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส เป็นการวางแผนมาตั้งแต่ต้น
- 15 เปอร์เซ็นต์เชื่อในทฤษฎีสมคบคิด QAnon ซึ่งเชื่อกันว่า รัฐบาลอเมริกัน สื่อ และระบบการเงินโลก ถูกควบคุมด้วย องค์กรลัทธิบูชาซาตาน
ที่น่าสนใจคือ ทั้งที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์จากคะแนนเลือกตั้ง แต่คนอเมริกันจำนวนมากถึง 32 เปอร์เซ็นต์ยังคงเชื่อว่า ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ขโมยชัยชนะไปจากอดีตประธานาธิบดี ทรัมป์ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2020 ความเชื่อเหล่านี้จึงชี้ให้เห็นว่าประชาธิปไตยของสหรัฐอเมริกาเองกำลังถูกท้าทายจากความเชื่อผิดๆและกำลังอยู่บนความเสี่ยงต่อการถูกกัดกร่อนจากผู้คนที่เชื่อข้อมูลอันเป็นเท็จ ซึ่งไม่ได้เป็นประชาธิปไตยแบบที่คนอเมริกันเคยภาคภูมิใจและไม่ใช่แบบอย่างที่ใครๆควรเดินตามอีกต่อไป
ความอ่อนไหวต่อการเชื่อข้อมูลเท็จและข้อมูลบิดเบือนจึงเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญของคนอเมริกัน อดีตรองรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกายุคหนึ่งเคยยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ยากที่จะต่อสู้กับข้อมูลบิดเบือนที่กำลังโจมตีสังคมอเมริกัน เพราะฝ่ายตรงข้ามใช้จุดแข็งของอเมริกาเองซึ่งนอกจากเทคโนโลยีแล้ว แนวคิดการเปิดกว้าง เสรีภาพของสื่อและข้อผูกมัดในการแสดงความเห็นโดยไม่ถูกจำกัดหรือแทรกแซงได้กลับมาทำร้ายคนในสังคมอเมริกันจนกลายเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตก ซึ่งไม่ต่างจากปัญหาในบ้านเราที่ข้อมูลเท็จมากมายที่แพร่หลายอยู่บนโซเชียลมีเดียกำลังค่อยๆคุกคามความน่าเชื่อถือและบดบังความจริงในทุกๆด้านโดยที่เราไม่รู้ตัว
ความอ่อนไหวต่อความเชื่อในการได้รับข้อมูลเท็จและความเชื่อในสิ่งที่ไม่มีอยู่จริงของมนุษย์จึงเป็นปัญหาของโลกตลอดมาไม่ว่าในยุคก่อนหรือในยุคที่โซเชียลมีเดียกำลังครองโลก ดังนั้นหนึ่งในปัจจัยที่จะทำให้มนุษย์อยู่ในโลกได้อย่างปกติสุขคือการจรรโลงความจริงและกำจัดความเท็จออกไปจากสังคมซึ่งโดยปกติแล้ว ความจริงไม่ควรจะตายไปเพราะการถูกอิทธิพลของความเท็จจากโซเชียลมีเดียครอบงำ แต่ความจริงอาจตายได้หากเราไม่ได้เรียนรู้ถึงวิธีป้องกันตัวเองจากข้อมูลเท็จและคนที่ทำหน้าที่บอกความจริงอยู่นิ่งเฉยโดยไม่มีการโต้ตอบใดๆต่อความเท็จที่อยู่ล้อมรอบตัวเอง
อ้างอิง :
1. โกหกเพื่อยิ่งใหญ่
2. Trump Shares AI-Generated Images Claiming Swifties Are Supporting Him, Wired, Aug 19, 2024
3. Building Back Truth in the Age of Misinformation โดย Leslie F. Stebbins
4. Post-Truth โดย Lee Mcintyre
5. On Disinformation โดย Lee McIntyre
6. Big Lies โดย Mark Kurlansky
7. Attack from Within โดย Barbara McQuade