เหตุระเบิดแบบ “คาร์บอมบ์” 2 ครั้งของปี 67 ซึ่งเกิดห่างกัน 38 วัน ใน 2 พื้นที่ คือ อ.บันนังสตา จ.ยะลา และ อ.เมือง จ.ปัตตานี ดูแล้วยังมีข้อสงสัยที่คาใจใครหลายคน
เพียงแต่สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดขึ้นค่อนข้างถี่ จบเหตุนี้ไปต่อเหตุโน้น ทำให้การติดตามความคืบหน้าของเหตุการณ์ โดยเฉพาะการคลี่คลายคดี ไปต่อไม่สุด
ขณะที่ฝ่ายความมั่นคงก็อ้างความเป็นพื้นที่พิเศษ ไม่ค่อยชี้แจงแถลงไข ทำให้หลากหลายเหตุการณ์ไม่มีการสรุปบทเรียนที่ชัดเจน เพื่อป้องกันเหตุลักษณะเดียวกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก ถือเป็นเรื่องน่าเสียดาย
และไม่น่าแปลกใจว่าทำไมเหตุร้ายรูปแบบเดิมๆ ยังเกิดซ้ำๆ และกลุ่มผู้ก่อการสามารถปรับวิธีการเล็กน้อย หลบเลี่ยงการสกัดกั้นหรือติดตามจับกุมของเจ้าหน้าที่ได้อย่างง่ายดาย
ดังเช่นเหตุวางระเบิดที่ประกอบในรถยนต์ หรือ “คาร์บอมบ์” เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.67 บริเวณหน้าแฟลตที่พักข้าราชการตำรวจ สภ.บันนังสตา จ.ยะลา แรงระเบิดทำให้ครูตาดีกาเสียชีวิต 1 ราย เจ้าหน้าที่ตำรวจและครอบครัว รวมทั้งประชาชนได้รับบาดเจ็บรวม 34 ราย
หลังเกิดเหตุได้ไม่นาน ความคืบหน้าคดีก็เงียบหายไป เพราะมีเหตุรุนแรงอื่นๆ เกิดซ้อนขึ้นมา ทำให้กระแสสังคมเบี่ยงเบนไป
ข่าวก่อนหน้านี้มีเพียงว่า รถยนต์กระบะที่คนร้ายนำไปติดตั้งวัตถุระเบิด เป็นรถของ อบต.ธารโต อ.ธารโต จ.ยะลา ซึ่งเป็นอำเภอที่มีพื้นที่ต่อเนื่องกับ อ.บันนังสตา
ฝ่ายความมั่นคงคงสัยเจ้าหน้าที่ใน อบต.มีส่วนเกี่ยวข้อง จึงคุมตัวส่งเข้ากระบวนการซักถาม มีการให้ข่าวกันครึกโครมว่า เจ้าหน้าที่บางรายมีญาติเป็นสมาชิกขบวนการแบ่งแยกดินแดน อาจมีพฤติกรรมเป็นผู้ก่อเหตุรุนแรง
ผู้ต้องสงสัยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มเจ้าหน้าที่ อบต. นำโดยผู้ช่วยนางช่าง คนถือกุญแจรถและกุญแจห้องเก็บกุญแจรถ กับกลุ่มผู้รับเหมาที่เข้าไปทำงานตกแต่งซ่อมสร้างสำนักงาน อบต. ทำให้มีคนนอก อบต.ปะปนเข้าไปในพื้นที่
มีการคุมตัวส่งเข้ากระบวนการซักถามรวมแล้ว 5 ราย นับจากนั้นเรื่องราวก็ค่อยๆ จางหายไปจากหน้าสื่อ ฝ่ายความมั่นคงก็ไม่มีการแถลงใดๆ อีก
“ทีมข่าวอิศรา” ตรวจสอบไปยัง พ.อ.เอกวริทธิ์ ชอบชูผล โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ได้ข้อมูลว่า เจ้าหน้าที่ยังคงติดตามหาตัวคนร้ายอย่างต่อเนื่อง จนถึงวันนี้ผ่าน 50 วันมาแล้ว เจ้าหน้าที่เชิญตัวบุคคลต้องสงสัยเข้ากระบวนการซักถาม 5 คน
มีการซักถามจนสามารถดำเนินคดีแจ้งข้อกล่าวหาได้ 2 คน คือ นายมาหามะดอสี บาเกาะ เป็นผู้รับเหมา กับ นายอีดาบาตุลฮอล หะยีเจ๊ะเต๊ะ อาชีพรับจ้างโยงกิ่งทุเรียน
ส่วนอีก 3 คน คือ ผู้ช่วยช่างโยธาของ อบต.ธารโต และคนอื่นๆ ได้รับการปล่อยตัว เพราะหลักฐานไม่เพียงพอ หรือตรวจสอบแล้วไม่พบความเกี่ยวข้องกับเหตุระเบิด
นี่คือข้อมูลทั้งหมดที่ได้รับจากโฆษก กอ.รมน.ภาค 4 สน.
“ทีมข่าวอิศรา” ตรวจสอบเพิ่มเติมไปยัง นายอาริ สาแม นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ธารโต ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐเจ้าของรถกระบะที่ถูกนำไปติดตั้งระเบิด
นายอาริ บอกว่า “ไม่มีอะไร เรื่องนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจบอกแล้วว่าผู้ช่วยนายช่าง อบต.เป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่เกี่ยวข้องกับการก่อเหตุที่เกิดขึ้น ส่วนคนที่ขับรถไปจอดหน้าแฟลตตำรวจก่อนเกิดระเบิด ตอนแรกเจ้าหน้าที่ยังไม่ทราบว่าเป็นใคร แต่จากการตรวจสอบกล้องภายใน อบต. ตำรวจยืนยันว่าไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของ อบต.ธารโต แต่ก็คิดว่าตอนนี้ตำรวจน่าจะรู้ตัวแล้วว่าเป็นใคร”
นายอาริ บอกว่า ในฐานะนายก อบต.ซึ่งเป็นสถานที่ต้นทางของเหตุการณ์ เพราะมีการนำรถจาก อบต.ไปก่อเหตุระเบิด ได้ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ทุกอย่าง
“เจ้าหน้าที่เขารู้ว่าวันเกิดเหตุตรงกับวันหยุดสุดสัปดาห์ นายกเองไม่อยู่ ส่วนรถยนต์คันที่เกิดเหตุนั้น มีการตรวจสอบแล้วว่าช่วงก่อนเกิดเหตุมีบริษัทมารับเหมาโครงการ ทำให้มีคนเข้าออกตลอด รถยนต์คันนั้นมีการใช้เข้าออก จนไม่รู้ว่าใครเป็นใคร จากนั้นก็ไม่รู้เหมือนกันว่าใครเอารถไป แล้วขับไปจอดในที่เกิดเหตุ เบื้องต้นเรื่องนี้เจ้าหน้าที่ก็เข้าใจ นายก อบต.ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ครั้งนี้”
แม้คนของ อบต.จะพ้นมลทิน และตัว อบต. ตลอดจนนายกเองก็ไม่ได้ตกเป็นผู้ต้องสงสัย แต่นายก อบต.ธารโต ก็เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ทำงานด้วยความรอบคอบกว่านี้ เพราะการจับกุมบุคคลไปเข้ากระบวนการซักถาม สร้างความเสียหายและความเดือดร้อนต่อคนที่ถูกควบคุมตัว รวมทั้งครอบครัวของคนเหล่านั้น
“อยากให้เจ้าหน้าที่ทำงานให้รอบคอบ ทำตามกฎหมายอย่างเต็มที่ แต่ในส่วนที่ไปควบคุมตัวคนที่ไม่เกี่ยวข้อง ก็ขอให้เยียวยาจิตใจเขาด้วย เพราะในพื้นที่เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้บ่อยครั้ง พอเกิดเหตุมาจับ สุดท้ายก็บอกว่าไม่ใช่ จับแพะบ้าง ไม่มีการเยียวยา ไม่มาให้กำลังใจ”
นายก อบต.ธารโต ซึ่งเป็นพื้นที่สีแดงแห่งหนึ่งของชายแดนใต้ บอกด้วยว่า การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐ และการไม่ชี้แจง ไม่เยียวยา ไม่ขอโทษ จะยิ่งซ้ำเติมให้คนไปอยู่ตรงข้ามกับรัฐมากขึ้น
“บางคนเขาไม่เคยมีความคิดขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่รัฐ แต่พอเกิดเรื่อง ถูกเจ้าหน้าที่เอาตัวไป ทำให้ความรู้สึกของเขาเปลี่ยน อาจคิดต่อต้านรัฐก็ได้ แล้วเขาก็มีครอบครัว มีญาติ ไม่ใช่แค่ 1 คนที่มีความคิดลบต่อรัฐ เมื่อเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ ญาติและครอบครัวก็เกิดความไม่พอใจด้วย”
“ฉะนั้นถ้าเจ้าหน้าที่มาจับตัวเขาไปแล้ว เมื่อตรวจพบข้อมูลว่าเขาไม่ใช่คนผิด ก็ควรสร้างความเข้าใจ มาให้กำลังใจเขาและครอบครัวบ้าง ส่วนนายก อบต.ไม่มีอะไร ก็พร้อมให้ข้อมูลตามความจริง ก็อยากให้เจ้าหน้าที่ทำงานอย่างเต็มที่ มีความเข้าใจปัญหาในพื้นที่ และให้ความยุติธรรมกับทุกฝ่าย”