ช่วงนี้...ปัญหาที่สื่อมวลชนทุกสำนัก ทั้งสื่อเล็ก สื่อใหญ่ สื่อใหม่ สื่อเก่า ก็คือเอกสารหรือ “โนติส” ที่ติดต่อเข้ามาจากบุคคล หรือนิติกร หรือสำนักทนายความ แจ้งให้ลบข้อมูลในอดีตของผู้ที่ถูกพาดพิงหรือกล่าวถึงในข่าว
โดยอ้างกฎหมาย PDPA หรือ พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 ซึ่งเปลี่ยนภูมิทัศน์ในการนำเสนอข้อมูลส่วนบุคคลผ่านสื่อทุกแพลตฟอร์มอย่างมีนัยสำคัญ
บางโนติส มีการอ้างถึงคดีความที่บุคคลถูกกล่าวหาในอดีต และปัจจุบันมีคำพิพากษาเป็นคุณกับผู้ที่ถูกกล่าวถึง จึงอ้างเป็นน้ำหนักในการลบข้อมูลเก่าของบุคคลนั้นๆ ด้วย
เรื่องนี้กลายเป็นปัญหาการทำงานของสื่อ ทั้งในแง่ปริมาณงาน อุปสรรคในการดำเนินการ เพราะบางชิ้นข่าวก็เก่าแล้ว นำเสนอไปหลายปีแล้ว และที่สำคัญคือความพอเหมาะพอดีของการลบหรือปิดกั้นเนื้อหา ตลอดจนผลทางกฎหมายที่จะตามมา
งานนี้ผู้ที่จะให้คำตอบได้คือ “ผู้เชี่ยวชาญตัวจริง” ที่อยู่ในงานประเภทนี้จริงๆ เท่านั้น นั่นก็คือ ระวีวรรณ ขันติวิริยะพานิช จาก บริษัท ดีพีโอเอเอเอส จํากัด และ ศุภวัชร์ มาลานนท์ GMI มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
ทั้งคู่ได้ร่วมกันเขียนข้อมูลที่เข้าใจง่ายและมีหลักการทางกฎหมายรองรับ เพื่อเผยแพร่เป็นความรู้ และทางออกของปัญหานี้ในระดับหนึ่ง...
@@ PDPA การทําหน้าที่สื่อมวลชน และการขอใช้สิทธิลบเนื้อหาข่าว
สํานักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (“สคส.”) ได้เผยแพร่ความเห็นของคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจตอบข้อหารือและให้คําแนะนําหน่วยงานของรัฐเพื่อรองรับการบังคับใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วน บุคคล พ.ศ.2562 ในคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (“คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจฯ”) ในประเด็นตาม มาตรา 4 (3) แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 หรือ PDPA เรื่องข้อยกเว้นการใช้บังคับ PDPA กับกิจการสื่อมวลชน
ในข้อหารือดังกล่าว สถานีตํารวจภูธรแห่งหนึ่งได้รับแจ้งความร้องทุกข์กรณีผู้เสียหายถูกสํานักข่าวอ่านข่าวใส่ความว่า “โกงค่าอาหาร” ทั้งที่ยังไม่มีคําพิพากษาของศาล และในระหว่างที่มีการประกาศข่าว สํานักข่าวได้มีการนำข้อมูลส่วนบุคคลออกมาเผยแพร่ต่อสาธารณชน โดยการออกฉาย เจตนาให้ผู้ชมได้เห็นใบหน้าโดยตรง และมีข้อความชี้ที่ตัวบุคคลว่าเป็นผู้ก่อเหตุ โดยมิได้มีการปิดบังหรืออําพราง ทําให้ได้รับความอับอายเสื่อมเสียชื่อเสียงเกิดความ เสียหาย
ผู้เสียหายจึงได้ร้องทุกข์เพื่อดําเนินคดีตามกฎหมาย แต่เนื่องจากผู้ถูกกล่าวหาเป็นสื่อสารมวลชน ซึ่งอาจได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 4 (3) PDPA สถานีตํารวจภูธรดังกล่าวจึงขอหารือมายังสํานักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อให้ความเห็นว่าการกระทําของสํานักข่าวดังกล่าวอยู่ภายใต้ข้อยกเว้นตามมาตรา 4 (3) PDPA หรือไม่
ความเห็นของสํานักงาน กสทช.
ในกรณีดังกล่าว สถานีตํารวจภูธรได้ขอความเห็นไปยัง สํานักงาน กสทช. (อ้างถึงไว้ในความเห็นของ คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจฯ) ก่อนที่จะหารือมายัง สคส. ด้วยว่า การกระทําของสื่อมวลชนดังกล่าวขัดหรือแย้งกับกฎหมายที่อยู่ในอํานาจการบังคับใช้ของสํานักงาน กสทช. หรือไม่
สํานักงาน กสทช. ได้ให้ความเป็นว่า พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553 กําหนดอํานาจหน้าที่ของ กสทช. ให้ส่งเสริมการรวมกลุ่มของผู้รับใบอนุญาต ผู้ผลิตรายการ และผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนเกี่ยวกับกิจการ กระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์เป็นองค์กรในรูปแบบต่างๆ เพื่อทําหน้าที่จัดทํามาตรฐานจริยธรรมของการประกอบ อาชีพหรือวิชาชีพ และควบคุมการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพกันเองภายใต้มาตรฐานทางจริยธรรม
โดยหมวดที่ 3 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 กําหนดแนวทางการส่งเสริมและควบคุมจริยธรรมแห่งวิชาชีพและการคุ้มครองผู้เสียหายจากการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ให้เป็นหน้าที่ ของ “คณะกรรมการควบคุมจริยธรรม” ในการควบคุมการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพภายใต้องค์กรที่เกิดจากการรวมกลุ่มตามที่สื่อมวลชนสังกัด
ด้วยเหตุนี้ตามเจตนารมณ์แห่งกฎหมายดังกล่าวทั้งสองฉบับ รวมถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่มุ่งคุ้มครองเสรีภาพในการเสนอข่าวสารหรือการแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ จึงเป็นการมุ่งหมายให้สื่อมวลชนไม่ถูกควบคุมดูแลภายใต้อํานาจของรัฐบาลหรือหน่วยงานใดๆ ของรัฐ อันจะทําให้ถูกจํากัดสิทธิเสรีภาพในการเสนอข่าวสารหรือการแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ
ในการควบคุมจริยธรรมแห่งวิชาชีพในปัจจุบัน กฎหมายได้กําหนดเจตนารมณ์ให้มี “กลไกในการกํากับดูแลกันเอง” (Self-regulation) ภายใต้มาตรฐานทางจริยธรรม ซึ่งเป็นกระบวนการที่เกิดจากการรวมกลุ่มของผู้รับใบอนุญาต ผู้ผลิตรายการ และผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนที่เกี่ยวกับการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เป็นองค์กรในรูปแบบต่างๆ
โดยองค์กรดังกล่าวจะมีอํานาจในการควบคุมการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพผ่านกลไก กระบวนการ และมาตรฐานทางจริยธรรมที่ได้กําหนดกันเองของสมาชิกภายใน
องค์กร กสทช. จึงไม่อาจมีอํานาจในการพิจารณาว่าการนําเสนอข่าวของรายการข่าวดังกล่าว เป็นการดําเนินการตามจรรยาบรรณหรือจริยธรรมของสื่อสารมวลชนหรือไม่ การพิจารณาดังกล่าวจึงควรเป็นอํานาจหน้าที่ขององค์กรที่เกิดจากการรวมกลุ่มที่มีสํานักข่าวดังกล่าวเป็นสมาชิก
ความเห็นของ คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจฯ
PDPA ใช้บังคับกับผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล หรือผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลที่เก็บรวบรวม ใช้หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งครอบคลุมทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงผู้ประกอบธุรกิจทุกภาคส่วนด้วย
อย่างไรก็ดี มาตรา 4 (3) PDPA บัญญัติให้ยกเว้นการใช้บังคับกฎหมายกับบุคคลหรือนิติบุคคลซึ่งใช้หรือเปิดเผย ข้อมูลส่วนบุคคลที่ทําการเก็บรวบรวมไว้เฉพาะเพื่อกิจการสื่อมวลชน อันเป็นไปตามจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพหรือประโยชน์สาธารณะเท่านั้น
ฉะนั้นการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลตามที่ขอความเห็นดังกล่าว เป็นกรณีการใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของนิติบุคคลที่ทําการเก็บรวบรวมไว้เฉพาะเพื่อกิจการสื่อมวลชน จึงอาจมีลักษณะที่ได้รับยกเว้นตามมาตรา 4 (3) PDPA
แต่สถานีตํารวจภูธรดังกล่าวจะต้องพิจารณาเพิ่มเติมด้วยว่า การนําเสนอหรือเผยแพร่ข่าวสารดังกล่าวเป็นไปตามจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพหรือเป็นประโยชน์สาธารณะหรือไม่ ซึ่งสถานีตํารวจควรขอความเห็นจาก “องค์กรกํากับวิชาชีพสื่อ” ที่สํานักข่าวดังกล่าวเป็นสมาชิกว่า การกระทําดังกล่าวเป็นไปตามจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพของกิจการสื่อมวลชนหรือไม่ เพื่อดําเนินการตามกฎหมายต่อไป
จากความเห็นของคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจฯ ดังกล่าว คณะอนุกรรมการฯ จึงยังไม่ได้วินิจฉัยในประเด็นว่า การนําเสนอข่าวสารของสื่อมวลชนดังกล่าวเป็นไปตามจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพหรือประโยชน์สาธารณะหรือไม่ เนื่องจากตาม PDPA ไม่ได้มอบอํานาจส่วนนี้ไว้ แต่ให้เป็นไปตามกฎหมายเฉพาะซึ่งกํากับดูแลกิจการสื่อมวลชน
ในขณะที่ สํานักงาน กสทช. ก็พิจารณาว่าตนเองไม่มีอํานาจในการพิจารณาว่าการนําเสนอข่าวดังกล่าวเป็นไปตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพหรือไม่ การพิจารณาว่าการนําเสนอข่าวเป็นไปตามจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพตามกลไกการบังคับใช้กฎหมายในปัจจุบัน จึงอยู่ที่ “คณะกรรมการควบคุมจริยธรรม” ตามหลักการกํากับดูแลกันเอง (Self-regulation)
จากการวินิจฉัยข้อกฎหมายของคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจฯ ในส่วนของ PDPA ดังกล่าว นํามาซึ่งประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการใช้สิทธิต่างๆ ของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลตามที่ PDPA กําหนดไว้ด้วย อาทิ
- สิทธิในการขอให้ลบหรือทําลายข้อมูลส่วนบุคคล
- สิทธิในการขอให้ระงับการใช้หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล
- สิทธิในการคัดค้านการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ฯลฯ
ทั้งหมดนี้จึงไม่สามารถใช้บังคับได้ เนื่องจากกิจการสื่อมวลชนอยู่ภายใต้ข้อยกเว้นตามตามมาตรา 4 (3) PDPA
ดังนั้นผู้เขียนจึงเห็นว่าการขอใช้สิทธิลบเนื้อหาข่าวโดยการกล่าวอ้างสิทธิตาม PDPA จึงไม่สามารถกระทําได้เช่นกัน เว้นแต่มีคําวินิจฉัยหรือแนวทางจากองค์กรวิชาชีพของสื่อมวลชนว่า กรณีดังกล่าวไม่เป็นไปตามจริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการนําเสนอข่าวสารของสื่อมวลชน ย่อมมีสิทธิตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือประมวลกฎหมายอาญา ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการหมิ่นประมาท หรือกฎหมายอื่นๆ หากการกระทําดังกล่าวต้องด้วยเงื่อนไขของกฎหมายที่เกี่ยวข้องนั้นๆ
ที่มา https://www.pdpc.or.th/wp-content/uploads/2024/02/PDPC-consultation-21.pd