การเยียวยา ช่วยเหลือ อำนวยความสะดวก และทวงความยุติธรรมหลังเกิดเหตุรุนแรง ก็เป็นภารกิจสำคัญอีกด้านหนึ่งของ ศอ.บต.
เรื่องราวดีๆ หลังเหตุการณ์สลด คือการที่ ศอ.บต.เข้าไปช่วยซับน้ำตาครอบครัวของอาสาสมัครทหารพราน (อส.ทพ.) อานัส มะยาอิง ที่ถูกคนร้ายลอบวางระเบิด ขณะปฏิบัติหน้าที่ลาดตระเวนเดินเท้าใน ต.เกะรอ อ.รามัน จ.ยะลา เมื่อวันที่ 4 ส.ค.67
แรงระเบิดทำให้ อส.ทพ.อานัส ซึ่งสังกัดกองร้อยทหารพรานที่ 4109 ต้องสังเวยชีวิต
ในการนี้ พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) หรือ “เลขาฯบิลลี่” จึงได้มอบหมายให้ นางสาวเกษร บุญถนอม ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. ร่วมสานฝันสุดท้ายของ อส.ทพ.อานัส นั่นก็คือการส่งมารดาของ อส.ทพ.อานัส ไปเข้าห้องเรียนเพื่อฟังบรรยายวิชาสุดท้ายที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
มารดาของ อส.ทพ.อานัส คือ น.ส.รีซา มูซอ อายุ 48 ปี เธอมีความฝันอยากศึกษาต่อจบจบปริญญาตรี และได้ทำงานตามความฝัน ซึ่งลูกชายที่แสนดีอย่าง อส.ทพ.อานัส ก็ได้ช่วยสานฝันให้มารดา ทำงานหาเงินส่งคุณแม่เรียนหนังสือต่อเนื่องถึง 2 ปี จนใกล้จบการศึกษาเต็มที มีนัดเข้าฟังบรรยายวิชาสุดท้ายที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ย่านเมืองทองธานี
ศอ.บต.จึงสานฝัน อส.ทพ.อานัส ผู้ล่วงลับ ด้วยการส่งคุณแม่รีซา ขึ้นเครื่องบิน C130 ของกองทัพอากาศ เข้าร่วมศึกษาในวิชาสุดท้ายที่มหาวิทยาลัย
ศอ.บต.รับรู้เรื่องราวนี้ เพราะได้เข้าพูดคุยให้กำลังใจครอบครัวของ อส.ทพ.อานัส จึงพร้อมช่วยเหลือและยืนเคียงข้าง โดยจับมือกับ กอ.รมน.ภาค 4 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมช่วยกันสนับสนุนและสานฝันของ อส.ทพ.อานัส ให้เป็นจริง เพื่อสดุดีการปฏิบัติหน้าที่จนวาระสุดท้าย
อส.ทพ.อานัส เสียชีวิตจากเหตุการณ์คนร้ายลอบวางระเบิดเจ้าหน้าที่ทหารพราน ชุดปฏิบัติการจรยุทธ์ สังกัดกองร้อยทหาพรานที่ 4109 ขณะเดินเท้าออกลาดตระเวนดูแลรักษาความสงบและความเรียบร้อย ที่บ้านปูลามอง หมู่ที่ 6 ต.เกะรอ อ.รามัน จ.ยะลา เมื่อวันที่ 4 ส.ค.67
ส่วน คุณแม่รีซา ตัดสินใจเดินทางไปศึกษาต่อในช่วงสุดท้ายของการเรียน ภายหลังฝังศพลูกชายเรียบร้อยแล้ว ในวันที่ 5 ส.ค. ซึ่งการเดินทางในครั้งนี้ เป็นการทำตามความฝันของตัวคุณแม่และลูกชายที่อยากมีโอกาสร่ำเรียนจนจบปริญญาตรีเหมือนคนอื่นๆ และทำงานที่อยากทำ แม้อยู่ในวัย 48 ปีแล้วก็ตาม
คุณแม่รีซา เดินทางเข้าศึกษาต่อวิชาสุดท้ายพร้อมกับบุตรสาวและน้องสะใภ้ ที่เดินทางไปให้กำลังใจ
นอกจากนี้ ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. ยังได้มอบตั๋วเครื่องบินพาณิชย์ขากลับแก่ทั้ง 3 คน จากการสนับสนุนของเลขาธิการ ศอ.บต. เพื่อเป็นกำลังใจในการเรียนและการดำเนินชีวิตในช่วงเวลานี้ ขณะที่การเดินทางรับส่งทั้ง 3 คนจากสนามบินไปยังที่พักในมหาวิทยาลัย ยังได้รับดูแลจากหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่อีกด้วย
ศอ.บต. โดยจังหวัดยะลา ได้มอบเงินเยียวยากรณีเสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 500,000 บาท แก่ทายาท คือ บิดาและมารดาของ อส.ทพ.อานัส แบ่งส่วนเท่าๆ กันตามระเบียบ นอกจากนี้ยังมีการแจ้งเรื่องสิทธิการช่วยเหลือของภาครัฐในฐานะทหารพราน ให้ครอบครัวได้รับทราบด้วย
@@ ประสานเรือประมง 18 ลำเทียบท่าส่งสัตว์น้ำหลังบึ้ม 3 จุด
อีกเหตุการณ์หนึ่งที่ ศอ.บต.เข้าไปบริหารจัดการเพื่อลดผลกระทบและความเดือดร้อน คือเหตุระเบิด 3 จุด บนถนนทางเข้าท่าเทียบเรือปัตตานี เมื่อวันศุกร์ที่ 9 ส.ค.67 ซึ่งถือเป็นการก่อเหตุที่อ่อนไหว และสุ่มเสี่ยงกระทบกับสภาพเศรษฐกิจโดยรวมของพื้นที่
เพราะปัตตานีเป็นเมืองประมง มีแพปลาและท่าเทียบเรือขนาดใหญ่ เป็นแหล่งรวมของเรือใหญ่น้อยมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาลจนถึงปัจจุบัน
เมื่อเป็นเช่นนี้ หลังเกิดเหตุ พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ เลขาธิการ ศอ.บต. จึงมอบหมายให้ นายนันทพงศ์ สุวรรณรัตน์ รองเลขาธิการ ศอ.บต. ลงพื้นที่ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเปิดเส้นทางเข้า-ออกรถยนต์ของพี่น้องประชาชน และพ่อค้าแม่ขาย ที่เดินทางเข้าไปรับซื้อปลาจากเรือประมงที่แพปลาปัตตานี เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน และลดผลกระทบจากเหตุรุนแรง
เนื่องจากหลังเกิดเหตุ ต้องปิดการสัญจร 100% ในทางยุทธวิธี เพื่อทำพื้นที่ให้ปลอดภัย
แต่ผลกระทบก็คือ ปลาสดไม่สามารถถูกส่งไปจำหน่าย และส่งถึงมือพี่น้องประชาชนได้ ทำให้มีผู้ประกอบการและประชาชนเดือดร้อนอย่างมาก เรือประมงที่จะเข้าไปรับซื้อและขายปลาไม่สามารถเข้าเทียบท่าได้ทั้งหมด 18 ลำ
งานนี้ ศอ.บต.จึงต้องแสดงบทบาท โดยได้ประสานไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จนทำให้เรือทั้ง 18 ลำสามารถเข้าเทียบท่าได้ และสามารถนำสัตว์น้ำขึ้นได้ตามปกติเพื่อส่งสินค้าไปยังพี่น้องประชาชน โดยไม่กระทบกับมาตรการทำพื้นที่ให้ปลอดภัย
ขณะที่เส้นทางเข้า-ออกท่าเทียบเรือปัตตานี และแพปลา สามารถใช้งานได้ตามปกติแล้ว