สถานการณ์ไฟใต้ ต้องบอกว่า “ละสายตาไม่ได้จริงๆ”
ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมามียุทธการปิดล้อมป่ายางพารา ที่บ้านคลองช้าง อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี
แม้บทสรุปของปฏิบัติการ ฝ่ายความมั่นคงจะวิสามัญฆาตกรรมผู้ต้องหาและผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงได้ 3 ราย โดย 2 ใน 3 คนมีหมายจับถึง 6 หมาย แต่ฝ่ายเจ้าหน้าที่ก็สูญเสียชีวิตด้วยเช่นกัน คือ มีกำลังพลพลีชีพ 1 นาย บาดเจ็บสาหัส 1 นาย และบาดเจ็บเล็กน้อยอีก 1 นาย
ยังไม่นับต้นทุนอาวุธ ยุทโธปกรณ์ เครื่องจักรกลหนัก รถถางป่า รวมถึงกำลังพลที่ระดมลงไป และมีการปิดถนนกันเกือบ 1 สัปดาห์
ทั้งหมดล้วนมีค่าใช้จ่าย ทั้งที่คำนวณเป็นเงินได้ และคำนวณเป็นเงินไม่ได้ โดยเฉพาะความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน แม้ฝ่ายรัฐจะไม่ได้ริเริ่ม แต่ก็สะท้อนว่า รัฐแก้ไขปัญหาไฟใต้ไม่ได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด
ปัญหานี้ยืดเยื้อมานานกว่า 20 ปีแล้ว หมดงบประมาณ เฉพาะงบฟังก์ชั่น หรือ งบโครงการ ไปถึง 5 แสนล้านบาท
@@ ด้ามขวานบานปลาย... นายกฯลงใต้ต้องปิดกำหนดการ
วันเสาร์ที่ 3 ส.ค.67 หลังฝ่ายความมั่นคงปิดยุทธการคลองช้างเพียง 1 วัน นายกรัฐมนตรีของประเทศไทย นายเศรษฐา ทวีสิน ได้ลงพื้นที่ไปพบนายกฯมาเลเซีย ที่อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส ปรากฏว่า ฝ่ายอำนวยการที่ทำเนียบรัฐบาล ต้องส่งไลน์แจ้งนักข่าวสำนักต่างๆ ขอความร่วมมือไม่ให้เปิดเผยกำหนดการนายกฯ โดยให้เหตุผลเรื่องความปลอดภัย
แน่นอนว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องดีที่ฝ่ายรัฐบาลไม่ประมาท และป้องกันความเสี่ยงเอาไว้ก่อน แต่ภาพสะท้อนอีกด้าน นี่คือการยอมรับตรงๆ ใช่หรือไม่ว่า ฝ่ายรัฐคุมสถานการณ์ในพื้นที่ไม่ได้ และยังมีความเสี่ยงทุกเวลา
ขนาดนายกฯลงไปยังต้องปกปิดกำหนดการ แล้วชาวบ้านตาดำๆ อยู่ในพื้นที่ เขาอยู่กันอย่างไร...
@@ รัฐไทยส่อพ่ายไฟใต้ 3 สมรภูมิ?
สถานการณ์การแก้ไขปัญหาไฟใต้ ณ เวลานี้ ทั้งๆ ที่ผ่านมากว่า 20 ปีแล้ว ปรากฏว่า รัฐไทย ในนาม “รัฐบาลไทย” ตกเป็นรอง หรือเป็นเบี้ยล่าง ในทุกสมรภูมิ กล่าวคือ
1) ออนไซต์ ออนกราวด์ หรือในพื้นที่จริงๆ ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา สถานการณ์ยังคงรุนแรง ไม่สามารถจัดการหรือเอาชนะ “กลุ่มก่อความไม่สงบ” ได้อย่างเด็ดขาด
ตลอดมายังมีเหตุร้ายรูปแบบต่างๆ เกิดขึ้นจนประชาชนชาชิน และความรุนแรงกลายเป็นสัญลักษณ์ของดินแดนแห่งนี้ เป็นตราประทับที่กระทบทั้งเศรษฐกิจ สภาพสังคม และภาพลักษณ์ที่มีต่อนานาประเทศ โดยเฉพาะการประกาศใช้กฎหมายพิเศษ ทั้งกฎอัยการศึก และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นานถึง 19 ปี จนเรียกว่า “ฉุกเฉินถาวร”
2) ออนไลน์ ออนแอร์ และออนดีมานด์ หมายถึงการต่อสู้ทางความคิดเกี่ยวกับไฟใต้ที่ปรากฏทางสื่อมวลชนรูปแบบต่างๆ ทั้งจากความเคลื่อนไหวในสภา ในห้องประชุมเสวนา หรือการขับเคลื่อนในมิติอื่นๆ ผ่านสื่อทุกแพลตฟอร์ม ทั้งในประเทศและส่งถึงต่างประเทศ
ปรากฏว่า ฝ่ายรัฐเสียเปรียบฝ่ายที่สนับสนุนกลุ่มเคลื่อนไหวแบ่งแยกดินแดนและกลุ่มที่เคลื่อนไหวต่อต้านอำนาจรัฐ ไม่ว่าจะสนับสนุนทางตรงหรือทางอ้อม สนับสนุนเพราะความเข้าใจผิด หรือเข้าใจคลาดเคลื่อน ฯลฯ ก็ตาม
ฝ่ายนี้เรียกรวมๆ ว่า “แนวร่วมมุมกลับของขบวนการแบ่งแยกดินแดน” (บางคน บางกลุ่มก็เป็นแนวร่วมทางตรงนั่นแหละ แต่แฝงตัวเป็นแนวร่วมมุมกลับ) ซึ่งมีทั้งเอ็นจีโอ ภาคประชาสังคม พรรคการเมืองบางพรรค และองค์กรต่างชาติที่เข้ามาแทรกแซง
การเคลื่อนไหวและขับเคลื่อนงานของฝ่ายนี้ ขยายตัวอย่างกว้างขวางตามพลวัตของโลก และเริ่มมองเห็นร่องรอย “ความขัดแย้งใหม่” ที่กำลังก่อตัว
อย่างล่าสุดเริ่มมีการเปิดตัวคัดค้านการประชุมของคณะกรรมาธิการวิสามัญบางคณะฝ่ายนิติบัญญัติ ที่ไปให้ความสำคัญ ยอมรับคำว่า “ปาตานี” รวมถึง “ชุมชนปาตานี” และไปยอมรับประวัติศาสตร์บอกเล่า ซึ่งไม่ใช่ประวัติศาสตร์ทางการที่มีหลักฐานยืนยันหรือได้รับการยอมรับกันในทางวิชาการ หรือมีเอกสารวิชาการรองรับ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นผลลบกับรัฐไทยและการจัดการปัญหาไฟใต้ในภาพรวม
ส่งผลให้กลุ่มคนที่มีองค์ความรู้ มีความหวังดี หรือ “คิดต่าง” จากฝ่ายแนวร่วมมุมกลับ เริ่มออกมาแสดงตัว และคัดค้าน จากที่ในอดีตเป็น “กลุ่มไร้เสียง” และทำแค่ “เฝ้าดู” มาโดยตลอด
สภาพการณ์ที่เกิดขึ้นนี้สะท้อนว่า แนวคิดสนับสนุนกลุ่มต่อต้านรัฐเข้าไปมีบทบาทถึงในสภา ถึงในกรรมาธิการ และกลายเป็น “องค์กรเสียงดัง” ในขณะที่ฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายทหาร ถูกโจมตี ด่าทอ และด้อยค่า ทั้งๆ ที่ต้องตกเป็นเป้าหมายโจมตี บาดเจ็บและเสียชีวิตแทบจะรายวัน
3) ออนเทเบิล (on table) หมายถึงการพูดคุยบนโต๊ะเจรจา โดยคณะพูดคุยของรัฐบาลไทยก็ตกเป็นเบี้ยล่าง เสียเปรียบฝ่ายบีอาร์เอ็น หลงเกมไปยอมรับ “แผนปฏิบัติการเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม” หรือ JCPP ซึ่ง “ผู้รู้ - นักวิชาการ” เตือนว่า แผน JCPP ซ่อนนัยให้รัฐไทยเป็นฝ่ายแพ้ ทั้งในทางการเมือง การเจรจา และการสร้างการยอมรับในเวทีต่างประเทศ
ขณะที่สถานการณ์ในพื้นที่ ฝ่ายความมั่นคงก็เป็นเบี้ยล่างอยู่เช่นกัน ไม่สามารถจัดการปัญหาได้เด็ดขาด แถมยังถูกตรวจสอบ ร้องเรียนตลอดเวลา
ทุกครั้งที่เจ้าหน้าที่เสียชีวิต แทบไม่มีองค์กรเอกชนที่อ้างว่าเป็นองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนรายใดออกมาประณาม แต่เวลาผู้ก่อความไม่สงบถูกวิสามัญฯ กลับมีแถลงการณ์ออกมากล่าวหาว่าฝ่ายรัฐละเมิดสิทธิ์
แน่นอนว่าฝ่ายรัฐไม่ได้ทำถูกทั้งหมด เพียงแต่การอ้างหลักการด้านสิทธิมนุษยชน ต้องรับรองและคุ้มครองอย่างเท่าเทียมไม่ว่าฝ่ายใด ไม่ใช่แสดงความเห็นอกเห็นใจ ปกป้อง หรือเลือกประณามฝ่ายเดียวเท่านั้น
สภาพการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมด คือความพ่ายแพ้ 3 สมรภูมิที่หลายฝ่ายกำลังแสดงความกังวลว่า ปัญหาไฟใต้ของไทยอาจกำลังเดินถึงทางตัน และสุดท้ายรัฐไทยอาจพ่ายแพ้ขบวนการแบ่งแยกดินแดน ซึ่งมีกองหนุนแม้ไม่ได้เนืองแน่น...
แต่เสียงดังทุกแพลตฟอร์ม!