9 นักกิจกรรมจัดชุมนุมแต่งชุดมลายู เข้ารายงานตัวต่อพนักงานอัยการ หลังตำรวจสรุปสำนวนพร้อมความเห็น “ควรสั่งฟ้อง” ข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” โวยถูกรัฐกลั่นแกล้ง เตรียมขอความเป็นธรรมทุกช่องทาง ด้านทนายเผย 28 ส.ค. รู้ผล “ฟ้อง-ไม่ฟ้อง” ขณะที่ฝ่ายกฎหมาย กอ.รมน. แจงยึดกระบวนการยุติธรรมปกติ
วันพฤหัสบดีที่ 25 ก.ค.67 ที่สำนักงานอัยการจังหวัดปัตตานี กลุ่มนักกิจกรรมที่ได้จัดกิจกรรมมลายูรายา ซึ่งเป็นการนัดรวมตัวแต่งกายด้วยชุดอัตลักษณ์มลายู เมื่อวันที่ 4 พ.ค.65 ที่หาดวาสุกรี อ.สายบุรี จ.ปัตตานี จำนวน 9 ราย ได้เข้ารายงานตัวต่อพนักงานอัยการ หลังพนักงานสอบสวน สภ.สายบุรี สรุปสำนวนพร้อมความเห็น “ควรสั่งฟ้อง” และได้ส่งสำนวนคดีให้กับพนักงานอัยการ เพื่อพิจารณาและลงความเห็นว่าจะสั่งฟ้องต่อศาลหรือไม่ต่อไป
ทั้งนี้ พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหานักกิจกรรมทั้ง 9 ราย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ฐานร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันไม่ใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือไม่ใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือที่รู้จักกันดีในข้อหา “ยุยง ปลุกปั่น” นอกจากนั้นยังแจ้งข้อหาอั้งยี่ ช่องโจรด้วย โดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง
สำหรับผู้ต้องหาทั้ง 9 รายได้เดินทางเข้าพบอัยการพร้อมทีมทนายความ นำโดย นายอับดุลกอฮาร์ อาแวปูเตะ และได้หารือกันนานกว่า 2 ชั่วโมง ท่ามกลางการให้กำลังใจของกลุ่มนักกิจกรรม ภาคประชาสังคม และครอบครัวของทั้ง 9 ผู้ต้องหา
@@ อัยการนัดอีกครั้ง 28 ส.ค.รู้ผลสั่งฟ้องหรือไม่
นายอับดุลกอฮาร์ ทนายความ เปิดเผยว่า คดียังมีประเด็นพิจารณาว่าเป็นคดีฝ่ายความมั่นคงหรือไม่ และผู้ต้องหาทั้ง 9 รายได้ทำหนังสือร้องขอความเป็นธรรมยื่นต่อพนักงานอัยการฝ่ายความมั่นคง เพราะชุดสอบสวนเป็นชุดที่ทำคดีความมั่นคงของจังหวัดปัตตานี
“หลังมีโอกาสได้พบกับหัวหน้าอัยการฝ่ายคดีความมั่นคง ท่านก็รับปากว่าจะช่วยดูสำนวนให้ เพราะสำนวนมีประมาณ 9 แฟ้ม และจะให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ต้องหาทุกคน โดยผู้ต้องหาได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมให้กับท่านด้วยตัวเอง และจะมีการนัดให้ผู้ต้องหามาพบพนักงานอัยการในครั้งต่อไป วันที่ 28 ส.ค. เพื่อรับฟังคำสั่งว่าจะฟ้องต่อศาลหรือไม่ หรืออาจเลื่อนการรับฟังคำสั่งออกไป ซึ่งทั้งหมดอยู่ที่ขั้นตอนของการพิจารณาของพนักงานอัยการ”
นายอับดุลกอฮาร์ กล่าวด้วยว่า ไม่มีความกังวลในคดีนี้ เพราะเชื่อมั่นในกระบวนการของอัยการ และได้นำเสนอพยานหลักฐานอย่างเพียงพอแล้วว่า ไม่มีเจตนากระทำอย่างที่ถูกกล่าวหา
@@ โวยถูกรัฐกลั่นแกล้ง
นายมูฮำหมัดอาลาดี เด็งนิ 1 ใน 9 ผู้ต้องหา กล่าวว่า มั่นใจไม่ได้กระทำความผิดอย่างที่ถูก กอ.รมน.กล่าวหา และจะยื่นขอความเป็นธรรมไปถึงทุกหน่วยงานตามกระบวนการ
“เรามองว่าคดีนี้คิดว่าเป็นการกลั่นแกล้ง มั่นไม่ใช่คดีที่ทำให้มีคนตายอย่างคดีตากใบ ซึ่งมีคนตายจำนวนมาก แต่ก็ไม่มีการนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ ในทางกลับกัน การชุมนุมของเราเป็นการชุมนุมอย่างสงบ และสิ่งที่เราทำ เราพยายามรักษาความเป็นตัวตนของเรา ไม่ใช่เพื่อแบ่งแยกดินแดน เรามาเพื่อนรักษาอัตลักษณ์ความเป็นตัวตนของเรา และไม่ทำให้คนตาย” 1 ใน 9 ผู้ต้องหา กล่าวและว่า กิจกรรมลักษณะนี้เป็นการเปิดพื้นที่ทางการเมือง ถือเป็นการช่วยรัฐด้วยซ้ำ เพราะจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น
สำหรับการยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมนั้น ใช้ช่องทางตามพระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ.2553 มาตรา 21 ที่ว่า หากการฟ้องคดีอาญาจะไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณะ หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือมีผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงแห่งชาติ หรือต่อผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศ พนักงานอัยการสามารถเสนออัยการสูงสุด ให้มีความเห็นสั่งไม่ฟ้องคดีได้
@@ กอ.รมน.โต้เป็นกระบวนการปกติ
ด้าน พ.ต.อ.ดร.จารุวิทย์ วงศ์ชัยกิตติพร รองผู้อำนวยการสำนักกฎหมายและสิทธิมนุษยชน กอ.รมน.ภาค 4 สน.กล่าวว่า การดำเนินคดีนี้ เป็นกระบวนการยุติธรรมทางอาญาโดยปกติ ไม่ได้มีการกลั่นแกล้งใดๆ ทั้งในชั้นพนักงานสอบสวนและในชั้นอัยการ ผู้ต้องหาทั้งหมดก็ได้รับการปล่อยชั่วคราว
หลังจากนี้หากพนักงานอัยการเห็นว่าสำนวนคดียังมีพยานหลักฐานไม่เพียงพอ ก็สามารถสั่งให้พนักงานสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ แต่หากเห็นว่าพยานหลักฐานมีความหนักแน่นมั่นคงเพียงพอแล้ว ก็มีความเห็นฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลต่อไป